Godzilla ฉบับปี 1998 ของฮอลลีวู้ด เป็นหนังก๊อดซิลล่าเรื่องแรกในชีวิตของเรา และเป็นหนังเรื่องแรก ๆ ที่เราได้ดูในโรงภาพยนตร์ ด้วยความที่ตอนนั้นยังเด็กมาก จึงตื่นเต้นกับการดูเจ้ากิ้งก่ายักษ์ไซส์ไดโนเสาร์วิ่งไปมาและหากินปลาบนแผ่นฟิล์ม
Godzilla ฉบับปี 2014 ของฮอลลีวู้ด เป็นหนังก๊อดซิลล่าเรื่องที่สองของชีวิตเรา ถึงแม้ว่าเราจะได้ดูตอนตัวเองโตแล้ว แต่เราก็ยังคงตื่นเต้นกับมันอยู่ ทั้งนี้อาจเพราะได้รำลึกถึงหนึ่งในหนังโปรดสมัยยังเยาว์ด้วยก็ส่วนหนึ่ง (แต่ส่วนใหญ่น่าจะเป็นเพราะปลื้มเพราะพระเอก Aaron Taylor-Johnson)
ถึงแม้ต้นฉบับของ Godzilla หรือ Gojira จะมาจากแดนปลาดิบ แต่ Godzilla Resurgence หรือ Shin Godzilla (2016) เป็นหนังก๊อดซิลล่าเวอร์ชั่นญี่ปุ่นเรื่องแรกที่เราดู เพราะเราเกิดไม่ทัน Godzilla ฉบับปี 1954 (แม้แต่พ่อแม่ของเราเองก็เกิดไม่ทัน) ดังนั้น เราไม่รู้เลยว่า Godzilla ฉบับคลาสสิกของญี่ปุ่นนั้นเป็นอย่างไร แต่สำหรับเวอร์ชั่นนี้ จัดว่ายิ่งใหญ่ไม่เลวเลยทีเดียว
เรื่องย่อ Shin Godzilla
เมื่อก๊อดซิลล่าบุกโตเกียว นายกฯ ของญี่ปุ่น คณะรัฐมนตรี พร้อมกับหน่วยรับมือเฉพาะกิจ รวมถึงอเมริกา จึงต้องหาทางร่วมมือกันกำจัดเจ้าสัตว์ประหลาดยักษ์ และช่วยเหลือประชาชนกว่าสามล้านคนให้หนีรอดปลอดภัย
(ขอเขียนเรื่องย่อแค่นี้แหละ เพราะตัวละครเยอะมาก แล้วยิ่งเป็นคนญี่ปุ่น ชื่อญี่ปุ่นด้วย เรางง จำไม่หมด – -)
รีวิว วิเคราะห์ วิจารณ์ Shin Godzilla
ถึงแม้ก๊อดซิลล่าจะหน้าตาเหมือนสัตว์ประหลาดตัวร้ายในการ์ตูนญี่ปุ่นหลายตอนอย่างอุลตร้าแมน… และถึงแม้ Godzilla สองเวอร์ชั่นที่ผ่านมาของฮอลลีวู้ด จะเป็นหนังป๊อปคอร์นเหมาะกับแฟมิลี่ไทม์ที่เด็กดูได้ผู้ใหญ่ดูดี แต่เหมือนว่า Shin Godzilla เวอร์ชั่นนี้จะไม่ใช่หนังสัตว์ประหลาดสำหรับเด็ก และอาจจะไม่ใช่หนังตลาดพอที่ผู้ใหญ่ทุกคนจะสรรหาความบันเทิงได้จากมัน
Shin Godzilla ไม่ใช่หนังสัตว์ประหลาด ที่โชว์อภินิหารหรือพลังแสงของก๊อดซิลล่า หากแต่เป็นหนังการเมือง ผู้ใหญ่เถียงกันทั้งเรื่อง ตีแผ่และเสียดสีการทำงานของรัฐบาลญี่ปุ่น และจิกกัดอเมริกา ดังนั้น นี่ไม่ใช่หนังที่เหมาะกับเด็กแน่นอน (เว้นแต่ลูกหลานท่านจะตั้งเป้าหมายแล้วว่า โตขึ้นผม/หนูจะเป็นนายกรัฐมนตรี… ก็ให้มันไปดูค่ะ)
