ความเดิมตอนที่แล้ว (จากท้ายเรื่อง The Hunger Games: Catching Fire)
หลังจาก Katniss Everdeen (Jennifer Lawrence) ยิงธนูทำลายสนามแม่เหล็กของ Arena ในการแข่งขัน Quarter Quell ครั้งล่าสุด ประชาชนประเทศ Panem ต่างฮึกเหิม ลุกขึ้นมาเป็นกบฏต่อ Capitol และก่อการจราจลวุ่นวายแทบทุก District
District 12 ซึ่งเป็นบ้านเกิดของ Katniss ถูกระเบิดทำลายล้างบางไม่เหลือซาก แต่ Gale Hawthorne (Liam Hemsworth) ช่วยชาวบ้านหนีรอดออกมาทันได้กลุ่มหนึ่ง รวมถึง Primrose น้องสาวของ Katniss (Willow Shields) และแม่ของพวกเธอ (Paula Malcomson) ด้วย
โดย Gale พาทุกคนอพยพไป District 13 ซึ่งตามหลักแล้วถือเป็นเขตที่ถูก Capitol ล้างบางไปตั้งแต่ 75 ปีก่อน แต่ตามความเป็นจริง ที่เขตนี้ยังมีผู้รอดชีวิตกบดานและฝึกซ้อมรบอย่างเงียบๆ อยู่ในฐานลับใต้ดินมาโดยตลอด ภายใต้การนำของ President Alma Coin (Julianne Moore จาก Magnolia, Psycho, Don Jon ฯลฯ)
ทางด้าน Katniss ก็ได้รับการช่วยเหลือตามแผนการณ์ของหัวหน้าเกมเมคเกอร์ Plutarch Heavensbee (Philip Seymour Hoffman) และพี่เลี้ยงขี้เมา Haymitch Abernathy (Woody Harrelson) พร้อมกับ Tribute อีกสองคนที่ร่วมมือกันมาแต่แรก ได้แก่ Finnick Odair สุดหล่อจาก District 4 (Sam Claflin) และ Beetee อัจฉริยะสุดเนิร์ดแห่ง District 3 (Jeffrey Wright) รวมถึง Effie Trinket (Elizabeth Banks) พี่เลี้ยงจาก Capitol ของ Katniss ด้วยอีกคน
ส่วน Peeta Mellark (Josh Hutcherson) ดูโอคู่รักของ Katniss นั้น ถูก President Snow (Donald Sutherland) จับตัวไปกักขังไว้ใน Capitol พร้อมกับ Johanna Mason สาวแกร่งจาก District 7 (Jena Malone) และ Annie Cresta (Stef Dawson) แฟนสาวของ Finnick
ความย่อในตอนนี้ (The Hunger Games: Mockingjay – Part 1)
หลังจากที่ได้กลับไปเห็นซาก District 12 ที่ถูก Capitol ทำลายล้างเองกับตา Katniss ก็ตัดสินใจตกลงเป็น Mockingjay หรือหุ่นเชิด… สัญลักษณ์การก่อกบฏล้มล้าง Capitol ให้กับ President Coin และ Plutarch โดยมีเงื่อนไขว่าต้องไปช่วย Peeta, Johanna และ Annie ออกจาก Capitol ให้เธอด้วย
สงครามใน The Hunger Games: Mockingjay – Part 1 นี้ ไม่ได้พะบู๊หรือยิงราฆ่าฟันกันฉะๆ แต่ส่วนใหญ่เป็น Propaganda War หรือสงครามที่ใช้สื่อเป็นอาวุธตอบโต้กันนั่นเอง
โดยทาง District 13 มี Katniss เป็นเครื่องมือปลุกระดมกบฏจากทั่วประเทศ ผ่านการเผยแพร่ภาพหนังสั้นที่กำกับการถ่ายทำโดย Cressida สาวชิคจาก Capitol (Natalie Dormer จาก Captain America, Rush และซีรีส์ Game of Thrones) ส่วนทาง Capitol ก็ใช้ Peeta เป็นอาวุธต่อสู้กับพวกกบฏผ่านทางรายการของ Caesar Flickerman (Stanley Tucci) เช่นกัน
วิเคราะห์ Mockingjay ควรแบ่งเป็นสองพาร์ทหรือไม่?
