“in case I don’t say exactly what I mean,”
ผู้กำกับหนังชาวชิลี Pablo Larraín ไม่ใช่แค่ประสบความสำเร็จในการกำกับ Jackie ในฐานะหนังภาษาอังกฤษเรื่องแรกเท่านั้น แต่ Jackie ยังเป็นที่ยอมรับอีกว่า เป็น biopic หรือหนังเกี่ยวกับเรื่องราวของบุคคลสำคัญและประวัติศาสตร์ที่ยอดเยี่ยม โดยเฉพาะการแสดงขั้นเทพของ Natalie Portman นักแสดงเจ้าของรางวัลออสการ์จาก Black Swan
ภาพยนตร์เรื่อง Jackie บอกเล่าเรื่องราวของอดีตสุภาพสตรี (และหม้าย) หมายเลขหนึ่ง Jacqueline Kennedy (รับบทโดย Natalie Portman) ภรรยาของ John F. Kennedy (Caspar Phillipson) ประธานาธิบดีคนที่ 35 แห่งสหรัฐอเมริกา (20 ม.ค. 1961 – 22 พ.ย. 1963) โดยหนังเล่าสลับตัดไปมา ระหว่าง…
- ช่วงก่อนที่ JFK จะถูกลอบสังหาร
- ช่วงหลังที่ JFK ถูกลอบสังหารแล้ว
- หลังจากที่เหตุการณ์ผ่านไปแล้ว 1 สัปดาห์
โดยส่วนที่ 1. ก็มีทั้ง (1.1) ตอนที่ Jackie ออกรายการทีวีพาทัวร์ทำเนียบขาว “A Tour of the White House with Mrs. John F. Kennedy” กับ (1.2) ฉากงานเลี้ยงที่มีจัดแสดงละครเพลง Camelot ที่ JFK โปรดปราน (1.3) ขณะกำลังเดินทางไปที่ Dallas ซึ่งเป็นที่เกิดเหตุ
ส่วนที่ 2. ก็มีตั้งแต่ (2.1) ช่วงที่ JFK ถูกยิงหมาด ๆ ขนศพขึ้นเครื่องบิน Air Force One กลับบ้าน (2.2) ช่วงระหว่างเตรียมงานพิธีศพ (2.3) ช่วงที่ Jackie ไปคุยกับบาทหลวง (นักแสดงผู้เข้าชิงออสการ์ John Hurt) จนถึง (2.4) ช่วงพิธีงานศพ
ส่วนที่ 3. เป็นช่วงที่ Jackie ให้สัมภาษณ์กับนักข่าว Theodore H. White (Billy Crudup) ที่ Hyannis Port เพื่อลงคอลัมน์ “For President Kennedy: An Epilogue” ในนิตยสาร LIFE หลังจากนั้น 1 สัปดาห์
โดยที่ทุกภาคส่วนล้วนเล่าแต่เรื่องของ Jackie และเล่าจากมุมมองของ Jackie คนเดียว หมายความว่า หนังเรื่องนี้จะไม่ใช่แบบหนัง JFK ที่มาเน้นฉายฉากลอบยิง การวางแผนของผู้ร้าย การตามจับคนร้าย ฯลฯ หากแต่เป็นหนังดราม่า เน้นถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึก Jackie ล้วน ๆ หนังทั้งเรื่องคือเวทีของ Natalie Portman ในเรื่องนี้เราจะแทบไม่เห็นหน้า JFK เลยเสียด้วยซ้ำ
โทนของหนังจะหดหู่และตึงเครียดทั้งเรื่อง ทั้งงานภาพ ดนตรีประกอบ ฯลฯ เพราะโลกของผู้หญิงคนนี้…ในแทบทุก ๆ โมเมนต์ของเธอเต็มไปด้วยความซับซ้อนสับสน ทั้งอ่อนแอทั้งเข้มแข็งในคราวเดียวกัน ทั้งเศร้าทั้งโกรธในคราวเดียวกัน ฯลฯ เช่นเดียวกับเราทุกคนที่อาจจะเริ่มสับสนในเรื่องเล่าหรือประวัติศาสตร์ว่าอันไหนคือจริง อันไหนคือไม่จริง
อีกสองคนที่เห็นหน้าบ่อยรองลงมาจาก Jackie คือสองบุคคลเบื้องหลังผู้เป็นกำลังสำคัญในการซัพพอร์ต Jackie เสมอมา นั่นคือ Nancy Tuckerman (Greta Gerwig) ผู้ช่วยของ Kennedy และ Robert Kennedy (Peter Sarsgaard) ซึ่งถึงแม้หน้าตาอาจจะไม่ได้ละม้ายคล้ายตัวจริงสักเท่าไหร่ แต่นั่นก็หาได้สำคัญอะไร เพราะนี่คือเวทีของ Natalie Portman
