เราไม่ใช่แฟนพันธุ์แท้ที่ติดตามผลผลิตของ GTH ทุกเรื่องทุกอย่าง แต่ยอมรับว่าค่ายเขาเป็นค่ายหนังไทยที่มีความโมเดิร์นและครีเอทสูง โดยเฉพาะด้าน PR & Marketing ปล่อยงานใหม่งานเก่าอะไรออกมาก็เป็นกระแสเปรี้ยงปร้าง คนพูดถึงกันทั้งแผ่นดิน
ยิ่ง ฟรีแลนซ์ ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ (โอย ชื่อหนังแม่งยาวชิบหาย ต่อไปนี้ขอย่อเป็น ฟรีแลนซ์ฯ เฉยๆ นะ เป็นอันว่ารู้กัน) เป็นผลงานกำกับฯ ของ พี่เต๋อ – นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ยิ่งไม่ต้องเป็นห่วง เพราะเรื่องพีอาร์เหมือนอยู่ใน Nature ของ พี่เต๋อ
ทันทีที่ ฟรีแลนซ์ฯ ฉบับคอมพลีตถูกเปิดตัวอย่าง Officially เพียงชั่วข้ามคืน ชื่อหนัง รูปโปสเตอร์ และเวิร์ดดิ้งต่างๆ ก็กลายเป็นเทรนด์ที่ชาวโซเชียลมีเดียเอาไปเล่นพลิกแพลงกันทั้งไทม์ไลน์ นาทีนี้คนไทยคนไหนไม่รู้จัก ฟรีแลนซ์ฯ คือเชยระเบิด พูดเลย
นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ เป็นนักเขียนบทภาพยนตร์ นักเขียน และผู้กำกับภาพยนตร์ จบจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เอกภาษาจีน เคยเขียนบทรถไฟฟ้า..มาหานะเธอ, top secret วัยรุ่นพันล้าน, รักเจ็ดปีดีเจ็ดหน, home ความรักความสุขความทรงจำ งานกำกับที่ผู้คนพอจะคุ้นตาได้ คือ เมธาวี, 36, mary is happy, mary is happy, patcha is sexy ฯลฯ หนังสือและคอลัมน์ที่หลายคนอาจเคยอ่านบ้าง คือ เมดอินไทยแลนด์ ปัจจุบันยังคงเป็นนักเขียนบทภาพยนตร์ นักเขียน และ ผู้กำกับภาพยนตร์ (http://www.nawapolnawapol.com/post/about/about)
เรื่องย่อ ฟรีแลนซ์ ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ ภาพยนตร์โดย เต๋อ – นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์
ยุ่น (ซันนี่ สุวรรณเมธานนท์) นักรีทัชฟรีแลนซ์ที่งานยุ่งที่สุดในประเทศไทย ตารางงานแดงเดือดเต็มปฏิทิน ไม่เว้นเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดราชการ ไม่ว่าจะเป็นงานเร่ง งานด่วน งานที่ลูกค้าแก้ไม่รู้จบ โดยงานทั้งหมดของเขา ได้รับการป้อน จัดการ และดูแลโดย เจ๋ (วิโอเลต วอเทียร์ หรือ วี เดอะวอยซ์) โปรดิวเซอร์รุ่นน้องจากเอเจนซี่โฆษณา ทั้งสองสนิทกันมาก เป็นทั้งเพื่อนร่วมงาน และเป็นเสมือนเพื่อนสนิทในชีวิตจริงของกันและกัน
แต่ชีวิตฟรีแลนซ์มันโหดร้าย หลังจากอดหลับอดนอนมาหลายคืนติด ยุ่นเริ่มมีผื่นแดงขึ้นเต็มตัวอย่างไม่ทราบสาเหตุ ร่างกายบังคับให้เขาไปโรงพยาบาล และที่นั่นเอง เขาก็ได้เจอกับหมออิม (ใหม่ ดาวิกา โฮร์เน่) หมอสาวแสนสวย ซึ่งเข้ามาทำให้วงจรชีวิตฟรีแลนซ์ของเขา…ต้องเสียระบบ…
(บรีฟจาก http://www.freelancethemovie.com/)
รีวิว วิเคราะห์ วิจารณ์ ฟรีแลนซ์ ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ (สไตล์ฟรีแลนซ์)
