Ang Lee ผู้กำกับเจ้าของรางวัลออสการ์ ทิ้งห่างจากการกำกับหนังล่าสุดไปถึง 4 ปีเต็มกว่าจะคลอด Billy Lynn’s Long Halftime Walk เรื่องนี้ออกมา ด้วยมาตรฐานที่เขาทำไว้สูงจากผลงาน Life of Pi จึงไม่แปลกหากจะมีหลายคนคาดหวังอะไรเป็นพิเศษจากหนัง Billy Lynn’s Long Halftime Walk
เรื่องย่อ Billy Lynn’s Long Halftime Walk
ทหารหน่วย Bravo กลับจากสมรภูมิอิรัก พร้อมชื่อเสียงของ Billy Lynn (นักแสดงหนุ่มหน้าใหม่ Joe Alwyn) พลทหารวัย 19 ปีที่กล้องจับได้ว่า เขาพยายามช่วยชีวิตจ่า Shroom (Vin Diesel จาก Fast & Furious) จากศัตรูกลางสนามรบ เขาจึงกลายเป็นฮีโร่ของอเมริกาโดยทันที
Albert (Chris Tucker จาก Rush Hour) พยายามดีลหานายทุนมาลงทุนสร้างหนังเกี่ยวกับพวกเขา ในระหว่างที่หน่วย Bravo นำโดยจ่า Dime (Garrett Hedlund จาก TRON: Legacy) ต้องเดินสาย “Victory Tour” ซึ่งสิ้นสุดที่เท็กซัสบ้านเกิดของ Billy พอดี
Kathryn (Kristen Stewart จาก Twilight) พี่สาวของ Billy เป็นคน anti-war และรักน้องมาก อยากให้น้องออกจากการเป็นทหาร กลัวสนามรบจะทำให้น้องเป็นโรค PTSD ดังนั้น Billy จึงต้องตัดสินใจว่าจะกลับไปปฏิบัติหน้าที่ที่อิรักอีกหรือไม่อย่างไร
รีวิว วิเคราะห์ วิจารณ์ Billy Lynn’s Long Halftime Walk
ถึงแม้ Billy Lynn’s Long Halftime Walk จะคนละแนวและคนละชั้นกับ Life of Pi ทั้งที่ผู้กำกับคนเดียวกัน แต่ Billy Lynn’s Long Halftime Walk ก็ทำได้ดีในแง่การสะท้อนความแตกต่างในเรื่อง perception เกี่ยวกับสงครามของคนที่เป็นทหารที่ไปรบจริง ๆ กับคนที่เป็นแค่พลเมืองอเมริกาทั่วไป รวมถึงถ่ายทอด War Effects และพาไปสำรวจจิตใจที่บอบช้ำของเหล่าทหารผ่านศึก
ดั้งเดิมหนังถ่ายด้วยกล้อง 3D ความละเอียด 4K resolution และถ่ายแบบ 120 เฟรมต่อวินาที (5 เท่าของหนังปกติ) แต่ที่ไทยเขาเข้าฉายแต่โรงปกติ เราจึงไม่เห็นความพิเศษของเทคนิคนี้เท่าไหร่ว่ามันดีหรือแย่อย่างไร โดยส่วนตัวเราไม่ค่อยสันทัดกับเทคนิคพวกนี้ด้วย ดังนั้นขอผ่านมันไป และโฟกัสแต่ในส่วนของเนื้อเรื่อง
เราไม่ค่อยเก๊ตคำว่า Long Hafttime Walk ที่อยู่ในชื่อหนังเท่าไหร่ (มันคืออะไร? ทำไมต้อง Long Hafttime Walk?) แต่ที่เราชอบในหนังเรื่องนี้คือประเด็นที่อยู่ในหนังที่เหมือนจะเป็นเรื่องจริงที่เป็นตลกร้าย
