เมื่อหนังซอมบี้แดนกิมจิ Train to Busan ได้รับกระแสตอบรับทั้งในแง่คำวิจารณ์และรายได้อย่างท่วมท้นเหนือคาด บริษัทสหมงคลฟิล์มฯ ก็รีบอิมพอร์ต Seoul Station การ์ตูนซอมบี้เกาหลี prequel ของ Train to Busan เข้ามาฉายในไทยทันที ตามคติ “น้ำขึ้นให้รีบตัก”
(คลิก Train to Busan เพื่ออ่านรีวิว Train to Busan)
เรื่องย่อ Seoul Station
เมื่อจู่ ๆ ลุงจรจัดที่สถานีรถไฟโซลติดเชื้อและแพร่เชื้อไปทั่ว ซอมบี้ความเร็วสูงจึงแพร่กระจายในเมืองและออกอาละวาดอย่างรวดเร็ว ในช่วงเกิดเหตุ Hye-sun (Shim Eun-kyung) พลัดกับแฟนหนุ่ม Ki-woong (Lee Joon) ทำให้ Ki-woong กับพ่อของเธอ (Ryu Seong-ryong) ต้องฝ่าฝูงซอมบี้ไปตามหาเธอ
รีวิว วิเคราะห์ วิจารณ์ Seoul Station
ผู้ที่ชื่นชอบ Train to Busan อาจเดินเข้าไปดู Seoul Station ด้วยความคาดหวัง แต่ขอเตือนว่า การคาดหวังนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำอย่างยิ่ง เพราะถึงแม้การ์ตูน Seoul Station จะขึ้นชื่อว่าเป็น prequel ของหนังใหญ่อย่าง Train to Busan แต่ก็ห่างกันคนละชั้น… ชนิดหนังคนละม้วน… เหมือนพี่น้องคนละพ่อคนละแม่
เรื่องราวของทั้งสองเรื่องไม่มีอะไรต่อเนื่องหรือเกี่ยวข้องกันโดยตรง ตัวละครก็เรื่องใครเรื่องมัน ไม่มีตัวละครไหนเชื่อมโยงหรือไปโผล่เป็นแขกรับเชิญของกันและกัน โลกของตัวละครในการ์ตูน Seoul Station ค่อนข้างแคบกว่าพวกที่อยู่บนขบวนรถไฟไปปูซานใน Train to Busan เสียด้วยซ้ำ มิหนำซ้ำยังดูอ่อนแอกว่าอย่างไร้พัฒนาการ
ส่วนใหญ่ตัวละครหลักใน Seoul Station มีแต่วิ่งหนีและหวาดกลัว โดยเฉพาะนางเอกที่เป็นแต่วิ่งหนีและหลบซ่อนอย่างเดียวประหนึ่งทั้งชีวิตเกิดมาเพื่อทำอยู่แค่นี้ ดังนั้นอย่าไปคาดหวังฉากบู๊หรือต่อสู้กับซอมบี้โหด ๆ มากมายอย่างแบบ Train to Busan หรืออย่างในหนัง การ์ตูน หรือเกม The Walking Dead
สิ่งที่ยังเหมือนกับ Train to Busan คือ การสะท้อนและจิกกัดสังคมเกาหลีในประเด็นชนชั้นในสังคมที่แทบสิ้นหวัง โดยมุ่งโฟกัสไปที่กลุ่มคนเร่ร่อนที่พักอยู่ใต้ชายคาสถานีรถไฟโซล รวมถึงคนชั้นกลางที่หาเช้ากินค่ำด้วยอาชีพที่ฮอตฮิตของคนเอเชียที่จนตรอก เช่น งานขายบริการ เป็นต้น
เชื้อไวรัสในเรื่องนี้จึงอาจเป็นสัญลักษณ์ของ ความยากจนหรือความเน่าเฟะของระบบทุนนิยมที่กัดกินคนในทุกชนชั้นทางสังคม การวิ่งหนีซอมบี้ในหนังจึงอาจจะไม่ต่างอะไรจากการวิ่งหนีความยากจน หนี้สิน หรือปัญหาความล้มเหลวทางเศรษฐกิจการเงิน
เช่น ฉากที่ตัวละครวิ่งหนีซอมบี้เข้าไปอยู่ในห้องขังหรือคุกในส.น. ทำให้เรานึกถึงคนจรจัดที่พยายามทำให้ตัวเองเข้าไปนอนในคุก เพราะอย่างน้อยในคุกก็มีที่กันลมกันฝนให้หลับนอนและมีข้าวแดงแกงร้อนประทังชีพให้รอดพ้นไปอีกวัน
จากในหนัง เราว่าหนังก็พยายามให้เราเห็นปัญหาเหล่านี้จากหลาย ๆ ด้าน เช่น คนจรจัดชอบเมาเหล้าไปวัน ๆ และเป็นปัญหาสังคมที่เป็นภาระของชาติ ทั้งยังเบียดเบียนผู้อื่น แต่ในขณะเดียวกัน เราก็ได้เห็นวิธีการที่คนชั้นสูงกว่ากระทำกับคนชั้นที่ต่ำกว่า (เช่น ไล่เขาเหมือนหมูเหมือนหมา) บ้างก็เห็นคนชั้นที่ต่ำกว่ากระทำกับคนชั้นที่สูงกว่า (เช่น เลียแข้งเลียขาเจ้านาย) พูดง่าย ๆ ก็คือ การกระทำของคนต่อคนที่อยู่คนละระดับกับตน กระมัง
โดยรวม ถ้าไม่เอาไปเปรียบเทียบกับ Train to Busan ด้วยความคาดหวัง เราว่า Seoul Station ก็ไม่ได้เลวร้าย แต่เราก็ติติงตรงที่ปูเรื่องนานจนแอบเบื่อ ฉากหนีหรือปะทะซอมบี้ก็ไม่ได้แปลกใหม่หรือตื่นเต้นหวือหวา ช่วงท้ายที่ควรไคลแมกซ์ก็กลับดร็อปลง ช่วงที่ควรเซอร์ไพรส์ก็ไม่ได้เซอร์ไพรส์อะไร ดูแล้วก็แค่พึมพำว่า “อ้าวเหรอ…”
สรุป คะแนนตามความชอบส่วนตัว ให้ 7/10
Seoul Station เข้าฉาย 15 กันยายน 2016 นี้ ในโรงภาพยนตร์
91 comments