เราอาจจะรู้กันอยู่แล้วโดยที่ไม่ต้องพึ่งภาพยนตร์เลยก็ได้ว่า Abraham Lincoln ประธานาธิบดีคนที่ 15 ผู้ถูกลอบสังหารเมื่อปี 1865 เคยชนะ Civil War และประกาศเลิกทาส แต่สำหรับ JFK แล้ว หลายคนอาจแทบไม่รู้อะไรเลย
NOTE* อย่างไรก็ดีทั้ง Abraham Lincoln และ John F. Kennedy มีอะไรคล้ายกันโดยบังเอิญอย่างน่าประหลาดใจ ซึ่งสามารถตามไปอ่านเพิ่มเติมได้ใน Lincoln–Kennedy coincidences urban legend หรือ Similarities Between the Assassinations of Kennedy and Lincoln (1860s and 1960s)
แม้แต่ดูหนัง Jackie จบเรื่องแล้ว เราก็จะไม่ได้รู้อะไรเพิ่มเติมเลยด้วยว่าก่อนตาย JFK เขาทำอะไรไว้บ้างในฐานะผู้นำของประเทศ เรารู้แต่ภรรยาของ JFK ทำอะไรและรู้สึกยังไงกับเหตุการณ์ทั้งหมด
ในหนังเรื่องนี้ เราจะแทบไม่เห็นเลยว่า JFK เจ็บปวดทรมานอย่างไรในวินาทีที่โดนยิง แต่เรารับรู้ถึงความเจ็บปวดและความสับสนของผู้หญิงที่นั่งอยู่ข้าง ๆ สามีที่ถูกยิง ณ ตอนนั้น และหลังจากนั้น ผ่านการแสดงอันไร้ที่ติของ Natalie Portman เหมือนว่าเธอกำลังเป็น Jackie จริง ๆ ไม่ใช่การแสดง
ทั้งนี้เห็นว่าเธอศึกษาเรื่องราวและดูคลิปของ Jackie ตัวจริงเป็นร้อยรอบจนสามารถเลียนสำเนียงท่าทางได้เหมือน Jackie จริง ๆ แบบเป๊ะทุกกระเบียดนิ้ว สกิลการแสดงอันยอดเยี่ยมของเธอถ่ายทอดอารมณ์และความรู้สึกของตัวละครส่งมาถึงคนดูได้อย่างทรงพลัง
Natalie Portman กล่าวว่า “รายละเอียดผิวเผินอย่างวิธีที่เธอเดิน มอง เคลื่อนไหว ต้องใช้ทักษะ แต่การถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกของเธอ มันต้องอาศัยจินตนาการ”
แม้แต่ฉากเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างวินาทีที่ Lyndon B. Johnson (John Carroll Lynch) ให้คำสัตย์ปฏิญาณเป็นประธานาธิบดีคนต่อไปเคียงข้างภรรยาของเขา (Beth Grant) แทบจะทันทีที่ศพของ JFK ขึ้นเครื่อง หรือฉากที่ Jackie ต้องพยายามอธิบายการจากไปของพ่อให้ลูกน้อยทั้งสองฟังโดยเลี่ยงการใช้คำว่า “ตาย”
ถึงแม้ในเชิงผลงานนั้น JFK อาจจะไม่ได้มีชื่อตามประวัติศาสตร์ยิ่งใหญ่เท่า Lincoln (พอกับที่เราไม่เห็นเช่นกันว่า 8 ปีที่ผ่านมา Barack Obama ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันบ้าง) แต่ Jackie มีความพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะทำหน้าที่ภรรยาและสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งครั้งสุดท้ายให้ดีที่สุด ทั้งในแง่การจัดพิธีศพให้สมเกียรติสูงสุดเทียบชั้น Lincoln และสร้างประวัติศาสตร์อันน่าจดจำให้กับสมัยของ Kennedy
