เนื้อหาในบล็อกนี้แบ่งเป็นสามส่วน: เรื่องย่อ, นักแสดง, และรีวิว
โดยไม่มีเนื้อหาสปอยล์แต่ใดๆ
แต่ถ้าผู้อ่านคลุมแถบดำ (หรือกด command + A)
ก็จะเห็นเนื้อหาสปอยล์ที่เราซ่อนไว้ด้วยการใช้ตัวอักษรสีขาวค่ะ
Interstellar เข้าชิงออสการ์ 5 สาขา คว้ามาได้ 1 สาขา ดังนี้
- Best Original Score
- Best Production Design
- Best Sound Editing
- Best Sound Mixing
- Best Visual Effects (winner!)
Plot Summary (NON-SPOIL)
Interstellar น่าจะเป็นอีกมุมมองหนึ่งของหนังแนว Dystopian เช่นเดียวกับ The Hunger Games, Divergent, The Maze Runner, The Giver, Snowpiercer และอีกหลายๆ เรื่องที่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับโลกใบใหม่ในอนาคต
แต่ความแตกต่างคือเรื่องราวของ Interstellar ยังอยู่ระหว่างจุดเชื่อมต่อระหว่างโลกเก่ากับโลกใหม่ (คาดว่าน่าจะเป็นช่วงปี 2054 หรืออีก 40 ปีข้างหน้า) และโลกใบใหม่ของ Interstellar นั้นล้ำกว่าเรื่องอื่นๆ ตรงที่ พวกเขาไม่ได้ปรับตัวหรือเปลี่ยนแปลงสังคมบนโลกใบเดิม แต่กลับพยายามหาทางพามนุษยชาติไปเริ่มต้นสร้างอาณานิคมใหม่บนโลกใบอื่น
Interstellar หยิบประเด็น Climate Change หรือ Global Warming ขึ้นมาเป็นปัญหาของโลกใบนี้ โดยเอาเหตุการณ์ The Dust Bowl หรือ The Dirty Thirties ที่เคยเกิดขึ้นช่วงปี 1930s ในอเมริกา มาจำลองว่ามันกำลังจะเกิดขึ้นอีกครั้ง
ความน่ากลัวของ The Dust Bowl คือโลกจะเปรียบเสมือนชามหรือโหลที่เต็มไปด้วยฝุ่น วันดีคืนดีก็มีพายุทราย ซึ่งฝุ่นทรายเหล่านี้เป็นอันตรายต่อปอดและระบบทางเดินหายใจ รวมถึงส่งผลให้สภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยต่อการทำเกษตรกรรม โลกของเราจึงเริ่มขาดแคลนทั้งอาหารและอากาศที่เหมาะสมสำหรับการดำรงชีวิต
โลกในอนาคตนี้เป็นโลกที่ให้ความสำคัญกับเกษตรกรรม แม้แต่หนังสือเรียนของเด็กยังต้องเขียนเนื้อหาใหม่เกี่ยวกับการไปดวงจันทร์ของยาน Apollo เพื่อไม่ให้เด็กฝันอะไรไกลเกินกว่าการเป็นเกษตรกร
ในเมื่อโลกไม่ต้องการเทคโนโลยีเท่ากับผลผลิตทางอาหาร Cooper ( Matthew McConaughey) อดีตวิศวกรและนักบินขององค์การ NASA ต้องผันตัวมาปลูกข้าวโพดอยู่กับ Donald พ่อตา (John Lithgow) และลูกๆ อีกสองคน ได้แก่ Tom ลูกชายคนโต (Timothée Chalamet และ Casey Affleck น้องชายของ Ben Affleck) ที่ดูไปได้ดีกับการเป็นชาวไร่ และ Murph ลูกสาวคนเล็ก (Mackenzie Foy และ Jessica Chastain) ที่ฉลาดเฉลียว หัวดื้อ และได้เลือดนักวิทยาศาสตร์ของพ่อมาเต็มๆ
