A Monster Calls ฉายครั้งแรกที่ Toronto International Film Festival – TIFF ครั้งที่ 41 ประจำปี 2016 และหลังจากการเปิดตัวฉายไปในงานเทศกาล เหล่านักวิจารณ์ทั้งหมดต่างกล่าวชื่นชม ยกย่อง และการันตีถึงความยอดเยี่ยมของภาพยนตร์เรื่องนี้กันอย่างยกใหญ่ จนเรียกได้ว่าล่าสุดนั้น A Monster Calls ได้ขึ้นแท่นกลายเป็นหนึ่งในลิสต์ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปี 2016 ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
สร้างจากนิยายขายดีมีรางวัล
หนังดราม่าแฟนตาซีล้ำจินตนาการเรื่อง A Monster Calls สร้างจากหนังสือ A Monster Calls (2011) นิยายเยาวชนที่ดีที่สุดในทศวรรษของ Patrick Ness ทั้งยังชนะรางวัลใหญ่ๆทั่วโลกมากมาย เช่น รางวัลชนะเลิศ Carnegie Medal และ Kate Greenaway Medal ซึ่งเป็นเหรียญรางวัลสำคัญในวงการวรรณกรรมของประเทศอังกฤษ รวมไปถึงการถูกยกให้เป็น “วรรณกรรมเยาวชนยอดเยี่ยม” ประจำปี 2011 จากเวที British Book Award นอกจากนี้หนังสือพิมพ์ระดับแนวหน้าของโลกอย่าง The Independent, Chicago Sun-Times, และ The Wall Street Journal ต่างการันตียกให้เป็น “หนึ่งในวรรณกรรมที่ดีที่สุดแห่งปี”
กำกับและอำนวยการสร้างโดยทีมงานมากฝีมือ
A Monster Calls อำนวยการสร้างโดยผู้อำนวยการสร้าง Pan’s Labyrinth ภาพยนตร์ดาร์คแฟนตาซีที่ได้รับถึง 3 รางวัลออสการ์ และผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเวทีออสการ์ Spotlight และ 12 Years a Slave
กำกับโดย J.A. Bayona ผู้กำกับผู้เคยฝากผลงานอันยอดเยี่ยมจาก The Impossible และ The Orphanage) ถ้าใครเคยดู The Impossible และ The Orphanage จะทราบดีว่าผู้กำกับคนนี้ถนัดทำหนังที่ตัวละครหลักค้นหาตัวเองในสถานการณ์บีบคั้นหรือสถานการณ์ที่ความตายอยู่ใกล้แค่เอื้อม ทั้งยังเป็นผู้กำกับที่ชอบพูดกับคนดูผ่านการผสมผสานหนังหลายแนวไว้ด้วยกัน
เรื่องย่อ A Monster Calls
A Monster Calls เป็นเรื่องราวสุดลี้ลับอัศจรรย์ของเด็กชายวัย 13 ปี Conor (Lewis MacDougall จาก Pan) ที่พยายามรับมือกับการถูกเพื่อนกลั่นแกล้งในโรงเรียน และเตรียมใจกับการสูญเสียแม่ (Felicity Jones จาก The Theory of Everything) ผู้ป่วยเป็นโรคมะเร็งระยะสุดท้าย เขาจึงต้องไปอยู่กับยาย (Sigourney Weaver จาก Avatar, Aliens) ที่เขาไม่ชอบหน้า ส่วนพ่อ (Toby Kebbell จาก Dawn of the Planet of the Apes) ก็ไปอยู่ที่อเมริกากับครอบครัวใหม่แล้ว ชีวิตของ Conor จึงต้องการผู้ชี้นำ
ค่ำคืนหนึ่งเขาได้พบกับอสูรกายต้นไม้ยักษ์ สูง 40 ฟุต (ให้เสียงโดย Liam Neeson จาก Star Wars: Episode I, Taken) ที่นำพาเข้าไปในดินแดนเหนือจินตนาการ เพื่อค้นหาความกล้าหาญ ความศรัทธา และพบกับการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นการเสียสละและการสูญเสีย ซึ่งจะทำให้เปลี่ยนแปลงโลกแห่งความจริงของเขาไปตลอดกาล
แก่นสำคัญของเรื่อง
ถึงแม้หน้าหนังจะดูเหมือนนิทานก่อนนอนก่อนเด็ก แต่รู้มั้ยว่าหนังที่เหมือนจะเป็นนิทานนี้นี่แหละจะมอบประสบการณ์ที่มีความหมาย ให้คนดูทุกเพศทุกวัย ไม่ใช่แค่เด็ก ได้คิดและได้เรียนรู้ชีวิตหลาย ๆ ด้านหลังจากดูจบ
ตัวละครเอกของเรื่องอาจจะเป็นเด็กอายุแค่ 12-13 ขวบ แต่คนเขียนและคนทำหนังเรื่องนี้เขาไม่ได้วางตัวละครเด็กเป็นแค่เด็ก หรือบุคคลที่รอจะเติบโตเป็นมนุษย์ ตรงกันข้ามเลย เขามองว่าเด็กคนนั้นเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่ได้ใช้ชีวิต ได้พบเจอกับความเจ็บปวด ความสนุก ความกลัว ความไม่เชื่อใจ และ ความสุข เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ทั่วไป
หนังมีแก่นมากมาย เช่น การมองโลกสองด้าน ไม่ขาวไม่ดำ จนถึงความกลัว แต่แก่นหลัก ๆ ที่สำคัญคือ คำถามที่ว่า เราจะรับมือกับความเศร้าและการสูญเสียคนที่รักได้ยังไง?
