นี่เหมือนจะเป็นหนังเรื่องแรกในรอบปีที่เราคงไม่ต้องเขียนเรื่องย่อ “Once upon a time” ให้ยืดยาว ก่อนจะเริ่มโซโล่การรีวิวหนังเรื่อง Cinderella (2015) ให้มากความ และไม่ต้องเป็นกังวลว่าจะเขียนอะไรที่เสี่ยงต่อการสปอยล์เนื้อหาของหนัง เพราะเราเชื่อว่ามนุษย์โลกที่กดเข้ามาอ่านบล็อกนี้ได้ 98.88% ต้องรู้เรื่องของนางซินเดอเรลล่ากับรองเท้าแก้วแสนสวยของนางเป็นอย่างดีอยู่แล้วทั้งนั้น
ดังนั้น มาเข้าเรื่องกันเลยดีกว่าว่า นางซินฯ เวอร์ชั่นดิสนีย์ 2015 นี้จะแตกต่างจากเวอร์ชั่นออริจินัลหรือเวอร์ชั่นอื่นๆ อย่างไร และตัวหนังนั้นสนุกน่าดูแค่ไหน!
เรื่องย่อ (สักนิด) ของ Cinderella (2015)
หลังจากที่พ่อ (Ben Chaplin) เสียชีวิตระหว่างการเดินทางไกลไปค้าขาย คุณหนู Ella (Lily James จาก Wrath of the Titans และซีรีส์ Downton Abbey) จึงต้องอยู่กับ Lady Tremaine แม่เลี้ยงใจร้าย (Cate Blanchett จาก The Lord of the Rings, The Curious Case of Benjamin Button, The Hobbit) กับพี่สาวงี่เง่าทั้งสอง ได้แก่ Anastasia (Holliday Grainger จาก The Riot Club, Jane Eyre) และ Drisella (Sophie McShera จาก Downton Abbey) ในฐานะคนรับใช้ และผลักไส Ella ให้ไปนอนบนห้องใต้หลังคา นอกจากนี้พี่เลี้ยงยังเรียกเธอว่า “Cinderella” จากภาษาฝรั่งเศส “Cinder Wench” หรือ “Dirty Ella” เพราะ Ella มักจะเนื้อตัวมอมแมมตลอดเวลา
วันหนึ่ง Ella น้อยใจแม่เลี้ยง ขี่ม้าเข้าป่า ไปเจอเจ้าชาย (Richard Madden หรือ Robb Stark จาก Game of Thrones) กำลังล่าสัตว์อยู่กับพวกทหารในวัง โดยที่นางซินฯ ไม่ได้บอกว่าตัวเองเป็นใคร ส่วนเจ้าชายก็โกหกว่าตัวเองชื่อ Kit เป็นลูกมือฝึกหัดอยู่ในวัง
ทั้งสองตกหลุมรักกันตั้งแต่แรกพบ เจ้าชายเก็บนางซินฯ ไปเพ้อฝัน แต่เสด็จพ่อ (Derek Jacobi จาก Gladiator, The King’s Speech) กำชับว่าเจ้าชายต้องแต่งงานกับเจ้าหญิงสักประเทศเท่านั้น อ้างว่าเป็นไปเพื่อความมั่นคงของชาติ โดยมีอีตาอำมาตย์ (Stellan Skarsgård จาก Thor, The Avengers) คอยยุอีกเสียง จะมีก็แต่นายพลคนสนิทของเจ้าชาย (Nonso Anozie) เท่านั้น ที่อยู่ข้างเจ้าชายและคอยช่วยให้เจ้านายสมหวัง
“You will be King soon. A Prince is not free to follow his heart. He must marry for the good of the kingdom.”
