“Screen movies” อาจจะกลายเป็นอีกหนึ่ง genre ใหม่สำหรับวงการภาพยนตร์ นับตั้งแต่ Unfriended (2014) หนังสยองขวัญทุนต่ำ ที่เล่าเรื่องผ่านหน้าจอคอมทั้งเรื่อง ประสบความสำเร็จเกินคาดอย่างเหลือเชื่อ และล่าสุดคือ Searching (2018) ที่หนังทำออกมาได้ดีกว่าที่ Unfriended เคยทำไว้โขเลยทีเดียว
Searching เป็นเรื่องของ David Kim (John Cho จาก Star Trek) พ่อม่าย Korean-American ที่จู่ ๆ Margot (Michelle La) ลูกสาววัย 16 ปีของเขาก็หายตัวไปอย่างปริศนา เขาเริ่มตามหาลูกสาวของเขาจากคอมพิวเตอร์ของเธอ โดยหาว่ามีใครเป็นเพื่อนของเธอบ้าง เธอติดต่อหรืออยู่กับใครก่อนหายไป ฯลฯ โดยมีเจ้าหน้าที่ Rosemary Vick (Debra Messing) คอยช่วยเหลือตามหาอีกทาง
หนังเล่าผ่านหน้าจอตลอดทั้งเรื่อง (แต่ไม่ได้มีแค่หน้าจอคอมพิวเตอร์หรือแล็ปท็อปเพียงจอสองจอ หากแต่มีผ่านโทรศัพท์มือถือ กล้องวงจรปิด ฯลฯ หลาย ๆ จอมากมายอีกด้วย) แต่กลับสนุก และน่าติดตามอย่างยิ่ง เพราะตั้งแต่เริ่มเรื่องเลย สิ่งที่ชวนคิดว่าน่าจะเป็นสาเหตุหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสูญหายไปของ Margot มีร้อยแปดพันเก้าทาง: เธออาจจะถูกลักพาตัว? เธออาจจะหนีตามผู้ชายไป? เธออาจจะประสบอุบัติเหตุ? เธออาจจะถูกข่มขืนฆ่าหมกศพกลางป่า? หรือเธออาจจะเก็บกด หนีออกจากบ้าน และสร้างสถานการณ์เพราะอินจากการดูหนัง Gone Girl มากเกินไป? ซึ่งมันยากที่จะคาดเดาจริง ๆ เพราะทุกทางดูมีความเป็นไปได้หมดเลยสำหรับเด็กวัยรุ่นคนหนึ่ง
สิ่งที่หนังต้องการจะสื่อ เราคิดว่า หลัก ๆ เลย มันคือความสัมพันธ์ของคนจริง ๆ ในชีวิตจริง กับความสัมพันธ์กับคนต่าง ๆ บนโลกออนไลน์ รวมถึงการใช้ Social Media หรือ Internet เช่น ความสัมพันธ์ของพ่อกับลูก ซึ่งคนเป็นพ่อดูเหมือนจะแทบไม่รู้จักลูกสาวของเขาจริง ๆ เลย และตัวลูกสาวเองก็ไม่ค่อยเล่าหรือบอกอะไรกับผู้เป็นพ่อ แต่เลือกที่จะพูดกับคนแปลกหน้าหรือเพื่อนใน Social Media มากกว่า สุดท้ายพ่อจึงต้องมาทำความรู้จักและเข้าใจลูกสาวของเขาจริง ๆ ผ่านหน้าจอเหล่านี้… เว็บไซต์ที่เธอเข้าประจำ โซเชี่ยลฯ ที่เธอเล่น ฯลฯ
มันตอกย้ำความจริงว่า โทรศัพท์และคอมพิวเตอร์ส่วนตัวสามารถบอกอะไรเกี่ยวกับคนคนนึงหรือเจ้าของของเขาได้มากมายเกินกว่าจะคาดได้ อย่างของครอบครัว Kim ในเรื่อง พวกเขาเก็บสิ่งต่าง ๆ ไว้ในคอมพิวเตอร์หมดเลยตั้งแต่สมัย Internet และ Social Media ยังไม่บูมอย่างสมัยนี้ พวกเขาเก็บรูปและ vdo ของแต่ละช่วงเวลา milestones ไว้ในนั้น เช่น วันแรกที่ลูกเข้ารร. เป็นต้น รวมถึงใช้ปฏิทิน (calendar) และโน้ต (notes) ต่าง ๆ บน desktop นั้น