หลายปีก่อนมีหนังเกี่ยวกับมนุษย์เงินเดือนไปแล้ว เราเองก็ไม่ได้ดูหรอก ไม่ได้ติดตามด้วย แต่ก็เหมือนจะถูกใจกลุ่มเป้าหมายที่เป็นมนุษย์เงินเดือน (ซึ่งก็ค่อนข้างเป็นคนหมู่มาก) อยู่ไม่มากก็น้อย แต่ปีนี้เรามีหนังเอาใจคนกลุ่มน้อย (หรือไม่น้อยแล้วหว่า…) และคน New Genฯ นั่นก็คือกลุ่ม Freelance หรือมนุษย์รับจ้างอิสระ
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ฟรีแลนซ์ ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ (ชื่ออังกฤษ: Heart Attack) เป็นหนึ่งในหนังไทยแท้ที่คนดู ทั้งคอแมสและคออินดี้ ตั้งหน้าตั้งตารอคอยมากที่สุดในรอบหลายปี อย่างเราเองก็นับวันรอชมมาตั้งแต่วันที่ GTH ประกาศเปิดกล้องบวงสรวง
ถ้าจะให้ชมหรืออวยหนังฟรีแลนซ์ฯ ว่าโคตรดี นักแสดงเล่นโคตรเรียล มุกโคตรฮา สกอร์โคตรเหมือน “Whiplash” กับ “Birdman” โอ้โห~ หนังโคตร “เต๋อ” เลยว่ะ ฯลฯ เราเชื่อว่าคุณก็คงได้ยินหรือได้อ่านคำวิจารณ์ทำนองนี้ซ้ำๆ จากคนอื่นๆ มาจนเบื่อแล้ว โดยเฉพาะคนที่เคยดูหนังของพี่เต๋อ ก็น่าจะคุ้นเคยกับรสนิยม สไตล์ หรือแนวทางการทำหนังของพี่แกกันดีอยู่แล้ว
ดังนั้น เราจะไม่พูดพร่ำสาธยายความดีงามเกร่อๆ ทั้งหลายเหล่านั้นให้จำเจ (ในขณะเดียวกัน เราก็จะไม่ได้จะมาเขียนบล็อกด่า จิกกัด หรือโจมตีหนังด้วย เพราะหนังเขาก็ดีจริงๆ อย่างที่เขาว่าจริงๆ นั่นแหละ) เราจะชมง่ายๆ สั้นๆ แค่ว่า หนังดี ครอบคลุมฟรีแลนซ์จริง เรียลจริง (สมมติว่าไม่รู้ว่าใครกำกับ) ดูแล้วรู้เลยว่า คนที่ทำหนังเรื่องนี้จะต้องมีประสบการณ์การเป็นฟรีแลนซ์กับตัวจริงๆ หรือไม่ก็มีการตั้งใจทำรีเซิชมาอย่างดีแล้วจริงๆ
เอาเป็นว่า สำหรับบล็อกนี้ เราจะเน้นมาแชร์เรื่องราวและวิเคราะห์ชีวิตฟรีแลนซ์ในหนัง ฟรีแลนซ์ฯ ในแบบฉบับของเราซึ่งเป็น (ติวเตอร์ & บล็อกเกอร์) ฟรีแลนซ์ตัวเล็กๆ คนหนึ่ง ให้ผู้อ่านได้อ่านก็แล้วกันเนาะ :)
เออ… จริงๆ หน้าหนังควรเขียนว่า “Based on a true story” นะ (หรือ inspired ก็ได้ ไรงี้) lol
TIME
มนุษย์เงินเดือนโดยปกติ ทำงานเฉลี่ย 8-10 ช.ม./วัน ส่วนใหญ่ตอกบัตรเข้างาน 8 โมงเช้า ตอกบัตรออกงาน 5 โมงเย็น (หรือบวกลบ 1-2 ช.ม.) และมักทำงานแค่ 5 วัน/สัปดาห์ แถมด้วยวันหยุดราชการ สวัสดิการสังคม ประกันสุขภาพ โบนัสปลายปี ฯลฯ ชีวิตดูเซฟ มั่นคง เป็นระบบ และจัดการได้ง่าย เมื่อเทียบกับมนุษย์ฟรีแลนซ์
ถ้าพูดให้ดูดี มนุษย์ฟรีแลนซ์เป็นคนทำงานที่มีตารางเวลาที่ flexible หรือยืดหยุ่นได้ แต่ถ้าให้พูดตรงๆ ไอ้คำว่า flexible มันก็คือมีเวลาที่ไม่แน่นอนนั่นแหละ (#เงินก็เช่นกัน) กล่าวคือ บางวีคอาจจะตารางแน่นเอี้ยด ปั่นงานหามรุ่งหามค่ำ ถึงขั้นอดหลับอดนอน เวลากินข้าวยังแทบจะไม่มี ดีไม่ดีทำอะไรก็ต้องเผื่อเวลาไว้กรณีฉุกเฉินอีกต่างหาก แต่ในทางกลับกัน บางวีคฟรีแลนซ์ก็อาจจะว่างมาก ตารางโล่งโจ้ง บางคนถึงขั้นนอนเฉาเกาพุงจนลายไปข้าง