พระราชาจัดงานเต้นรำเลือกคู่ให้เจ้าชาย โดยเจ้าชายขอให้เชิญสามัญชนมาร่วมงานได้ด้วย พอ Ella รู้ข่าวก็ดีใจมาก อยากเข้าวังไปเจอ Kit ลูกมือฝึกหัดที่เธอรู้จักในป่า ฝ่ายแม่เลี้ยงกับพี่สาวก็ดี๊ด๊าอยากได้เจ้าชายจนตัวสั่น
Ella ตัดชุดสวยด้วยตัวเองเพื่อใส่ไปงานเต้นรำ แต่กลับถูกแม่เลี้ยงกับพี่สาวใจร้ายฉีกขาดไม่เป็นชิ้นดี แต่โชคดีของเธอที่นางฟ้าแม่ทูนหัว (Helena Bonham Carter หรือเจ๊ Bellatrix Lestrange จาก Harry Potter) มาช่วยเนรมิตทุกสิ่งอันให้ ทำให้นางซินฯ ได้ไปงานเต้นรำ และได้ค้นพบความจริงว่า ที่แท้ Kit คือเจ้าชาย ที่สาวๆ ทั้งประเทศ รวมถึงพี่สาวสุดเยอะของเธอ หมายมั่นปั้นมือจะจับเป็นพระสวามีนั่นเอง
READ MORE: 11 Moments In The New “Cinderella” Trailer That Will Make You Feel Like A Kid Again
รีวิว วิเคราะห์ วิจารณ์ Cinderella (2015)
1. “Have courage and be kind”
เทพนิยายหลายเรื่องมีนางเอกเป็นเจ้าหญิงที่สวยและรวยมาก เกิดมามีพ่อเป็นคิง มีแม่เป็นควีน มีพระราชวัง มีอาณาจักร มีมงกุฎเพชร มีทหารรับใช้ มีแม่นมสนมพระพี่เลี้ยง และมีรถม้าคันโต แถมยังได้แต่งงานกับเจ้าชายรูปงามที่แสนเพอร์เฟ็กต์ จึงไม่แปลกที่เด็กสาวตัวน้อยๆ จะมีความใฝ่ฝันอยากจะเป็นเจ้าหญิง หรือได้รับการปรนนิบัติรับใช้ดูแลจากคนรอบข้างเยี่ยงเจ้าหญิงในเทพนิยาย
แต่ Cinderella เป็นตัวละครหญิงที่เราอยากให้เด็กผู้หญิงหลายคนดูเป็นตัวอย่าง นางซินฯ เปรียบเสมือนเป็นตัวแทนของ Feminist ที่แข็งแกร่ง กล่าวคือนางไม่ได้เกิดมาเป็น Princess เลือดสีน้ำเงินโดยกำเนิด นางเป็นเพียงคุณหนูสามัญชนตกอับ ที่ถูกโขกสับโดยแม่เลี้ยงใจยักษ์และพี่สาวใจร้าย แต่สุดท้ายความแข็งแกร่ง ความกล้าหาญ และเมตตาธรรมอันดีงามในตัวเธอ ก็ทำให้ตอนจบเธอได้เป็น Queen ปกครองแผ่นดินโดยธรรม ด้วยความเฉลียวฉลาดและจิตใจที่งดงาม เคียงคู่กับ King ผู้เพียบพร้อมและเป็นที่รักของเธอ Happily Ever After
ความแข็งแกร่งหรือความเข้มแข็งของนางซินฯ อาจไม่เหมือนตัวละครหญิงสมัยใหม่อย่าง Katniss Everdeen ใน The Hunger Games หรือ Tris ใน Divergent และไม่เหมือน Mulan ที่เก่งกล้าต่อสู้และฟันดาบแบบผู้ชายอกสามศอกได้ ความแข็งแกร่งของซินเดอเรลล่ามาจากข้างใน ซึ่งนั่นอาจจะทรงพลังยิ่งกว่าความแข็งแกร่งทางกายภาพเสียอีก และมันยังเป็นความแข็งแกร่ง…ที่เราเชื่อว่า…ผู้หญิงทุกคนก็สามารถมีมันได้เหมือนกัน
