ก่อนจะมีหนัง Snowden
กลางปี 2013 ที่ผ่านมามีข่าวครึกโครมทั่วโลกเมื่ออดีตจนท. NSA และ CIA ผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์ Edward Snowden (ตอนนั้นวัยเพียง 29 ปี เรียกได้ว่าอัจฉริยะพอ ๆ กับ Mark Zuckerberg) ออกมาแฉพร้อมข้อมูลลับและหลักฐานแน่นหนาว่ารัฐบาลสหรัฐฯ และสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ (National Security Agency: NSA) ว่าลักลอบเก็บข้อมูลออนไลน์และการใช้โทรศัพท์มือถือของประชาชนอเมริกันทุกคน
Edward Snowden เผยข้อมูลลับครั้งแรกที่โรงแรมหรูแห่งหนึ่งในฮ่องกงให้กับ Glenn Greenwald และ Ewen MacAskill สองนักข่าวจากสนพ. The Guardian กับผู้กำกับสารคดี Laura Poitras ซึ่งต่อมาสารคดี Citizenfour ของเธอได้รับรางวัลออสการ์สาขาสารคดียอดเยี่ยม (Best Documentary) ในปี 2015
เรื่องย่อ และข้อเท็จจริงเกี่ยวกับหนัง Snowden
ในปีนี้ เรื่องราวของหนุ่มกีค (Geek) Edward Snowden ถูกหยิบมาต่อยอดจากสารคดี Citizenfour และเล่าอีกครั้งในรูปแบบภาพยนตร์ชีวประวัติที่ย่อยง่ายขึ้น ภายใต้ชื่อ “Snowden” เขียนบทร่วมและกำกับโดย Oliver Stone (จาก JFK, World Trade Center, Born on the Fourth of July, Wall Street ฯลฯ) ผู้กำกับออสการ์ผู้มากประสบการณ์ด้านการทำหนังเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ร่วมสมัยและความรักชาติของประเทศสหรัฐอเมริกา
เรื่องราวในหนัง Snowden เริ่มต้นตามสารคดี Citizenfour กล่าวคือ เปิดฉากมาที่ Edward Snowden (Joseph Gordon-Levitt จาก 500 Days of Summer, The Dark Knight Rises, Inception) นัดพบกับ Laura Poitras (Melissa Leo จาก The Fighter), Glenn Greenwald (Zachary Quinto จาก Star Trek), และ Ewen MacAskill (Tom Wilkinson) ที่ฮ่องกงเลย
หนังเล่าเล่าสลับกันระหว่างฉากในโรงแรมฮ่องกงกับฉากในอดีตของ Edward Snowden ตั้งแต่ฝึกรับใช้ชาติอยู่ในกองทัพทหาร สมัครสอบและเข้าทำงานกับ CIA โดยมี Corbin O’Brian (Rhys Ifans จาก The Amazing Spider-Man) เป็นเมนเทอร์ รวมถึงชีวิตรักของเขากับแฟนสาว Lindsay Mills (Shailene Woodley จาก Divergent, The Fault in Our Stars)
รีวิว วิเคราะห์ วิจารณ์หนัง Snowden
ถึงแม้จะพอรู้เรื่องของ Edward Snowden มาบ้างแล้วจากสารคดี Citizenfour แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ความสนุกตื่นเต้นในการดู Snowden ของเราลดน้อยถอยลงแต่อย่างใด แถม Snowden ยังย่อยง่ายกว่า และมีเรื่องราวเพิ่มเติมจากตัวสารคดีมาอีกต่างหาก เช่น ชีวิตคู่ของ Edward Snowden และชีวิตของเขาหลังจากเปิดโปง NSA แล้ว ทำให้เรารู้จักผู้ชายคนนี้มากขึ้น