อสูรกายเป็นตัวแทนของส่วนหนึ่งในตัวมนุษย์เราทุกคน ที่เราต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันให้ได้
ความสัมพันธ์แม่ลูก
ประเด็นไหนใครไม่อินอย่างไร แต่ประเด็นแม่ลูกผูกพันในเรื่องนี้ รับรองอินกันน้ำตาไหลแน่นอน เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัวของคนดูทุกคน แล้วหนังเขาเล่าได้กลมกล่อม ไม่น้ำเน่า และไม่พยายามบิลด์ดราม่าจนเกินเหตุ
จะเห็นได้ว่า ผลงานของผู้กำกับคนนี้ ตั้งแต่ The Orphanage, The Impossible, จนมาถึง A Monster Calls ทั้งสามเรื่องล้วนแต่เป็นเรื่องราวความสัมพันธ์ของแม่ลูกผูกพันทั้งสิ้น เขาโปรฯ ด้านนี้ เชื่อเถอะ…
นักแสดงเด็กอนาคตไกล
ตัวละคร Conor เป็นเด็กที่เป็นเซนเตอร์ของเรื่อง มีความซับซ้อนทางอารมณ์สูง ต้องแบกรับปัญหาสารพัดสิ่ง ทรมานกับความขัดแย้งในจิตใจที่มิอาจระบายออกมาได้ คือเป็นคาแรกเตอร์ที่เป็นโจทย์ที่ยากมากสำหรับนักแสดงเด็กที่จะมารับบทนี้
แต่ Lewis MacDougall หนูน้อยจากเรื่อง Pan เขามีของ มีพรสวรรค์ สามารถสื่ออารมณ์ของตัวละครได้ชัด ถ่ายทอดความขัดแย้งในจิตใจได้ แม้บางครั้งจะต้องแสดงผ่านทางแววตาอย่างเดียว แต่เขาก็ทำได้ ทำได้ดีด้วย ทั้ง ๆ ที่นี่เพิ่งจะเป็นผลงานการแสดงเรื่องที่สองของเขา
นางเอกผู้เข้าชิงออสการ์มารับบทคุณแม่ยังสาวผู้ป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย
หลายคนคงได้เห็นความสามารถของนางเอกดาวรุ่ง Felicity Jones ใน The Theory of Everything กันไปแล้ว เรื่องนั้นเธอต้องดูแลสามีที่ป่วย แต่เรื่องนี้เธอเป็นผู้ป่วยเสียเอง ซึ่งเรื่องนี้ก็สามารถพิสูจน์ความสามารถของเธอได้อีกเช่นกัน
เพื่อที่จะถ่ายทอดบทผู้ป่วยออกมาได้สมจริงยิ่งขึ้น เธอทำการบ้านอย่างหนักเพื่อทำให้สุขภาพที่เสื่อมถอยแต่ละขั้นของบทที่เธอเล่นดูสมจริงที่สุด เธอปรึกษาพูดคุยกับนักวิทยาเนื้องอก เพื่อเอาศึกษาเรื่องผู้ป่วยโรคนี้ การรักษา และการรับมือของผู้ป่วยจากมุมมองแพทย์ นอกจากแพทย์ เธอยังพูดคุยกับผู้ป่วยที่เคยผ่านการรักษาด้วยเคมีบำบัดด้วย ว่าต้องเจอกับอะไรบ้าง และควรทำอย่างไรกับสถานการณ์เหล่านี้
นอกจากสวมวิกหัวล้าน และการแต่งหน้าเทคนิคพิเศษแล้ว เธอยังลดน้ำหนักจริง ๆ เป็นสิบกิโลฯ เพื่อความสมจริงที่สุด เพื่อให้เห็นว่ามะเร็งสามารถทำอะไรกับร่างกายได้บ้าง และตอกย้ำว่าเธอกำลังอ่อนแอลงเรื่อย ๆ
เทคนิคการถ่ายทำพิเศษ
ปลุกการผจญภัยมหัศจรรย์โดยทีมเทคนิคพิเศษจาก Avatar และ The Guardians of the Galaxy
เดิมทีมงานร่างอสูรกายไว้ 200 แบบ แต่สุดท้ายก็เลือกใช้แบบที่ใกล้เคียงกับภาพประกอบที่ จิม เคย์ เขียนไว้ในหนังสือ เพราะพวกเขาคิดว่าถ้าทำให้อสูรกายมันดูหลุดโลก มันจะยิ่งน่าสนใจน้อยลง
