The Giver เป็นหนังอาภัพ ได้ฤกษ์จะเข้าฉายที่ไทยหลายฤกษ์หลายรอบแต่ก็เสียฤกษ์นั้นทุกทีไป ฤกษ์ล่าสุดก็เห็นว่าได้กำหนดฉายวีคเดียวกับ INSURGENT แต่ก็ไม่รู้อีท่าไหนยังไง The Giver ก็ถูกปลดกลางอากาศในนาทีสุดท้ายอีกครั้ง และทางค่ายก็ตัดสินใจไม่นำ The Giver เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ วางขายแต่ในรูปแบบพวก DVD หรือบลูเรย์เอาเท่านั้น
ที่เมืองนอก The Giver เข้าฉายมานานแล้ว ตอนที่ The Giver เข้าฉายใหม่ๆ ที่อเมริกา ก็ได้รับความสนใจจากนักดูหนังและคอหนังสือทั่วโลกเหมือนกันนะ เพราะ The Giver สร้างจาก The Giver (1993) นิยายยูโธเปีย-ดิสโธเปียเนื้อดีของ Lois Lowry (ดีขนาดถูกบังคับใช้เป็นแบบเรียนหรือหนังสืออ่านนอกเวลาของเด็กทุกโรงเรียน) อีกทั้งยังได้นักร้องสาวสุดฮอตแห่งยุคอย่าง Taylor Swift มาร่วมแสดงด้วย
อย่างเราเองก็แอบดู The Giver มาตั้งแต่ พ.ย. 2014 แล้ว และรอจะอัปบล็อกรีวิวหนังเรื่องนี้มาเกือบครึ่งปี ก็ไม่คิดว่าจะต้องมารีวิวในฐานะ “หนังแผ่น” แทน “หนังชนโรง” เอาเป็นว่าถ้าใครอ่านบล็อกของเราบล็อกนี้แล้วสนใจอยากดู The Giver มีวางแผงขายแล้วตามร้านแผ่นชั้นนำทั่วประเทศค่ะ
เรื่องย่อ The Giver
ในยุคของสังคมอุดมคติ ทุกอย่างและทุกคนในสังคมล้วนเหมือนกันและเท่าเทียมกันหมด ไม่มีความรัก ความเกลียดชีง ความอิจฉา หรือสงครามแต่ใดๆ แม้แต่ระบบครอบครัวก็เป็นระบบเทียม ทุกอย่างถูกคอนโทรลโดยกลุ่ม The Committee of Elders หรือกลุ่มผู้อาวุโส ที่สำคัญดวงตาของประชาชนทุกคนมองเห็นทุกอย่างเป็นสีขาวดำเหมือนกันหมด ยกเว้น Jonas (Brenton Thwaites จาก Oculus และ Maleficent) ที่ค่อยๆ ค้นพบตอนย่าง 16 ปีว่าบางครั้งตัวเขาเองก็เห็นโลกเป็นสีๆ อยู่บ้างในชั่วขณะ
อาชีพการงานในสังคมนี้ งานของแต่ละคนถูกกำหนดโดยความสามารถของคนคนนั้นเมื่อเด็กอายุครบ 16 ปีบริบูรณ์ โดย Chief Elder (Meryl Streep จาก The Devil Wears Prada และ Into the Woods) จะเป็นคน “กำหนดมอบหมาย” งานให้เด็กแต่ละคน ซึ่งงานที่สำคัญที่สุดในบรรดางานทั้งหมด (รองจากพวกผู้อาวุโส) คือตำแหน่ง “The Receiver” ที่มีเพียงตำแหน่งเดียวเท่านั้น
Jonas ถูก “เลือก” ให้เป็น “The Receiver” คนต่อไป และต้องไปได้รับการถ่ายทอดเรียนรู้จากลุง “The Giver” (Jeff Bridges จาก Iron Man และ TRON: Legacy) ซึ่งเป็น “The Receiver” คนก่อนหน้า ส่วนเพื่อนสนิททั้งสองของ Jonas ได้แก่ Fiona (Odeya Rush) และ Asher (Cameron Monaghan) ได้รับมอบหมายให้เป็นพยาบาลเด็กแรกเกิดและนักบินตามลำดับ
“The Giver” พยายามเทรน Jonas อย่างค่อยเป็นค่อยไปและระมัดระวัง เพื่อไม่ให้เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเหมือนเมื่อหลายปีก่อน สมัยที่เขาเทรนให้สาวน้อย Rosemary (Taylor Swift) ซึ่งการเทรนเป็น “The Receiver” ทำให้ Jonas ได้รับความทรงจำจาก “The Giver” และได้รู้ว่ากาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว โลกของเราเคยมีสีสัน ดนตรี ศาสนา สงคราม การเข่นฆ่าแย่งชิง ความเจ็บปวด ความรู้สึกต่างๆ จนไปถึงการร่วมเพศ ฯลฯ แต่อย่างไรก็ตาม กฎของ “The Receiver” คือห้ามแชร์ข้อมูลความทรงจำและความรู้สึกทั้งหลายนั้นให้กับใครคนอื่นโดยเด็ดขาด
