“Miracles are made by people who refuse to stop believing.”
เป็นคำโปรยของ The Good Lie (ชื่อไทย ไม่มีวันที่จะไม่มีหวัง) หนังฟีลกู๊ดส่งท้ายปี 2014 ที่หลายคนอาจจะบอกว่าไม่รู้จัก แต่ถ้าพูดถึงหนังที่โปสเตอร์โชว์หน้า Reese Witherspoon อย่างหรา หลายคนก็คงเคยผ่านหูผ่านตากันมาบ้าง
เมื่อเทียบกับหนังหลายๆ เรื่องที่เข้าโรงในช่วงเดียวกันนี้ The Good Lie อาจถือเป็นหนังฟอร์มเล็กและไม่ค่อยมีกระแสเท่าไหร่ มีแต่นางเอกสาวเป็นจุดขาย แต่เรารับประกันเลยว่า The Good Lie เป็นหนังที่ดีทั้งในด้านเนื้อหา การแสดง ภาพ และอารมณ์ความรู้สึกอย่างอิ่มเอม
เรื่องย่อ The Good Lie (ไม่สปอยล์)
หนังเริ่มเล่าเรื่องในปี 1983 (ตรงกับช่วง Civil War) ช่วงที่เด็กๆ ชาวซูดาน ได้แก่ Mamere (Peterdeng Mongok), Theo (Okwar Jale), Abital (Keji Jale), Jeremiah (Thon Kueth), และ Paul (Deng Ajuet) เพิ่งสูญเสียครอบครัวและต้องอพยพลี้ภัยทางสงคราม เดินทางเท้าข้ามทุ่งหญ้าซาวันนาไปอยู่ค่ายผู้อพยพที่เคนย่า
ระหว่างทางพวกเขาต้องพบกับชะตากรรมที่ยากลำบาก ขาดน้ำขาดอาหาร โรคภัยไข้เจ็บที่คร่าชีวิตพี่น้องเขาไปทีละคนสองคน และความโหดร้ายของทหารที่ตามเก็บชาวซูดานไม่ไว้หน้า อีกทั้ง Theo พี่ชายคนโต ยังถูกทหารจับตัวไปอีก เพื่อแลกกับโอกาสที่น้องๆ จะหนีไปต่อได้อย่างปลอดภัย
เด็กๆ ที่เหลือเดินทางต่อไปจนถึงค่ายที่เคนย่า และใช้ชีวิตอยู่ในนั้นหลายปี จนกระทั่งโตขึ้น พวกเขาก็ได้โอกาสบินลัดฟ้าไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่อเมริกา แต่โชคร้ายที่ Abital (Kuoth Wiel) ซึงเป็นผู้หญิงคนเดียว ถูกแยกไป Boston ในขณะที่ Mamere (Arnold Oceng), Jeremiah (Ger Duany), และ Paul (Emmanuel Jal) ถูกส่งไป Kansas City, Missouri
โดยหนุ่มๆ ซูดานทั้งสาม มี Carrie Davis (Reese Witherspoon) เจ้าหน้าที่สาวโสด และ Jack บอสของเธอ (Corey Stoll) เป็นคนดูแลช่วยจัดหางานให้ และยังพยายามช่วยให้ครอบครัวของพวกเราได้ reunion กันอีกครั้ง
วิจารณ์ The Good Lie
สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้ นอกจากสร้างจากแรงบันดาลใจจากเรื่องจริงแล้ว นักแสดงหลักเกือบทุกคนยังเป็นผู้อพยพจริงเมื่อหลายปีก่อน และบางคนก็เคยเป็นทหารในกองทัพตอนนั้นด้วย (หนังบอกในเครดิตท้ายเรื่อง) มิน่า… แต่ละคนดูเข้าถึงบทบาทกันเหลือเกิน