อย่างไรก็ตามฟรีแลนซ์โดยปกติก็มักจะปั่นงานไฟลนก้นเป็นนิจศีล ฟรีแลนซ์ไม่ได้แปลว่าตกงาน ฟรีแลนซ์จริงๆ งานชุกหัวหมุนกว่าพนักงานนั่งโต๊ะอีกนะจะบอกให้ อาจจะมีช่วงว่างบ้างไรบ้าง แต่ส่วนใหญ่ก็คือยุ่งหัวฟูอยู่ดี เพราะต้องทำเองทุกอย่างเสมือนเป็นบริษัทของตนเอง ส่วนอีฟรีแลนซ์จำพวกที่ว่างมากหรืองานน้อยๆ ไม่ค่อยมีหรอก เพราะพอว่างไปนานๆ เข้า เขาก็จะสำเหนียกตัวเองได้เองแหละ ก็ลาออกจากวงการไปเป็นหนูในกงจักรออฟฟิศกันก่อนจะไส้แห้งตาย
ฟรีแลนซ์เป็นอาชีพที่รีบเร่ง อย่างในหนัง เราจะเห็นว่าเจ๋ (วิโอเลต วอเทียร์ หรือ วี เดอะวอยซ์) จะต้องมีวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างติดตัวตลอดเวลา เพราะชีวิตฟรีแลนซ์เร่งด่วนมากจริงๆ อย่างเราเอง ก็ใช้บริการพี่วินฯ บ่อยมาก โดยเฉพาะตอนที่เพิ่งเลิกคลาสสอน essay แล้วต้องบึ่งพี่วินฯ ไปให้ทันงานดูหนังรอบสื่อต่อ แล้วบางครั้งรีบเร่งมาก ปั่นงานจนนาทีสุดท้าย แต่พอออกมาที่เพิงวินฯ แล้วไม่เหลือมอ’ไซค์อยู่ที่เพิงเลยสักคัน จนอยากจะมีพี่วินฯ เป็นของตัวเอง (แต่ไม่ถึงกับขอมีแฟนเป็นมอเตอร์ไซค์รับจ้างนะ – -)
ฟรีแลนซ์ก็เป็นอาชีพรับจ้างอย่างหนึ่ง เช่นเดียวกับวินมอเตอร์ไซค์ พี่วินฯ มีหน้าที่พาผู้โดยสารไปจุดหมายทันเวลา ฟรีแลนซ์อย่างยุ่น (ซันนี่ สุวรรณเมธานนท์) กับเจ๋ ก็มีหน้าที่ทำงานและส่งงานให้ลูกค้าทันเวลา ฟรีแลนซ์เป็นอาชีพที่ต้องแข่งกับเวลา และบ่อยครั้งก็รู้สึกว่า คำว่า “เดดไลน์” เป็นคำหยาบ
อย่างเราเอง เวลานั่งหลังขดหลังแข้งทำงานดึกดื่น ตาเราจะเหลือบมองนาฬิกา (บนหน้าจอคอม) แทบตลอดเวลาเสมือนคนจิตตก แล้วบางวันจะไม่กล้าเปิด calendar หรือสมุด schedule ดูด้วยซ้ำ เพราะทำใจไม่ได้ (ประมาณว่า เห็นงานเป็นลม) และเวลาลงตาราง เพื่อความเป๊ะ ก็ต้องซอยดีเทลปลีกย่อยละเอียดมาก จนทุกๆ วันแม่งมีวงกลม มีดอกจัน มีปากกาแดง ดีไม่ดีเนื้อที่จดไม่พอ ต้องแปะโพสต์อิทเสริมชั้นขึ้นมาอีก
คู่แข่งที่สำคัญที่สุดของฟรีแลนซ์คือ “เวลา” โอเค… คุณอาจจะคิดว่า การตรงต่อเวลามันก็ต้องมีในทุกวงการอาชีพ และทำอะไรๆ มันก็ต้องมีกำหนดเวลาส่งงาน แต่เวลาของฟรีแลนซ์มันราคาแพงกว่าที่คุณคิด นอกจากการแข่งขันกับเดดไลน์ส่งงานแล้ว เขายังต้องแข่งกับ “อายุวัย” ของตัวเองด้วย
เพราะงานบางสาขา โดยเฉพาะสายครีเอทีฟ จะเน้นขายความสดใหม่ ฟรีแลนซ์ที่มักจะฮอตฮิตมักจะเป็นคนหน้าใหม่ไฟแรง หัวทันสมัย มีวิสัยทัศน์ก้าวไกล ซึ่ง newborn พวกนี้มันก็เกิดใหม่ขึ้นทุกปี (อย่างเช่น นายเจิด ในหนัง เป็นต้น) แน่นอนว่า ไอ้พวกเด็กหน้าใหม่ ไอเดียงานและสปีดการทำงาน (รวมถึงความถึก) ของฟรีแลนซ์รุ่นเก่าๆ แก่ๆ ก็อาจจะสู้พวกสดๆ นี้ไม่ได้ ฟรีแลนซ์หลายคนจึงต้องเตรียมรับมือแก้ไขหรือป้องกันกับปัญหาดังกล่าว