เนื่องจาก The Hunger Games เป็นหนังที่สร้างจากหนังสือสามภาคจบ (Triology) และทางผู้สร้างหนังก็คงอยากเจริญรอยตาม Harry Potter and the Deathly Hallows และ The Twilight Saga: Breaking Dawn ที่หั่นเป็นสองตอนจบ แล้วทำรายได้ถล่มทลาย เขาจึงหั่น Mockingjay เป็นสองพาร์ทจบบ้าง ด้วยเหตุผลเรื่องรายได้และผลกำไร (แน่นอนว่า ด้วยภายใต้ข้ออ้างว่า หนังอยากเก็บรายละเอียดของหนังสือให้ได้มากที่สุด)
ในหนังสือของทุกภาค Suzanne Collins เขียนแบ่งแต่ละภาคเป็น 3 พาร์ทอยู่แล้ว พาร์ทละ 9 บทเท่าๆ กัน (ย้ำว่าผู้เขียนใช้ระบบ 3 พาร์ท พาร์ทละ 9 บทแบบนี้กับทุกเล่มทุกภาคของหนังสือซีรีส์ THG) แต่เกณฑ์ในการแบ่งพาร์ทจะค่อนข้างชัดเจนอย่างเป็นระบบ ดังนี้
- The Hunger Games ภาคแรก แบ่งเป็น 3 พาร์ท ได้แก่
- The Tributes (เล่าช่วงก่อนแข่งใน arena)
- The Games (เล่าช่วงที่อยู่ใน arena)
- The Victor (เล่าช่วงที่ Katniss กับ Peeta มาร่วมมือช่วยเหลือกัน)
- Catching Fire แบ่งเป็น 3 พาร์ท ได้แก่
- The Spark (เล่าช่วงก่อนจะรู้ว่าต้องกลับไปแข่งอีก)
- The Quell (เล่าการเตรียมตัวไปแข่งและอื่นๆ ก่อนเข้าไปใน arena)
- The Enemy (เล่าช่วงหลังการปล่อยตัวขึ้นไปสู่ arena ที่เต็มไปด้วยน้ำ)
- Mockingjay แบ่งเป็น 3 พาร์ท ได้แก่
- The Ashes (ตั้งแต่ตอน Katniss กลับบ้านเก่าจนถึงตอน Peeta เตือน Katniss กับ District 13 ออกอากาศ)
- The Assault (ยังอยู่ในหนัง Part 1 ดำเนินมาถึงแค่ตอนเพิ่งช่วย Victors ออกจาก Capitol ได้หมาดๆ)
- The Assassin (อยู่ในหนังพาร์ท 2 ทั้งหมด)
จากหนังสือภาคสุดท้าย จำนวน 27 บท หนัง Part 1 ตัดมาเพียงแค่ถึงช่วงประมาณกลางๆ บทที่ 13 ในหนังสือเท่านั้น ส่วนอีก 14 บทที่เหลือก็ต้องรอบทสรุปใน Part 2 ต่อไป โดยทั้งสองพาร์ท เวลาฉายห่างกันถึงหนึ่งปีเต็ม
โดยส่วนตัวแล้วมองว่าหนังสือเล่มหนึ่งๆ หรือหนังสือภาคหนึ่งๆ นั้น ผู้เขียนคงถักทอร้อยเรียงเรื่องเป็นโครงที่สมบูรณ์พร้อมในตัวอยู่แล้ว สำหรับ The Hunger Games นี่ก็เช่นกัน ถึงแม้ผู้เขียนจะแบ่งหนังสือแต่ละเล่มเป็น 3 พาร์ทอย่างไร แต่ส่วนใหญ่พาร์ทแรกในหนังสือนั้น เป็นเพียงแค่การปูเรื่องก่อนไปถึงช่วงสนุกๆ ในพาร์ท 2-3 เท่านั้น
ไม่เชื่อลองทบทวนพาร์ทแรกของหนังสือแต่ละเล่มดู ตั้งแต่ The Tributes ในภาคหนึ่ง จนถึง The Spark ในภาคสอง เราจะเห็นว่า ถ้าเปรียบเทียบกับฉากในหนังจริงๆ เนี่ย พาร์ทแรกของหนังสือแต่ละเล่มนั้น อย่างมากก็ถูกเล่าแค่ช่วงครึ่งชั่วโมงแรกของหนังเท่านั้นเอง และนั่นก็ไม่ได้ทำให้ความสนุกของหนังด้อยลงไปจากในหนังสือเลย
(ถึงแม้เนื้อหาในหนังสือจะต้องถูกตัดทอนหรือบิดเบือนบ้างบางส่วนก็ตาม แต่นั่นก็เป็นสัจธรรมที่เกิดขึ้นกับหนังที่สร้างจากหนังสือทุกเรื่องอยู่แล้ว สมัยนี้คนดูส่วนใหญ่เข้าใจและยอมรับได้…ถ้ามันไม่เลวร้ายจนเกินไป)
และในภาคสามนี่อีกก็เช่นกัน การที่ผู้กำกับฯ เลือกแบ่งภาคจบเป็นสองพาร์ท และตัดเอาหนังสือแค่ 13 บทแรกมาทำหนัง Part 1 ก่อนนั้น ย่อมทำให้หนัง “แทบไม่มีอะไรนอกจากการปูเรื่องเรื่อยๆ เอื่อยๆ” เลย
ถ้าผู้กำกับฯ หนังหลายภาคจบเรื่องไหน ใช้ข้ออ้างว่า “แบ่งหนังภาคจบเป็นสองพาร์ท เพื่อเก็บรายละเอียดของหนังให้ครบถ้วนมากที่สุด”
เราเป็นคนหนึ่งที่จะขอเถียงขาดใจว่า การทำหนังภาคจบเป็นสองพาร์ทในลักษณะแบบนี้ ไม่ใช่การรักษาคงไว้ซึ่งรายละเอียด หากแต่สิ่งที่ผู้ชม (ซึ่งต้องซื้อตั๋วสองรอบสำหรับหนังสองพาร์ทจบ) จะได้นั้น คือพาร์ทแรกจะมีแต่การปูเรื่องเท่านั้น ดังนั้น คิดดูดีๆ การเล่าเฉพาะส่วนที่ปูเรื่องนี้ เป็นคำตอบของการแบ่งหนังภาคจบเป็นสองพาร์ทย่อยจริงๆ หรือ?