วันหนึ่ง Cooper กับ Murph ค้นพบแหล่งกบดาน NASA ภายใต้การดูแลของ Professor Brand (Michael Caine) และ Cooper ก็ต้องออกไปทำหน้าที่อีกครั้ง โดยการแสวงหาโลกใบใหม่เพื่อมนุษยชาติ พร้อมๆ กับ Amelia Brand (Anne Hathaway) ลูกสาวของศจ. และนักบินอีกสองคน Romilly (David Gyasi) กับ Doyle (Wes Bentley) พร้อมกับหุ่นยนต์ AI อีกสองตัว ชื่อ CASE (พากย์เสียงโดย Josh Stewart) กับ TARS (พากย์เสียงโดย Bill Irwin) ซึ่งเขาว่ากันว่าคล้ายกับคอมพิวเตอร์ AI ในหนังเก่าในตำนานเรื่อง 2001: A Space Odyssey (ปี 1968)
Director & Actors
ถ้าเอาตัวบุคคลเป็นที่ตั้ง เราจะเห็นว่าคนเลือกไปดูหนังส่วนใหญ่เพราะนักแสดงนำในเรื่องนั้นๆ แต่กับหนังบางเรื่อง เราแทบไม่สนใจเลยว่าหนังเรื่องนั้นมีใครแสดงบ้างหรือหนังเรื่องนั้นมีเนื้อหาเกี่ยวกับอะไร เพียงแค่มีชื่อผู้กำกับฯ หรือผู้เขียนบทจ่าหน้าหนังอยู่ คนก็พร้อมใจกันไปดูโดยไม่ต้องนัดหมายแล้ว
ในยุคนี้ คงไม่มีใครไม่รู้จัก Christopher Nolan ผู้กำกับฯ และนักเขียนบทมือทอง เจ้าของผลงานระดับมาสเตอร์พีซมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Memento, Batman Begins, The Prestige, The Dark Knight, Inception, The Dark Knight Rises ฯลฯ และผลงานล่าสุดของเขา Interstellar ก็เป็นหนังอีกเรื่องที่คนทั้งโลกคาดหวัง ตั้งตารอ และจับตามองมาตั้งแต่ขั้นตอน Pre-Production
ขึ้นชื่อว่า Christ Nolan แล้ว เขาย่อมได้ทุนสร้างหนังมหาศาล ที่พร้อมจะรังสรรค์คุณภาพให้คนดูแบบไร้ขีดจำกัด และสามารถจ้างนักแสดงดังๆ ระดับมืออาชีพมาเล่นให้หนังของเขาตั้งแต่บทนักแสดงนำจนไปถึงนักแสดงสมทบเล็กๆ
สำหรับ Interstellar บท Cooper พระเอกของเรื่อง ตกเป็นของ Matthew McConaughey จาก U-571, Mud, Dallas Buyers Club, The Wolf of Wall Street ฯลฯ และได้นักแสดงรุ่นเดอะขาประจำของ Nolan มารับบท Professor Brand ด้วย นั่นคือลุง Michael Caine จาก Batman Begins, The Prestige, The Dark Knight, Inception, The Dark Knight Rises, Now You See Me ฯลฯ
นักแสดงนำหญิงใน Interstellar ก็โดดเด่นตั้งแต่รุ่นสาวยันรุ่นละอ่อนน้อย คนแรกที่ต้องกล่าวถึงคงต้องเป็น นักบินสาวคู่หูของพระเอกเรา หรือ Amelia Brand ซึ่งรับบทโดย Anne Hathaway นางเอกคนสวยจาก The Princess Diaries, The Devil Wears Prada, Alice in Wonderland, Love & Other Drugs, One Day, The Dark Knight Rises, Les Misérables ฯลฯ (โดยเฉพาะเรื่องหลังสุด ที่เธอได้ Oscar รางวัลนักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม)
นอกจากนี้บทของ Murph หรือ ลูกสาว Cooper ก็ไม่พูดถึงไม่ได้ บทนี้แสดงโดยสองสาวต่างวัย ที่ต่างก็โดดเด่นในจอไม่แพ้กัน โดย Murph รุ่นเด็กรับบทโดย Mackenzie Foy จาก The Twilight Saga: Breaking Dawn และ The Conjuring ซึ่งเราขอยกนิ้วให้ว่าเป็นหนูน้อยมหัศจรรย์ และน่าจะมีอนาคตในวงการนี้อีกไกล เพราะสวยและเก่งเกินอายุมากๆ