สมัยนี้เราอาจจะคุ้นเคยกับงานซีจี แต่ทีมงาน A Monster Calls ต้องการให้อสูรกายออกมาทรงพลังกว่า จับต้องได้ และมีจิตวิญญาณ King Kong (1933) เป็นหนังเรื่องที่จุดประกายให้ทีมงานสร้างอสูรกายของเรื่อง ดังนั้นอสูรกายต้นไม้สูง 40 ฟุตในเรื่องจึงสร้างจากเทคนิค Motion Capture กับ Liam Neeson ใช้วิธีดังเดิมตามแบบนักทำหนังรุ่นแรก ๆ
อุ้งมือขนาดใหญ่ที่คว้าเด็กจากห้องนอน รอยเท้ามหึมาบนพื้นดิน หัวขนาดใหญ่ที่ตระหง่านอยู่นอกหน้าต่าง ทั้งหมดเป็นของจริง โดยเอาโฟมมาแกะสลัก เผา ขึ้นรูป ลงสี เป็นพื้นผิวเปลือกไม้ของอสูรกาย เป็นงานแฮนด์เมดใช้มือทำล้วน ๆ ใช้วัตถุดิบมาตรฐานทั่วไป แต่งานละเอียดระดับเวิลด์คลาส
ส่วนการทำให้อสูรกายมีชีวิตขี้นมา ต้องอาศัยส่วนขยับหลายส่วน ส่วนนี้รับผิดชอบโดยนักออกแบบเทคนิคพิเศษเจ้าของรางวัลออสการ์จากเรื่อง Pan’s Labyrinth
บริษัทเทคนิคพิเศษด้านภาพหลายแห่งช่วยกันเสริมอสูรกายให้สมบูรณ์แบบ พิถีพิถันทุกองค์ประกอบ ขั้นตอนหลังการถ่ายทำใช้เวลามากกว่าหนึ่งปี เพราะงานมันซับซ้อนละเอียดอ่อนมาก เช่น เวลาเจ้าอสูรกายเคลื่อนไหวแต่ละที พวกเขาก็ต้องเป๊ะหมดตั้งแต่น้ำหนักของไม้ ร่างแล้ววาดแล้ว ก็ต้องถ่ายมันถึง 100 มุมในฉากที่มันแสดงกับเด็กชาย
งานออกแบบฉากที่ใส่ใจในทุกรายละเอียด
ถึงแม้จะถ่ายทำในสุสานและโบสถ์จริง แต่ฉากสุสานในฝันร้ายของเด็กน้อยบางซีนก็จำเป็นต้องสร้างบนสตูดิโอยกพื้นสูง สร้างบนแท่นสูงจากพื้นและควบคุมด้วยระบบไฮดรอลิก ทีมงานต้องทำให้ป้ายหลุมศพถล่มลง พร้อมแผ่นดินแยกยุบตัว โบสถ์และสุสานถูกจำลองขึ้นให้สูงและใหญ่กว่าของจริง พวกเขาต้องผสมผสานเทคโนโลยีล้ำยุคกับการใช้เทคนิคพิเศษแบบดั้งเดิม กล่าวคือ ต้องขุดเอาเทคนิคการสร้างที่ไม่ค่อยได้ใช้กันแล้วออกมา ทั้งงานหล่องานปั้น
ผู้ออกแบบฉากรางวัลออสการ์จาก Pan’s Labyrinth ออกแบบบ้านทั้งสองหลังที่ Conor ไปอยู่อย่างดีเพื่อความรู้สึกที่แตกต่าง บ้านของแม่จะรก ๆ ของวางอยู่อย่างอิสระ แต่มีความอบอุ่น ตกแต่งด้วยสีสดใส น่าอยู่ เฟอร์นิเจอร์เป็นทรงกลม ความรู้สึกเหมือนบ้านกำลังโอบกอดเขา ในขณะที่บ้านของยายจะเป็นระเบียบ ดูตึง ดูอึดอัด เต็มไปด้วยเส้นตรงแข็ง บรรยากาศดูไม่เป็นมิตร โทนสีจะหม่นหมอง เฟอร์นิเจอร์ก็ดูมีขนาดใหญ่กว่าปกติ ซึ่งทำให้เด็กชายรู้สึกว่าเขาตัวเล็กลงไปอีก
***A Monster Calls เข้าฉายรอบพิเศษ หลัง 20:00 น. (Sneak Preview) 24 พ.ย. 2016 และฉายจริงรอบปกติ ตั้งแต่ 1 ธันวาคม 2016 เป็นต้นไป
36 comments
Comments are closed.