“Have courage and be kind” คือคำสอนที่แม่นางซินฯ (Hayley Atwell จาก Captain America) พร่ำสอนเธอไว้ก่อนตาย คำสอนนี้ถือเป็นหัวใจหลักของนางซินฯ 2015 และเป็นแก่นที่ทำให้เราเข้าใจมากขึ้นว่า ทำไมนางซินฯ ถึงยอมทนให้แม่เลี้ยงกับพี่สาวต่างแม่กดขี่ข่มเหงอยู่นั่น ทำไมนางฟ้าแม่ทูนหัวจึงยอมช่วยนางซินฯ ให้ได้ไปหาผู้ชาย และทำไมเจ้าชายถึง love นางซินฯ ตั้งแต่ at first sight ฯลฯ
จะเห็นได้ว่า นางซินฯ เวอร์ชั่นนี้เธอลิขิตชีวิตและเลือกชีวิตของเธอเอง ลบภาพนางซินฯ ที่อ่อนแอไปแทบสิ้น ซึ่งเรามองว่าดีนะ เพราะความอ่อนแอหรือความเจ้าน้ำตาของผู้หญิงมันทำได้ก็แต่ทำให้คนดูหรือคนอ่านสงสารเวทนาเท่านั้น แต่ถ้านางซินฯ ผู้เกิดมาพร้อมชะตากรรมที่น่าสงสารนั้น มีความฉลาด เข้มแข็ง มีเหตุผล และพยายามดิ้นรนเพื่อตัวเองขึ้นมาบ้าง คนดูหรือคนอ่านก็จะรู้สึกอยากให้กำลังใจและจะหลงรักนางมากขึ้น #ความรักก็เช่นกัน
เธอไม่เคยได้เป็นเจ้าหญิง…
2. “She saw the world not only as it was, but [also] as it perhaps could be.”
เช่นเดียวกับหนังดิสนีย์เรื่องหลังๆ หลายเรื่อง ที่เน้นตีแผ่ “อีกด้านของตัวมารร้าย” ออกมาให้แบนราบน้อยลง มีมิติมากขึ้น สำหรับนางซินฯ เวอร์ชั่นนี้ แม่เลี้ยง (Cate Blanchett) เป็นตัวละครที่ชนะเลิศมาก ทั้งความสวยสง่า เสื้อผ้าหน้าผม และการเล่นใหญ่ที่เสวยซีนแม่งทุกซีน ประกอบกับมุกตลกและความดราม่าที่สอดแทรกเข้ามา ทำให้แม่เลี้ยงฉบับคนจริงแสดงนั้น ทั้งน่าหัวเราะทั้งน่าเห็นใจ ทั้งน่ารักและน่ารังเกียจ อยู่ในตัวละครตัวเดียวกัน ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งมิติใหม่ของการตีความตัวละครร้าย ที่ไม่จำเป็นต้องร้ายแบบที่ฉบับเดิมๆ เขาทำกันทุกอย่างเสมอไป
แม่เลี้ยง 2015 นางเกลียดซินเดอเรลล่าเพราะอิจฉาที่สามีให้ความรักกับคุณหนูซินฯ และเมียเก่า (ที่ตายไปนานแล้ว) มากกว่า แถมนางยังอาภัพมีดวงกินผัวแบบอี “กั้ง-สามีตีตรา” อีกต่างหาก ส่วนเหตุผลที่เธอละโมบโลภมากและสอนลูกสาวให้ดีแต่แต่งตัวสวยๆ และจับผู้ชายรวยๆ ก็เพราะชีวิตเธอเจอความยากลำบากและหนี้สินท่วมหัวเพราะผัวมาตลอดชีวิต ไหนจะต้องเลี้ยงลูกสาวที่ไม่เอาไหนสักคนโดยลำพังอีกสองคน
ฉากที่นางเล่าเรื่อง “Once upon a time” ของตัวเองให้นางซินฯ ฟังในห้องใต้หลังคานั้น ถ่ายทอดความรู้สึกของนางได้ดีจับใจ (อินกว่านั่งดูชีวิตขุ่นแม่ Maleficent ซะอีก) เออ อะไรๆ มันดูเมคเซนส์กว่านิทานโลกสวยขึ้นมาโขเลยทีเดียว
3. "It's what is done, doesn't mean it's what should be done."