พูดง่าย ๆ หน้าที่หนึ่งของสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งคือ “เป็นหน้าเป็นตาให้สามี (aka ประเทศชาติ)” แม้แต่ก่อนสามีตาย ในครั้งที่เธอยังมีสิทธิตกแต่งทำเนียบขาวได้อย่างเต็มที่ เธอก็พยายามตกแต่ง “บ้านของประชาชน” หลังนี้ให้ดูดีมีสตอรี่ที่สุดเท่าที่จะทำได้
เธอให้คุณค่ากับวัตถุสิ่งของ รวมถึงงานเขียนอันเป็นลายลักษณ์อักษร… จะว่าไป… แทบทุกคนทุกวันนี้ก็ล้วนให้คุณค่ากับสิ่งเหล่านี้ และเชื่อในสิ่งเหล่านี้มากกว่า “ตัวบุคคล” หรือ “ความจริง” เสียด้วยซ้ำ เพราะสุดท้าย คนเราต้องการ “ประวัติศาสตร์” ต้องการ “เรื่องราว” ที่เหมือนจริงหรือรู้สึกว่าเคยมีอยู่จริงมากกว่านิยายปรัมปรา โดยที่เรื่องราวนั้นไม่จำเป็นว่าต้องจริงแท้แค่ไหน
ตอนออกรายการ “A Tour of the White House with Mrs. John F. Kennedy” นั้น Jackie มีท่าทางประหม่า ไม่มั่นใจ ไม่เป็นตัวของตัวเอง แต่ก็พยายามอย่างเห็นได้ชัดว่าอยากให้ทุกอย่างออกมาเพอร์เฟ็กต์ที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ เธอกล่าวอีกด้วยว่า “Objects and artifacts survive for far longer than people; They represent history, identity, and beauty.”
หลังจากสามีถูกลอบสังหาร อดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งคนนี้ยังต้องเติมเต็มบทบาทของสามีที่จากไป เธอกลายเป็นนักเขียน/นักข่าวที่ต้องเขียนเรื่องราวของตัวเองและประวัติศาสตร์ของสามีเธอเอง โดยการให้และตบแต่งบทสัมภาษณ์ลง นิตยสาร LIFE โดยเธอขอให้ Theodore H. White เขียนในขอบเขตหรือใช้คำตามที่เธออนุญาตเท่านั้น เช่น ห้ามเขียนว่าเธอสูบบุหรี่ทั้งที่เธอสูบบุหรี่แทบตลอดเวลา เป็นต้น
สิ่งที่สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งพึงทำ ณ ขณะที่สามีดำรงตำแหน่งอาจเป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจนัก แต่สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจมากกว่าคือ… หลังจากนี้ไป Jackie ในฐานะหม้ายหมายเลขหนึ่ง ผู้ต้องหอบลูกและข้าวของออกจากทำเนียบขาวหลังจากประธานาธิบดีหรือสามีของเธอเสียชีวิต… เธอต้องไปทำอาชีพอะไรต่อไป หาเลี้ยงชีพอย่างไร?
ในขณะที่ประเทศชาติสูญเสียประธานาธิบดี แต่ก็สามารถหาคนขึ้นมาเป็นแทนที่ได้โดยบัดเดี๋ยวนั้น ผู้หญิงคนหนึ่งและเด็กอีกสองคนสูญเสียสามีและพ่ออันเป็นเสาหลักของครอบครัวไป พวกเขาจะอยู่กันต่อไปอย่างไร มีคนสนใจหรือไม่ ต่อไปจะมีใครจดจำเธอบ้างหรือเปล่านอกจาก “แฟชั่นหรือเสื้อผ้าของอดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง”
ในที่สุด… ต่อให้ใครจะจำอะไรเกี่ยวกับ Jackie ไม่ได้เลยนอกจากเสื้อผ้าหน้าผมก็ตาม แต่เราค่อนข้างแน่นอนว่า จะไม่มีใครลืมการแสดงของ Natalie Portman จากเรื่องนี้… ไม่มี…
Jackie เข้าฉาย 19 ม.ค. 2017 นี้ในโรงภาพยนตร์
คะแนนตามความชอบส่วนตัว 8.5/10
1 comment
Comments are closed.