ถึงแม้ American Sniper ไม่ได้เข้าชิงลูกโลกทองคำ ครั้งที่ 72 (Golden Globe Award 2015) สักสาขา แต่สำหรับบนเวทีตุ๊กตาทอง Oscars 2015 นั้น American Sniper เข้าชิงถึง 6 สาขา และคว้ามา 1 สาขา ได้แก่
- Best Picture
- Best Actor: Bradley Cooper
- Best Adapted Screenplay
- Best Film Editing
- Best Sound Editing (WINNER!)
- Best Sound Mixing
นอกจากนี้ American Sniper ยังทุบสถิติรายได้ Box Office ถล่มทลาย และทำรายได้เปิดตัวสูงมากๆ จนน่าสะพรึง (READ MORE: ‘American Sniper’ breaks January box office records — and breeds controversy)
เรื่องย่อ American Sniper (Based on a True Story)
American Sniper สร้างจากเรื่องจริงของ Chris Kyle (Bradley Cooper จาก Silver Linings Playbook และ American Hustle) มือปืนสไนเปอร์ในตำนานผู้สังหารศัตรูไปมากที่สุดของอเมริกา (สถิติกว่า 160 ศพ) ก่อนมาเป็นทหาร เขาเติบโตมาในรัฐเท็กซัส โดยมีพ่อสอนยิงปืนล่าสัตว์มาแต่เด็ก และปลูกฝังให้ดูแลปกป้อง Jeff Kyle น้องชายคนเดียวของเขา (Keir O’Donnell จาก Dawn of the Planet of the Apes) รวมถึงปกป้องคนอื่นๆ ที่อ่อนแอกว่า พอสองพี่น้องตระกูล Kyle โตขึ้น Chris ชักชวน Jeff ไปเข้าร่วมหน่วย Navy SEALs เพื่อรับใช้ชาติ แล้วเขาก็ได้มาเจอสาวสวย Taya (Sienna Miller จาก Foxcatcher) และแต่งงานกันก่อนที่ Chris จะถูกส่งตัวไปสมรภูมิรบ
Chris เป็นฮีโร่ของพวกทหารบก กระสุนทุกนัดของเขามีความหมาย เขาเป็นสไนเปอร์ที่ทำเป้าได้มากที่สุด และช่วยชีวิตทหารร่วมชาติได้จำนวนมาก จนได้สมญานามว่า “Legend” อีกทั้งยังเป็นที่หมายหัวเบอร์หนึ่งที่ฝั่งกลุ่มก่อการร้าย Al Qaeda สั่งเด็ดหัวอีกด้วย โดยฝ่ายศัตรูก็มีสไนเปอร์มือฉมังเช่นกันคือ Mustafa (Sammy Sheik จาก Lone Survivor) ซึ่งอยู่ภายใต้บัญชาของ the Butcher (Mido Hamada จาก Unknown) สมุนมือขวาของ Abu Musab al-Zarqawi ผู้โหดเหี้ยม (เออ แต่แปลกที่ไม่มี “Saddam Hussein” ในเรื่องเลยแฮะ)
ทุกครั้งที่ Chris กลับมาบ้าน เขาได้อยู่กับเมียและลูกๆ ที่เขารัก แต่เขากลับมีภาวะเครียด หวาดระแวง และรู้สึกเหมือนตัวเองยังอยู่ในสงครามตลอดเวลา ซึ่งทำให้เขาต้องมีปัญหากับ Taya อยู่บ่อยๆ เพราะเธอไม่อยากให้สามีกลับไปรบ แต่ด้วยสัญชาตญาณหรือความเป็น sheepdog ในสายเลือด Chris ก็ตัดสินใจกลับไปรบอีกทุกครั้ง รวมแล้วเขารบ 4 ทัวร์ด้วยกัน หลังจากทัวร์ที่ 4 เขาจึงวางมือและกลับมาใช้ชีวิตอย่างสงบอยู่กับครอบครัว ก่อนจะเสียชีวิตเมื่อ ก.พ. 2013 ที่ผ่านมา (READ MORE:Former Navy Seal sniper Chris Kyle shot dead at Texas gun range)