คนเราเรียนจบตอนอายุประมาณ 21-22 ปี ซึ่งยังเป็นช่วงผู้ใหญ่ตอนต้น ยังหนุ่มยังสาว ยังไฟแรง และฟิตปึ๋งปั๋งทั้งกำลังกายกำลังใจ ฟรีแลนซ์จบใหม่จะมี passion สูง และยังพอจะทำงานหนักๆ นอนน้อยๆ เป็นเครื่องจักรเครื่องกลเหมือนสมัยอ่านหนังสือสอบ Final ที่มหา’ลัยได้อยู่
แต่ฟรีแลนซ์จบใหม่ทั่วไปก็ใช่ว่าจะงานชุกงานชุม เพราะเขายังอ่อนประสบการณ์ ยังไม่เป็นที่รู้จัก จึงยังไม่ค่อยมีคนสนใจว่าจ้าง หรือถ้าได้ทำ ก็มักจะเป็นงานสเกลเล็กๆ หรือเงินน้อยๆ (ซึ่งก็ต้องยอมทำ เพื่อเก็บสะสมชื่อเสียงและประสบการณ์ รวมถึงผลงานใส่ portfolio) หลายคนก็อาจจะยอมแพ้ ล้มเลิกความฝันที่จะเป็นฟรีแลนซ์สุดเท่ ไปเรียนต่อหรือสมัครเป็นพนักงานประจำแทน เพื่อปากท้องและความอยู่รอด ยกเว้นเสียแต่ฟรีแลนซ์จบใหม่คนนั้นจะโดดเด่นจริงๆ เจ๋งจริงๆ หรือมีของจริงๆ เขาถึงจะได้ไปต่อ (ตามทฤษฎี Survival of the fittest ของ Charles Darwin)
ดังนั้น ในช่วงที่ฟรีแลนซ์จบใหม่ยังเฟรชๆ ในวงการอยู่ จึงต้องรีบเก็บเกี่ยวให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นผลงาน ประสบการณ์ โอกาส คอนเน็กชั่น หรือชื่อเสียงเงินทอง ฯลฯ เพื่อที่จะอยู่ในวงการได้นานที่สุด หรือมีกำลังพอที่จะสร้างอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเป็นของตนเองได้ในอนาคต
MONEY
สำหรับฟรีแลนซ์ ไม่ใช่แค่เวลาที่ไม่แน่นอน แต่เงินก็ไม่แน่นอนด้วย บางคนนี่มีความมั่นคงแทบเป็นศูนย์ เพราะอาชีพฟรีแลนซ์มันเหมือนปั่นจักรยาน คือจริงๆ จะปั่นช้าก็ได้ ปั่นเร็วก็ได้ แต่ที่แน่ๆ คือ ต้องบาลานซ์ และที่สำคัญ ถ้าหยุดปั่นเมื่อไหร่…ก็ล้ม
เนื่องจากงานไม่มั่นคง เงินไม่แน่นอน แถมไม่มีประกันหรือเงินอื่นๆ นี่นั่นแบบมนุษย์เงินเดือน เวลาได้รับเงินมา มนุษย์ฟรีแลนซ์จึงจำเป็นต้องวางแผนให้ดี และอาจจะต้องเก็บออมมากหน่อย เพื่อเผื่อไว้ในกรณีเจ็บป่วยหรือกรณีฉุกเฉินจำเป็นในภายภาคหน้า
ถ้างานดี และบริหารจัดการเงินเป็น ฟรีแลนซ์ก็พอจะเลี้ยงปากท้องตัวเองรอดได้ไม่ลำบาก ไม่อดตายง่ายๆ หรอก ถ้าจะมีฟรีแลนซ์ไส้แห้ง เท่าที่เราเจอบ่อยๆ ก็คงเป็นแบบ 1. พวกฟรีแลนซ์อินดี้ อีโก้สูง เลือกรับงาน 2. พวกฟรีแลนซ์มือใหม่ศักยภาพไม่ถึง ผลงานไม่โดดเด่น และ 3. พวกที่คร่ำครึล้าสมัย สู้ฟรีแลนซ์จบใหม่ไม่ได้ (ตามที่กล่าวมาข้างต้น)
ตอนนี้เราเป็นฟรีแลนซ์ที่ไม่ได้มีปัญหาสภาพคล่องทางการเงินเท่าไหร่ และพระเอกในเรื่องก็ดูไม่ได้มีปัญหาทางการเงิน ประเด็นเรื่องเงินๆ ทองๆ เราก็ขอพูดแค่ประมาณนี้แล้วกัน ข้ามไปที่ “คนจ่ายเงิน” กันเลยดีกว่า
BOSS
พนักงานออฟฟิศหรือลูกจ้างประจำมีเจ้านายฉันใด มนุษย์รับจ้างอิสระอย่างฟรีแลนซ์ก็มีเจ้านายฉันนั้น แต่มักอยู่ในรูปแบบของ “ลูกค้า” (client) เราก็ไม่มีความเห็นว่าแบบไหนโหดร้ายกว่ากัน เพราะมันน่าจะขึ้นอยู่กับคนมากกว่า (คน meanๆ จะไปอยู่จุดไหนในสังคม มันก็เป็นคน meanๆ อะ ว่ามั้ย?)