แต่ก่อนอื่นบอกเลยว่า สมแล้วที่เขาตั้งชื่อหนังว่า The Good Lie เพราะโปสเตอร์หน้าหนังเอา Reese Witherspoon มาหลอกล่อแฟนหนังของเธอจริงๆ (เชื่อว่าหลายคนคงไปดูหนังเรื่องนี้เพราะนางเอกคนดัง) หนังช่วง 30 นาทีแรก ยังไม่มีหน้า Reese Witherspoon โผล่มาสักซีน การดำเนินเรื่องจะค่อนข้างรู้สึกทรหดหดหู่ แห้งแล้ง (แต่สนุกนะ) และรู้สึกเห็นใจกับชะตากรรมอันยากลำบากของเด็กกำพร้าที่ต้องต่อสู้เอาชีวิตรอดและเดินทางข้ามน้ำข้ามประเทศกันโดยลำพัง
แต่อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ในหนังเธอจะไม่ได้เด่นหราอย่างที่เห็นบนโปสเตอร์ แต่ก็ไม่มีส่วนไหนในตัวเธอที่ทำให้เราผิดหวังกับหนังเรื่องนี้ (สลัดคราบสาวบลอนด์ใน Legally Blonde ไม่เหลือคราบเลย) นอกจากนี้ เสน่ห์และความน่ารักของนักแสดงชาวซูดาน ก็อาจจะทำให้เราหลงรักตัวละครตัวอื่นๆ จนลืมมองหา Reese Witherspoon ไปชั่วขณะได้ไม่ยาก
หนังช่วงองก์สองไม่เครียดแบบองก์แรก เนื้อหาจะเบาสมอง ฟีลกู๊ด และเรียบง่าย เนื่องจากพวกเขามาจากประเทศที่ไม่มีไฟฟ้า โทรศัพท์ เทคโนโลยี หรือแม้กระทั่งแมคโดนัลด์ พวกเขาต้องปรับตัวเรื่องการใช้ชีวิตมากมาย และต้องพยายามอย่างหนักเพื่อให้ได้มาซึ่งการหางานทำ รวมถึงการศึกษา ในประเทศที่ขึ้นชื่อว่าเป็น land of opportunities
โดยส่วนตัวเราชอบองก์ที่สองที่สุด ดูแล้วมีความสุข ชอบความจริงใจใสซื่อของชาวซูดานทั้งสาม โดยเฉพาะตอนที่ Jeremiah ไปขอบคุณนางเอก กับตอนที่พวกเขาบอกให้นางเอกมีสามีสักที (มุกสามีนี่เล่น 2-3 รอบได้ ซึ่งนี่ก็จี้ใจดำทุกรอบ) และชอบมุก Culture Shock ต่างๆ เช่น วัฒนธรรมการใช้ช้อนส้อมทานอาหาร วัฒนธรรมการจูบดูดดื่มในที่สาธารณะ (ทำไมพอเขียนประโยคนี้แล้วนึกถึงชัปปุยส์กับแฟน – -) ฯลฯ รวมๆ มันน่ารักดี เราอมยิ้มแทบทั้งเรื่อง
นอกจาก Culture Shock แล้ว ยังมีประเด็นทางภาษา (คล้ายๆ Lost in translation) อย่างตอนที่ Sudanese ตั้งชื่อเล่นให้นางเอกอย่างจริงใจว่า “Yaardit,” คือคำคำนี้ ถึงแม้ในความหมายตามภาษาท้องถิ่นของบ้านเกิดพวกเขา มันอาจจะเป็นคำที่ให้ความเคารพยกย่องอีกฝ่าย แต่พอแปลความหมายเป็นภาษาอังกฤษ (หรือแปลเป็นไทยเองก็เถอะ) กลับอาจแปลได้ความหมายเป็นอีกนัยยะนึง
