“If you were a white male, would you wish to be an engineer?”
ในที่สุดก็มาถึงคิว Hidden Figures หนังที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์สาขา “ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม” เรื่องสุดท้ายที่ได้เข้าฉายในบ้านเรา (ณ เวลานี้ยังไม่มีค่ายไหนซื้อ Fences มาขายที่ไทย) นอกจากสาขา “ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม” แล้ว Hidden Figures ยังได้เข้าชิงออสการ์อีกสองสาขา ได้แก่ บทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม และนักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม (Octavia Spencer)
Hidden Figures เป็นหนังสร้างจากเรื่องจริง (Based on True Events) ของสามสาวผิวสีที่ทำงานใน NASA ได้แก่ Katherine G. Johnson (Taraji P. Henson ผู้เข้าชิงออสการ์จาก The Curious Case of Benjamin Button), Mary Jackson (Janelle Monáe จาก Moonlight), และ Dorothy Vaughan (Octavia Spencer เจ้าของรางวัลออสการ์จาก The Help)
แต่ Space race ระหว่างอเมริกากับรัสเซียไม่ใช่ประเด็นสำคัญของหนังเรื่องนี้… Hidden Figures คล้าย ๆ กับ Moonlight ที่เล่าเรื่องเกย์ผิวสีในสังคมเสื่อมโทรม กล่าวคือ Hidden Figures เน้นถ่ายทอดประเด็น Racial and gender discriminations ระหว่างคนผิวขาวกับคนผิวสี… ระหว่างเพศหญิงกับเพศชาย… แต่เล่าในแบบบันเทิง แมส และฟีลกู้ด ดูชิลกว่า Moonlight (เยอะ)
สามตัวเอกต้องเป็นผู้หญิงที่ทำงานใน NASA ณ ตอนนั้น นั่นก็ว่า “อยู่ยาก” แล้ว ยิ่งเป็นสาวผิวสีด้วยแล้วนั้น ยิ่ง “อยู่ยากใหญ่” ยกตัวอย่างง่าย ๆ ให้เห็นภาพ ทั้งห้องน้ำ ห้องครัว หรือแม้กระทั่งกาต้มกาแฟ ยังแปะป้ายแบ่งแยกว่าอันนี้ของคนขาว อันนั้นของคนดำ เออ จริงจังแค่ไหน คิดดู
- Katherine ต้องไปทำงานเป็นนักคำนวณหรือ Computer (สมัยนั้น Computer ยังเป็นศัพท์แทนคน ยังไม่ใช่เครื่องคอมฯ ที่พวกเรารู้จักกันทุกวันนี้) ในแผนกของบอสใหญ่ Al Harrison (นักแสดงออสการ์ Kevin Costner) ซึ่งทั้งห้องมีแต่ผู้ชายผิวขาว ในส่วนของชีวิตครอบครัว Katherine เป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว มีลูกสาวสามคน แต่เธอโชคดีที่ได้เจอกับนายทหาร Colonel Jim Johnson (Mahershala Ali ผู้เข้าชิงออสการ์จาก Moonlight)
- Mary ต้องการเป็นวิศวกร แต่กฎ NASA มีอยู่ว่าต้องมีใบปริญญาจากสถาบันนี่นั่นโน่น ซึ่งเป็นสถาบันที่รับแต่นักศึกษา “ชาย” และ “ผิวขาว” เท่านั้น Mary จึงต้องไฟท์หนักมาก เพื่อจะได้เป็นวิศวกรหญิงผิวสี “คนแรก” ของ NASA
