The Platform หนังดิสโธเปียแนวเสียดสีสังคมจากสเปนปล่อยสตรีมบน Netflix ได้อย่างถูกที่ถูกเวลา ไม่ใช่แค่เพราะว่าการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้ผู้คนต้องกักตัวเองอยู่แต่บ้าน จนมีเวลาดู Netflix มากขึ้นกันถ้วนหน้าเท่านั้น แต่เนื้อหาในหนังยังเข้ากับสถานการณ์ quarantine หรือ isolation และยังมีประเด็นการแย่งชิงทรัพยากร จนไปถึงการสะท้อนระบบชนชั้นหรือความไม่เท่าเทียมในสังคม
พล็อต The Platform มีความละม้ายคล้ายเรื่อง Snowpiercer ของ Bong Joon Ho (ผู้กำกับออสการ์ Parasite) ซึ่งเป็นเรื่องของความไม่เท่าเทียมของระบบทุนนิยม ทั้งเรื่องอาหารการกินและไลฟ์สไตล์ ของคนท้ายขบวนกับคนหัวขบวนรถไฟที่ไม่มีวันหยุดวิ่ง เพียงแต่ The Platform เป็นหนังยุโรป อัดแน่นด้วยสัญลักษณ์ จึงอาจมีเนื้อหาหนักกว่า และไม่แมสเท่า Snowpiercer ซึ่งยังพอมีฉากแอ็คชั่นของ Chris Evans ให้อะดรีนาลีนพลุ่งพล่าน
“There are 3 kinds of people; the ones above, the ones below, and the ones who fall.”
The Platform เล่าเรื่องผ่านตัวละคร Goreng (Ivan Massagué) ที่ตื่นขึ้นมาพบว่าตัวเองอยู่ในหลุม (หรือคุกแนวตั้ง) ชั้นที่ 48 เขาได้เรียนรู้กฎหรือระบบของหลุมนี้จากลุง Trimagasi (Zorion Eguileor) รูมเมทของเขา เช่น ลิฟต์อาหารจะส่งลงมาจากชั้น 0 (ชั้นบนสุด) วันละครั้ง โดยชาวคุกชั้นบน ๆ จะมี privilege ได้กินก่อน แล้วคนชั้นล่าง ๆ ก็จะต้องกินของเหลือจากคนชั้นบน ๆ อีกที
เพราะความเท่าคือความเทียม อาหารดี ๆ มักหมดไปตั้งแต่ชั้นบน ๆ และแทบจะไม่เหลืออะไรเลยกว่าจะไปถึงคนชั้นล่าง ๆ อย่างไม่ต้องสงสัย (นึกภาพตัวเองไปซูเปอร์มาร์เก็ตในช่วงไวรัสระบาดนี้ แล้วพบว่าอาหารและของจำเป็นหมดเกลี้ยงเชลฟ์ เพราะคนที่มาก่อนและมีเงินสำรองมากพอได้กักตุนกันไปแล้วสิ้น) จนคนชั้นล่างมาก ๆ ต้องฆ่าและกินเนื้อรูมเมทตัวเองเพื่อความอยู่รอดกันจนเป็นเรื่องปกติ จะเห็นได้ว่าระบบที่เน่าเฟะหรือความล้มเหลวด้านการจัดการของคนเบื้องบนสามารถเปลี่ยนคนเบื้องล่างให้เละเทะ เห็นแก่ตัว และทำร้ายกันเองได้ขนาดไหน
แต่ละคนเข้ามาอยู่ที่นี่ด้วยเหตุผลแตกต่างกัน และผู้ดูแลระบบอนุญาตให้แต่ละคนเอาของติดตัวเข้ามาได้ 1 ชิ้น ลุงรูมเมทของ Goreng เข้ามาอยู่ในนี้จากคดีฆ่าคน (โดยไม่เจตนา?) และเลือกพกมีดเข้ามา 1 ชิ้น ซึ่งเป็นมีดที่เขาซื้อมาจากการตกเป็นเหยื่อโฆษณาชวนเชื่อ ส่วน Goreng เข้ามาด้วยความสมัครใจเพื่อแลกกับใบรับรอง และเลือกนำหนังสือติดตัวเข้ามาอ่าน 1 เล่ม จะเรียกว่าเขาเป็นหนึ่งนักศึกษาในระบบทุนนิยมที่ต้องเข้ามาเรียนอย่างปากกัดตีนถีบก็ได้ แต่สุดท้ายหนังสือที่เขาอ่านหรือความรู้ที่เขามีจะพาเขารอดตายได้ดีกว่าอาวุธใดใด
ระบบมิอาจเปลี่ยนแปลงได้ด้วยตัวของมันเอง เด็กรุ่นใหม่อย่างเขานี่แหละที่จะเข้ามาปฏิวัติหรือเปลี่ยนระบบในคุกชนชั้นแห่งนี้ ด้วยความพ่อพระ พื้นฐานจิตใจดีด้วย เขาพยายามบอกเพื่อนร่วมคุกชั้นใกล้เคียงด้วยวิธีต่าง ๆ นานา ให้แต่ละคนกินอาหารแต่พอดี เพื่อที่จะได้มีเหลือเผื่อแผ่ไปถึงพวกคนชั้นล่าง ๆ เพราะจริง ๆ แล้วอาหารที่เบื้องบนประทานมาให้ มันมีปริมาณที่เพียงพอสำหรับทุกคนทุกชั้นหากคนชั้นบน ๆ ไม่สวาปามกวาดลงท้องจนเกินพอดี แต่ลำพังเพียงเขาคนเดียวก็อาจจะเปลี่ยนแปลงระบบไม่ได้เช่นเดียวกัน
“If everyone ate only what they needed, the food would reach the lowest levels.”