แต่ข้อแตกต่างคือ พนักงานออฟฟิศอาจมีเจ้านายไม่กี่คน และก็ไม่ได้เปลี่ยนเจ้านายกันบ่อยๆ ต่อให้เจอเจ้านายที่เขี้ยวลากดินเพียงใด มันก็ยังพอจะเรียนรู้ ปรับตัว หรือทำใจกันไปได้ไม่ช้าก็เร็ว ในขณะที่บอสของฟรีแลนซ์ (นั่นก็คือ ลูกค้า) มันมีหลายคน เปลี่ยนค่าหน้าค่าตาตลอดเวลา แต่ละคนก็มีลักษณะนิสัยและความต้องการแตกต่างกัน
คนเป็นฟรีแลนซ์ต้องรับมือกับคนแปลกหน้าหลายรูปแบบ เจอคนใหม่ๆ ตลอดเวลา มีทั้งดีและแย่คละเคล้ากันไป แต่ไม่ว่าจะยังไง ก็ต้องพยายามทำงานตามใจลูกค้า ลูกค้าคือพระเจ้า ด่าไม่ได้ เถียงไม่ได้ เขาเหวี่ยงเขาวีนได้ฝ่ายเดียว เขาเรื่องมากก็ต้องทน เขาเข้าใจยากก็ต้องเข้าใจ เขาให้แก้ก็ต้องแก้ เขาให้ทันก็ต้องทัน (แต่ถ้ารู้ว่าจะไม่ทันจริงๆ ก็ไม่ต้องไปรับแต่แรก ไม่งั้นมันจะดูไม่ professional) ปิดจ็อบ
นอกจากนี้ ฟรีแลนซ์ยังเสี่ยงต่อการถูกโกง อาจจะโกงด้วยการไม่จ่ายเงิน หรืออาจจะเจอนายจ้างที่เอารัดเอาเปรียบ ก่อน assign งานก็มาจีบเราดิบดี แต่พอเราตกลงรับคำปุ๊บ ก็เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ จิกใช้เยี่ยงทาส สนแต่ว่างานต้องเนี้ยบ งานต้องเสร็จ ไม่ค่อยสนใจหรือเป็นห่วงว่าลูกจ้างอย่างเราจะเป็นตายร้ายดียังไง
ซึ่งตรงนี้คนเป็นฟรีแลนซ์ต้องดูดีๆ ไม่ใช่สักแต่คว้าโอกาส อย่าละโมบรับงานที่เกินตัว อย่าหักโหมงานหนัก ทำเท่าที่พอดีตัว ถ้าทำไม่ได้ ทำไม่ไหว หรือทำไม่ทันจริงๆ เต็มที่นายจ้างเขาก็แค่หาคนใหม่มาแทนที่เราหรือทำต่อจากเรา แต่ถ้าเราป่วยหรือตายไป ครอบครัวเราหรือคนที่อยู่ข้างหลังเราจะเป็นยังไง มันได้ไม่คุ้มเสียเลยสักนิด
HEALTH
อย่างที่บอกไปแล้ว ฟรีแลนซ์หลายคนทำงานเป็นเครื่องจักรเครื่องกล และกินนอนหรือพักผ่อนไม่เป็นเวลา ไอ้ช่วงยังหนุ่มยังสาว มันก็ยังไม่หนักหนาเท่าไหร่ แต่ตามธรรมชาติ เราฝืนไม่ได้ พอยิ่งแก่ สังขารมันก็ยิ่งไม่สู้ (ถึงแม้ใจจะยังสู้งานอยู่ก็ตาม) จากที่ตอนอายุ 20 เคยอดหลับอดนอนหลายคืนติดในช่วงสอบได้ ตอน 30 เราอาจทำอย่างนั้นไม่ไหวแล้วก็ได้ และถึงวันนั้นร่างกายจะเริ่มค่อยๆ สื่อสารกับเรา อย่างเช่น ยุ่น พระเอกของเรื่อง ที่โหมงานหนัก ไม่หลับไม่นอน จนผื่นขึ้นเต็มตัว
แล้วปัญหาคือฟรีแลนซ์ทั่วไปจะไม่มีประกันสุขภาพเหมือนพวกพนักงานประจำ เวลาไปหาหมอ หรือเข้าโรงพยาบาล จึงไม่สามารถเบิกค่าหมอค่ายาได้ ดังนั้น เวลาฟรีแลนซ์เงินเข้า เขาต้องแบ่งรายได้ส่วนหนึ่งเก็บไว้เผื่อในกรณีฉุกเฉินทางสุขภาพ (รวมถึงกรณีไม่คาดฝันและกรณีเผื่อเกษียณตัวเองอื่นๆ) ด้วย ตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