รีวิว / วิจารณ์ American Sniper
ชื่อหนังอาจจะเดาได้ไม่ยากว่าต้องเป็นหนังอวยชาติอเมริกาตามสูตร แต่เอาจริงๆ American Sniper ของคุณปู่ Clint Eastwood (ผู้กำกับฯ วัย 84 ปี) ไม่ได้อวยมะกันจนโอเวอร์อย่างที่คิด โอเค… ตามสูตร อเมริกาเป็นพระเอก กลุ่มตะวันออกกลาง อันได้แก่ อิรักกับ Al Qaeda เป็นตัวร้าย และสุดท้ายชาติมหาอำนาจเป็นฝ่ายชนะ แต่หนังไม่ได้เชิดชูแต่แง่ความสำเร็จนั้น ตรงกันข้าม หนังสะท้อนถึงสงครามในมุมที่แตกต่างออกไป เขาเลือกที่จะถ่ายทอดความรู้สึกของ “คนที่ไปรบอยู่ในสนามรบ” กับ “คนที่รอคนที่รบอยู่ที่บ้าน” ในมุมที่คนธรรมดาอย่างเราไม่เคยเข้าใจหรือนึกถึงมาก่อน
ตลอดทั้งเรื่อง เราจะได้เห็น Chris Kyle ได้รับการยกย่องทั้งในสนามรบและที่บ้านเกิดว่าเป็น “legend” หรือเป็น “hero” แต่เราจะไม่ได้เห็นแววตาหรือน้ำเสียงที่แสดงให้เห็นว่าเขามีความสุขกับมันเลย เขาไม่ภาคภูมิใจสักนิดที่ฉายาอันยิ่งใหญ่และชัยชนะที่สวยหรูต้องแลกมาด้วยการยิงเด็กและผู้หญิงที่อายุรุ่นราวคราวเดียวกับลูกเมียของเขา
“Even when you’re here, you’re not here”
พ่อของ Chris กับ Jeff สอนมาแต่เล็กว่า โลกนี้มีคนสามประเภทคือ “แกะ, หมาป่า, และสุนัขเลี้ยงแกะ” แล้ว Chris กับ Jeff จะต้องเป็นสุนัขเลี้ยงแกะที่คอยปกป้องแกะจากหมาป่า ห้ามเป็นแกะที่อ่อนแอ และห้ามเป็นหมาป่าที่อันธพาล ประกอบกับ Jeff เป็นคนขี้ขลาดอ่อนแอ นั่นเลยพอเข้าใจได้ว่าทำไม Chris จึงเลือกปกป้องส่วนรวมมากกว่า ทั้งๆ ที่จริงๆ ลึกๆ แล้วเขาก็อยากอยู่กับลูกเมียมากกว่า
ในสนามรบ Chris Kyle คือฮีโร่ แต่ที่บ้านภรรยากับลูกไม่ได้ดีใจหรือยินดีที่สามีได้เป็นวีรบุรุษผู้เสียสละเพื่อชาติ Taya ต้องการแค่สามีที่สมบูรณ์แบบ คอยช่วยเธอเลี้ยงลูกอยู่บ้าน และเก็บความทรงจำดีๆ เวลาลูกค่อยๆ เติบโตไปด้วยกัน ลูกๆ ก็ไม่หวังอะไร ขอแค่พ่อมีเวลาให้เขา เป็นฮีโร่ของเขาก็เพียงพอแล้ว พวกเขาภาวนาตลอดว่าศพต่อไปที่ใส่โลงกลับมาจะไม่ใช่ศพผู้นำของครอบครัวตน
ซึ่งการถ่ายทอดมุมที่ตึงเครียดของทหารกับครอบครัวมันตรงข้ามกับหนังไทยหรือละครไทยแนวประวัติศาสตร์หลายเรื่องโดยสิ้นเชิง ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น “บางระจัน” ที่กำลังฉายอยู่ทางไทยทีวีสีช่อง 3 ที่พยายามยัดเยียดบทนักหนาว่าวีรชนทั้งหลายพร้อมตายเพื่อแผ่นดินอย่างองอาจกล้าหาญ พ่อแม่พี่น้องทหารก็ดูภูมิใจเกินจริงที่ลูกรักชาติมากกว่ารักแม่ มันทำให้เรารู้สึก… เออ มันต้องแบบ American Sniper นี่สิ คนดูเข้าถึงง่ายกว่า และได้เข้าใจฟีลของทหารผ่านศึกจริงๆ
(READ MORE: Every movie rewrites history. What American Sniper did is much, much worse.)
