The Hobbit: The Battle of the Five Armies หรือ The Hobbit 3 เป็นบทสรุปของหนังไตรภาคฟอร์มยักษ์ของ Peter Jackson ที่สร้างจากหนังสือนิยายเล่มเดียวจบ The Hobbit, or There and Back Again ของ J.R.R. Tolkien นักเขียนชื่อดังชาว Oxford เจ้าของเดียวกับ Lord of the Rings
เขาว่ากันว่า เริ่มแรกเดิมที Peter Jackson ก็จะทำหนังชุดนี้แค่ 2 ภาค คือ 1. An Unexpected Journey กับ 2. There and Back Again (ตามชื่อหนังสือนิยายต้นฉบับ) แต่ไปๆ มาๆ ก็ทำเรื่องส่วนมังกร Smaug ให้ยาวขึ้น และตั้งชื่อภาคว่า The Desolation of Smaug (ความรู้สึกในตอนดูภาคนั้น เราหงุดหงิดมากกับฉากที่ไอ้มังกรเอาแต่พูดมาก เดินไปมาเดินมา จะทำอะไรก็ไม่ทำสักที ไม่รู้เพราะจ้าง Benedict Cumberbatch มาพากย์แพง หรือเพราะอะไร ให้คนดูฟังมังกรพล่ามอยู่นั่น) และเปลี่ยนชื่อภาค There and Back Again เป็น The Battle of the Five Armies อย่างที่เห็นแทน
ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะชมจากใจหรือชมเชิงเสียดสีดีว่า ผู้กำกับฯ คนนี้เขาเก่งเนอะ สามารถย่อยหนังสือ 320 หน้า เป็นหนัง 3 ภาค ภาคละเกือบ 3 ช.ม. ได้ (ลองนึกภาพตัวเองนั่งดูหนัง 3 ภาคนี้ต่อเนื่องกัน 8-9 ช.ม. คงทรมานน่าดู)
เรื่องย่อ The Hobbit: The Battle of the Five Armies
เปิดเรื่องมาก็เป็นฉากต่อเนื่องจากภาคล่าสุดเลย นั่นคือ ฉากหลังจากที่เจ้ามังกร Smaug (Benedict Cumberbatch หรือ Sherlock Holmes จากซีรีส์ Sherlock) บินออกจากปราสาท มาอาละวาดในหมู่บ้านชาวประมง (Laketown) แล้ว Bard (Luke Evans) ก็ฆ่าเจ้ามังกรนั่นตายตั้งแต่ฉากเปิดเรื่อง แล้วหนังก็ขึ้นโชว์ชื่อหนังกับชื่อตอน “The Hobbit: The Battle of the Five Armies” บนฟอนต์สีทองหรูอย่าง officialy ก่อนจะดำเนินเรื่องต่อไปเกี่ยวกับสงครามห้าทัพ
เรื่องราวของภาคสาม ไม่มีอะไรมาก ช่วงแรกเต็มไปด้วยความน่าเบื่อของราชาคนแคระที่เป็นโรค “dragon sickness” กลายเป็น Macbeth ที่บ้าอำนาจ บ้าสมบัติ และผิดสัญญาที่จะแบ่งทองให้กับ Bard ซึ่งกำลังเดือดร้อน เพราะต้องดูแลชาวบ้านกว่าหลายร้อยชีวิตที่อพยพมาจาก Laketown
ไฮไลท์ของภาคนี้เป็นฉากสงคราม ที่เริ่มสนุกขึ้นเมื่อแต่ละเผ่าพันธุ์ต่างยกทัพมาช่วงชิงมหาสมบัติบนภูเขาแห่งนี้ ประกอบด้วยเหล่าคนแคระของ Thorin Oakenshield (Richard Armitage) พร้อมกองหนุนของ Dáin (Billy Connolly) ลูกพี่ลูกน้องของ Thorin, ทัพมนุษย์ นำโดย Bard (The Dragon Slayer), กองทัพ Elves ของ King Thranduil (Lee Pace), กองทัพอสูร Orcs นำโดย Azog the Defiler (Manu Bennett) และที่ขาดไม่ได้เลยก็คือพ่อมด Gandalf (Ian McKellen) ขวัญใจแฟนๆ Lord of the Rings ก็ยังอยู่โฉบไปโฉบมาเช่นกัน
ดราม่าที่เพิ่มความเข้มข้นให้กับหนัง เป็นเรื่องราวรักสามเส้าระหว่างเอลฟ์ Legolas (Orlando Bloom), เอลฟ์ Tauriel (Evangeline Lilly), และคนแคระ Kili (Aidan Turner) แต่ถ้าถามเรา ต่อให้ตัดพล็อตย่อย (subplot) ตรงนี้ไป ก็ไม่ได้ส่งผลอะไรกับสงครามห้าทัพมันเท่าไหร่นะ
ส่วน Bilbo Baggins (Martin Freeman) หรือ The Hobbit ของเรื่องน่ะหรอ… แทบไม่ได้ทำอะไรเลยจ้า~ (และนี่คือสาเหตุที่เราตั้งชื่อบล็อกนี้ว่า “รีวิว The Hobbit 3: สงครามห้าทัพกับฮอบบิทที่หายไป” ยังไงล่ะ)
รีวิว / วิจารณ์ The Hobbit: The Battle of the Five Armies
ถ้าให้เราพูดตามตรง เราคิดว่าสองภาคที่ผ่านมา (The Hobbit: An Unexpected Journey และ The Hobbit: The Desolation of Smaug) เนื้อเรื่องค่อนข้างยืดเยื้อและเวิ่นเว้อเกินไป จนเรารู้สึกเบื่อในหลายๆ ฉากเลยทีเดียว
ซึ่งพอทราบว่า The Hobbit: The Battle of the Five Armies ยาวแค่ 144 นาที (ที่จริง ใช้คำว่า “แค่” ก็ยังรู้สึกแปลกๆ แต่ 144 นาทีนี้ก็ถือว่าสั้นที่สุดในบรรดาทุกภาคแล้ว) ก็ค่อยใจชื้นขึ้นมานิดนึงว่า เราคงไม่ง่วงไปกว่าภาคก่อนๆ และภาคนี้คงเต็มไปด้วยฉากบู๊เกือบทั้งเรื่อง (ก็ชื่อตอนมันชื่อ “สงครามห้าทัพ” นี่นา!)