ส่วน Murph รุ่นผู้ใหญ่ รับบทโดย Jessica Chastain จาก The Help, Lawless, Mama, และ Zero Dark Thirty (โดยเฉพาะเรื่องหลังสุด ที่เธอได้เข้าชิง Oscar สาขานักแสดงนำหญิง)
นักแสดงสมทบใน Interstellar ก็ใช่ว่าจะโนเนม เริ่มจาก Donald พ่อตาของพระเอก รับบทโดย John Lithgow จาก Dreamgirls, Confessions of a Shopaholic, Rise of the Planet of the Apes, How I Met Your Mother ฯลฯ นอกจากนี้ นักบินอีกสองคนบนยาน Romilly และ Doyle ก็เคยปรากฏในหนังใหญ่ๆ มาแล้วเหมือนกัน อย่าง David Gyasi ก็เคยเล่น The Dark Knight Rises, Doctor Who, และ Cloud Atlas ส่วน Wes Bentley ก็คือเฮดเกมเมคเกอร์จาก The Hunger Games (ภาค 1) นั่นเอง ตามลำดับ
ดาราใหญ่อย่าง Matt Damon จาก Good Will Hunting, Saving Private Ryan, The Bourne Identity, Elysium ก็ยังมารับเล่นเป็น Dr. Mann นักแสดงสมทบในเรื่อง ที่ออกมาเซอไพรส์กลางเรื่อง ถึงแม้บทจะไม่เยอะมาก แต่ก็แอบมีความสำคัญและเพิ่มสีสันให้กับเรื่องอยู่เหมือนกัน
Review
Interstellar เป็นหนังพล็อตฉลาดอีกเรื่องของ Christopher Nolan แต่ยังถือว่า “คงตัว” สำหรับเขา กล่าวคือ เรื่องนี้ยังไม่ล้ำมากขนาดต้อง “ดูซ้ำถึงจะเก๊ต” แบบ Memento, The Prestige, หรือ Inception แต่เหมือนเอาไอเดียเก่าเรื่อง “เวลา” ที่เคยเล่นใน Memento และ Inception มาเล่นต่อในสเกลที่ใหญ่สุด
(ถ้าพูดตรงๆ เหมือน Inception มากกว่า ตรงที่เวลา 1 ชั่วโมงของอีกที่นึง เท่ากับหลายปีของอีกที่นึง แล้วคนแต่ละโลกจะแก่เร็วแก่ช้าต่างกัน)
การนำเสนออาจจะเป็น Sci-Fi สุดล้ำ แต่เนื้อหนังเป็น Drama ถ่ายทอดความรักแบบครอบครัวมากกว่าการเอาตัวรอดอย่างในเรื่อง Gravity เพราะใน Interstellar นี้ เราจะเห็นความรักของพ่อที่อยากจะออกไปเพื่อช่วยลูกๆ และความรักของพ่อที่อยากจะกลับมาอยู่กับลูกๆ ในวันที่พวกเขาเติบโต มากกว่าทำทุกอย่างเพื่อช่วยชีวิตคนทั้งโลก
คนดูควรเตรียมตัวเตรียมใจก่อนเลยว่า ความยาวเกือบ 3 ชั่วโมงของหนังเรื่องนี้ ในองก์แรกหรือประมาณเกือบ 1 ชั่วโมงแรก เป็นประเด็นครอบครัวของพระเอกบนโลกมนุษย์ คนที่ไม่ชอบความดราม่าอาจจะเบื่อ แต่ในความเห็นของเรา เราค่อนข้างชอบที่ Nolan สื่อความสัมพันธ์พ่อลูก อาจจะไม่ได้แปลกใหม่อะไรมาก แต่นักแสดงก็ถ่ายทอดออกมาได้ดีจนเราแอบน้ำตาซึม
ส่วนองก์ที่สอง ซึ่งเป็นฉากในอวกาศ ก็ขายความล้ำของแสงสีเสียงและเอฟเฟ็กต์ต่างๆ ทั้งบนยาน และบนดาวต่างๆ ที่ยานไปลงจอดสำรวจ ทั้งยังมีความสัมพันธ์ครอบครัวถ่ายทอดอีกเช่นกัน ในรูปแบบของ footage หรือ vdo ระหว่างบนยานกับสถานีบนพื้นผิวโลก ซึ่งเป็นพาร์ทที่เราชอบที่สุดในองก์นี้
