A Monster Calls สร้างจากหนังสือนิยายเยาวชนที่ดีที่สุดในทศวรรษของ Patrick Ness กำกับโดย J.A. Bayona (ผู้กำกับหนังสึนามิภูเก็ต The Impossible และหนังเด็กกำพร้าสยองขวัญ The Orphanage) ร่วมด้วยทีมออกแบบงานสร้างจาก The Jungle Book และทีมเทคนิคพิเศษจาก Avatar โดยเรื่องราวใน A Monster Calls เป็นเรื่องเกี่ยวกับ “a boy too old to be a kid, too young to be a man”
เรื่องย่อ A Monster Calls
เด็กชายวัย 13 ปี Conor (Lewis MacDougall จาก Pan) มักจะโดนรังแกจากเพื่อนที่โรงเรียนเป็นประจำ เขาอาศัยอยู่กับแม่ (Felicity Jones จาก The Theory of Everything) ผู้ป่วยเป็นโรคมะเร็งระยะสุดท้าย ส่วนพ่อของเขา (Toby Kebbell จาก Dawn of the Planet of the Apes) ปัจจุบันไปอยู่ที่อเมริกากับครอบครัวใหม่ เมื่อแม่อาการกำเริบหนัก Conor จึงต้องไปอยู่กับยาย (Sigourney Weaver จาก Avatar) ที่เขาไม่ชอบหน้า
ในช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุด อสูรกายต้นไม้ (ให้เสียงโดย Liam Neeson จาก Star Wars: Episode I) มาหาเขาทุกคืนเวลา 12:07 น. เพื่อเล่านิทานให้เขาฟังวันละเรื่อง รวม 3 เรื่อง โดยมีเงื่อนไขว่า เมื่อฟังเรื่องที่ 3 จบแล้ว Conor ต้องเล่าเรื่องให้อสูรกายฟัง 1 เรื่อง
รีวิว วิเคราะห์ วิจารณ์ A Monster Calls
หนังที่มีอสูรกายยักษ์ มีเด็กเป็นตัวเอก หรือมีนิทานปรัมปราเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่จำเป็นต้องเป็นหนังเด็กเสมอไป เพราะใน A Monster Calls นั้น มีองค์ประกอบที่ว่านั้นครบถ้วน แต่หนังมีความดาร์ค มีความเศร้า มีบทเรียนที่เหมาะกับเด็กวัยกำลังโตจนถึงผู้ใหญ่มากเสียกว่าเหมาะกับเด็กเล็ก ๆ พูดอีกแง่นี่คือหนัง Coming-of-age ที่ไม่ว่าคุณจะอายุเท่าไหร่แล้วก็ตาม คุณก็ยังดูหนังเรื่องนี้ได้
ปมหลัก ๆ ของเด็กชายในเรื่องคือ พ่อแม่แยกทางกัน ถูก bully ที่โรงเรียน และกำลังสูญเสียแม่ผู้เป็นทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตของเขาไป ซึ่งทั้งหมดนี้ดูเป็นเรื่องหนักหนาสาหัสสากรรจ์สำหรับเด็กคนหนึ่งจะรับไหวได้พร้อมกันในทีเดียว และพวกเราทุกคนบนโลกนี้… ก็ต้องเจอปัญหาเช่นเดียวกับเด็กชาย ไม่วันนี้ก็วันหน้า ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง
นิทานสามเรื่องที่อสูรกายแวะเวียนมาเล่าให้เด็กชายฟังทุกคืนไม่ใช่นิทานโลกสวยทั่วไปที่เราคุ้นเคย หากแต่เต็มไปด้วยสัญลักษณ์แฝงและความหมายมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเจ้าชายกับราชินีใจร้าย เรื่องของนักบวชกับคนขายยา ต่างเน้นสอนให้เรามองว่าทุกเรื่องย่อมมีสองด้าน ไม่ได้มีแค่ขาวกับดำ ไม่ได้มีแค่ถูกกับผิด
