เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เราเพิ่งจะดู Love & Mercy หนังที่สร้างจากเรื่องจริงของ Brian Wilson แห่งวง The Beach Boys ผู้โค่นวงในตำนานอย่าง The Beatles ตกบัลลังก์ฮิต มาสัปดาห์นี้ก็ได้ดูหนังเกี่ยวกับดนตรีและ The Beatles อีกเรื่อง คือ Danny Collins (แดนนี่ คอลลินส์)
หนังสองเรื่องดังกล่าวต่างกันก็ตรงที่ Love & Mercy สร้างจากเรื่องจริงของ Brian Wilson แห่งวง The Beach Boys ทั้งหมด แต่ Danny Collins เป็นหนังที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเรื่องจริงส่วนหนึ่งมาจากเรื่องราวของ Steve Tilston นักร้องที่ได้รับจ.ม.จาก John Lennon เมื่อปี 1971 และในหนังจะมีเรื่องจริงของ Steve Tilston อยู่เพียง “นิดหน่อย” เท่านั้น (แน่นอนว่า Danny Collins เป็นตัวละครสมมติ ไม่มีอยู่จริง)
เรื่องย่อ Danny Collins
ร็อกสตาร์ชื่อดัง Danny Collins (Al Pacino จาก The Godfather) ได้รับของขวัญวันเกิดสุดพิเศษจากผู้จัดการส่วนตัว Frank (Christopher Plummer จาก A Beautiful Mind) เป็นจดหมายที่ John Lennon เขียนถึงเขาเมื่อ 40 ปีก่อน จดหมายฉบับนั้นทำให้ Danny อยากเริ่มต้นใหม่อีกครั้งและรีบพยายามเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อผิดพลาดต่างๆ ในชีวิตให้เป็นไปในทางที่ถูกที่ควร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแต่งเพลงของตัวเอง เรื่องเมียคนที่สามที่อายุรุ่นราวคราวลูก จนไปถึงเรื่องลูกชายบังเกิดเกล้าของเขาเอง
Danny ตัดสินใจยกเลิกทัวร์คอนเสิร์ตบินไปนิวเจอร์ซีย์ เขาเลือกพักที่ รร. Hilton ซึ่งทำให้เขาได้พบกับ Mary ผู้จัดการรร. (Annette Bening จาก American Beauty) และพยายามชวนเธอไปดินเนอร์ครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ Mary ไม่ใช่แฟนเพลงของเขาเหมือนคนทั่วไป จึงไม่ได้ตื่นเต้นหรือกรี๊ดกร๊าดที่มีนักร้องใหญ่อย่าง Danny มาพักที่รร. (Danny Collins ในเรื่อง ความดังเปรียบเสมือน ป๋าเบิร์ด-ธงไชย ณ เมืองไทย)
Danny มานิวเจอร์ซีย์ก็เพื่อหาทางไปพบกับ Tom (Bobby Cannavale จาก Blue Jasmine) ลูกชายที่เขาไม่เคยเจอมาก่อนเลยสักครั้งในชีวิต ซึ่งตอนนี้ Tom โตเป็นหนุ่มใหญ่ แต่งงานแล้วกับ Samantha (Jennifer Garner จาก Dallas Buyers Club) มีลูกสาววัยประถม 1 คนชื่อ Hope (Giselle Eisenberg จาก The Wolf of Wall Street) ซึ่งป่วยเป็นโรคไฮเปอร์หรือสมาธิสั้น