แต่เอาเข้าจริง… ภาคนี้ก็ยังมีความเอื่อยเฉื่อยเรื่อยเปื่อยจนเราแอบเมื่อยตูดอยู่ดี…
จุดอ่อนของ The Hobbit: The Battle of the Five Armies ข้อนึงคือไม่มีการย้อนความเดิมตอนที่แล้วในภาคก่อนๆ (ในวิธีใดวิธีหนึ่ง) ให้กับผู้ชมเลย ซึ่งสำหรับเรา เราคิดว่ามันสำคัญนะ มันไม่ใช่เพียงประเด็นการปะติดปะต่อเรื่องว่าคนดูจะจำได้หรือจำไม่ได้ แต่ส่วนที่อยู่ในหนังภาค 1-2 มันคือเรื่องราวส่วนที่เป็นพล็อตหลักหรือหัวใจสำคัญของหนังสือล้วนๆ ถ้าไม่มีส่วนนั้น หนังภาคสามนี้ก็แทบไม่ต่างอะไรกับหนังสงครามช่วงชิงอำนาจสมบัติทั่วไป ที่เน้นขายแต่ตัวละครแฟนตาซีสุดล้ำและความเป็น LOTR
พล็อตจริงๆ ในหนังสือคือ เรื่องราวของเจ้า Hobbit ตัวจิ๋วตีนโต Bilbo Baggins ออกเดินทางไปยัง Lonely Mountain กับกลุ่มคนแคระเพื่อเอาภูเขา ปราสาท และทรัพย์สมบัติมหาศาลในนั้นคืนมาจากมังกร Smaug ผู้ชั่วร้าย ในขณะที่เรื่องราวในหนังภาคสามนั้น ในหนังสือมีบรรยายแค่ “ไม่กี่พารากราฟ” เท่านั้น (แต่ก็มีความสำคัญคือเป็นช่วงต่อที่โยงไปเรื่อง The Lord of the Rings)
จุดอ่อนอีกประการคือ ในภาคนี้ Hobbit หรือ Bilbo Baggins แทบไม่มีบทบาทหรือความเด่นเอาเสียเลย ทั้งๆ ที่ชื่อหนังคือ “The Hobbit” แต่ในภาคนี้เขากลับไม่ใช่ตัวดำเนินเรื่องอย่างที่ควรจะเป็น เขากลายเป็นตัวประกอบที่แทบไร้บทบาทสำคัญ เหมือนหนูตัวหนึ่งที่วิ่งไปวิ่งมาท่ามกลางสงครามเท่านั้น ซึ่งก็ต้องยอมรับแต่แรกแหละว่า ถ้าเลือกจะแยกภาคซะสามภาคขนาดนี้ ภาคสงครามก็ต้องยอมให้ความสำคัญของเรื่องตกไปอยู่ที่ราชาคนแคระ ไม่ใช่หัวขโมย Hobbit เหมือนตอนระหว่างการเดินทาง
ตัวละครอีกตัวนึงที่มาขโมยซีน Hobbit ของเราในภาคนี้ก็คือ Alfrid (Ryan Gage) ที่ในภาค The Hobbit: The Desolation of Smaug นั้น เขาออกมาไม่กี่นาที จนเราจำแทบไม่ได้ว่านางเป็นใคร มาจากไหน แต่ในภาคนี้ เราจะได้เห็นนางโผล่ไปโผล่มาเกินความจำเป็นอย่างน่ารำคาญตลอดทั้งเรื่อง ซึ่งทั้งนี้ อาจเป็นความตั้งใจของผู้กำกับฯ ที่อยากให้มีตัวตลกในเรื่อง เพราะไม่อยากให้หนังเป็นสงครามที่ซีเรียสเกินไป (เพราะในภาคก่อนหน้า The Hobbit จะเป็นหนังไปทางโลกสวยใสๆ เน้นผจญภัยขำๆ และความแฟนตาซี มากกว่าขายฉากสงครามมหากาพย์แบบภาคนี้)
แต่จริงๆ เราว่า ให้แก๊งคนแคระเป็นตัวตลกของเรื่องแบบเดิม มันก็น่ารักในแบบฉบับของมันดีอยู่แล้ว สำหรับเรา หนังขาดเสน่ห์ลงไปมากจริงๆ เมื่อคนแคระทั้งหลายถูกลดบทบาทลงไปแบบสิ้นเชิง และเมื่อความเจ้าเล่ห์ขี้ขโมยของเจ้าตีนโตถูกดร็อปลง
