Saint Laurent เป็นหนังกึ่งสารคดีชีวประวัติของดีไซเนอร์ชื่อ Yves Saint Laurent (อ่านประมาณว่า อีฟ แซงต์ ลอรองต์) ผู้ก่อตั้งแบรนด์แฟชั่นชื่อดังจากฝรั่งเศส ที่เราคุ้นหูคุ้นตากับโลโก้ตัวอักษร YSL ที่เหมือนงูพันกัน
เรื่อง Saint Laurent นี้เป็นคนละเรื่องกับ Yves Saint Laurent ที่ฉายไปเมื่อต้นปี 2014 ซึ่งเราเองก็ไม่เคยดูมาก่อน แต่ได้ข่าวมาว่าไม่ค่อยโอเคสักเท่าไหร่ ส่วนสำหรับเวอร์ชั่น Saint Laurent นี้ เราก็ขอสารภาพตามตรงว่า “เราดูไม่รู้เรื่อง และไม่เข้าใจว่าหนังกำลังบอกอะไรกับคนดู” ซึ่งอาจจะเป็นความผิดที่เราเองก็ได้ที่ไม่อินกับแฟชั่น และไม่เคยสนใจในตัวดีไซเนอร์คนนี้มาก่อน (ในขณะที่คนหลายคน โดยเฉพาะในยุคนั้น อาจเทินทูนเขาว่าเป็นศาสดาแห่งวงการแฟชั่น!)
เรื่องราวในหนังอยู่ในช่วงปี 1967 – 1976 ซึ่งเป็นช่วงพีคหรือช่วงที่ YSL อยู่ถึงจุดสูงสุดของวงการแฟชั่น โดยในหนังเปิดเรื่องมาเป็นปี 1974 แล้วก็ย้อนกลับไปเล่าเรื่องในปี 1967 แล้วก็เล่าถึงการทำงานด้านการออกแบบแฟชั่นคอลเล็กชั่นต่างๆ ในสมัยนั้นของ YSL แบ่งครึ่งจอกับภาพเหตุการณ์บ้านเมืองของฝรั่งเศสที่ฉายด้วยภาพขาวดำ หลังจากนั้นเราก็ลำดับเหตุการณ์เรื่องไม่ค่อยจะทัน จับต้นชนปลายไม่ค่อยจะถูก แล้วก็เริ่มงงว่าตัวละครแต่ละตัวนั้นใครเป็นใครและแต่ละคน (แม้แต่ตัว YSL เอง) เขากำลังทำอะไรกันอยู่
ซึ่งตรงนี้มันอาจจะเป็นความผิดของเราเองส่วนนึง แต่อีกส่วนนึงเราก็อยากจะกล่าวโทษผู้กำกับฯ เช่นกันว่า ทำไมไม่ปูพื้นหลังตัวละครให้มากกว่านี้หรือเล่าเรื่องให้เข้าใจง่ายกว่านี้หน่อย เผื่อคนที่ไม่ค่อยรู้จัก YSL อย่างเราจะได้รู้สึกอินกับหนังไปตามน้ำได้บ้าง แม้กระทั่งบทสำคัญอย่างคนที่เป็นหุ้นส่วนใหญ่ (และอดีตคู่ขา) ของ YSL กับนายแบบที่เป็นคู่ขาของ YSL อีกคนนั้น หนังก็ยังไม่แนะนำความสำคัญหรือความสัมพันธ์ที่แน่ชัดให้กับคนดูเลย
ภาพที่เราจำได้ในหนัง ก็เต็มไปด้วยฉากโป๊เปลือย ปาร์ตี้ เหล้าสุรา และยาเสพติด สลับกับฉากห้องทำงานของ YSL และทีมงานตัดเย็บ แล้วพอองก์สุดท้าย ก็มี YSL เวอร์ชั่นแก่ชราแล้ว โผล่มามีบทบาทสลับกับ YSL วัยหนุ่มอีก ยิ่งทำให้ไม่เข้าใจไปกันใหญ่ ว่าตอนนี้ประเด็นของเรื่องคืออะไร
นอกจากการจับประเด็นและปะติดปะต่อเรื่องราวจากภาพเคลื่อนไหวแล้ว เรายังต้องแบ่งสมาธิและสติสัมปชัญญะส่วนหนึ่งไปกับการอ่าน subtitle ซึ่งมีสองบรรทัดทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เพราะหนังสปีคเป็นภาษาฝรั่งเศสทั้งเรื่อง และนั่นทำให้รู้สึกเหนื่อยกับการทำความเข้าใจหนังเพิ่มขึ้นอีกเป็นทวีเท่า (ภาพก็ต้องดู ซับฯ ก็ต้องอ่าน สมองก็ต้องคิด เยอะเกินไป)
(เปรียบเทียบ Yves Saint Laurent ตัวจริง กับในหนัง)
