“Big Eyes : ติสท์ ลวง ตา” ภาพยนตร์สร้างจากเรื่องจริงของจิตรกรชื่อดัง Margaret Keane ซึ่งปัจจุบันยังคงมีชีวิตอยู่ (อายุ 87 ปี) และยังคงวาดรูปอยู่ทุกวัน (READ MORE: Who Is Margaret Keane? 11 Things To Know About The Real-Life Artist After ‘Big Eyes’ Release)
“Big Eyes : ติสท์ ลวง ตา” เป็นผลงานล่าสุดของผู้กำกับมากฝีมือ “Tim Burton” ที่ถึงแม้จะไม่ได้เข้าชิงออสการ์ 2015 สักสาขาเลย แต่ก็ได้เข้าชิงลูกโลกทองคำ ครั้งที่ 72 (Golden Globe Award 2015) ทั้งสิ้นถึง 3 สาขา ได้แก่
- “Christoph Waltz” เข้าชิง “รางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม : ประเภทตลกหรือเพลง”
- “Amy Adams” เข้าชิง “รางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม: ประเภทตลกหรือเพลง”
- “เพลง Big Eyes” ร้องโดย “Lana Del Rey” เข้าชิง “รางวัลเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
โดย “Amy Adams” ทำสำเร็จ เป็นตัวแทน Big Eyes คว้ารางวัล “นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม: ประเภทตลกหรือเพลง” มาการันตีคุณภาพของหนังและฝีมือการแสดงของเธออย่างเต็มภาคภูมิ
เรื่องย่อ “Big Eyes : ติสท์ ลวง ตา” (BASED ON TRUE STORIES)
ช่วงปี 1950-1960s Margaret Keane (Amy Adams) จิตรกรสาวม่ายซิลเกิลมัม พาตัวเองและ Jane (Delaney Raye) ลูกสาวตัวน้อย มาเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่ San Francisco ที่นั่นเธอได้พบรักและแต่งงานใหม่กับ Walter Keane (Christoph Waltz) จิตรกรหนุ่มเจ้าเสน่ห์คารมคมคาย
Margaret Keane ชอบวาดรูปเด็กตากลมโตผิดธรรมชาติ เธอบอกว่าดวงตาคือหน้าต่างของหัวใจ ในขณะที่ Walter Keane วาดรูปวิวถนนแห่งหนึ่งในปารีส อย่างไรก็ตาม ผลงานของสองสามีภรรยาไม่ใช่แนวสมัยนิยม Ruben (Jason Schwartzman) เจ้าของแกลอรี่ในเมือง จึงไม่รับซื้องานของพวกเขาไปจัดแสดง
แต่ Walter เป็นคนมีพรสวรรค์ด้านการขาย เขาเริ่มต้นเช่าพื้นที่แสดงผลงานในซอกหลืบของร้านแจ๊ซคลับของ Enrico Banducci (Jon Polito) และแอบอ้างสวมรอยว่าตนเป็นคนวาดรูปเด็กผู้หญิงตาโตทั้งหมดนั้นเอง