- Dorothy จะช่ำชองเรื่องเครื่องจักรเครื่องกล และเป็นเสมือนหัวหน้าของฝ่าย “Colored Computer” แต่สิทธิและค่าจ้างยังต่ำไม่สมแรงกายที่ทุ่มไป เธอพยายามไฟท์กับ Vivian Mitchell (Kirsten Dunst จาก Spider-Man) เรื่องการเลื่อนขั้นของเธอหลายครั้ง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จนกระทั่งทาง NASA สั่งซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ใหม่ของ IBM มา หวังจะใช้คำนวณแทนสมองมนุษย์
สำหรับเรา เราไม่รู้มาก่อนว่าความสำเร็จของ NASA หลายต่อหลายอย่างมีผู้หญิงผิวสีเหล่านี้อยู่เบื้องหลัง Hidden Figures จึงเป็นเรื่องใหม่ และถือเป็น Untold Story ที่ควรค่าแก่การบอกต่อ ยกย่อง และให้เกียรติอย่างยิ่ง
เพราะถ้าไม่มีบุคคลเหล่านี้ ภารกิจหรือโครงการหลายต่อหลายชิ้น ณ ตอนนั้นของ NASA อาจไม่ประสบความสำเร็จ เช่น ช่วงปี 1960s ที่ NASA กำลังพยายามหาทางทำให้ John Glenn (Glen Powell) ขับยานโคจรรอบโลกได้สำเร็จแข่งกับประเทศรัสเซีย เป็นต้น
ส่วนหนึ่งต้องขอบคุณบอส Al Harrison ที่เห็นแก่ ความสำเร็จของประเทศชาติและองค์กรมาก่อนประเด็นสีผิว ไม่ถืออคติหรือกีดกันกับ Katherine อย่างที่หัวหน้าวิศวกร Paul Stafford (Jim Parsons จากซีรีส์ The Big Bang Theory) กระทำในตอนแรก
ถึงแม้บอสจะชอบพูดเหมารวมกับลูกน้องทุกคนว่า “Gentlemen” และพูดเหมารวมคู่ครองของลูกน้องว่า “Your wives” แต่เราก็เข้าใจว่านั่นคือความเคยชิน ไม่ได้ตั้งใจข้ามหัว Katherine กับ Ruth (Kimberly Quinn) เลขาฯ ของเขาที่นั่งอยู่ในห้องด้วย
ปัญหาใหญ่ของ Katherine ไม่ใช่ว่าเพื่อนร่วมงานในห้องเหยียดเธอด้วยสายตา หรือเธอต้องกินกาแฟคนละกากับคนอื่น หากแต่เธอต้องวิ่งไปเข้าห้องน้ำไกลข้ามตึกทุกครั้งที่เธออยากทำธุระ ช็อตที่เธอหมดความอดทนแล้วระเบิดความอัดอั้นออกมาคือหนึ่งในซีนที่ดีที่สุดของเรื่อง เพราะมันสะท้อนหมด ตั้งแต่สิทธิการใช้ห้องน้ำ สิทธิการใช้ facilities ต่าง ๆ ของพนักงาน รวมถึงทำให้เราได้รู้ว่าค่าแรงของคนผิวสีถูกกว่าคนผิวขาว
เคสต่าง ๆ ของ Katherine ไม่ว่าจะสิทธิการใช้ห้องน้ำ สิทธิในการเข้าร่วมประชุม สิทธิในการมีชื่อตนเองในรายงาน ฯลฯ สะท้อนให้เราเห็นว่า ถ้าเราอยากประสบความสำเร็จในการไฟท์เพื่อสิทธิของเราและความถูกต้อง เราต้องกล้าที่จะพูดปัญหานั้นออกมาให้คนอื่นเห็น…ให้คนอื่นได้ยิน… ให้คนอื่นรู้ว่าเรามีตัวตน ซีนที่บอสใหญ่ไปทุบป้าย “Colored Restroom” ออกเองกับมือ และพูดว่า “Here at NASA we all pee the same color.” จึงเป็นอีกหนึ่งใน one of the best scenes อีกเช่นกัน
ถึงแม้ Katherine จะเป็นตัวที่เด่นที่สุดในบรรดาสามสาว เพราะดู IQ ทางคณิตศาสตร์สูงสุด แต่ Mary ก็ขโมยซีนเพื่อน ๆ ได้ทุกซีนที่เธอออก ส่วนหนึ่งก็เพราะคาแรกเตอร์อันสดใสสนุกสนานของเธอที่ทำให้เราดูหนังเรื่องนี้ได้เพลินขึ้น