นอกจากนี้ ความสำคัญของบิลโบก็ถูกแบ่งไปให้เอลฟ์สาว Tauriel ที่ไม่รู้ทำไมผู้กำกับฯ ถึงดันให้มีบทบาทเสียเหลือเกิน ทั้งบทบู๊ก็ให้เป็นเอลฟ์สาวที่เก่งกล้าและกล้าหาญ ทั้งบทรัก ก็ให้นางเป็นเอลฟ์ที่มีความเป็นมนุษย์สูงกว่าตัวละครอื่นๆ จนรวมๆ เด่นกว่าเลโกลัสสุดหล่อเสียอีก หรือผู้กำกับฯ ต้องการมีบทบาทเป็น feminist กับเขาบ้าง เชิดชูคาแรกเตอร์หญิงให้เป็นวีรสตรี แบบหนังดังที่ประสบความสำเร็จหลายเรื่องตัวละครเอกเป็นผู้หญิงอย่าง Katniss Everdeen ใน The Hunger Games กับ Tris ใน Divergent เป็นต้น
ไหนๆ ก็ไหนๆ เรื่อง Legolas ก็เป็นอีกข้อติที่เราขอบ่นเป็นการส่วนตัว มันคือความน่าเสียดายที่ในภาคนี้บทบาทและความเท่ของเขาถูกลดลงไปมาก ถึงแม้ฉากที่เขาออกมาหลายฉาก ก็เท่ระเบิดระเบ้อไปน้อยไปกว่าใคร แต่ในฉากนั้น ก็ยังมีความตลกที่ไม่เมคเซนส์ ซึ่งทำให้ความขลังของเอลฟ์หนุ่มของเราดร็อปลงไปเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้มีทางแก้ไขคือ สร้างหนังเดี่ยวให้ Legolas ภายใต้ชื่อว่า “The Elf“ รับรองว่าเรทติ้งต้องกระฉูดไปทั่วไตรภูมิ (สนองตัณหาส่วนตัวมากๆ #ทีมเอลฟ์)
ส่วนสิ่งที่เป็นข้อดีของ The Hobbit: The Battle of the Five Armies ก็คงเป็นเรื่องของการแสดงอันทรงพลังของนักแสดงทั้งหลาย แล้วก็ภาพสวยๆ CG อลังการงานสร้าง ที่เลอค่าแก่การดู 3D แบบ HFR อย่างยิ่ง (HFR = High Frame Rate หรือระบบการฉายภาพ 48 เฟรมต่อวินาที) บอกเลยว่า ภาพสวยมาก ตื่นตาตื่นใจ สมทุนสร้าง $250M (ประมาณ 8 พันล้านบาท) ฉากสงครามในช่วง 45 นาทีสุดท้าย ก็สนุกเต็มอิ่ม ลุ้นจิกเบาะ ไม่น่าเบื่อแบบตอนปูเรื่องแรกๆ (แถมแอร์ในโรงหนังก็หนาวสมกับฉากต่อสู้ท่ามกลางหิมะและน้ำแข็งมากๆ ค่ะ!) จึงทำให้เรารู้สึกโอเค ไม่เสียดายเวลาและค่าตั๋วเลยสักนิด
ป.ล. เจ้าของบทความอยู่ #ทีมเลโกลัส ค่ะ อิอิ
สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าจะร้ายหรือดีอย่างไร สงครามห้าทัพจบลงในที่สุด แต่คนที่ได้มหาสมบัติมากที่สุด… ไม่ใช่คนแคระ… ไม่ใช่เอลฟ์… ไม่ใช่ออร์ค… ไม่ใช่พ่อมด…. ไม่ใช่ฮอบบิต… คนที่รวยที่สุดในตอนจบของเรื่อง ไม่ใช่ใครอื่น แต่คือ Peter Jackson ผู้กำกับฯ The Hobbit ไตรภาคคนนี้นี่เอง…
“The Hobbit 3: สงครามห้าทัพ…กับฮอบบิทที่หายไป” เข้าฉายแล้ววันนี้ทุกโรงภาพยนตร์!
64 comments