ซึ่งแรกๆ Margaret ก็ไม่พอใจ แต่สุดท้ายเธอก็ต้องยอมรับความจริงว่างานของเธอขายยาก เธออยู่ในยุคที่ไม่มีใครอยากได้งานของผู้หญิง แม้แต่ไปนั่งรับวาดภาพเหมือนข้างทางก็ยังโดนลูกค้าผู้ชายกดราคาครึ่งต่อครึ่ง นอกจากนี้เธอก็รู้ตัวเองว่าเธอเป็นคนขายของไม่เก่ง พูดโน้มน้าวลูกค้าไม่ได้อย่างที่สามีถนัด ดังนั้นเธอเลยยอมเลยตามเลย
เพราะความสามารถทางการพูดและการตลาดของ Walter รวมพลังกับปลายปากกาของ Dick Nolan (Danny Huston) คอลัมนิสต์ที่ Walter ไปตีซี้ไว้ช่วยเขียนข่าวให้ รูปเด็กผู้หญิงตาโตของ Keane จึงค่อยๆ กลายเป็นกระแส เป็นที่รู้จักในวงกว้าง มีเซเลบให้ความสนใจ เป็นที่ชื่นชอบของมวลมหาประชาชน และขายได้ในราคาที่สูงขึ้นเรื่อยๆ
Margaret กับ Walter ร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐี ท่ามกลางคำวิจารณ์และกระแสแอนตี้อย่างหนักจากสมาคมศิลปะ และ John Canaday (Terence Stamp) นักเขียนข่าวคอลัมน์วิจารณ์ศิลปะแห่ง New York Times
และถึงแม้ Margaret จะมีเงินทองมากมาย มีบ้านหลังใหญ่ มีแกลอรี่เป็นของตัวเอง และมีแทบทุกสิ่งที่เคยฝัน แต่เธอก็ไม่มีความสุข เพราะเธอต้องอุดอู้ขังตัวเองอยู่แต่ห้องวาดรูป 16 ช.ม. ต่อวัน (ยังกับติดคุกชัดๆ) ในขณะที่ Walter ได้ชูหน้าชูตาออกสังคมออกทีวีและบอกใครๆ ว่าเขาเป็นคนวาดรูปที่เธอวาด
นอกจากนี้ Margaret ยังรู้สึกอึดอัดมากที่ต้องโกหก Jane ลูกสาวสุดที่รัก (Madeleine Arthur) และโกหก DeeAnn (Krysten Ritter) เพื่อนสนิทคนเดียวของเธอ
รีวิว / วิจารณ์ “Big Eyes : ติสท์ ลวง ตา”
Amy Adams ทำหน้าที่ได้ดีสำหรับบท Margaret Keane ไม่ว่าจะซีนรัก ซีนโกรธ ซีนเศร้า ซีนกังวล ซีนอึดอัด ซีนฉลาด หรือซีนโง่ เธอก็ตีบทแตกและทำให้คนดูคล้อยตามเธอได้หมด เธอทำให้คนดูเชื่อและอยากติดตามคอยลุ้นคอยให้กำลังใจเธอตั้งแต่ฉากแรกที่เธอหอบกระเป๋ากระเตงลูกหนีผัวเก่าจนถึงฉากสุดท้ายที่เธอไฟต์กับผัวคนที่สองในศาลฮาวาย
แล้วฉากในศาลคือสนุกมาก เข้มข้นมาก เป็นไคลแม็กซ์ที่ประทับใจสุด จริงๆ Amy Adams นางก็ฟาดของนางนะ แต่เราว่าเหมือนนางถูก Walter Keane กับผู้พิพากษา (James Saito) ขโมยซีนไปหลายช็อตอยู่เหมือนกัน ดังนั้น ถ้าถามความเห็นเราตรงๆ เธอก็ทำได้ดีแหละ
แม้แต่ Margaret Keane ตัวจริงเสียงจริงยังเอ่ยปากชม Amy Adams เองเลยว่า “She portrayed exactly the way I was feeling. I don’t know how she can do it without even saying a word … just a gesture.”