ที่ผ่านมาเราจะคุ้นเคยกับเรื่องราวของนางซินฯ สาวชาวบ้านที่คร่ำครวญกระเสือกกระสนอยากไปงานเต้นรำของเจ้าชายจะเป็นจะตาย และก็แจ๊กพอตแตก พอปรากฏกายปุ๊บ เจ้าชายก็สะพรึงในความงาม เลือกนางป็นคู่เต้นรำ
แล้วพอถึงช่วง “มิดไนท์รัน” นางก็อันตรธานวิ่งหนีไป ทิ้งไว้เพียงรองเท้าแก้วข้างหนึ่งไว้ให้ดูต่างหน้า แล้วเจ้าชายก็ต้องเอารองเท้าเจ้าปัญหานี้ออกไปให้ชะนีทั้งคิงดอมสวมลองสนุกสนาน ท่ามกลางความสงสัยในใจของคนดูและคนอ่านว่า “มึงจำหน้าอีนั่นไม่ได้รึไง?”
นอกจากนี้ ที่ผ่านมาเราก็คุ้นเคยกับเทพนิยายเจ้าหญิงหลายๆ เรื่อง ที่เขาดูไม่ค่อยถ่ายทอดให้เราได้เห็นเรื่องราวในมุมของเจ้าชายสักเท่าไหร่ (ดีไม่ดี เจ้าชายออกมาแค่ 2-3 ฉาก เช่น ฉากรักแรกพบกับฉากแต่งงานตอนจบ จบ ปิดม่าน.)
แต่นางซินฯ เวอร์ชั่นนี้ เราจะได้เห็นความสัมพันธ์ของเจ้าชายกับพระบิดา ความสัมพันธ์ของเจ้าชายกับข้าราชการคนสนิท ได้ฟังความรู้สึกของเขาที่มีต่อนางในฝันและทัศนคติของเขาที่มีต่อความรัก-การแต่งงาน ได้เข้าใจวัตถุประสงค์ของการแต่งงานในหมู่ชนชั้นสูง ได้ฟินกับความอบอุ่นอ่อนหวานและความมีพระอารมณ์ขันของเจ้าชาย รวมถึงได้ตื่นตาตื่นใจกับเป้าตุงๆ ของพระองค์ (อุ๊ปส์!)
ซึ่งทำให้เราได้มีส่วนในการตัดสินด้วยว่าผู้ชายคนนี้ไม่ได้มีแค่รูปกับทรัพย์ที่เหมาะสมกับนางเอกที่แสนดีของเราเพียงเท่านั้นจริงๆ
4. “This is the greatest risk we’ll ever take: to be seen as we truly are.”
พูดได้เลยว่า เวอร์ชั่นนี้เขาสร้างออกมาให้ความรักต่างชนชั้นของทั้งสองมีมิติมากขึ้นและดูฟุ้งน้อยลง กล่าวคือ นางซินฯ กับเจ้าชายได้พบเจอกันในป่ามาก่อนแล้ว และตกหลุมรักกันโดยที่ต่างฝ่ายต่างไม่รู้ว่าอีกฝ่ายเป็นใคร พวกเขา “ชอบ” กันตั้งแต่แรกเห็นด้วยรูปร่างหน้าตา และ “ตกหลุมรัก” กันตั้งแต่แรกพบเพราะทัศนคติ ความคิด และนิสัยของกันและกัน
ดังนั้น สิ่งสำคัญของความรักที่แท้จริงคือ การเป็นตัวของตัวเอง และรักที่เนื้อแท้อันเป็นตัวตนที่แท้จริงนั้น โดยที่ไม่มีชื่อ ยศถาบรรดาศักดิ์ หรือชาติกำเนิด มาเป็นปัจจัยชี้วัดร่วมนั่นเอง
ส่วนงานเต้นรำ นางซินฯ ก็อยากไปเพราะเธออยากเจอ Kit ชายหนุ่มที่เธอเจอในป่า และเธอก็ไฟต์เพื่อสิทธิสตรีซิงเกิลของเธอ (แหม ก็วังเขาเชิญหญิงโสดทั้งเมืองให้ไปได้นี่ แม่เลี้ยงแต่งงานเป็นม่ายผัวตาย 2 รอบแล้วยังไปได้ อีซินฯ ก็ต้องไปได้สิ!) เธอไม่ได้อยากอัพฐานะตัวเองเป็นเมียเจ้าชายหรือรักสนุกอยากไปงานสังคมชั้นสูงแต่อย่างใด
แล้วในตอนจบ เจ้าชายก็พลิกแผ่นดินตามหาหญิงสาวคนนั้นที่ “พอดี” สำหรับเขา แล้วทั้งสองก็ได้ครองคู่กันแบบ Happy Ending เพราะต่างเปิดเผยและยอมรับตัวตนที่แท้จริง ทั้งดีทั้งแย่ ของกันและกันอย่างจริงใจ
5. "It would be an insult to take you to the palace dressed in these old rags."