อย่างไรก็ตาม ฟรีแลนซ์จะไม่จำเป็นต้องป่วยก่อนวัยอันควรเลยถ้ารู้จักบาลานซ์ระหว่างการทำงาน การพักผ่อน การเข้าสังคม และการใช้ชีวิต อย่างนายยุ่นในหนัง เขาอยู่ในกลุ่มฟรีแลนซ์ที่ poor physical health & mental health สุดๆ เพราะเอาแต่ทำงาน ไม่นอน ไม่มีเพื่อน และไม่ไปเที่ยวแม้แต่ไปเดินสยาม (จริงๆ คนบ้างานแบบนี้ก็มีพอสมควรนะ ไม่ใช่แค่จำพวกฟรีแลนซ์)
เอาจริงๆ เราก็บ้างานและเป็น perfectionist แบบยุ่นเลยนะ มีช่วงที่ไฟแรงใหม่ๆ เรามองว่าการเที่ยวเป็นเรื่องเสียเวลา แม้แต่ออกไปกินข้าวกับเพื่อนที่สยามยังรู้สึกเสียเวลาเลย (มื้ออาหารของเราจึงมักจบลงที่ร้านอาหารตามสั่งหน้าบ้าน หรือไม่ก็ 7-11 ง่ายๆ เร็วๆ)
จนวันนึง… มันมีจุดจุดนึง… ที่มาสะกิดให้เรารู้ตัวและเข้าใจว่า เฮ้ย เรากำลังให้ priority ผิดจุดหรือเปล่า เราจะรีบทำงานหาเงินขนาดนั้นไปเพื่ออะไรวะ ถ้าในอนาคตเรามีแต่งานที่มั่นคง มีแต่เงินที่มากมาย แต่ไม่มีเพื่อน (และไม่มีแฟน T^T)
จุดจุดนั้นมันคือจุดที่… เราไปเที่ยวปีนเขาแล้วเราเหนื่อย เราก็คิดว่า ถ้าเราไม่รีบเที่ยวตอนนี้ ตอนแก่เราจะเที่ยวสนุกหรอ จะมีแรงเที่ยวหรอ กับอีกจุดคือจุดที่… เพื่อนร่วมรุ่นเราค่อยๆ ทยอยแต่งงานและมีลูกกันทีละคนสองคน เราก็คิดว่า ถ้าเราไม่รีบใช้เวลาอยู่กับเพื่อนตอนนี้ อีกหน่อย เพื่อนเขาต้องให้เวลากับครอบครัวของเขากัน ถึงวันนั้นแล้วเราจะเสียดายเวลาตอนนี้รึเปล่า
บางที เราก็ควรบาลานซ์ ควรมีเวลาพักผ่อน เข้าสังคม หรือไปเที่ยวบ้าง เพื่อชาร์จแบต เติมฟืนไฟ ทบทวนตัวเอง แสวงหาความสุข และความสวยงามใหม่ๆ นอกเหนือจากที่เราได้จากการทำงานงกๆ
SOCIAL
ข้อเสียที่ชัดเจนและเลวร้ายที่สุดของพระเอกในเรื่อง รวมถึงเรา…ในฐานะและฟรีแลนซ์ ก็คือการไม่มีสังคม มีเพื่อนน้อยลงทุกวันๆ เพราะงานที่ทำคืองานที่ทำคนเดียว อุดอู้อยู่แต่ในรู เวลาทำงานและเวลาพักผ่อนก็ไม่ตรงกับชาวบ้านปกติเขา ตารางเลยไม่ตรงกันสักที
ในหนัง ยุ่นไม่เจอใครเลย แม้แต่ครอบครัว เขาก็ไม่มีเวลาให้ (รูปที่แม่ฝากรีทัชเมื่อปีมะโว้ เขาก็ยังไม่ได้ทำเลย) โพสต์อะไรลงเฟซบุ๊คก็ไม่มีคนมาไลค์สักอัน และโทรศัพท์ของเขาก็ไม่มีเบอร์โทรเข้าโทรออกจากใครเลยนอกจากเจ๋คนเดียว…ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมงาน อ่อ… หรือถ้านับพนักงานเซเว่นฯ เป็นเพื่อนคู่คิดยามดึกด้วย ยุ่นก็อาจจะนับ “ไก่” เป็นเพื่อนของเขาด้วยอีกคนก็ได้แหละ ตามนั้นๆ
เราเองก็เหมือนยุ่นเป๊ะๆ โทรศัพท์นี่แทบไม่ได้ปฏิสัมพันธ์กับใครเลย นอกจากบรรดานักเรียนและพีอาร์ค่ายหนังต่างๆ วันๆ นึงก็ไม่ได้เจอใครนอกจากคนเหล่านี้เลย นอกนั้นก็คือพวกพนักงานเซเว่นฯ บาริสต้าสตาร์บัคส์ และเจ๊ร้านอาหารตามสั่งแถวบ้าน ก็เท่านั้น