โดยปกติแล้ว ก๊อดซิลล่ามักใช้เป็นสัญลักษณ์ของระเบิดนิวเคลียร์หรือกัมมันตรังสี เช่น ระเบิดที่ฮิโรชิมาและนางาซากิสมัยสงครามโลก แต่เวอร์ชั่นนี้อาจจะได้รับแรงบันดาลมาจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิที่ญี่ปุ่นเมื่อปี 2011 เพราะดูใส่ความเป็นสัญลักษณ์ของภัยพิบัติมากขึ้น ซึ่งโดยทั่วไป เราก็มักจะพูดกันอยู่เสมออยู่แล้วว่า ภัยพิบัติต่าง ๆ คือบทลงโทษหรือการจัดการความสมดุลจากพระเจ้า (ใน Godzilla จึงมีคำว่า God อย่างไรล่ะ)
เมื่อขึ้นชื่อว่า ภัยพิบัติ — บางครั้งเราก็ทำนายพฤติกรรมของมันไม่ได้ บางครั้งเราก็อาจจะไม่สามารถกำจัดมันได้ สิ่งที่เราทำได้ก็คงมีแต่การพยายามหยุดยั้งมันให้เกิดขึ้นช้าลงหรือเบาบางลง และอพยพดูแลประชาชนให้พ้นจากภัยพิบัตินั้น
ดังนั้นในหนัง Shin Godzilla เราจะได้เห็นก๊อดซิลล่ามีวิวัฒนาการหลายระดับเช่นเดียวกับสึนามิ เมื่อก๊อดซิลล่าขึ้นบกก็เปรียบเสมือนตอนคลื่นยักษ์ขึ้นฝั่งมาทำลายตึกรามบ้านช่อง เรียกได้ว่าพี่ก๊อดฯ ไปที่ไหน ความพินาศสันตะโรก็บังเกิด ณ ที่นั่น ซึ่ง CGI ของเขาก็ทำได้ดีในระดับมาตรฐานเอเชีย (ประมาณ Train to Busan ของเกาหลีที่เพิ่งดูเข้าไทยไปล่าสุด) ฉากทำลายล้างคือจัดเต็ม และ… ขอเน้นว่า “ก๊อดซิลล่าตัวใหญ่มาก” ใหญ่ที่สุดเท่าที่โลกเคยมีมา (118.5 เมตร)
โดยความสนุกของหนังอยู่ที่การทำงานของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะทำหรือตัดสินใจอะไร เดี๋ยวก็เรียกประชุม เดี๋ยวก็รวมประชุม บางครั้งกว่าเรื่องหรือข้อความจะมาถึงนายกฯ มันก็อาจจะช้าไปแล้วเสียด้วยซ้ำ แล้วในห้องประชุมก็หรรษายิ่งนัก เพราะเราจะได้ชมคนใหญ่คนโตเถียงกันหรือพยายามเบ่งว่าตัวเองถูกตัวเองเก่ง
เป็นที่น่าสังเกตว่า คนใหญ่คนโตในห้องนั้น 99% เป็นผู้ชาย และ 90% เป็นผู้ค่อนข้างมีอายุ ตรงกันข้ามกับคนจากอเมริกาที่ผู้หญิงอายุยังน้อยก็สามารถมีตำแหน่งได้หากมีความสามารถจริง
![](https://i0.wp.com/pop.inquirer.net/files/2016/08/satomi-ishihara-and-hiroki-hasegawa-in-GODZILLA-RESURGENCE.jpg?resize=1160%2C774)
แต่อย่างไรก็ตาม สุดท้ายท้ายสุด Shin Godzilla ก็เป็นหนังประจำชาติญี่ปุ่น ที่ใช้แสดงให้โลกเห็นถึงศักยภาพ และความร่วมมือร่วมใจกันของคนในประเทศ โดยเฉพาะในช่วงที่ก๊อดซิลล่าบุก ทุกคนทุกฝ่ายดูเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเป็นพิเศษ
ว่าแล้วก็อยากให้พี่ก๊อดฯ มาบุกอ่าวไทยบ้าง เผื่อประเทศไทยจะได้ rebuild วางผังเมืองประเทศ และคณะรัฐบาลใหม่ยกแผงบ้างอะไรบ้าง
Shin Godzilla เข้าฉาย 8 ก.ย. 2016 นี้ในโรงภาพยนตร์ มีทั้งเสียงญี่ปุ่นและเสียงไทย แต่ต้องเลือกโรงดี ๆ
คะแนนตามความชอบส่วนตัว 8/10
87 comments