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เราก็ไม่เห็นว่าเธอจะดีที่สุดถึงขั้นได้รางวัลลูกโลกทองคำสาขานักแสดงนำหญิง 2015 (แต่เธอก็ได้ไปแล้ว ช่างมันเถอะเนาะ)
ตัวประกอบอื่นๆ ที่เราชื่นชอบ อาจแตกต่างกับตัวละครที่คนอื่นชื่นชอบกัน เพราะนอกจากนางเอกแล้ว คนที่เราชอบในเรื่องนี้เป็นตัวละครหญิงทั้งหมดได้แก่ DeeAnn และ Jane
เราชอบ DeeAnn เพราะเธอเป็นตัวแทนของสาวยุคใหม่ (ในยุคนั้น) ที่กล้าคิดกล้าพูด ฉลาด และมีความเป็นตัวของตัวเองสูง ซึ่งหาได้ยากในสังคมสมัยนั้น
ส่วน Jane ซึ่งเป็นลูกสาวของ Margaret Keane เราชอบทั้งตอนนางยังเป็นเด็กและตอนเป็นวัยรุ่น เพราะเธอก็เป็นตัวแทนของผู้หญิงยุคใหม่เจนฯใหม่อีกเช่นกัน เธอเป็นเด็กที่ฉลาดและเข้มแข็งตั้งแต่เด็ก เชื่อว่าทุกคนก็คงสังเกตได้เหมือนเราจากการพูดการจาของเธอ โตไปเธอต้องเป็นผู้หญิงที่เป็นผู้นำที่ดีของครอบครัวและของสังคมได้แน่ๆ
(แอบคิดขำๆ ว่า ถ้ามี Jane เวอร์ชั่นวัยสาวสะพรั่ง บทนี้อาจตกเป็นของ Amanda Seyfried หรือ Emma Stone เพราะดวงตาเธอได้จริงๆ)
ในส่วนของเนื้อหนัง โดยรวมเราค่อนข้างเชียร์ Big Eyes หนังเรื่องนี้ถือเป็นหนังเรื่องที่ 2 ของปี 2015 ที่เรารู้สึกโอเค (ต่อจากเรื่อง Foxcatcher) และค่อนข้างชอบมากเป็นการส่วนตัว
ความชอบส่วนตัวประการแรกใน Big Eyes คือมันถ่ายทอดประเด็น Feminism ในยุค 1950s ซึ่งในช่วงปี 1950s นั้นยังเป็นยุคที่อเมริกายังไม่มีสิทธิเสรีภาพหรือความเท่าเทียมทางเพศให้กับเพศหญิงเฉกเช่นปัจจุบัน ผู้หญิงถูกปลูกฝังให้เรียนจบออกมาเป็นแม่บ้านอยู่แต่เหย้าเฝ้าแต่เรือนเท่านั้น บริษัทต่างๆ ก็ไม่นิมยมรับผู้หญิงเข้าทำงาน ความสามารถของผู้หญิงยังไม่ได้รับการยอมรับ
ใน Big Eyes เราก็จะเห็นบทบาทสตรีที่ถูกจำกัดดังกล่าวผ่านตัวละคร Margaret Keane ตั้งแต่เป็นลูกสาว เป็นเมีย และเป็นแม่คน ซึ่งเราเองก็เคยเขียนบล็อกเล่าเกี่ยวกับประเด็น Feminism ลักษณะนี้มาก่อนแล้วในบล็อก Mona Lisa Smile: 1950s Feminist ซึ่งเหตุการณ์ในหนังเรื่อง Mona Lisa Smile (2003) นั้นเกิดขึ้นในปี 1953 ไล่ๆ กับเรื่องของ Margaret Keane
นอกจากนี้ เรายังอินกับประเด็น “ลิขสิทธิ” เพราะเราก็เหมือนศิลปินคนหนึ่ง ที่เขียนและเผยแพร่ผลงาน แล้วเคยมีคนขี้เกียจขี้โกงนำผลงานของเรา ทั้งในบล็อกและในทวิตเตอร์ ไปคัดลอกดัดแปลงเป็นของตัวเอง เพื่อนๆ เราที่ทำผลงานของตัวเองด้านอื่นๆ เขาก็โดนขโมยความคิดและผลงานไปหน้าด้านๆ มาหลายคนเช่นกัน จนเป็นสาเหตุให้เราต้องเขียนบล็อก Plagiarism : โจรกรรมทางวรรณกรรม มาแล้ว