ถ้าอยากเก็บรายละเอียดหรือลงลึกยิบย่อยให้เยอะที่สุด เพื่อแฟนหนังสือจริงๆ ล่ะก็ คนสร้างหนังสามารถทำหนังให้สนุกได้ในม้วนเดียวจบ อาจจะเป็นความยาว 3 ชั่วโมง แบบ Titanic, The Lord of the Rings, หรือ Interstellar แต่ก็ยังไม่น่าเบื่อถ้าหากทำหนังออกมาดีจริงๆ
รีวิว The Hunger Games: Mockingjay – Part 1
สืบเนื่องจากประเด็นข้างต้น เราขอรีวิวโดยสรุปว่า Mockingjay – Part 1 เหมือนหนังที่มาเสิร์ฟออเดิร์ฟหลายๆ จานให้คนดูกิน จานละ 2-3 คำ เพราะทั้งม้วนมีแต่การปูเรื่อง พยายามเล่ารายละเอียดยิบย่อยมากเกินไป ผลออกมาคือคนดูได้แตะรายละเอียดนั้นๆ อย่างละนิดอย่างละหน่อย ชิมจาน A ได้ไม่เท่าไหร่ บริกรก็ยกเก็บไป แล้ววางจาน B มาให้ชิมต่อแทน แล้วสักพักก็ยกไปอีก บางจานยังไม่ทันดมด้วยซ้ำ ก็ยกไปละ เป็นแบบนี้ตั้งแต่ต้นจนจบเรื่องขึ้น end credit
ถึงแม้โปรดักชั่นโดยรวมจะทำได้ดีสมราคาคุ้มทุนสร้าง แต่ความสนุกยังถือว่าต่ำกว่ามาตรฐานที่เคยทำไว้ในสองภาคแรก เพราะรวมๆ คือยังสนุกไม่สุด ไม่มีจุดพีค และไม่มีฉากประทับใจให้จดจำเหมือนภาคก่อนๆ
อ๋อ ฉากที่จดจำของเราคือ เพลง The Hanging Tree ที่ Katniss ร้อง ชอบมาก เพราะและเข้ากับสถานการณ์ในเรื่องดี ตอนที่พวกกบฏร้องเพลงนี้ก็ชอบ ฟังแล้วรู้สึกขนลุกและไฟท่วมไปกับเขาด้วย โดยเพลงนี้มีอยู่จริง ในหนังสือ Suzanne Collins ก็เขียนไว้เป็นเนื้อเพลงเลยในบทที่ 9 ว่า Katniss ร้องเพลงนี้ เพราะเป็นเพลงที่พ่อของเธอเคยร้องสมัยยังมีชีวิตอยู่
(คลิก ฟังตัวอย่างเพลง The Hanging Tree เวอร์ชั่น Jennifer Lawrence)
นอกจากนี้ก็คงเป็นเรื่องของตัวละครและนักแสดง คือเราดูภาคนี้แล้วรู้สึกรักตัวละครมากขึ้น ตัวละครส่วนใหญ่ดูมีพัฒนาการ โดยเฉพาะพี่เลี้ยงทั้งสองของ Katniss ที่คนนึงก็เลิกเหล้า คนนึงก็เลิกโบ๊ะ ทั้งสองตลกดีมีเสน่ห์ เป็นสีสันให้กับเรื่องราวที่แสนเอื่อยได้พอตัว
(คลิก ดูคลิปอุ่นเครื่องฉากประชุม Whiteboard ระหว่าง Haymitch และ Effie จากในหนัง The Hunger Games: Mockingjay – Part 1)
นักแสดงหญิงทุกคนทำหน้าที่ของตัวเองได้ดี ตั้งแต่ Jennifer Lawrence เจ้าของตุ๊กตาออสการ์ดารานำหญิงยอดเยี่ยม ก็ยังคงเพอร์เฟ็กต์และคุมเกมเสมอกับบทสาวน้อยผู้มากับไฟ แต่อาจดร็อปลงนิดหน่อยเพราะภาคนี้มีนักแสดงตัวแม่อย่าง Julianne Moore และนักแสดงดาวรุ่งหญิงคนสวยอย่าง Natalie Dormer มาร่วมซีนด้วย (โดยเฉพาะคนหลังนี่ทรงผมชิคมาก แทบลืมลุคสวยสง่าของนางกับบทควีนใน GoT ไปเลย)