ชีวิตมันเศร้านะ เพื่อนสมัยเรียน มันก็ค่อยๆ หายกันไปละคน หรือห่างเหินกันไป เพราะต่างคนต่างก็ไปมีชีวิตใหม่สังคมใหม่ ในขณะที่ฟรีแลนซ์อย่างเรา ไม่มีหรอก… เพื่อนที่ทำงาน เพื่อนออฟฟิศ (ทุกวันนี้ยังอิจฉาเวลาเพื่อนบอกว่า “วันนี้มีไปตีแบดกับเพื่อนที่ทำงาน”) นี่ยังคิดอยู่เลยว่า งานแต่งงานหรืองานศพของเรา จะมีแขกเหรื่อมาสักกี่คน
LOVE
แต่ที่เจ็บจี๊ดที่สุดในชีวิตฟรีแลนซ์อย่างเราก็คือ “หาแฟนไม่ได้” (อ่ะ หรือพูดว่า “หาแฟนยาก” ก็ได้ ฟังดูมีความเป็นไปได้ขึ้นมาหน่อยนึง) ก็คิดดูสิ วันๆ เราไม่ได้ไปเจอ ไม่ได้ไปผูกพัน หรือใช้เวลาร่วมกับใคร แล้วจะให้ไปปิ๊งปั๊งกับใครอะไรยังไงตอนไหน คนอื่นเขายังไปเจอกันตามที่ทำงานบ้างไรบ้าง แต่เราไม่มีสถานที่เยี่ยงนั้นไง
แล้วปัญหาอีกอย่างคือ ยิ่งแก่ก็ยิ่งหายาก สงสัยวันนึง… คงจะต้องเลิกเรื่องมาก… ไม่เลือกเยอะแล้วก็ได้ รูปร่างหน้าตา อาชีพการงาน และฐานเงินเดือน… (สรุปนี่มันบล็อกบ่นเรื่องกูเองชัดๆ แฮ่~)
เราจึงไม่แปลกใจและไม่โทษว่ายุ่นใจง่ายเลย ถ้ายุ่นไปหาหมอ แล้วจะหลงรักหมออิม (ใหม่ ดาวิกา โฮร์เน่) อย่างง่ายดาย เพราะหมอเป็นผู้หญิงเพียงไม่กี่คนที่เข้ามาอยู่ในวงจรชีวิตของยุ่น แถมยังสวยสะพรึงอีกต่างหาก โรคผื่นเจ้ากรรมทำให้ยุ่นกับหมออิมต้องนัดเจอกันเดือนละครั้ง…
“เดือนละครั้ง ครั้งละไม่กี่นาที” อาจฟังดูเหมือนไม่เยอะสำหรับใครหลายคน แต่เอาจริงๆ หมออิมถือเป็นคนที่ยุ่นได้เจอบ่อยที่สุดและได้คุยเยอะคำที่สุด รองจากเจ๋ และไก่ (พนง.เซเว่นฯ) เลยนะ เออ ความรักน่ะ มันไม่ต้องการเวลาหรอก แต่ถ้ามันถูกที่ถูกเวลาถูกจังหวะ มันก็คลิก จริงมั้ยล่ะ
เราชอบที่ยุ่นกับหมออิมเป็นผู้ชำนาญการกันคนละศาสตร์ มุกเรื่องวิทย์ๆ ศิลป์ๆ ในหนังมันตลกร้ายดี เราชอบ แล้วมันก็น่ารักดีเวลาดูพวกเขาพูดคุยหรือถกเถียงแบบเด็กวิทย์กับเด็กศิลป์ (แต่ปกติเราจะชินกับการที่ผู้หญิงเป็นศิลป์และผู้ชายเป็นวิทย์นะ อย่างคู่เราเอง เป็นต้น) เราชอบคู่นี้มากกว่าคู่ใน ไอฟาย แต๊งกิ้ว เลิฟยู ซะอีก (ได้ข่าวว่าพระเอกคนเดียวกัน…)
เราตอบไม่ได้หรอกว่า ความรู้สึกที่ยุ่นมีต่อหมออิมคือความรักรึเปล่า ยุ่นเลี้ยงไข้เพื่อหาเรื่องมาหาหมออิมรึเปล่า (แต่ก็น่าจะไม่นะ) ทุกคนคงต้องเข้าไปดูแล้วตัดสินกันเอาเอง