จนกระทั่งถึงตอนนี้ ตอนที่เรากำลังพยายามเขียนบล็อกบล็อกนี้ขึ้นมาเพื่อแนะนำหนังเรื่องนี้ เราก็ยังงงๆ และไม่ตกผลึกอยู่ดีว่าหนังสื่ออะไร ถ้าจุดประสงค์ของหนังคืออยากทำสารคดีที่ทำให้คนทั้งโลกรู้จักกับดีไซเนอร์คนนี้ทั้งในด้านดีและด้านมืด… เราคิดว่าเขาค่อนข้างประสบความล้มเหลว เพราะเราดูจบแล้ว เรายังไม่ได้รู้จักหรือชื่นชมหรือมีความรุ้สึกใดๆ กับดีไซเนอร์คนนี้เพิ่มขึ้นจากก่อนเข้าโรงเลย….. นอกจาก
1. เป็นเกย์ (ซึ่งจริงๆ ก็รู้ๆ กันอยู่แล้ว ไม่น่าเซอร์ไพรส์)
2. ติดเหล้า ติดยา (ซึ่งก็ไม่ค่อยเซอร์ไพรส์อีกนั่นแหละ)
3. อารมณ์อ่อนไหว (แหงล่ะ ตามประสาศิลปิน)
หรือแม้กระทั่งข้อดีของ YSL ที่มีพรสวรรค์ในการออกแบบ หรือสามารถเปลี่ยนลุคหรือดึงจุดเด่นของคนได้ด้วยการปรับเปลี่ยนดีเทลเล็กๆ ของเสื้อผ้าที่เขาดีไซน์ ทั้งหมดนั้นก็ล้วนแต่เป็นเรื่องปกติสำหรับคนที่เป็นดีไซเนอร์ระดับโลก สรุป ไม่มีอะไรอะไรแปลกใหม่น่าสนใจกว่าหนังบอกเล่าชีวิตคนดังคนอื่นๆ เลย
แต่เอาจริงๆ ถ้าหนังเล่าเรื่องแบบเส้นตรงปกติ ไม่ได้เล่า “อาร์ตเกินไป” แบบที่ทำมา คนดูที่ไม่สันทัดอย่างเราก็อาจจะปะติดปะต่อเรื่องได้มากกว่านี้ ยิ่งหนังยาวตั้ง 150 นาทีขนาดนี้ คนดูโง่ๆ อย่างเรายิ่งเหนื่อยแล้วใหญ่ แต่อย่างไรก็ตาม “ความอาร์ต” ก็เป็นความสวยงามและเป็นเสน่ห์ของหนังที่ทำให้หนังดูมีอะไรกว่าการเล่าสารคดีแบบเก่าๆ เชยๆ นะ คือมันดี แต่เราแค่งง เราไม่เข้าใจ
นั่นก็แปลว่า สำหรับเราแล้ว สรุปมันก็ไม่โอเคอยู่ดี เพราะสารจากผู้ส่ง (คนทำหนัง) มันมาไม่ถึงผู้รับ (คนดูหนัง) โดยสมบูรณ์
สิ่งหนึ่งที่ต้องชื่นชมก็คงจะเป็นการแสดงของ Gaspard Ulliel ที่รับบทเป็น YSL ในวัยหนุ่มได้อย่างมีเสน่ห์ โดยพื้นฐานเขาเป็นคนหล่อเว่อร์ๆ เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว พอเขาสวมบทบาทเป็น YSL ก็เลยยิ่งรู้สึกว่าเขาเป็นผู้ชายที่ดูมีเสน่ห์และดูมีคาแรกเตอร์ที่น่าสนใจไปกันใหญ่ ที่สำคัญ ยังเล่นจริง จูบจริง โชว์จริง ซึ่งทำให้ทั้งโลกได้เห็นเต็มตาว่า “ของของเขา” ใหญ่มากๆๆๆ (ถ้าอยากรู้ไซส์ที่ชัดเจนกว่านี้ ต้องไปดูกันเองในหนัง) เขารับบทเป็นเกย์ที่เหมือนเกย์ จนเราต้องออกมา google ว่า ในชีวิตจริงเขาเป็นเกย์จริงด้วยหรือเปล่า เพราะในหนังเขาเล่นเป็นเกย์ได้เนียนและหูตาแพรวพราวเหลือร้าย
โดยสรุป Saint Laurent เป็นหนังกึ่งอัตชีวประวัติ ที่ไม่เหมาะกับคนทั่วไปอย่างเรา ที่ไม่มีพื้นฐานความรู้เกี่ยวกับ YSL มาก่อน (เรารู้จักแต่แบรนด์เสื้อผ้า-เครื่องสำอางของนางเพียงผิวเผิน ซึ่งไม่เคยซื้อมาใช้เอง เพราะแพงเกินฐานะจะครอบครอง) แต่หนังอาจจะเหมาะกับเหล่าแฟชั่นนิสต้าสายนี้ รวมถึงเหล่าสาวกของดีไซเนอร์หรือแบรนด์ YSL มากกว่าก็เป็นได้ แต่ไม่ว่าจะยังไง เราแนะนำให้ทำการบ้าน เช่น หาประวัติคร่าวๆ ของเขาอ่านก่อนจะตีตั๋วเข้าไปเผื่อไว้เป็นยอดดีจ้า
สุดท้ายนี้ เราต้องขออภัยที่เรื่องนี้เรารีวิวหรือวิจารณ์อะไรได้ไม่มาก เพราะเราดูไม่รู้เรื่องจริงๆ T___T
“Fashions fade, style is eternal”
116 comments