สำหรับนักแสดงชาย ทุกคนโอเคหมด ตั้งแต่รุ่นปู่ยันรุ่นเรา ยกเว้นก็แต่น้องชาย Thor หรือ Liam Hemsworth (ไม่ใช่ Loki) ที่อุตส่าห์มีบทบาทเยอะขึ้นมาก แต่ยังรู้สึกไม่มีพาวเวอร์ทางการแสดงเท่าไหร่ ยิ่งต้องเข้าฉากประกบเจ๊ JenLaw ทั้งเรื่องก็ยิ่งจบเห่ แต่โชคดีที่ยังอาศัยหน้าหล่อๆ และหุ่นเท่ๆ กู้ชีวิตไปได้ ในขณะที่ Josh Hutcherson ดูเล่นได้มีชีวิตสมจริงมากกว่า ทั้งๆ ที่ในภาคนี้เขามีบทน้อยนิด แต่ก็สะกดคนดูได้ทุกซีน น้องเตี้ยเอาอยู่
ส่วนเรื่องอื่นๆ เราไม่อินเท่าไหร่ เพราะทุกประเด็นในเรื่องดูเป็นออเดิร์ฟไปเสียหมด ทั้งปมความรักและปมการเมือง ดูลอยไปลอยมา เบาโหวงกว่าที่ควรจะเป็น สรุปคือคนดูไม่อิน ดราม่าอะไร?
อย่างไรก็ตาม ความสนุกที่ด้อยกว่าภาคอื่นๆ ของ The Hunger Games: Mockingjay – Part 1 ไม่เกี่ยวกับฉากบู๊ที่น้อยกว่าแต่อย่างใด เพราะเรารู้ดีอยู่แล้วว่า The Hunger Games ไม่ใช่หนังบู๊ และเข้าใจดีว่าสงครามใน Mockingjay เป็นสงครามแบบ Propaganda (ซึ่งเอาจากใจ เราชอบประเด็นสงครามออกสื่อแบบนี้นะ)
แต่ถ้ามองว่าภาคนี้พาร์ทนี้ “เป็นหนังปูเรื่องเฉยๆ จริงๆ” ก็นับว่าปูเรื่องได้โอเค แต่ก็ไม่ถึงกับทำให้อยากดูภาคต่อทันที (ถึงแม้ใจเราจะอยากรู้บทสรุปใจจะขาดก็เถอะ แต่นั่นก็อยากรู้เพราะเนื้อเรื่องที่ Suzanne Collins เขียนไว้ ไม่ใช่เพราะสิ่งที่หนังบิ้วท์มาเลยแม้แต่น้อย)
แต่อย่างไรก็ดี ก็ยังอยากให้คนไทยทุกคนลองไปดูกัน เพราะสถานการณ์ประเทศ Panem ในเรื่อง มีความคล้ายกับสถานการณ์การเมืองไทยในปัจจุบันหลายอย่างเลยทีเดียว
นอกจากนี้ แนะนำเพิ่มเติมว่า ถ้ามาดู The Hunger Games: Mockingjay – Part 1 ควรดูภาคก่อนๆ มาก่อน โดยเฉพาะ The Hunger Games: Catching Fire (ภาคสอง) เพราะมิเช่นนั้นอาจงงได้ว่าใครเป็นใคร
และก็สำหรับภาคนี้ไม่จำเป็นต้องโรง 4DX ก็ได้ เพราะอย่างที่บอก มันบู๊ไม่เยอะ ยิงตูมตามเท่าที่เห็นในเทรลเลอร์เท่านั้นแหละ (แต่ในเทรลเลอร์ ฉากเขื่อนแตกนี่อลังจริงอะไรจริง)
เอาเป็นว่า อย่าคาดหวังมาก รอกินเมนคอร์สเต็มๆ ใน The Hunger Games: Mockingjay – Part 2 ดีกว่าจ้ะ
May the odds be ever in your favor.
READ MORE:
24 comments
ชอบช่วงเพลง the hanging tree และตอนที่แคทนิสไป District 8 มากค่ะ ขนลุก