พอ Internet และ Social Media เริ่มบูม เราไม่จำเป็นต้องไปจับคอมพิวเตอร์หรือ device ส่วนตัวของคนคนนึงเพื่อเข้าถึงข้อมูลของเขา แต่เราสามารถ Search หาเบอร์โทรศัพท์ หรือสิ่งที่เราต้องการจะรู้เกี่ยวกับคนคนนึงได้ ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม โดยใช้ Internet และ Social Media ซึ่งตรงส่วนนี้เราคิดว่าคนยุคเรา ๆ คงเข้าถึงและเข้าใจขั้นตอนการหาของพระเอกได้ไม่ยาก เพราะพวกเราก็หานี่นั่นโน่น หาทุกสรรพสิ่งอย่าง บนโลกออนไลน์กันแทบตลอดเวลาทุกวันกันอยู่แล้ว
ส่วนจะหาเจอได้ยากหรือง่าย และจะหาได้ไวหรือช้า ก็ขึ้นอยู่กับสกิลและศักยภาพส่วนตัวของคนที่หา ซึ่งเราต้องยอมรับว่า คุณลุง David Kim (คุณพ่อลูกหายในเรื่อง) ใช้เทคโนโลยีเก่ง คล่องแคล่ว เป็นระบบระเบียบ และเต็มศักยภาพของมันมาก จนคนรุ่นใหม่(กว่า)อย่างเราต้องขอคารวะ และขอบคุณลุงแกที่ให้วิทยาทาน (เพราะบางอย่างยังไม่รู้เลยว่าต้องทำอย่างนี้ ๆ)
ในทางกลับกัน เราเองก็ต้องระมัดระวังในการใช้สิ่งเหล่านี้ด้วยเช่นกัน เพราะทุกสิ่งที่เราเปิด ใช้ อ่าน พิมพ์ หรือแชร์ไว้บนโลกออนไลน์ มันสามารถถูกค้นพบ ถูก search เจอ ถูกขุด ถูกตาม (track) ได้หมดเลย ไม่ว่าเราจะอยากนึกถึงหรือพูดถึงมันหรือไม่ก็ตาม
นอกจากนี้ เราจะได้เห็นในหนังด้วยว่า สิ่งที่เราเห็นหรือพบเจอบนโลกออนไลน์ก็ใช่ว่าจะจริงเสมอไป เพราะเราสามารถพูด แชร์ หรือทำยังไงก็ได้ให้คนอื่นเชื่อว่าเราเป็นคนอย่างนั้น เช่น ปกติไม่เคยจะสนใจเขา แต่พอเขาหาย ก็จะมาโพสต์ติดแฮชแท็ก พูดแสดงความเสียใจและคิดถึงเขาเพื่อเรียกยอดไลค์ จนไปถึงเราสามารถเป็นใครก็ได้บนโลกออนไลน์นี้… แต่ในขณะเดียวกัน สิ่งที่เราเห็นหรือพบเจอบนโลกจริง ๆ ในชีวิตจริง ที่ไม่ใช่บนโลกออนไลน์ ก็ใช่ว่าจะจริงแท้ทั้งหมดเสมอไป
สุดท้าย อยากจะบอกทิ้งท้ายว่า ถึงแม้หนังเรื่องนี้จะมีแต่บนหน้าจอ แต่มันสนุกจริง ๆ มันเหมือนเวลาเราดูหน้าจอคอมหรือหน้าจอทีวีแบบปกติที่เราก็ทำอยู่ทุกวันนี้นี่แหละ ถ้าเขาเล่าเรื่องมาดีและเนื้อหามันดี มันก็ไม่น่าเบื่อ ซึ่งบทหนังเรื่องนี้เขาเขียนมาดีพอ และเล่าเรื่องเก่งจริง ๆ ที่เราจะกล้าแนะนำหรือบอกต่อได้เต็มปากเลยว่า ควรไปดู
คะแนนตามความชอบส่วนตัว 8/10
46 comments
Comments are closed.