และในขณะเดียวกัน Jonas ก็ต้องช่วยชีวิตเด็กน้อย Gabriel ทารกแบเบาะที่เป็นโรคอะไรไม่รู้ร้องไห้ไม่หลับไม่นอน ให้รอดพ้นจากการถูก “ปลดปล่อย” (หรือกำจัดทิ้ง) หลังจากที่เขารู้แล้วว่าคำว่า “release” นั้น แท้ที่จริงแล้ว ไม่ใช่การถูกส่งไปยัง elsewhere หากแต่เป็นการ kill ดีๆ นั่นเอง
รีวิว วิเคราะห์ วิจารณ์ The Giver
พล็อตเรื่อง ธีมเรื่อง หรือเมสเซจที่แฝงอยู่ในเรื่อง เราพูดได้เลยว่าดีมากๆ ดีถึงขั้นอยากจะ recommend เลยแหละ สะท้อนสังคมได้หลายอย่างทีเดียวเชียว คือสมแล้วที่สร้างจากหนังสือระดับรางวัล แต่ก็น่าเสียดายที่โปรดักชั่นหนังทำได้ไม่ถึง ดูทุนต่ำ และดำเนินเรื่องค่อนข้างเรื่อยๆ เปื่อยๆ ธรรมดาค่อนไปถึงทางน่าเบื่อ
ในเรื่องของนักแสดง หนังใช้ดารารุ่นใหญ่ได้ไม่คุ้มเท่าไหร่ ไม่ว่าจะเป็น Meryl Streep, Jeff Bridges, Katie Holmes, และ Alexander Skarsgård (สองคนหลังนี่เล่นเป็นพ่อแม่พระเอก) คือแต่ละคนดูยังไม่ได้โชว์ของกันเลย ถ้าจะให้บทกันแค่นี้ หนังไม่จำเป็นต้องดึงนักแสดงระดับตุ๊กตาทองมาเล่นก็ได้ อันนี้ คหสต
แต่บทของ Meryl Streep เป็นบทผู้นำที่ดีค่ะ เห็นภาพชัดดี ไม่ทำอะไรมาก นอกจากขึ้นจอหรือขึ้นแสตนด์พูดๆๆ สั่งๆๆ แล้วจากไป จบ.
ฝั่งดารารุ่นเล็กซึ่งควรจะเป็นนักแสดงนำอุ้มชูเรื่องอย่าง Brenton Thwaites, Odeya Rush และ Cameron Monaghan ก็ยังรับผิดชอบพาร์ทของตัวเองได้ไม่ดี ดูไม่มีเสน่ห์และพลังทางการแสดงแต่ใดๆ ทั้งๆ ที่หน้าตาก็ไม่ได้แย่และอยู่ในวัยกำลังน่ากิน แถม Brenton Thwaites กับ Odeya Rush ก็ดูเคมีไม่ค่อยเข้ากันเอาซะเลยอีกต่างหาก ดูยังไงก็จิ้นไม่ลงจริงๆ
แต่ว่ากันตรงๆ เราเองก็ไม่ได้ปลื้ม Brenton Thwaites พระเอกของเรื่องนี่มาแต่ไหนแต่ไรอยู่แล้ว ถึงแม้จะหน้าตาน่ารัก แต่เราก็ไม่ชอบการแสดงอันแข็งเป็นท่อนซุงและใบหน้าที่หล่อเหลาอั้นขี้ตลอดเวลาของเขาสักที (อย่างใน Maleficent นางได้เล่นเป็นเจ้าชายนะ มีใครจำนางได้บ้างมะ?) แล้ว The Giver ก็ทำให้เราได้เห็นว่า จวบจนถึงบัดนี้ฝีไม้ลายมือของเขาก็ยังคงไม่มีพัฒนาการ ในอนาคตถ้าใครยังใคร่ดัน Brenton Thwaites ต่อไป ก็คงต้องเพิ่มแรงดันอัดฉีดกันให้หนักขึ้นอย่างยิ่งยวด
ส่วน Taylor Swift ที่เหมือนจะเป็นดาราจุดขายของหนัง โปรโมตนางซะยิ่งใหญ่ โปสเตอร์นี่หน้าเด่นยิ่งกว่านางเอกตัวจริงของเรื่อง แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว ในจอ… Taylor Swift ออกฉากทั้งหมดรวมกันไม่ถึง 5 นาที ดังนั้น ถ้าใครคาดหวังจะไปดูนาง เผื่อใจไว้หน่อยก็จะดีนะ (โอ้ นางเอกคือ Odeya Rush นะจ๊ะ ไม่ใช่เจ๊ Taylor Swift เผื่อใครเข้าใจผิด)
เอาเป็นว่าอะไรที่มันไม่ดี เราก็จะบ่นแค่พอหอมปากหอมคอ เพราะไม่ว่าจะยังไงเราก็ยังชื่นชอบเนื้อเรื่องของมันและเชียร์ให้คนดูลองไปดูช่องโหว่ของระบบสังคมที่ทุกคนเท่าเทียมกันโดยอุดมคติ และ/หรือระบบการเมืองการปกครองที่ถูกควบคุมโดยผู้มีอำนาจกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแบบเบ็ดเสร็จ นอกจากนี้ The Giver เขาก็ยังให้อะไรหลายๆ อย่างกับคนดูอยู่ไม่น้อย
What THE GIVER is giving to you?
