เมื่อ 35 ปีที่แล้ว Ridley Scott (ผู้กำกับ Alien, Gladiator, The Martian ฯลฯ) ทำหนังไซไฟดิสโธเปียเรื่อง Blade Runner (1982) ที่ดัดแปลงจากนิยาย Do Androids Dream of Electric Sheep? (1968) ของ Philip K. Dick จนประสบความสำเร็จขึ้นหิ้งมาแล้ว และในปี 2017 นี้ เขาก็ได้มาขึ้นแท่นเป็นโปรดิวเซอร์หนังภาคต่อ ภายใต้ชื่อ Blade Runner 2049 โดยให้ Denis Villeneuve (จาก Arrival, Sicario, Enemy) มาเป็นผู้กำกับ
ถ้าไม่จริงจังมากนัก ไม่ต้องดู Blade Runner (1982) มาก่อน ก็สามารถดู Blade Runner 2049 ได้รู้เรื่อง แต่ถ้าจะให้เก๊ตไว ๆ และอิน ๆ หน่อย เราแนะนำว่าควรดู Blade Runner (1982) หรือพอรู้เรื่องราวของภาคนั้นมาก่อนบ้างคร่าว ๆ ซึ่งหากหาภาคเก่ามาดูไม่ได้ ก็อาจฟังคลิป “รู้ไว้ก่อนดู: BLADE RUNNER 2049 เบลด รันเนอร์ อภิมหาไซไฟแห่งยุค!” ของ #JUSTดูIT หรืออ่านจากบล็อก “วิเคราะห์ Blade Runner (1982) สรุปหนังเตรียมดู Blade Runner ภาคต่อ” ของคุณ A-Bellamy ก็ได้เหมือนกัน (ขอเชิญเจอรี่ แชมป์ และเอ จ่ายค่าโฆษณาที่ช่อง 2 ด้วยค่ะ)
เรื่องราวในหนัง Blade Runner (1982) มันเกิดขึ้นในอนาคตของมัน คือปี 2019 ส่วนใน Blade Runner 2049 ที่กำลังฉายโรงนี้ เรื่องราวเกิดขึ้นในปี 2049 ซึ่งก็เท่ากับ 30 ปีถัดจากหนังภาคที่แล้วนั่นเอง แต่อนาคตในหนังเป็นอนาคตแบบดิสโธเปีย คือไม่ได้สวยหรู มีแต่ความยากจนข้นแค้น ขาดแคลนอาหาร จนต้องกินหนอนเป็นโปรตีน ประมาณนั้น
สำหรับภาคนี้ Harrison Ford ในวัย 75 ปี (Han Solo จาก Star Wars) กลับมารับบทบาทเป็น Rick Deckard อดีต Blade Runner จากภาคแรกด้วย ส่วน Blade Runner คนปัจจุบัน คือ K รับบทโดย Ryan Gosling (จาก La La Land) โดยรวมหนังภาคนี้มีความเคารพต้นฉบับ แต่เนื่องจากเรายังไม่เคยดูภาคแรก เราจึงมิอาจพูดอะไรมากไปกว่านี้ได้เท่าไหร่นะ
เรื่องราวเกิดขึ้นเมื่อ K (Ryan Gosling) ตำรวจประจำหน่วย LAPD ซึ่งมีหน้าที่ตามฆ่าล้างมนุษย์เทียม (Replicants) ไปพบเจอหลักฐานชิ้นสำคัญ ซึ่งเป็นกุญแจสู่อนาคต ที่มนุษย์เทียม Sapper Morton (Dave Bautista จาก Guardians of the Galaxy) ฝังไว้ที่บ้าน บอส Lieutenant Joshi (Robin Wright จาก Forrest Gump) จึงให้ K ตามสืบคดีนี้ต่อ ซึ่งการสืบคดีนี้ ทำให้ K เริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับอดีตและตัวตนของเขาเอง
เมื่อเรื่องการสืบสวนคดีนั้นไปถึงหูเจ้าของบริษัทที่ผลิตมนุษย์เทียมอย่าง Niander Wallace (Jared Leto จาก Dallas Buyers Club) เข้า เขาก็ให้มือขวา Luv (Sylvia Hoeks) คอยติดตาม K ไว้ และรีบแย่งสิ่งที่ K กำลังตามหานั้นมาให้ได้ ซึ่งแน่นอนว่า ของสิ่งนั้น Rick Deckard (Harrison Ford) ก็มีความเกี่ยวข้องด้วย
Blade Runner 2049 เป็นหนังที่ Sci-fi ล้ำ (very ล้ำ) งาน Visual เนรมิตเมืองในอนาคตได้สวยสมจริงอย่างตระการตา ดีเทลแน่นเอี๊ยด ทั้งที่พึ่งพาเทคโนโลยี CGI น้อยมาก
นอกจากนี้สิ่งที่โดดเด่นและทรงพลังอย่างยิ่งจนสมควรแก่การได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์แน่นอน นั่นคืองานถ่ายภาพโดย Roger Deakins ผู้เป็นตากล้องคู่บุญของผู้กำกับคนนี้ และเคยเข้าชิงออสการ์สาขา Best Cinematography มาแล้ว 13 ครั้ง! ตั้งแต่ The Shawshank Redemption ซึ่งสำหรับเรื่องนี้ เราให้ 11 เต็ม 10 เลย
ในส่วนของงานซาวนด์ สกอร์ และดนตรี ก็ดีเลิศไม่แพ้กัน ทั้งนี้เป็นผลงานของ Benjamin Wallfisch และ Hans Zimmer (จาก Dunkirk และหนังดัง ๆ อีกร้อยแปด) ดังนั้นใครจัด IMAX เรื่องนี้คือคุ้มและฟิน ไม่เสียดายเงิน
แต่บอกก่อนนะว่า Blade Runner 2049 ไม่ใช่หนังแอ็คชั่นตู้มต้ามและไม่ได้เน้นขายความบันเทิงแบบหนังแมส ๆ ทั่วไป ในทางตรงกันข้าม Blade Runner 2049 เป็นหนังแฝงปรัชญาลึกล้ำที่ต้องครุ่นคิดด้วยสติและปัญญาแทบทั้งเรื่อง (แต่ดูง่ายกว่าเรื่อง Enemy เยอะนะ) โดยหลัก ๆ แก่นของมันคือเรื่องของความเป็นมนุษย์ (humanity)
ตัวละครหลักแต่ละตัวมักพูดคุยกันแต่เรื่องจิตวิญญาณ ความทรงจำ อุดมการณ์ ความปรารถนา รวมถึงการถือกำเนิดหรือการถูกสร้างขึ้น อันนำไปสู่คำถามเชิงปรัชญาโลกแตก: อะไรที่บ่งบอกว่าเราเป็นมนุษย์? —
มนุษย์ต้องเป็นสิ่งที่ถือกำเนิดโดยธรรมชาติ (born) เท่านั้นหรือเปล่า สิ่งที่ถูกสร้างขึ้น (made) อย่างพวกหุ่นยนต์ AI จะไม่มีความเป็นมนุษย์เลยหรือ? คนเท่านั้นหรือที่จะมีจิตวิญญาณ (soul)? AI ไม่มีอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดกระนั้นหรือ? ความทรงจำเป็นตัวกำหนดความเป็นมนุษย์ของคนหรือ? หรือการตายเพื่ออุดมการณ์หรือสิ่งที่เราเชื่อ นั่นน่ะหรือ… คือความเป็นมนุษย์? (เออ ต้องตั้งคำถามเยอะ ๆ เพราะการตั้งคำถามก็คืออีกสิ่งที่ชี้วัดความเป็นมนุษย์เช่นกัน)
สำหรับบางตัวละครในหนัง ถ้าไม่บอก เราก็แยกแยะเองแทบไม่ออกว่าเป็นมนุษย์แท้หรือมนุษย์เทียม อย่างแฟนสาวของ K ที่ชื่อ Joi (Ana de Armas) เราก็ไม่กล้าฟันธงเหมือนกันนะว่าความรู้สึกที่ Joi มีต่อ K มันคือความรักและความห่วงใยจริง ๆ หรือว่าเป็นสิ่งที่ถูกโปรแกรมไว้ (Joi เป็น AI ฟีลคล้าย ๆ ในเรื่อง Her (2013))
