“I want you to be the very best version of yourself,”
เราเป็นคนหนึ่งที่ดูน้อง Saoirse Ronan แสดงหนังและเข้าชิงออสการ์มาแต่น้อย (จาก Atonement, The Lovely Bones, City of Ember, The Host, Brooklyn ฯลฯ) จนตอนนี้เติบโตเป็นสาวสวยสะพรั่ง แถมฝีมือการแสดงก็ดูจัดจ้านขึ้นกว่าเดิม จนส่งให้เธอได้เข้าชิงออสการ์อีกครั้งจากบทบาทของ Christine “Lady Bird” McPherson
ใน Lady Bird เราจะได้ดูเด็กน้อยคนนึงเติบโตอีกเช่นกัน เพราะนี่เป็นหนัง coming of age เกี่ยวกับสาวน้อยคนหนึ่งในเมืองเล็ก “Sacramento” ผู้ซึ่งไม่ยอมรับในตัวตน อยากเป็นในสิ่งที่เธอไม่ได้เป็น และฝันอยากจะมีชีวิตที่ดี… อยากสยายปีกและโผบินไปเมืองใหญ่ไกลบ้าน (เหตุการณ์ในหนังเกิดในช่วงปี 2002-2003 )
Christine ให้ทุกคน รวมถึงคนในครอบครัว เรียกเธอว่า “Lady Bird” เธอไม่ค่อยพอใจกับชีวิตบ้าน ๆ และโรงเรียนแคธอลิกอันน่าเบื่อจืดชืดของบ้านเกิด และอยากไปเรียนต่อในมหาวิทยาลัยรัฐตามเมืองใหญ่ เช่น New York อันเป็นประเด็นที่ทำให้เธอต้องขัดแย้งกับแม่ของเธอ Marion (Laurie Metcalf จาก Toy Story) ผู้ยืนกรานว่า ครอบครัวไม่มีเงินพอที่จะซัพพอร์ตความฝันนั้น และพ่อของเธอ Larry (Tracy Letts จาก The Big Short) ก็กำลังตกงานและป่วยเป็นโรคซึมเศร้า
ผู้ชายหล่อที่ “Lady Bird” หมายปองสองคนในเรื่อง ทั้ง Danny (Lucas Hedges จาก Manchester by the Sea) และ Kyle (Timothée Chalamet จาก Call Me by Your Name) ล้วนเป็นเด็กบ้านรวย ซึ่งทำให้เธอต้องเทเพื่อนรักของเธอ Julie (Beanie Feldstein จาก Bad Neighbors 2) ซึ่งจริง ๆ ก็รวยนะแต่ไม่คูล แล้วไปตีซี้กับสาวสวยรวยคูลอย่าง Jenna (Odeya Rush จาก Goosebumps) โดยที่เธอต้องเมคตัวเองว่าบ้านรวยเหมือนกันเพื่อจะได้เข้ากลุ่มไฮโซ
จะเห็นได้ว่า ปัญหาหลัก ๆ ของเรื่องคือ “Lady Bird” อยากโต อยากคูล อยากป๊อป อยากโดดเด่น และเป็นที่สนใจ จนทำอะไรเกินตัวหรือผิดพลาดอยู่บ่อยครั้ง หนึ่งในความผิดพลาดของเธอคือ เธอคิดว่าอายุ 18 เข้าผับได้ ซื้อเหล้าซื้อบุหรี่ได้ นั่นคือโตแล้ว ทั้งที่จริงคือไม่ใช่เลย แล้วปัญหาอีกอย่างคือ แทบทุกสิ่งทุกอย่างที่เธออยากได้ อยากมี และอยากเป็น ล้วนแต่เกี่ยวข้องกับเงิน ซึ่งเงินนั้นเองก็เป็นข้อจำกัดข้อใหญ่ของครอบครัวเธอ