ทั้งนี้ เราจะไม่เอา Snowden ไปเปรียบเทียบกับ Citizenfour เพราะ Citizenfour มันเป็นสารคดี เน้นข้อมูลเปิดโปงหนักหน่วง ในขณะที่ Snowden เป็นหนังชีวประวัติที่ชื่อหนังก็บอกอยู่ทนโท่อยู่แล้วว่านี่เป็นเรื่องของ Snowden จึงมีทั้งเรื่องงาน เรื่องรัก เรื่องส่วนตัวของเขาด้วย ดังนั้นสไตล์การดำเนินเรื่องหรือการนำเสนอของทั้งสองเรื่องย่อมแตกต่างกัน ซึ่งเราก็รู้สึกว่าทั้งสองเรื่องต่างทำหน้าที่ของมันได้ดีงามตามท้องเรื่องของมันเอง
โดยพื้นฐาน เรื่องราวของ Edward Snowden หรือสิ่งที่เขาคิดเขาทำมันน่าทึ่งในตัวมันเองอยู่แล้ว ถึงแม้เรื่องไอทีหรือสิ่งที่อัจฉริยะอย่าง Edward Snowden ทำมันค่อนข้างเข้าใจยากสำหรับคนทั่วไปอย่างเรา แต่ผู้กำกับ Oliver Stone เก่งมาก ทำให้เรื่องที่ซับซ้อนมันดูง่ายและย่อยง่าย และถึงแม้หนังจะพูดเยอะ ดีเทลแยะ แต่เขาก็ทำได้ดูสนุก นอกจากนี้ เรายังชอบการคุมโทนแสงสีและการถ่ายภาพในหนังด้วย ภาพแต่ละช็อตสวยมากทั้ง ๆ ที่หนังก็ไม่ได้ถ่ายทำในที่โลเกชั่นสวย ๆ อะไร
นักแสดงทุกคนในเรื่องทำหน้าที่ได้ดีมาก โดยเฉพาะพระเอกมากฝีมือ Joseph Gordon-Levitt จากที่ดั้งเดิมเขาดูไม่ค่อยมีอะไรคล้ายกับ Edward Snowden ตัวจริงเลย แต่ในหนังเขากลับเป็น Edward Snowden ได้ nailed it อย่างยิ่ง เป๊ะทุกกระเบียดนิ้ว ทั้งภายนอก ท่าทาง การพูด และการแสดงที่ยอดเยี่ยม ทำให้คนดูเชื่อสนิทว่าเขากำลังเป็น Edward Snowden
(ใน The Walk พระเอกหนุ่ม Joseph Gordon-Levitt ก็เป็นนักไต่ลวด Philippe Petit ที่เป๊ะเช่นกัน และ The Walk ก็มีสารคดีที่สร้างจากเรื่องเดียวกันคือ Man on Wire เช่นเดียวกับที่ Snowden มี Citizenfour)
หนังเสียดสีวิจารณ์การเมืองอเมริกาอย่างเข้มข้น และอาจจะมีความอเมริกันจ๋าไปบ้าง แต่เชื่อว่าคนไทยอย่างเราก็อินได้ไม่ยาก เพราะสิ่งที่ Edward Snowden ทำมันเป็นเรื่องราวของสิทธิ ความเป็นส่วนตัว เสรีภาพตามหลักประชาธิปไตย กระทั่งการใช้อินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์ก็ไม่ได้เป็นเรื่องไกลตัวเราเลย
มีไดอะล็อกหลายประโยคในหนังที่เราชอบมาก ๆ ฟังแล้วกินใจสุด ๆ ถ้าหยิบปากกาหรือมือถือขึ้นออกมาจดในโรงหนังได้ก็คงทำไปแล้ว ยกตัวอย่างประโยคที่ทุกคนก็น่าจะได้ยินในเทรลเลอร์ก็จะมีที่ Corbin O’Brian (แสดงโดย Rhys Ifans) พูดว่า “ประชาชนไม่ได้ต้องการเสรีภาพ ประชาชนต้องการความปลอดภัย” ซึ่ง… มันเป็น statement ที่จะกระตุ้นให้คนดูคิดว่าตัวเรา agree หรือ disagree?