Danny จะเริ่มต้นใหม่และแก้ไขความผิดพลาดครั้งเก่าในชีวิตของเขาได้หรือไม่ ครอบครัวที่เสียไปของเขาจะยอมรับเขากลับเข้าไปหรือไม่ และผู้จัดการ Mary จะยอมใจอ่อนไปดินเนอร์กับร็อกสตาร์คนนี้หรือไม่ ร่วมให้กำลังใจ Danny Collins ได้ในโรงภาพยนตร์ ตั้งแต่ 9 ก.ค. 2015 นี้เป็นต้นไป
รีวิว วิเคราะห์ วิจารณ์ Danny Collins
ก่อนเข้าโรงไปดู Danny Collins เราคิดว่ามันก็คงเหมือนหนังเพลง หนังดนตรี หรือหนังชีวิตศิลปินที่เน้นสร้างฝันและแรงบันดาลใจทั่วไปที่เคยดู แต่เปล่าเลย… Danny Collins เป็นหนังตลกฟีลกู้ดที่สร้างแรงบันดาลใจให้เราอยากเริ่มต้นใหม่ แก้ไขข้อผิดพลาดในชีวิต และเปลี่ยนแปลงตัวเอง โดยมองข้ามเงื่อนไขไปเลยว่า “สายไปแล้วหรือยัง”
เนื่องจาก Danny Collins เป็นตัวละครสมมติ ไม่มีอยู่จริง และ Steve Tilston ตัวจริงผู้ที่ได้รับจดหมายจาก John Lennon เมื่อปี 1971 ก็ไม่ได้ประสบเรื่องราวจริงๆ อย่างที่ Danny Collins ประสบในหนัง (คือไม่ได้รวยล้นฟ้า ใช้ชีวิตฟุ้งเฟ้อ ติดยาติดผู้หญิง และละทิ้งลูกเมีย) หนังจึงเต็มไปด้วยความสร้างสรรค์อย่างเต็มเปี่ยม พร้อมๆ กับการแฝงแง่คิดในการดำเนินชีวิตต่อไป
ความดีงามของ Danny Collins คือมันไม่ดราม่าจนเครียดหรือร้องไห้น้ำตาไหล ตรงกันข้าม เป็นหนังชีวิตของคนคนนึงที่เล่าได้อย่างน่ารัก มุกตลกมีการรับส่งอย่างมีจังหวะจะโคน เรื่องราวชวนยิ้ม และเรียกเสียงหัวเราะตลอดเรื่องจนถึงฉากสุดท้าย (โดยเฉพาะฉากสุดท้ายนี่เรายิ้มกว้างสุดเลย ต้องดู)
ในส่วนของเพลงหรือดนตรี หนังเขาไม่ได้เน้นหนักมาก แต่ก็มีการสอดแทรกบทเพลงของ John Lennon สอดแทรกให้เราฟังอย่างอิ่มเอม ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเพลงเพราะมากจริงๆ และความหมายดีเข้ากับเรื่องอีกต่างหาก เชื่อว่าแฟนๆ John Lennon น่าจะฟินกับบทเพลงทั้งหลายเหล่านี้มากกว่าใคร
เราชอบที่ตัวละคร Danny Collins เขาพยายามจะทำทุกอย่างเพื่อคนอื่นตลอด ไม่ว่าจะเป็นทำเพื่อลูกชาย ทำเพื่อหลานสาว ทำเพื่อแฟนเพลง หรือทำเพื่อผู้หญิงใจแข็งที่เขาหมายปอง ทุกอย่างมันดูน่ารักไปซะหมด ที่สำคัญชีวิตของ Danny กับชีวิตของ Tom ลูกชายของเขา มันทำให้เราเห็นชัดเจนเลยว่าชีวิตแบบไหนคือ “ความสุขที่แท้จริง” จนเราอยากจะลุกขึ้นมาทำอะไรเพื่อใครสักคนอย่างจริงๆ จังๆ บ้างดูสักครั้ง
จุดแข็งอีกประการคือ Danny Collins เป็นหนังที่คับคั่งไปด้วยเหล่านักแสดงนำมากความสามารถ แต่ละคนผ่านการแสดงมาอย่างโชกโชน เล่นหนังใหญ่หนังดังกันมานับไม่ถ้วน หรือไม่ก็คร่ำหวอดในวงการมานานปี (เก๋าสุดก็เห็นจะเป็นลุง Christopher Plummer วัย 86 ปี ที่แสดงหนังมาแล้วกว่าร้อยเรื่อง!) หรือแม้แต่เด็กน้อยคนเล็กสุดท้องอย่างเจ้าหนู Giselle Eisenberg ก็เล่นเป็น Hope เด็กสมาธิสั้นได้แตกกระเจิง จนนี่แอบคิดว่าเขาเอาเด็กไฮเปอร์จริงๆ มาเล่นจริงๆ หรือเปล่า…