ในหนังเราจะเห็น “รูปสี่เหลี่ยม” เยอะมาก (สังเกตแค่จากในเทรลเลอร์ก็ได้) ไม่ว่าจะก้อนอิฐที่เรียงกันเป็นผนังกำแพง กรอบรูปที่เรียงรายติดฝาผนัง กรอบบานหน้าต่าง หรือโลงศพในสุสานจากมุมเบิร์ดอายวิว ฯลฯ
เรายังไม่แน่ใจว่าหนังต้องการจะสื่ออะไรหรือตั้งใจให้มันมีรูปสี่เหลี่ยมเยอะเป็นพิเศษแบบนี้หรือไม่ แต่เวลาเราเห็นรูปสี่เหลี่ยมเหล่านี้ในหนัง เรานึกถึงความแข็งกระด้าง การสูญเสียหรือความอันตราย และความอึดอัดบางอย่างที่บรรยายไม่ถูก
หนังและนิทานของเขาก็สอนให้เราเติบโต รับมือกับการสูญเสีย รับมือและแก้ปัญหาให้ถูกจุด ปรับตัวและมองโลกตามความเป็นจริง สิ่งสำคัญคือ ความรุนแรง การใช้กำลัง หรือการลงโทษ ไม่ได้ส่งผลดีกับใครทั้งสิ้น
บทเรียนที่อสูรกายสอนบางเรื่องอาจไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับเรา แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันมีเนื้อหาที่เลอค่า ถ้าวันนึงที่เราโตกว่านี้ เราก็คงอยากสอนเด็ก ๆ จากนิทานเหล่านี้ตามแนวทางที่อสูรกายต้นไม้ต้นนี้สอนเด็กชายในเรื่อง เพื่อไม่ให้เด็กโตมาเป็นคนที่โลกสวยหรือมองโลกอย่างไร้มิติ
ที่สำคัญคือในหนังถ่ายทอดเรื่องเล่าของอสูรกายเป็นงานอะนิเมชั่นที่สวยงาม (คล้าย ๆ The Tales of Beedle the Bard หรือนิทานของบีเดิลยอดกวีในหนัง Harry Potter ภาค 7.1) ยังไม่นับการเทคนิคเนรมิตทรีมอนสเตอร์ที่เหนือชั้นที่ถ่ายจากโมเดลยักษ์สูงกว่า 40 ฟุตผสมผสานกับเทคนิค motion capture บอกเลย ฝีมือเนี้ยบระดับชนะรางวัลภาพประกอบเรื่องยอดเยี่ยม รวมทั้งกวาดรางวัลจากสื่อชั้นนำของต่างประเทศมาหลายสำนัก
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ดีงามที่สุดในหนังเรื่องนี้สำหรับเราคือการแสดงของนักแสดงนำทุกคนในเรื่อง ตั้งแต่นักแสดงเด็กหน้าใหม่อย่าง Lewis MacDougall จนถึง Felicity Jones, Toby Kebbell, Sigourney Weaver ผู้รับบทเป็นแม่ พ่อ และยายตามลำดับ โดยเฉพาะนางเอกผู้เคยเข้าชิงออสการ์ Felicity Jones นั้น เล่นน้อยแต่มาก แสดงดีจนเรากลั้นน้ำตาให้กับซีนของนางไว้ไม่อยู่ คืออยากสนับสนุนให้นางได้เข้าชิงออสการ์จากหนังเรื่องนี้อีกสักปีเลยจริง ๆ
โดยสรุป A Monster Calls ไม่ใช่หนังเด็กนะ นิทานที่ต้นไม้อสูรกายเล่าก็มีประโยชน์สอนใจผู้ใหญ่ เรื่องราวงดงาม ภาพสวย เทคนิคดี การแสดงเป็นเลิศ ช่วงแรกเราเบื่อ ๆ นิดหน่อย แต่ยิ่งดูยิ่งรู้สึกว่ามันมีอะไรน่าสนใจ โดยเฉพาะองก์สุดท้าย น้ำตาซึมเลยจริง ๆ ตั้งใจจะไม่ร้องไห้แต่ก็น้ำตาไหลจนได้
โดยรวมคะแนนตามความชอบส่วนตัว 7.5/10
A Monster Calls เปิดรอบพิเศษ 24 พ.ย. 2016 และฉายจริง 1 ธ.ค. 2016
37 comments