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ Chris ให้ความสำคัญมากที่สุด ไม่ใช่ตัวเลขของคนที่เขาปกป้องได้ ไม่ใช่ตัวเลขของศัตรูที่เขากำจัดได้ แต่กลับเป็นตัวเลขของคนที่เขาปกป้องไว้ไม่ได้ เช่น เพื่อนสนิทในสนามรบของเขา หรือครอบครัวชาวอิรักที่เขาพยายามช่วยเหลือ
“God, country, family” ซึ่งคือสิ่งที่ Chris Kyle ท่องขึ้นใจ กับการพกไบเบิลไปรบทั้งที่ไม่เคยเปิดอ่าน มันบ่งบอกว่าเขาก็ค่อนข้างนับถือพระเจ้าหรือเคร่งศาสนาคริสต์ในระดับหนึ่ง เป็นเรื่องที่ดีที่ American Sniper ไม่ยัดเยียดศาสนาหรือพระเจ้าให้คนดูอย่างเราๆ มากเกินไปอย่างที่หนังสงครามบางเรื่องทำ แต่ในขณะเดียวกัน หนังก็มีจุดอ่อนตรงที่ละเลยศาสนาหรือความเชื่อของฝ่ายศัตรู พูดถึงแต่ศาสนาตัวเอง ไม่กล่าวถึงศาสนาตรงข้าม ซึ่งมันทำให้ฝ่ายศัตรูดูขาดความเป็นมนุษย์เข้าไปอีก
ซึ่งนี่คืออีกหนึ่งข้อเสียของหนัง ถึงแม้หนังจะไม่อวยชัยชนะของฮีโร่มาก แต่ก็ยังมีการแบ่งสีหรือสร้าง stereotype ให้กับสองชาติอย่างชัดเจนมากเกินไป กล่าวคือ ให้ชาติตัวเองเป็นขาว และชาวอิรักเป็นดำ หรือเป็นหมาป่าตัวร้ายของแกะนั่นเอง นอกจากนี้ ในหนังไม่ได้บอกว่า ถึงแม้ Chris Kyle จะเป็นพระเอกของเรื่อง เป็น “hero” ของคนอเมริกัน แต่สำหรับอีกฝ่าย เขาคือ “al Shaitan” หรือ “the Devil” ที่โหดร้าย เพราะอย่าลืมว่า ในขณะที่เขาพยายามเป็น “ผู้ช่วยชีวิต” ของคนอีกคน แต่เขาก็ต้องกลายเป็น “ฆาตกร” ของคนอีกคนเช่นกัน
แต่ไม่ว่า Chris Kyle จะเป็น “HERO” หรือ “DEVIL” ที่แน่ๆ เขาเป็น “LEGEND” ที่โลกไม่ลืม
ในส่วนของนักแสดง Bradley Cooper แล้ว เขายอดเยี่ยมไร้ที่ติ แบกรับหนังทั้งเรื่องได้อย่างดี ทั้งท่าทาง สีหน้า แววตา และน้ำเสียง เราเห็นและเข้าใจหมดว่าเขากำลังถ่ายทอดอารมณ์ไหนของ Chris Kyle เขาตีบทแตก เขาทำให้เราอิน มีหลายฉากเลยที่เราแอบน้ำตาคลอ (แต่ก็ไม่ได้ดราม่ามากขนาดบ่อน้ำตาแตก) ซึ่งนอกจากการแสดงของ Bradley Cooper ที่ยังคงมาสเตอร์พีซ เขายังมีรูปร่างหน้าตาละม้ายคล้ายคลึงกับ Chris Kyle ตัวจริงอีกด้วย