แต่ไม่ว่าจะยังไง หมออิมก็เป็นคนที่ทรงอิทธิพลต่อชีวิตของยุ่น เธอเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ชีวิตของยุ่นเปลี่ยนไปมาก ยุ่นได้ทำอะไรใหม่ๆ ที่เขาไม่เคยทำหรือทำไม่ได้มาก่อน ซึ่งต่อให้ทั้งหมดมันไม่ใข่ความรัก หรือต่อให้เขาไม่สมหวัง สุดท้ายแล้ว มันก็คุ้มค่าอยู่ดีที่เขาได้รู้จักกับหมออิม…ผู้หญิงที่เปิดโลกให้เขาและเปลี่ยนชีวิตเขาไปในทางที่ดีขึ้น
PROFESSIONALISM
ไม่ว่าจะทำงานอะไร สิ่งสำคัญคือความเป็นมืออาชีพ (PROFESSIONALISM) งานที่ออกมาแต่ละชิ้นล้วนแต่เป็นหน้าตาของเราทั้งสิ้น และอาจจะกำหนดอนาคตเส้นทางอาชีพของเราได้ทุกย่างก้าว โดยเฉพาะกับฟรีแลนซ์ ที่จะตั้งใจแค่ในส่วนของเนื้องานอย่างเดียวไม่ได้ ฟรีแลนซ์ต้องมีวินัย มีความรับผิดชอบ ตรงต่อเวลา จัดการตัวเองได้ ต้องรักษามาตรฐาน และหมั่นพัฒนาสกิลตัวเองเสมอ
เรื่องผิดพลาดมันเป็นเรื่องธรรมดา เวลาเราทำอะไรผิดพลาด พ่อแม่ ญาติพี่น้อง หรือเพื่อนสนิทเรา เขาก็มักจะให้อภัยเราง่ายๆ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ก็ขอโทษขอโพย ปรับความเข้าใจ และเริ่มต้นใหม่กันสวยๆ แต่ในการทำงาน มันอาจจะไม่ง่ายแบบนั้น นายจ้างไม่เหมือนพ่อแม่เรา เขาอาจจะโกรธ ไล่ออก และหาคนใหม่มาทำแทนไปเลยก็ได้ พูดง่ายๆ มันก็เหมือนบางคน…ประสบอุบัติเหตุรถคว่ำเพียงครั้งเดียว แต่เขาอาจจะพิการตลอดชีวิต…หรือตายคาที่ไปเลยก็ได้
ทั้งนี้ไม่ได้พูดแค่ฟรีแลนซ์ คนที่ประกอบอาชีพที่ดูมีเกียรติและมั่นคงอย่างหมอก็เช่นกัน หมอเองก็มีภาวะกดดัน เพราะงานหมอมันเกี่ยวกับชีวิตหรือความเป็นความตายของคน คนไข้ก็ฝากความหวังไว้กับหมอ สมมติเคสโคม่า ถ้าเขารอด เขาก็ขอบคุณหมอ หมอก็ไม่อะไร ฉันทำตามหน้าที่ แต่ถ้าคนไข้เขาไม่รอด บางเคส หมอถูกด่านะ เป็นหมอมันก็ไม่ง่ายเหมือนกัน
แต่จริงๆ แล้ว หมอน่ะเขาทำตามหน้าที่อยู่แล้ว ยังไงเขาก็อยากให้คนไข้หาย เพราะถ้ารักษาดีมันก็คือหน้าตาของหมอ แต่การที่คนไข้จะหายไม่หาย จะรอดไม่รอด หรือผลจะออกมาดีไม่ดี มันเป็นความรับผิดชอบร่วมกันทั้งสองฝ่ายระหว่างหมอกับคนไข้นะ หมอไม่ใช่ผู้วิเศษ
ซึ่งตรงนี้เราเข้าใจหมออิมมากๆ เพราะเราเองก็เป็นติวเตอร์สอนพิเศษ เด็กจะสอบติดหรือไม่ติด เราก็เครียด ลุ้น และกดดันไม่แพ้เด็ก เพราะถ้าเด็กสอบได้ มันก็หน้าตาของเราเช่นกัน แต่ถ้าเราพยายามอยู่ฝ่ายเดียว ตัวผู้เรียนไม่ให้ความร่วมมือ ความพยายามของผู้สอนก็อาจกลายเป็น “ศูนย์”
แน่นอนว่า… #ความรักก็เช่นกัน
ฟรีแลนซ์ ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ #freelancethemovie ภาพยนตร์รักสำหรับคนอยากพักร้อน
3 กันยายนนี้ ในโรงภาพยนตร์ อย่าพลาดเลย อยากให้ดู :)
ป.ล. ในเว็บ http://www.freelancethemovie.com/ มีของเล่นเยอะมร๊วก~ ไปเล่นกันเถอะ ไปเล่นกันเถอะ~
53 comments