Greta Gerwig กำกับและเขียนบทอย่างฉลาด เธอเขียนบทให้ “Lady Bird” ดูเป็นเด็กที่ทำอะไรหรือแสดงออกอะไรต่อมิอะไรไม่ค่อยน่ารัก (อย่างน้อยก็ในสายตาผู้ใหญ่ที่อาบน้ำร้อนมาก่อน) แต่ความคิดและคำพูดของเธอมันบ่งบอกว่าเธอก็ฉลาด โดยเฉพาะตอนที่เธอต่อปากต่อคำกับแม่ของเธอ มันไม่ได้บ่งบอกถึงแต่ความคิดความอ่านของเธอ หากแต่บ่งบอกถึงความสัมพันธ์ระหว่างสองแม่ลูกได้อย่างดี แน่นอนว่า Saoirse Ronan และ Laurie Metcalf ถ่ายทอดมันออกมาอย่างยอดเยี่ยมไร้ที่ติ
เราชอบที่ “Lady Bird” เถียงกับแม่เกี่ยวกับเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ไม่ว่าจะเป็นตอนที่แม่เธอบ่นประมาณว่า “รู้มั้ย ต้องใช้เงินตั้งเท่าไหร่กว่าจะเลี้ยงลูกมาจนโตขนาดนี้ได้” แล้วเธอตอบว่า “จดมาเลยว่าเสียไปเท่าไหร่ หาเงินเองได้เมื่อไหร่ จะหามาเยอะ ๆ แล้วเอามาจ่ายคืนให้หมด” ซึ่งแน่นอน นั่นคือวินาทีที่ทุกคนในห้องนั้น (รวมถึงทุกคนที่นั่งอยู่ในโรงหนัง) ได้ตระหนักชัดเจนว่า ความสัมพันธ์ ความผูกพัน และการเติบโต มันไม่ได้วัดกันได้ด้วยเงินตราเพียงอย่างเดียว มันประเมินค่าแทบไม่ได้เลยเสียด้วยซ้ำ
อีกไดอะล็อกที่เราชอบยิ่งกว่าคือ ตอนที่แม่เธอพูดว่า “การมีเงินหรือการประสบความสำเร็จไม่ได้หมายความว่าเราจะมีความสุข” (ซึ่งเป็นประโยคที่ใคร ๆ ก็มักจะพูดกันในสมัยนี้เพื่อปลอบใจตนเองให้พอเพียงหรือพอใจกับสิ่งที่ตนมีอยู่ หรือจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม นั่นแหละ) แล้ว “Lady Bird” ตอกหน้าแม่กลับไปว่า “แต่ตอนนี้เราไม่มีเงิน พ่อก็ไม่มีความสุขเหมือนกัน” และนั่นคืออีกครั้งที่เราได้ตระหนักว่า… เงินใช้ชี้วัดอะไรไม่ได้เลย เงินไม่อาจทำให้เรามีความสุข แต่เงินจะเป็นบันไดนำพาเราไปมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ เช่น ถ้าเธอขอทุนเรียนต่อได้ เธอก็จะสามารถได้การศึกษาที่ดี และเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่เธอต้องการได้… และนั่นคือความจริง… ที่ต้องเป็นคนที่ “ไม่มี” มาก่อนเท่านั้นถึงจะเข้าใจมันอย่างแท้จริง
แต่สิ่งที่สำคัญกว่าเรื่องมีเงินหรือไม่มีเงินคือ เราต้องเป็นตัวของตัวเอง รู้จักตัวเอง และยอมรับตัวเองให้ได้เสียก่อนที่จะให้คนอื่นมายอมรับเรา รวมถึงต้องรู้จักมองโลกรอบข้างในแบบที่มันเป็น (เช่นเดียวกับการที่เข้าใจว่าเงินชี้วัดความสุขไม่ได้แต่เงินคือสิ่งที่ต้องมี) แล้วจุดนั้นเองคือจุดที่เราเรียกว่า “การเติบโต” ที่แท้จริง
Lady Bird เป็นหนัง coming of age ที่ไม่เหมือนเรื่องอื่น ๆ ที่เคยดูมา บทภาพยนตร์ดีควรค่าแก่การเข้าชิง มีความดราม่าบนความเป็นจริง และมีมุกตลกคละเคล้าอย่างพอดี การแสดงโดดเด่นเป็นธรรมชาติที่ใครได้ดูก็คงหลงรัก
คะแนนตามความชอบส่วนตัว 8/10
82 comments
Comments are closed.