จุดขายหลักของเรื่องคือโปรดักชั่นและคอสตูม เรื่องนี้เขาอลังการมาเต็ม โดยคอสตูมนี้ออกแบบโดย Sandy Powell ซึ่งเคยชนะ OSCARS มาแล้วถึง 3 ครั้ง Shakespeare in Love (1999), The Aviator (2005), และ The Young Victoria (2010) ซึ่งดูจากผลงานแล้ว คอสตูมแนวเจ้าหญิงเจ้าชายนี่เป็นงานถนัดของเธอเลยจริงๆ
สำหรับงานนี้ เธอบอกว่าตอนแรกต้องออกแบบและตัดชุดเต้นรำสีฟ้าอันฟูฟ่องฟรุ้งฟริ้งกระดิ่งแมวของนางซินฯ ออกมาถึง 9 แบบ แต่ละชุดใช้ผ้ากว่า 270 หลา, 10,000 คริสตัล, และช่าง 18 คน ซึ่งใช้เวลาทำทั้งหมด 500 ชั่วโมงต่อตัว
นี่ยังไม่นับชุดงานแต่งงานของนางซินฯ อีกชุดที่ยากลำบากและต้องอาศัยงานละเอียดไม่แพ้กัน (Swarovski ซึ่งเป็นพาร์ทเนอร์ของดิสนีย์ อนุเคราะห์คริสตัลให้ประมาณ 7 ล้านเม็ด และมงกุฎเพชรกว่า 100 มงสำหรับฉากงานเต้นรำ)
ส่วนนางเอกตัวจริงของเรื่อง หรือรองเท้าแก้วนั้น Powell เลือกใช้คริสตัล Swarovski แทนแก้ว เพราะแก้วมันไม่ระยิบระยับและดูแพงเท่า โดยตอนแรก Swarovski ทำรองเท้าคริสตัลมาถึง 8 คู่สำหรับหนังเรื่องนี้ แต่ไม่มีคู่ไหนสามารถใช้เท้าสวมใส่ได้จริงเลย (แหงล่ะ ก็มึงเป็นคริสตัลนี่ยะ) สุดท้ายรองเท้าแก้วก็ต้องใช้งาน visual effects เสกรองเท้าหนังให้เป็นรองเท้าแก้วคริสตัลสุดหรู
(สรุปข้อมูลจาก wiki)
6. "Where there is kindness, there is goodness. And where there is goodness, there is magic."