แต่ส่วนสำคัญที่ทำให้เราชอบบทบาทของ Mary คือ เธอเลิกบ่นถึงความไม่ยุติธรรมแล้วกล้าออกไปเรียกร้องความยุติธรรมที่ชั้นศาล เธอเลิกบ่นถึงความไม่เท่าเทียม เพราะเธอรู้ดีว่าไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสีผิวตัวเองได้ แต่เธอสร้างความเท่าเทียมให้ตัวเองด้วยการศึกษาที่สูงขึ้น (ซีนที่เธอเดินเข้าไปในคลาสเรียนครั้งแรกก็น่าจดจำ) เธอทำเรื่องที่ใครว่าเป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้
ในพาร์ทของ Mary มีคำถามหนึ่งที่ผู้ร่วมงานชาวยิวคนหนึ่งถามเธอ “If you were a white male, would you wish to be an engineer?” ประโยคนี้มันสร้างแรงบันดาลใจและกินใจเราสุด ๆ เราตั้งใจเลยว่า ถ้าวันนึงมีใครมาปรึกษาเราเรื่องความฝันหรือเป้าหมายในชีวิตเขา แต่หยิบยกเงื่อนไขต่าง ๆ นานาขึ้นมา ประโยคแบบนี้นี่แหละ ที่เราจะเอาไปย้อนถามเขา กระตุ้นให้เขาโฟกัสที่ความฝันหรือเป้าหมายของเขา อย่าให้เงื่อนไขใดใดมาเป็นอุปสรรคของความสำเร็จ
ส่วนเจ๊ใหญ่คนสุดท้าย Dorothy นี่ไม่พูดถึงไม่ได้ เพราะ Octavia Spencer เป็นตัวแทนของ Hidden Figures หนึ่งเดียวที่ได้เข้าชิงออสการ์, ลูกโลกทองคำ, ฯลฯ สาขาการแสดง (แต่บนเวที SAG เขามอบรางวัล Outstanding Performance by a Cast ให้ Hidden Figures นะเออ คือหรือสมาคมนักแสดงอาชีพเขายกย่องว่าเรื่องนี้แสดงเริ่ดทั้งเรื่อง ว่างั้น)
เราชอบของ Dorothy ตรงที่เธอเข้าใจ Civil Rights อย่างดี เช่น เธอรู้ว่าเธอจ่ายภาษีเท่าคนอื่น เธอก็ต้องมีสิทธิได้อ่านหนังสือทุกเล่มในห้องสมุดสาธารณะเช่นเดียวกับทุกคน และเราชอบเธอยิ่งกว่าตรงที่ เธอไฟท์เพื่อส่วนรวม และจะไม่ยอมก้าวหน้าคนเดียว เธอเทคแคร์และช่วยรักษาสิทธิประโยชน์ของเพื่อนร่วมงานหรือลูกน้องของเธออย่างดี
Octavia Spencer เป็นหนึ่งในนักแสดงเชื้อสาย African-American เพียงไม่กี่คนในประวัติศาสตร์ที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงและแถมได้รับรางวัลออสการ์ ปีนี้เป็นปีที่สองของเธอที่จะได้โอกาสเข้าใกล้ตุ๊กตาทองอีกครั้งในสาขา Best Supporting Actress สาขาเดิม โดยปีนี้พิเศษตรงที่นอกจากเธอแล้วยังมีนักแสดงผิวสีอีกสองคนที่เข้าชิงสาขาเดียวกันคือ Viola Davis จาก Fences และ Naomie Harris จาก Moonlight
ไม่ว่าจะเป็น Octavia Spencer หรือ Viola Davis หรือ Naomie Harris ที่จะได้ออสการ์ สาขา Best Supporting Actress ปีนี้ไป นั่นก็ไม่สำคัญ เพราะไม่ว่าจะเป็นความสำเร็จของใคร มันก็ล้วนแต่เป็นก้าวสำคัญของคนผิวสีและมวลมนุษยชาติทุกคน (หรืออาจจะตัดภาพมาที่นางเอกผิวขาว Michelle Williams จาก Manchester by the Sea คว้าไปก็เป็นได้ จบข่าว)
Hidden Figures เข้าฉาย 23 ก.พ. 2017 ในโรงภาพยนตร์ คะแนนตามความชอบส่วนตัว 8/10
READ MORE: On Being a Black Female Math Whiz During the Space Race
66 comments
Comments are closed.