และปีนี้ก็เป็นปีที่ 3 ติดต่อกันแล้วที่ Bradley Cooper ได้เป็น nominee เข้าชิงออสการ์สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม หลังจากได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงจากเรื่อง Silver Linings Playbook และ American Hustle มาแล้วเมื่อสองปีล่าสุด แต่ถ้าวิเคราะห์ว่าปีนี้ Bradley Cooper จะได้รางวัลนี้หรือไม่ เราว่ายังไม่ได้ เช่นเดียวกับ Benedict Cumberbatch ใน The Imitation Game กล่าวคือ บทของเขาทั้งสองยัง suffer หรือ drama ไม่พอที่จะคว้าออสการ์เมื่อเทียบกับคู่แข่งคนอื่นๆ โดยเฉพาะ Michael Keaton จาก Birdman และ Eddie Redmayne จาก The Theory of Everything
อัปเดตล่าสุด OSCARS รางวัลสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม พ่ายให้แก่ Eddie Redmayne จาก The Theory of Everything เรียบร้อยโรงเรียน Cambridge
รวมถึงรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมที่อุตส่าห์ได้เข้าชิง แต่ก็ไม่น่าจะได้รางวัล เช่นเดียวกับ Zero Dark Thirty สองปีก่อน ทั้งนี้เพราะถึงแม้จะเป็นหนังแนวสงครามอิรักแบบ The Hurt Locker ที่กวาดรางวัลไปมากมาย แต่ American Sniper ก็ไม่ได้เป๊ะเว่อร์ขนาดนั้น และยังเปรียบเทียบกับแชมป์เก่าไม่ได้สักเท่าไหร่
อัปเดตล่าสุด OSCARS รางวัลสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม พ่ายให้แก่ Birdman
อย่างไรก็ดี หนังมีความดีงามในเรื่องของเสียง (sound effect) และมุมภาพ ที่ให้ความรู้สึกตื่นเต้นสมจริง โดยเฉพาะถ้าดูในโรง IMAX แล้วจะยิ่งได้ฟีลเหมือนเรากำลังอยู่กลางสมรภูมิรบในอิรักกับเขาจริงๆ สมแล้วที่ได้ชิงออสการ์ทั้งสาขา Best Sound Editing และ Best Sound Mixing
ปกติเราไม่ค่อยดูหนังแนวสงคราม มันไม่เจริญหูเจริญตาเท่าไหร่ แต่สำหรับ American Sniper เราถือเป็นหนังสงครามที่ดูสนุกเรื่องนึงเลยแหละ น่าติดตาม ไม่น่าเบื่อ ไม่โหดร้ายจนเกินไป แต่เล่นกับอารมณ์คนดูได้หลายมิติดี โดยสรุปเราชอบ American Sniper มันเลอค่าสมกับการเข้าชิงออสการ์ 6 สาขาจริงๆ พีค เครียด กดดัน และเข้มข้นมาก ซาวนด์ดีงาม พระเอกดีเลิศ ที่สำคัญคือไม่อวยอเมริกาจ๋าจนเกินไป เราเป็นคนไทยดูแล้วยังอินกับความรักชาติยิ่งกว่าเปิดทีวีดูบางระจัน เป็นหนังสงครามที่สนุกจริง ไม่เสียดายตังค์ Bradley Cooper ไม่ทำให้เราผิดหวังแน่นอน
(8.5/10)
39 comments
แวะเข้ามาอ่านรีวิว ก่อนเข้าไปดูในโรงครับ พอได้อ่านแล้วรู้สึกว่าเรื่องนี้น่าติดตามดีครับ ขอบคุณนะครับ