หลายคนอาจจะมีข้อสงสัยหลายอย่างเกี่ยวกับรองเท้าแก้วเจ้ากรรมของนางซินฯ เช่น ทำไมพอเวทมนตร์เสื่อมหลังเที่ยงคืนแล้วรองเท้าแก้วยังอยู่ล่ะ หรือรองเท้าแก้วมีนัยแฝงยังไงหรือเปล่า ซึ่งเราว่ามันก็คงอยู่ที่คนจะเชื่อหรือตีความกันส่วนบุคคล เพราะมันก็มีหลายทฤษฎีที่ดูเหมือนจะเป็นไปได้พอๆ กันอยู่มากมายหลายทฤษฎี
ตามความเข้าใจของเรา สาเหตุที่รองเท้าแก้วไม่หายไปตามรถฟักทองหรือชุดของซินเดอเรลล่า อย่างในหนังเวอร์ชั่นนี้ เราจะเห็นชัดๆ เลยว่า รถม้าก็เสกมาจากฟักทองกับหนู คนขับรถม้าก็เสกจากห่าน ทหารรับใช้ก็เสกจากกิ้งก่า เสื้อผ้าก็เสกจากชุดเก่าของแม่ แต่รองเท้าแก้วนี่ย นางฟ้าแม่ทูนหัวให้นางซินฯ ถอดคู่เก่าอันซอมซ่อ แล้วเสกคู่ใหม่ให้จากตีนเปล่าของนางเลย ซึ่งก็ถือเป็นของขวัญพิเศษที่นางฟ้าแม่ทูนหัวแถมให้ เป็นตัวแทนหรือกระจกสะท้อนความดีงามอันมั่นคงบริสุทธิ์ของนางซินฯ
ความดีงามหรือรองเท้าข้างหนึ่งของนางซินฯ อาจจะบุบสลายไปบ้างเพราะถูกการกระทำอันหยาบกระด้างของแม่เลี้ยงใจร้ายทำลายจนแตกละเอียด (แต่ใส่เต้นใส่กระแทกบันไดแกรนิตนี่ล่ะทนทายาด) และถึงแม้เธอจะหายโกรธหรือให้อภัยแล้วยังไง มันก็ยากที่จะเยียวยาทากาวให้รองเท้าแก้วกลับมาสวยใสไร้รอยต่อได้แบบเดิม ส่วนรองเท้าอีกข้างหนึ่ง ซึ่งเป็นอีกตัวแทนความบริสุทธิ์ของเธอ ก็กลายเป็นของเจ้าชายไปแล้ว…
(คำเตือน เนื้อหาด้านล่าง 18+ ชะนีน้อยโลกสวยควรได้รับการแนะนำขณะอ่านอย่างใกล้ชิด)
การตีความ “รองเท้าแก้ว” อุปมาอุปไมยกับ “พรหมจารี” ของนางซินฯ ไม่ใช่เรื่องใหม่ แม้แต่นักจิตวิทยาก้องโลกอย่าง Sigmund Freud ก็เขียนในเชิงอรรถใน Three Essays on the Theory of Sexuality (Drei Abhandlungen zur Sexualtheorie) ว่า “The shoe or slipper is a symbol of the female genitals“
แล้วบางตำราก็ว่ากันมานานแล้วว่า คำว่า “the glass slipper” ในภาษาอังกฤษ หรือ “pantoufle de verre” ในภาษาฝรั่งเศสเนี่ย อาจเป็นการแปลผิดพลาด จากคำว่า “pantoufle de vair” ซึ่งจริงๆ แปลว่า “fur slipper” หรือรองเท้าขนสัตว์ ซึ่ง Freud ก็พูดไว้อีกว่า “Fur” คือสัญลักษณ์ของ “Pubic hair” หรือขนตรงอวัยวะเพศนั่นแหละ
ในแง่ภาษาศาสตร์ เราก็ไม่เห็นภาพนักหรอกว่าแปลผิดกันอีท่าไหน แต่เท่าที่จับใจความมาได้ เขาว่าอาจเป็นเพราะว่าคำว่า “verre” กับ “vair” ในภาษาฝรั่งเศสมันออกเสียงเหมือนกัน
แต่ถ้าว่ากันตามหลักกายภาพ เราคิดว่ารองเท้าขนสัตว์มันก็ดูเหมาะแก่การใส่เดิน เต้นรำ และวิ่งลงบันไดร้อยขั้นที่ยาวเยี่ยงทางขึ้นลงเขาพระสุเมรุมากกว่ารองเท้าแก้วคู่หรูเป็นไหนๆ
แต่ถ้าจะเป็นรองเท้าแก้วแล้วแก้วเลย มันก็โอเค เพราะยังไงแก้วมันก็ดูสวยและแพงดี ตีความไปอีกได้ว่า พรหมจรรย์ของนางซินฯ ต้องเลอค่ามาก มีแต่สเปิร์มของคนระดับเจ้าชายหรือพระราชาเท่านั้นที่คู่ควร (นี่ก็คิดไปได้เรื่อยๆ เนาะ!)