ซึ่งประเด็นภาษาดังกล่าวนี้ (อันนี้ขอแอบออกมหาสมุทร) มันทำให้เรานึกถึงการเรียนภาษาของเรา เกี่ยวกับประเด็นที่ว่าเราไม่อาจเรียนรู้คำศัพท์แต่ใน dictionary ได้ เพราะ meaning ในนั้น ก็เหมือนเพียงยอดของภูเขาน้ำแข็ง เราเห็นความหมายของมันแค่ไหน แต่จริงๆ คำคำนั้นอาจมีความหมายที่ลึกซึ้งมากกว่านั้น เช่นเดียวกับภูเขาน้ำแข็งที่เป็นส่วนที่อยู่ใต้ผิวน้ำ (ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่นคำว่า house กับ home ซึ่งมีความหมายใน dict เหมือนกัน แต่จริงๆ มีความหมายเชิงลึกต่างกัน)
ดังนั้นในการเรียนรู้หรือเข้าใจภาษาของเขา เราต้องเรียนรู้และเข้าใจวัฒนธรรมของบ้านเขาด้วย
แล้วพอมาถึงองก์สุดท้าย หนังจะกึ่งดราม่าขึ้นมานิดนึง แต่ยังเบาสมองอยู่ หนังจะเริ่มเน้นความสัมพันธ์ของครอบครัว เล่าถึงความพยายามของพวกเขาที่จะได้กลับมาอยู่ด้วยกันพร้อมหน้าพร้อมตาอีกครั้ง
ดูให้จบ แล้วจะเข้าใจว่าทำไมหนังถึงชื่อว่า The Good Lie (ไม่เกี่ยวกับถูกหลอกเรื่องนางเอกนะ) คือมันต้องชื่อนี้จริงๆ ชื่อนี้คือเหมาะเหม็งที่สุดแล้ว ถือว่าจบได้ดีเลย
เป็นการโกหกที่จริงใจและน่าประทับใจจริงๆ
โดยสรุป The Good Lie เป็นหนังฟีลกู๊ดที่เลอค่าแก่การชมเรื่องหนึ่ง ใครรู้สึกว่าชีวิตนี้สิ้นหวัง แนะนำอย่างยิ่งให้มาดูเรื่องนี้ เพราะการถ่ายทอดชะตากรรมของตัวละครจะทำให้เรารู้สึกมองเห็นความหวังและอยากลุกมาสู้ชีวิตมากขึ้น (เขาลำบากกว่าเรา เขายังผ่านมาได้ และมีความสุขด้วย ชีวิตเราสบายและมีโอกาสกว่าเขาตั้งเยอะ เราก็ต้องทำได้!)
นอกจากนี้ มุกตลกเกี่ยวกับวัฒนธรรมก็ทำให้เราเห็นโลกมากขึ้น เข้าใจคนผิวสีมากขึ้น แล้วความสัมพันธ์ของตัวละครก็จะทำให้เราเข้าใจความหมายของคำว่าครอบครัวมากขึ้น
ที่สำคัญ หนังยังสอนให้เรารู้จักสร้างคุณค่าเพื่อตัวเอง ทั้งในแง่การทำความดี การแบ่งปันต่อเพื่อนมนุษย์ การให้ความสำคัญกับศึกษา คุณค่าของข้าวปลาอาหาร ฯลฯ ซึ่งยิ่งซึบซับก็ยิ่งเห็นคุณค่าของชีวิต
โดยเฉพาะฉากที่ Jeremiah แบ่งอาหารให้ homeless หรือคนจรจัด มันทำให้เราประทับใจมาก เพราะ Jeremiah ไม่ได้ “ให้” เพราะเขามีเยอะ แต่เขา “ให้” เพราะเขารู้ซึ้งถึงความหมายของคำว่า “ไม่มี” ว่ามันเป็นยังไง
ป.ล. ใครดูหนังจบแล้ว มีความรู้สึกอยากลุกขึ้นไปเป็นอาสาสมัคร ช่วยเหลือผู้ประสบภัยหรือผู้ด้อยโอกาสในแอฟริกา ทางหนังเขาก็มีโครงการดีๆ ให้เราร่วมบริจาคง่ายๆ ผ่านทางเว็บไซต์ The Good Lie Fund ด้วยนะ :)
The Good Lie ฉายแล้ววันนี้
If you want to go fast, go alone. If you want to go far, go together.
45 comments