Individual
การได้เป็นตัวของตัวเองและได้เลือกทางเดินที่ตัวเองสนใจจริงๆ คือคุณค่าที่ล้ำค่าที่สุดแล้วของความเป็นมนุษย์ พิธีการคัดสรรอาชีพในเรื่อง The Giver อาจคล้ายๆ พิธีในเรื่อง Divergent (ที่จริงต้องพูดว่า Divergent เหมือน The Giver ถึงจะถูกนะ เพราะ The Giver ตีพิมพ์ก่อนตั้งหลายปี) ต่างกันตรงที่เด็กๆ ใน Divergent ยังพอมีสิทธิได้เลือกเองมากกว่านี้ ไม่ใช่มายืนให้คนแก่จิ้มๆ ให้แบบนี้
(เออ นึกไปนึกมาธีมนี้มันก็เหมือนเรื่อง City of Ember ด้วยนะ แต่ไม่ว่าจะยังไง The Giver ก็ถูกเขียนขึ้นมาก่อนอยู่ดี สรุปหนังและหนังสือดิสโธเปียดังๆ หลายเรื่องช่วงนี้คือลอกหรือ inspired มาจากตัวแม่ The Giver ทั้งนั้น จนเริ่มหา individual จริงๆ กันแทบไม่เจอ)
Utopia
ยูโธเปียเป็นศัพท์ที่มักใช้ในการบรรยายสังคมในอุดมคติ สังคมที่เขาว่ากันว่าเพอร์เฟ็กต์ ทุกคนเท่าเทียมกันหมด และยังไม่มีความเจ็บปวด ไม่มีความเสียใจ แต่ว่าทุกสิ่งอย่างจะอยู่ภายใต้การควบคุมและเหมือนๆ กันหมด ซึ่งแตกต่างอย่างมากกับสังคมจริงในปัจจุบันที่เราอยู่ สังคมเราเต็มไปด้วยความเกลียดชัง ความขัดแย้ง กิเลสตัณหา ฯลฯ แต่อย่างน้อยมันก็ได้สิทธิเสรีภาพ อิสรภาพ ความเป็นส่วนตัว และความหลากหลายเป็นสิ่งตอบแทน
Memory
The Giver ทำให้เราเห็นความสำคัญของความทรงจำ อย่างในหนัง เราจะเห็นว่าไม่มีใครรู้จักประวัติศาสตร์ ไม่รู้จักความเจ็บปวดในปัจจุบัน ไม่รู้จักสงครามในอดีต และไม่มีทั้งความสัมพันธ์ใดๆ ที่จะทำให้เกิดความขัดแย้งหรือความเสียใจในอนาคต แต่กลุ่มผู้อาวุโสก็ยังคงให้ความสำคัญกับความทรงจำหรือเรื่องราวในอดีตเหล่านั้นว่า ในสังคมก็ยังจำเป็นต้องมีคนรู้ประวัติศาสตร์หรือเรื่องราวในอดีตเพื่อที่ปัจจุบันเราจะได้ไม่ทำซ้ำข้อผิดพลาดต่างๆ ที่เคยมีมา ดังนั้นสังคมนี้ถึงได้ยังคงมีการดำรงตำแหน่ง The Receiver ไว้
ถึงแม้จุดประสงค์ของผู้อาวุโสจะเป็นไปในแง่ดี ไม่อยากให้คนเจ็บปวดหรือบาดหมางกันก็เลยไม่มีการแข่งขันและความระลึกถึงที่มาที่ไปในอดีต แม้แต่เรื่องราวแบ็คกราวนด์ของตัวเอง อย่างไรก็ดี Jonas ได้เรียนรู้ว่า การไม่มีความทรงจำไม่ใช่แค่ทำให้เราไม่รู้สึกเจ็บปวดเท่านั้น แต่เรายังจะไม่ได้สัมผัสความสุขที่แท้จริงในชีวิตอีกด้วยหากปราศจากความทรงจำ
Vision