การมีคนจับตาดูเราอยู่ตลอดเวลาและรู้เรื่องส่วนตัวของเราทุกอย่าง คือความปลอดภัย?
ในมุมมองของติวเตอร์สอน writing essays อย่างเรา หนัง Snowden มันเหมือน Argumentative Essay เปเปอร์หนึ่ง คือหลัก ๆ เน้นนำเสนอความจริง ความคิดและเรื่องราวของฝั่ง Edward Snowden ผู้ต่อสู้เพื่อสิทธิ เสรีภาพ และพื้นที่ส่วนตัวของอเมริกันชน แต่ก็มีนำเสนอมุมของฝั่งตรงข้าม (พวกเจ้าหน้าที่รัฐ) นิด ๆ หน่อย ๆ
Oliver Stone ก็ตั้งใจให้คนดูร่วมตัดสินกันว่า สิ่งที่รัฐบาลทำกับพื้นที่ส่วนตัวของพวกเรามันถูกกฎหมายหรือถูกต้องหรือไม่ รวมถึง สิ่งที่ Edward Snowden ทำ มันเป็นการกระทำของฮีโร่หรือคนที่ทรยศชาติ (แต่หนังเขาค่อนข้าง persuade คนดูให้อยู่ข้าง Edward Snowden ตามครรลองอะนะ) ซึ่งจะตัดสินอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับมุมมองและจุดยืนของแต่ละคน
สำหรับเรา Edward Snowden ยอมเสี่ยงแลกกับความสุขและความมั่นคงแทบทุกอย่างในชีวิต ทั้งครอบครัวและหน้าที่การงานที่กำลังรุดหน้า เพื่อต่อสู้กับผู้ที่ใช้อำนาจในทางที่ผิดและเปิดโปงความจริงอีกด้านให้คนทั้งโลกได้รู้ จนตอนนี้เขากลายเป็นคนไร้รัฐและกลับบ้านไม่ได้ เราเชื่อว่าเขาทำเพื่อปกป้องชาติและประชาชนจริง ๆ หรืออย่างน้อยที่สุด… เขาก็ทำเพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพของเขาและคนที่เขารัก และคนอื่นในชาติก็ได้ผลพลอยได้นั้นไปด้วย
วันนี้เขาอาจจะไม่มีงานที่มั่นคงทำ ไม่มีบ้านเป็นหลักปักฐาน และเป็นที่หมายหัวของรัฐบาลบ้านเกิด แต่เขาก็ได้มีชีวิตใหม่และสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ให้กับโลก เมื่อเขาได้ทำ “หน้าที่” วันนี้อย่างดีที่สุดไปแล้ว วันพรุ่งนี้… ก็ไม่มีอะไรที่เขาต้องห่วงอีกแล้ว
Snowden ไม่ใช่แค่ทำให้เรารู้จัก Edward Snowden มากขึ้น หากแต่ยังทำให้เราเห็นความจริงอีกด้านหนึ่ง อีกทั้งเริ่มตั้งคำถามกับความมั่นคงและสิทธิเสรีภาพที่เรามีอยู่ ประกอบด้วยฝีมือการกำกับของผู้กำกับออสการ์ Oliver Stone และฝีมือการแสดงอันเป๊ะขั้นเทพของ JGL แล้ว นี่เป็นหนังชีวประวัติที่ดีที่สุดอีกเรื่องหนึ่งที่ควรค่าแก่การดู ที่สำคัญตอนจบพีค!
คะแนนตามความชอบส่วนตัว 8.5/10
เข้าฉาย 6 ต.ค. 2016 นี้
ป.ล. ชอบ FONT ของหนัง ใครรู้ว่า FONT อะไร บอกหน่อย
30 comments