แต่ในหนัง สิ่งที่เขาใช้ตรวจจับชี้วัดความเป็นมนุษย์จะเป็นเครื่องมือและอะไรที่มีความเป็นตัวเลข เช่น serial number ในเปลือกตาล่าง หรือการใช้แบบทดสอบ Voight-Kampff ซึ่งเป็นชุดของคำถามประเมินระดับความเป็นมนุษย์ (อารมณ์คล้าย ๆ เครื่องจับเท็จผสม Captcha มั้ง)
หน้าที่ของ K คือตามล่ามนุษย์เทียมที่ outlaw หรือ retired แล้ว แต่ในขณะเดียวกัน เขาก็ถูกพวกมนุษย์แท้ ๆ discriminate เช่นกัน (เดิมมนุษย์เทียมถูกผลิตขึ้นเพื่อมาใช้เป็นทาสหรือแรงงานของพวกมนุษย์แท้) ในหนัง K จึงอยู่อย่างโดดเดี่ยว ประเด็น discrimination จึงเป็นอีกประเด็นที่เราอาจมองข้ามไม่ได้ในหนังเรื่องนี้
ลึก ๆ เราสัมผัสได้ว่า K มีความอยากเป็นมนุษย์แท้ เพราะสังคมรอบข้างรวมถึงหน้าที่ที่เขาถูกกำหนดมามันตีกรอบเขา มันจำกัดอิสรภาพในการใช้ชีวิตของเขาและทำให้เขาไม่มีความสุข ซึ่งในฐานะคนดูอยู่ห่าง ๆ อย่างห่วง ๆ อย่างเรา เราจะรู้สึกเห็นใจและอยากเชียร์ให้ K เป็นมนุษย์แท้ ๆ อย่างที่เขาแอบหวัง
ถึงแม้หนังจะเล่าแบบเรื่อย ๆ (สารภาพว่าครึ่งชั่วโมงแรก ตอนที่ยังจูนไม่ติด แอบหาวไปหลายรอบ แหะ ๆ) แต่ยิ่งดูไปสักพัก มันจะยิ่งดำดิ่งไปกับมันและรู้สึกสนุกชวนติดตาม พาร์ทที่สนุกที่สุดสำหรับเราคือ การที่เราได้ดำดิ่งไปช่วยลุ้นว่า K เป็นมนุษย์แท้หรือมนุษย์เทียม หรือ K เนี่ย born or made? ซึ่ง Denis Villeneuve กับ Ryan Gosling เนี่ย เขาเก่งมากจริง ๆ เพราะนี่ดูไปดูมา อยู่ ๆ ตัวเราเหมือนไป sync รวมกับ K ตั้งแต่เมื่อไหร่ก็ไม่รู้ แต่พอมารู้ตัวอีกที เวลา K เจ็บ เราก็เจ็บ เวลา K สุข เราก็สุข…
โดยเฉพาะ Denis Villeneuve เนี่ย จากผลงาน 5 เรื่องล่าสุดของเขา ตั้งแต่ปี 2013 จนถึงปัจจุบัน เราคิดว่าเขาเป็นผู้กำกับแห่งปัจจุบันและอนาคตที่เก่งที่สุดคนหนึ่ง หนังของเขามีความลึกล้ำ ความเฉียบคม และความซับซ้อน ซึ่งลึก ล้ำ เฉียบคม และซับซ้อนยิ่งกว่าหนังของ Christopher Nolan เสียอีก เพียงแต่หนังของ Villeneuve อาจจะดูไม่ง่าย ไม่แมส และไม่บันเทิงเท่าหนัง Nolan ก็เท่านั้น (แต่รวม ๆ คือเราชอบทั้งสองท่านเลย ชอบหนังที่ต้องพกสมองและสติเข้าไปดูเยอะ ๆ แบบนี้แล)
Blade Runner 2049 เข้าไปเสพกันได้ ตั้งแต่ 5 ต.ค. 2017 เป็นต้นไป ในโรงภาพยนตร์ (แนะนำระบบ IMAX)
คะแนนตามความชอบส่วนตัว 8.5/10
41 comments
Comments are closed.