การที่ Jonas (รวมถึง The Giver) มองเห็นเป็นสีๆ ในขณะที่คนทั่วไปมองเห็นเป็นขาวดำ เป็นหนึ่งในธีมที่น่าสนใจของเรื่อง เราคงเข้าใจกันดีอยู่แล้วว่าสีมีความสำคัญกับเราแค่ไหน มีหลายบทความการวิจัยที่บ่งชี้ว่าสีสื่อความหาย บ่งบอกอารมณ์ความรู้สึก และสอดคล้องกับประสบการณ์ของคนอย่างไรบ้าง โดยสีแรกๆ ที่พระเอกเริ่มเห็นได้ชัดจะเป็นสีแดง เช่น สีผมนางเอก สีผิวแอปเปิล แต่เรายังไม่ได้ตีความ ขี้เกียจคิด ใครคิดได้ทันทีแล้วก็ช่วยบอกหน่อยนะ
ในหนังสือ (และในหนังเองก็ตาม) จะเห็นได้ว่า Jonas ไม่ได้มองเห็นเป็นสีๆ แต่กำเนิด เขาค่อยๆ มองเห็นสีทีละนิดทีละน้อยเอาก็ตอนถึงวัยอันควร การเห็นสีของ Jonas เป็นสัญลักษณ์ถึง perception ของเขาที่กำลังเปลี่ยนไป เขาเริ่มรู้จักความงามที่แท้จริงของโลก มองเห็นโลกแตกต่างจากคนอื่น มีอารมณ์และความรู้สึกที่คนอื่นไม่มี
คนดูอย่างเราเอง ก็อาจเพิ่งจะเก๊ตเนื้อเรื่องและตาสว่างเอา ก็พร้อมๆ กับตอนพระเอกได้รับการถ่ายทอดจากตาลุง หรือตอนที่หนังมันค่อยๆ ปรับจากซีนขาวดำเป็นซีนสีๆ ให้เรา โดยที่เราอาจจะไม่ได้สังเกตก็ตาม
“If you can’t feel, what’s the point?”
Baby
เด็กทารกหรือเด็กเล็กเปรียบเสมือนผ้าขาวในสังคม Gabriel จึงเปรียบเสมือนความหวังใหม่ของ Jonas ที่จะถ่ายทอดอารมณ์ ความรู้สึก และความทรงจำที่สังคมพยายามปกปิดให้กับ Gabriel ตั้งแต่เขายังเล็กและยังไม่ได้ซึมซับสิ่งจอมปลอมต่างๆ จากสังคมเทียมๆ แห่งนี้ ซึ่งโดยปกติแล้ว ในวรรณกรรมต่างๆ เด็กก็เป็นสัญลักษณ์ของความหวังหรือการตั้งตนใหม่อยู่แล้วด้วย
ในบรรทัดสุดท้ายของหนังสือบรรยายว่า “[Jonas] heard people singing. Behind him, across vast distances of space and time, from the place he had left, he thought he heard music too. But perhaps it was only an echo.” ซึ่งถึงแม้จะเป็นการจบที่กำกวมเหมือนมีภาคต่อ (ในหนังก็จบงงๆ แบบเดียวกันแบบนี้) บางคนก็คิดว่า Jonas กับ Gabriel สามารถหนีไปถึง real elsewhere จริงๆ บางคนก็ตีความว่าจริงๆ แล้วทั้งสองแข็งตายกลางพายุหิมะไปแล้ว ส่วนภาพที่เห็นก็คือภาพหลอนก่อนตายของ Jonas
แต่ไม่ว่าจะยังไง บ้านหลังนั้นและเพลงเพลงนั้น รวมถึงเจ้าหนูน้อยในอ้อมอกของเขา ณ ตอนนั้น คือความหวังที่ดีที่สุดของเขา
P.S. ยอมรับว่าดูนานแล้วและก็จำไม่ค่อยได้แล้ว
ถ้ามีโอกาสนั่งดูใหม่หรืออ่านหนังสืออย่างละเอียดจบเล่ม
จะมาเขียนบล็อกเพิ่มเกี่ยวกับ The Giver
35 comments