- หนึ่ง มันดูน่าขันที่ประชาชนยกย่อง Billy Lynn เป็นฮีโร่ เพียงเพราะกล้องจับภาพเขาได้ ณ วินาทีที่เขาพยายามช่วยเพื่อนของเขาในสนามรบ… ซึ่งจริง ๆ แล้วมันก็คือหน้าที่ของเขาอยู่แล้วที่ต้องช่วยเพื่อนและปกป้องประเทศชาติ คนอื่น ๆ หลายคนก็ทำเหมือนเขาเป็นเรื่องปกติ แต่แค่ไม่มีกล้องจับภาพไว้ก็เท่านั้น
- สอง คนเราชอบฟังเฉพาะสิ่งที่ตัวเองอยากได้ยิน เวลาถามอะไรใคร คนเราต่างมีคำตอบที่คาดหวังอยู่แล้ว หรือต้องการความหวือหวาเกินจริงจากคำตอบนั้น ผู้พูดที่ฉลาดจึงไม่ค่อยได้พูดตามที่ตัวเองคิดหรือรู้สึกจริง ๆ เท่าไหร่ ต้องพูดในสิ่งที่คนอื่นเขาคาดหวังจะได้ยิน
- สาม ประชาชนไม่ได้สนใจสงครามจริง ๆ หรอก เวลากองทัพของชาติชนะ ก็จำทหารเป็นฮีโร่เป็นคน ๆ ไป และไม่ช้าก็เร็วก็หลงลืมฮีโร่คนนั้นอยู่ดี ประชาชนเคยชินและสนใจกับความบันเทิง เช่น ดนตรีและกีฬา อีกทั้งยังชอบและให้คุณค่ากับความ celebrity
- สี่ จากข้อสามตะกี๊ ดังนั้น มันจึงดูประหลาดดีที่คนพยายามยัดเยียดความเป็นเซเลบฯ หรือฮีโร่ให้พวกทหาร หนำซ้ำกรรมซ้อนยังเอาเขาไปเป็นส่วนประกอบของการแสดงบนเวทีอีก
- ห้า ความเป็นดาราขายได้แพงกว่า แต่ความเป็นฮีโร่กลับราคาถูกอย่างน่าใจหาย ทั้งที่ลงทุนต่างกันมากและผิว ๆ คนก็ดูจะเหมือนจะซัพพอร์ตรั้วของชาติ (ซึ่งแค่ดูเหมือน…)
- หก กลับจากสนามรบมา ทหารย่อมมีการสูญเสียเพื่อนหรือกระทั่งอวัยวะส่วนหนึ่งส่วนใดของตัวเอง รวมถึงสุขภาพจิตที่เสี่ยงต่อการเป็นโรค PTSD และความเครียดจากการห่างไกลคนรัก แต่ในงานศพของเพื่อนทหาร ก็มีแต่เพื่อนทหารด้วยกันที่อยู่ตรงนั้นและจดจำ ส่วนประชาชนสนใจแต่ชัยชนะและเฉลิมฉลองมันราวกับมันมีแต่เรื่องน่ายินดี ยัดเยียดให้พวกเขาเป็นเซเลบฯ คนมองพวกเขาเหมือนเป็นแค่นักฟุตบอลในเกมกีฬาฟุตบอล ยังไงยังงั้น (อารมณ์เหมือน Victory Tour ใน The Hunger Games อะ)
- เจ็ด ทั้งหมดนี้ส่วนหนึ่งใหญ่ ๆ คืออิทธิพลของสื่อมีเดีย ที่ทำให้คนเราทุกวันนี้มันเป็นอย่างนี้นี่แหละ
โดยสรุป หนังไม่ดีไม่แย่ แค่มาตรฐานผู้กำกับตกลงมานิดหน่อย ใช้นักแสดงดังไม่คุ้มเท่าไหร่ แต่ดูแล้วได้คิดตาม ทำให้เราเห็นและเข้าใจอีกด้านหนึ่งของทหารและสมรภูมิรบ นั่นคือโอเคมากแล้วสำหรับเรา
Billy Lynn’s Long Halftime Walk คะแนนตามความชอบส่วนตัว 7.5/10
เข้าฉาย 24 พ.ย. 2016 นี้ในโรงภาพยนตร์
42 comments
Comments are closed.