และโดยส่วนตัว เราชอบองก์สุดท้ายมากที่สุด ซึ่งเป็นจุดไคลแมกซ์ที่… อาจจะไม่ถึงกับเรียกว่า พล็อตทวิสต์ แต่ก็เป็นกุญแจสำคัญของเรื่องทั้งหมด ที่คราวนี้ Nolan เลือกมาเฉลยเอาตอนท้ายเรื่อง แล้วมันก็ “ว้าว!” เหนือความคาดหมายของเราไปพอตัว
แต่สำหรับบางคนที่เคยดู The Wizard of Oz เวอร์ชั่นเก่ามาก~ อาจจะไม่เซอร์ไพรส์มากเท่าเรา เห็นเขาว่า องก์ที่สามของ Interstellar ที่เป็นฉากมิติที่ห้า Cooper ก็เปรียบเสมือน Dorothy และ Murph ก็เปรียบเป็น Auntie Em ใน The Wizard of Oz
ตามสไตล์ Nolan พล็อตของเขาต้องมีเซอร์ไพรส์ตามสูตร และในไดอะล็อกก็ต้องมีปรัชญาชีวิตแทรกตลอดเรื่อง ซึ่ง Interstellar ก็มีคำคมชีวิตแฝงอยู่ค่อนข้างเยอะ แต่ก็ไม่ดูยัดเยียดจนเกินไป ซึ่งก็เหมือนที่เขาเคยเล่นกับ The Dark Knight และ The Dark Knight Rises นั่นแหละ ที่ใส่เนื้อหาหนักๆ ลงไปในหนัง mass ที่ย่อยง่ายและแยบยล
เนื้อหาฟิสิกส์หรือวิทยาศาสตร์มาเต็ม แสดงให้เห็นว่าสองพี่น้อง Nolan ทำการบ้านมาอย่างดี และมีที่ปรึกษาด้านวิทยาศาตร์และอวกาศที่ความรู้แน่นปึ้กจริงๆ (ที่ปรึกษาของพวกเขาคือ Kip Thorne) พล็อตของ Interstellar จึงฉลาดล้ำ เป๊ะ เมคเซนส์ และแทบไม่มีช่องโหว่เลย (หรือมีช่องโหว่ แต่เราไม่รู้เรื่องเอง ตามประสาเด็กอักษรศาสตร์ที่โง่วิทย์) แต่สิ่งนึงที่ดูไม่สมเหตุสมผลสักหน่อยก็คงเป็นความเก่งของพระเอก ที่ทำเรื่องเป็นได้ยากให้เป็นไปได้ง่ายบ่อยเสียเลยเกิน
ถึงแม้ในองก์ที่สอง ตอนที่พระเอกขึ้นยานไปอยู่นอกโลกแล้ว จะมีศัพท์แสงยากๆ และฟิสิกส์ควอนตั้มงงๆ ที่เราอาจตามไม่ค่อยทันเท่าไหร่ แต่โดยรวมเราก็ยังบันเทิงได้ไม่สะดุด Nolan ถ่ายทอดเรื่องยากให้กลายเป็นเรื่องชิลๆ ได้ คนดูแบบเราไม่ได้รู้สึกโง่หรือเบื่อหน่ายกับเนื้อหาวิทย์ๆ เลยแม้แต่น้อย ตรงกันข้าม เรากลับตื่นเต้นกับความรู้ใหม่ๆ พวกนี้ด้วยเสียอีก
โดยรวม ถ้าถามว่าชอบมั้ย ก็โอเคนะ ก็สนุก แต่ไม่ได้พีคหรือชอบมากถึงกับอยากดูรอบสองรอบสามเหมือนเรื่องอื่นๆ ของ Nolan อาจจะเป็นเพราะคาดหวังไว้สูงมากเกินไป แล้วผลออกมามันไม่ได้พีคอย่างที่คาดไว้ก็ได้ ดังนั้น แนะนำให้ทุกคนไปดู Interstellar แบบไม่คาดหวัง แล้วเราเชื่อว่า คุณจะ Enjoy กับมันมาก (คนที่นั่งเบาะข้างๆ เราในโรงหนัง ร้องไห้และอินกับฉากอวกาศในหนังมาก จริงๆ นะ)
READ MORE (SPOILERS) ‘Interstellar’ Ending & Space Travel Explained
ถ้าใครดูหนัง Interstellar แล้ว ไปอ่านข้อเปรียบเทียบความเหมือน (หรือความซ้ำซาก?) 13 ประการของ Interstellar vs. Inception ในบล็อกถัดไปได้เลยค่ะ (แนะนำให้ดูหนังก่อน เพราะมีเนื้อหาสปอยล์ทั้งสองเรื่อง)
46 comments