โดยสรุป Danny Collins เป็นหนังที่ inspired by a true story ที่จะ inspire คนดูอย่างเราอีกที ให้เริ่มต้นชีวิตใหม่ เชื่อใน second chance และพยายามแก้ไขข้อผิดพลาดในชีวิตของตนให้ดีขึ้น หนังไม่ได้เน้นไปที่ดนตรีหรือ John Lennon แต่ก็มีบทเพลงของ John Lennon คลอไปด้วยตลอดเรื่อง ถ้าจะติก็คงมีส่วนที่เราไม่ชอบพาร์ทชีวิตรักของ Danny นิดหน่อย เพราะเราคิดว่ามันเกินๆ ไปนิดนึง ดูไม่จำเป็นต้องมีก็ได้ แต่ก็ไม่ถึงกับหงุดหงิดใจอะไรมากมาย
ไม่ว่าจะอย่างไร เรารับรองได้อย่างนึงว่า เรื่องราวของครอบครัวนี้น่ารักไม่น่าเบื่อ มีมุกตลกชวนอมยิ้มขำตลอดเรื่อง ไม่ดราม่าพาเครียดแน่นอน เป็นหนังครอบครัวเหมาะกับผู้ชมทุกเพศทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นคอเพลงคอดนตรีหรือแฟนเพลงของ John Lennon หรือไม่ก็ตาม (เออ แต่มีฉากนมเปลือยๆ และฉากพี้ยานิดหน่อยนะ ลืม…)
เราอยากเชียร์ให้ทุกคนหาโอกาสไปดู… (คะแนนตามความชอบส่วนตัว 7.5/10)
(แถม) เรื่องจริงของ Steve Tilston
– Danny Collins ได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องจริงของ Steve Tilston นักร้องนักดนตรีชาวอังกฤษ ที่ John Lennon เขียนจดหมายถึงหลังจากที่อ่านสัมภาษณ์ใน ZigZag magazine เมื่อปี 1971 (หลังจาก The Beatles วงแตกไม่ถึงปี) โดยจดหมายนั้นมาถึงมือของ Steve Tilston ล่าช้าไป 34 ปี
– เมื่อปี 1971 John Lennon ส่งจดหมายมาที่ออฟฟิศ ZigZag magazine จ่าหน้าถึงทั้ง Steve Tilston และ Richard Howell (นักเขียนที่สัมภาษณ์ Steve Tilston) เชื่อกันว่าจดหมายฉบับนั้นถูกขายทอดตลาดมาเรื่อยๆ จนในที่สุด ในปี 2005 นักสะสมชาวอเมริกันติดต่อเอาจดหมายดังกล่าวมาคืนให้กับ Steve Tilston โดยจดหมายฉบับนั้น มีมูลค่าถึง $10,300 (ประเมินราคาเมื่อปี 2010)
– Steve Tilston ไม่ได้เป็นคุณพ่อไม่เอาไหนเหมือน Danny Collins ชีวิตจริงเขามีลูกสาว 1 คนกับลูกชาย 1 คน ชื่อ Martha กับ Joe ตามลำดับ ทั้งสองเป็นนักร้องนักดนตรีเช่นเดียวกับพ่อของเธอ
“Being rich doesn’t change your experience in the way you think,” wrote Lennon. “The only difference basically is that you don’t have to worry about money – food – roof – etc, but all other experiences – emotions – relationships – are the same as anybody’s.”
อ่านเพิ่มเติมใน http://www.historyvshollywood.com/reelfaces/danny-collins/
เข้าฉาย 9 ก.ค. นี้ ในโรงภาพยนตร์
39 comments