ซึ่งเราหวังว่าคนบางกลุ่ม เมื่อดู Big Eyes แล้ว จะเข้าใจจิตใจของคนที่ถูกขโมยเครดิตผลงานและพอจะเกิดจิตสำนึกอะไรขึ้นมาบ้างเกี่ยวกับการขโมยงานที่คนอื่นสร้างสรรค์ไปใช้เป็นชื่อตัวเองของตัวเอง
อาจเป็นเพราะการแสดงของ Christoph Waltz ที่เหมือนจะเล่นล้นไปเสียหน่อย หรือไม่ก็เป็นสไตล์ที่ Tim Burton ต้องการให้ Walter Keane มีคาแรกเตอร์แบบนั้นเพื่อลดความดราม่าของหนัง ตัวละคร Walter Keane ในหนังจึงเป็นเหมือนทั้งพระเอก ตัวร้าย และตัวตลกในคนเดียวกัน (อย่างไรก็ดี เราเชื่อว่า สำหรับ Margaret Keane ในชีวิตจริงนั้น เขาคงเป็นตัวร้ายอย่างเดียวเสียมากกว่า)
เราเกลียดขี้หน้าและหมั่นไส้ในความคุยโวโอ้อวดหรือคำโกหกคำโต (Big Lies) ของ Walter Keane ในขณะเดียวกัน เราก็อดไม่ได้ที่จะชื่นชมในความเฉลียวฉลาดและความสามารถของเขาในการทำผลงานธรรมดาให้ไม่ธรรมดา ทำผลงานที่ไม่มีใครสนใจให้มีคนสนใจ และพลิกชีวิตตัวเองจากหน้ามือเป็นหลังมือ โดยใช้อิทธิพลของเซเลบคนดัง และอิทธิพลของสื่อหรือ mass media เป็นเครื่องมือในการปั่นกระแสให้ตัวเองดังชั่วข้ามคืน
เออ ทุกกลยุทธทางการขาย การพีอาร์ หรือการตลาดที่เขาใช้นั้นน่าสนใจและน่านำมาปรับใช้ในชีวิตจริงของเรานะ (แต่ก็ต้องเป็นไปในทางที่ถูกที่ควรและมีจรรยาบรรณนะจ๊ะ)
อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ เราได้เห็นว่าสังคมทุกยุคยุคสมัย จากอดีตจนถึงปัจจุบัน คนในสังคมนิยมเสพสื่อหรือศิลปะตามกระแส ดังนั้นจำนวนคนเสพ ปริมาณการผลิต หรือราคาค่างวดของโปรดักต์ อาจไม่ได้แปรผันตรงหรือการันตีคุณภาพของชิ้นงานนั้นๆ ได้เสมอไป
กล่าวคือ ศิลปะที่คนชอบเยอะๆ มันอาจจะไม่ใช่ศิลปะที่สวยงามในแง่คุณค่า หากแต่คือแฟชั่นที่ผ่านมาและเดี๋ยวก็ผ่านไป แต่ถ้าเราเป็น Margaret Keane ตอนนั้น เราก็ไม่แคร์มากนะว่านักวิจารณ์อาชีพจะกัดจิกผลงานของเราว่าไม่เป็นศิลปะหรือเป็นขยะแห่งวงการศิลปะ เพราะอย่างน้อยมันก็เป็นกระแส มันก็เป็นแฟชั่น และมีคนนิยมชมชอบ ถึงแม้มันจะไม่มีคุณค่านิรันดร์เหนือกาลเวลาเหมือนพระราชนิพนธ์โคลนติดล้อ แต่แฟชั่นมันก็สร้างทั้งเงินและชื่อเสียงให้เรานานพอ…พอที่จะมีกินมีใช้สบายๆ ไปทั้งชีวิต จริงมั้ย?
โดยสรุป “Big Eyes : ติสท์ ลวง ตา” เป็นหนังคุณภาพที่เปิดโลกทัศน์และวิสัยทัศน์ หรือพูดง่ายๆ ก็คือ big lies ช่วยเปิดหูเปิดตาของเราให้เบิกกว้างขึ้นในหลายๆ มุมมอง เช่น ประเด็นความเท่าเทียมทางเพศ ประเด็นลิขสิทธิ ประเด็นการโปรโมตผลงาน และประเด็นการเสพสื่ออย่างแมสๆ ของคนในสังคม
หนังดำเนินเรื่องสนุก ชวนติดตาม ไม่น่าเบื่อ อย่างน้อยก็ได้เพลิดเพลินกับการแสดงของพระนางคุณภาพจากเวทีลูกโลกทองคำ แนะนำให้ไปดูทุกเพศทุกวัย นี่สนุกจริง ไม่โกหก! (8/10)
ชมคลิปตัวอย่างภาพยนตร์
43 comments