Imoguiri (Antonia San Juan) รูมเมทคนหนึ่งของ Goreng (ระบบแรนดอมรูมเมทให้ใหม่พร้อมกับแรนดอมชั้นใหม่ให้ทุกเดือน) เป็นตัวละครชาวคุกคนเดียวที่เคยทำงานให้องค์กรผู้ดูแลระบบมาก่อน เขาอาจจะเริ่มงานด้วยอุดมการณ์ที่เต็มเปี่ยมว่า คนจะเรียนรู้การแบ่งปันและมีจิตสำนึก และไม่เคยรู้มาก่อนจนกระทั่งได้มาสัมผัสด้วยตัวเองว่าความเป็นจริงมันไม่เหมือนกับที่พวกเขาคิดเลย ดังนั้น บางครั้งแนวความคิดกับการปฏิบัติมันก็ไม่ไปด้วยกัน
เมื่อมันผิดตั้งแต่ระบบและโครงสร้างมาแล้วแต่แรก มันไม่ง่ายเลยที่จะมาเปลี่ยนผู้คนในระบบ อย่างที่จะได้เห็นในหนังอันหดหู่นี้ ชาวคุกแต่ละคนล้วนอดยากปากแห้ง อดมื้อกินมื้อ และอยากกอบโกยอาหารตรงหน้าให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะกินได้ ดังนั้น มันแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่ Goreng และ Imoguiri จะโน้มน้าวให้พวกเขานึกถึงคนข้างล่างด้วยภาษาดอกไม้หรือการใช้น้ำเย็นเข้าลูบ แต่ถ้าใช้การโน้มน้าวกึ่งบังคับ โดยมีบทลงโทษมาต่อรอง พวกคนชั้นล่างก็อาจยอมทำตามเพราะกลัวการถูกลงโทษ
ถึงแม้วิธีลงโทษนี้อาจจะได้ผลกับคนชั้นล่าง แต่มันก็ยังมีคนชั้นบนกว่า รวมถึงผู้ดูแลระบบ ซึ่ง Goreng ไม่สามารถทำให้พวกเขาทำตามหรือไปลงโทษพวกเขาได้ เขากับ Baharat (Emilio Buale) รูมเมทคนใหม่อีกคน ซึ่งมีเป้าหมายที่จะขึ้นไปชั้น 0 จึงร่วมมือกันสร้างความเปลี่ยนแปลงระบบตั้งแต่ชั้นล่างยันชั้นบน แต่ก่อนที่เขาจะทำสำเร็จ เขาอาจจะค่อย ๆ ถูกระบบกลืนกินจนเขาค่อย ๆ กลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบนั้นไปโดยไม่รู้ตัว
“Change never happens spontaneously.”
เช่นเดียวกับ Snowpiercer และหนังแนวนี้อีกจำนวนหนึ่ง ที่มักจะมีตัวละครเด็กขึ้นมาเป็นเสมือนอนาคตใหม่หรือความหวังใหม่ของระบบที่ผู้ใหญ่ทำพังไปหมดแล้ว ใน The Platform ก็เช่นเดียวกัน ตั้งแต่ช่วงต้น ๆ เรื่อง เราจะได้เจอ Miharu (Alexandra Masangkay) หญิงชาวคุกที่ไม่เคยหยุดอยู่ที่ชั้นที่เธอถูกส่งไป หากแต่ร่อนไปทุกชั้น (ไปกับลิฟต์ขนส่งอาหาร) เพื่อตามหาเด็กที่เธอบอกว่าเป็นลูกของเธอ หรือเป็นนัยว่าเธอกำลังมองหาอนาคตหรือความหวังใหม่ แต่เธอก็ไม่เคยหาเจอถึงแม้จะขึ้นลงฝ่าดงทุกชั้นมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน ในขณะที่ สำหรับบางคน เขาคิดเสมอว่า เด็กหรือความหวังแห่งการเปลี่ยนแปลงนั้นมันไม่มีอยู่จริงแต่แรกแล้ว
แต่หลังจาก Goreng และ Baharat สู้ลำบากตรากตรำ เสียเลือดเสียเนื้อ ทำทุกวิถีทางเท่าที่พวกเขาจะทำได้ และเดินทางมาจนถึงชั้นล่างสุด… ชั้นที่ 333 (ตามไบเบิลของศาสนาคริสต์ เลข 333 ถือเป็น Angel number หมายถึงชีวิตใหม่ ความอุดมสมบูรณ์ ประมาณนี้) เขาก็ได้เจอความหวังนั้น… สารที่คนชั้น 0 จะได้เห็นสักทีว่าระบบมันพังขนาดไหน แล้วเด็กรุ่นใหม่ต่อไปนี่แหละที่ต้องมารับผลกรรมที่พวกลุงสร้างไว้…
คะแนนตามความชอบส่วนตัว 7.5/10
32 comments
Comments are closed.