ในเวอร์ชั่นนี้มีข้อพิสูจน์ทฤษฎีดังกล่าวอีกหนึ่งจุด จากฉากคืนงานเต้นรำ ในสวนหย่อมของพระราชวัง ที่ทั้งสองอยู่กันสองต่อสองเพียงลำพังในความมืด แล้วรองเท้าแก้วของนางหลุด “โพละ!” ณ ขณะสวิงชิงช้า ซึ่งฉากนั้นนี่แหละ ที่อาจจะมโนได้ว่า เขาได้เสียกันแล้ว ตอนนั้น ตรงนั้น เรียบร้อยโรงเรียนเจ้าชาย (ฮั่นแน่! พวกแกมัวแต่ฟินที่เจ้าชายสุดเจนท์ก้มลงไปสวมรองเท้าให้อีซินฯ อยู่ใช่มั้ยล่ะ!!!)
ยังดีที่เวอร์ชั่นนี้ไม่ใช่เวอร์ชั่น Grimms’ Fairy Tales (1812) ของเยอรมัน อย่าง Into The Woods ที่นางซินฯ ต้องไปขอชุดสวยๆ จากต้นไม้ และนังพี่สาวสองนางต้องตัดนิ้วเท้ากับส้นเท้าตัวเองจนเลือดสาด เพื่อยัดฝ่าเท้าบานๆ ลงไปในรองเท้าแก้ว เพราะมิฉะนั้น จะมีคนตีความภาพชัดเข้าไปอีกว่า เลือดดังกล่าวคือเลือดประจำเดือน (เมนส์) หรือเลือดหลังจากเยื่อบุพรหมจรรย์ขาดหลังการสำเร็จศึกครั้งแรก กล่าวคือนังสองพี่น้องนี่ไม่บริสุทธิ์แล้ว และรูของนางก็ไม่ฟิตพอสำหรับองคชาติของเจ้าชาย บลาๆๆ
7. Believe me, they're all looking at you.
โดยสรุป นางซินฯ เวอร์ชั่นนี้ก็ยังน่าดูอยู่ไม่เสื่อมคลาย ถึงแม้จะรู้เรื่องของ Cinderella อยู่แล้ว แต่ Cinderella (2015) ก็ยังสนุกและน่าติดตามตั้งแต่ต้นจนจบ
อย่างน้อยๆ ไปดูหนังสวยงามฟรุ้งฟริ้ง โปรดักชั่นอลังการ คอสตูมมาเต็ม ไม่เสียราคาคุยดิสนีย์ นี่คือจุดขายหลักเลย การันตีด้วยชื่อ Sandy Powell แชมป์ออสการ์สามสมัย แค่ไปดูงานสวยๆ พวกนี้ เราว่าก็คุ้มแล้ว (ชุดเต้นรำนางซินฯ กับชุดแม่เลี้ยงเป๊ะทุกชุดเลย)
จุดขายอีกอย่างของหนังก็คือนักแสดงนำ ที่ไม่ได้มีดีแค่นักแสดงมือรางวัลอย่าง Cate Blanchett หรือแม่เลี้ยงคนสวยใจดำ เท่านั้น หากแต่พระนาง Lily James กับ Richard Madden ยังน่ามองมากๆ เรียกได้ว่า เจ้าชายก็ตุง นางเอกก็ตูม คือมันเด่นมากจนลืมดูหนังหน้าหรืออ่านซับไตเติลกันเลยทีเดียวเชียว :3
แต่อย่างไรก็ดี พล็อตเรื่อง Cinderella (2015) ไม่ได้แตกต่างหรือแปลกใหม่จากเวอร์ชั่นเก่าๆ มากเท่าไรนัก เรื่องก็ดำเนินเป็นเส้นตรงตามท้องเรื่องนั่นแหละ แต่ความดีงามคือเขามีการสอดแทรกมุกตลกที่ฮาและน่ารักมากๆ อีกทั้งยังมีการใส่ความดราม่ากลมกล่อมที่ช่วยเสกให้เทพนิยายอมตะเรื่องนี้ดูมีเหตุมีผลและดูเรียลมากขึ้นอย่างน่าสนใจ
คะแนนความชอบส่วนตัว: 8/10
84 comments
รีวิวละเอียดมาก ชอบมากค่ะ ขอบคุณนะคะ