เมื่อ Seven Samurai ฉบับปี 1954 ของ Akira Kurosawa ได้รับการรีเมคโดย Antoine Fuqua ผู้กำกับฮอลลีวูด (จาก Olympus Has Fallen, The Equalizer, Southpaw) ซามูไรของญี่ปุ่นจึงถูกเปลี่ยนเป็นคาวบอยตะวันตก และตั้งนามกรใหม่ว่า The Magnificent Seven
เรื่องย่อ The Magnificent Seven
ชาวบ้านผู้ตั้งรกรากที่หมู่บ้าน Rose Creek กำลังตกระกำลำบาก เนื่องจากที่ดินกำลังจะถูกนายทุนหน้าเลือด Bartholomew Bogue (Peter Sarsgaard จาก Orphan) เข้ายึดโดยมิชอบ และฆ่าผู้ชายในหมู่บ้านกว่าครึ่งโหล
ม่ายสาว Emma Cullen (Haley Bennett จาก The Girl on the Train) ว่าจ้าง Sam Chisolm (Denzel Washington จาก Flight และ The Equalizer) นักล่าค่าหัวมืออาชีพและอดีตทหารจาก Civil War (1861-1865) เพื่อเรียกความยุติธรรมกลับคืนและชำระแค้นที่ Bogue ฆ่าสามีของเธอ ซึ่งต่อมา Chisolm ระดมทีมฝีมือพระกาฬมาอีก 6 คน ได้แก่…
- Faraday (Chris Pratt จาก Guardians of the Galaxy และ Jurassic World) ชาวไอริชขี้เมา
- Goodnight Robicheaux (Ethan Hawke จาก Before Sunrise และ Boyhood) อดีตทหารเก่าซึ่งเป็นโรค PTSD จากการรบในสงครามกลางเมือง
- Billy Rocks (Byung-hun Lee จาก Terminator Genisys และ G.I. Joe) คู่หูชาวเอเชียของ Goodnight
- Vasquez (Manuel Garcia-Rulfo) คนร้ายมีค่าหัวชาว “Texican” ของ Chisolm
- Red Harvest (Martin Sensmeier) ชนเผ่าอินเดียแดงซึ่งเป็น Native American แท้ ๆ
- และ Jack Horne ผู้เป็นอดีตนักล่าคนผิวแดง (Vincent D’Onofrio จาก Jurassic World)
รีวิว วิเคราะห์ วิจารณ์ The Magnificent Seven
ถ้าพูดถึงหนังแอ็คชั่นในยุคนี้ หลายคนคงจะนึกถึงนักฆ่าแนวมือปืน เครื่องจักรเครื่องยนต์ สนามรบ หรือไม่ก็พวกมนุษย์ทดลองหรือมนุษย์กลายพันธุ์ไปเลย พูดอีกแง่คือ ปัจจุบันอาจไม่ใช่ยุคของหนังคาวบอยอย่างหลายสิบปีก่อนแล้ว หนังคาวบอยจึงอาจจะดูเชยหรือเป็นหนังนอกสายตาของคนรุ่นใหม่ยุคนี้
แต่เราบอกเลยว่า The Magnificent Seven เป็นหนังแอ็คชั่นคาวบอยที่ไม่เชยเลย ซีนบู๊มันอย่างมีสไตล์ โดยเฉพาะซีนต่อสู้ที่เป็นไคลแมกซ์ใหญ่ของเรื่องช่วงท้ายนี่ยิ่งมันระเบิดระเบ้อ รับรองเลยว่าคอหนังบู๊แอ็คชั่นต้องฟินกันเต็มอิ่มแน่นอน ห้ามพลาด!
ด้วยความที่ The Magnificent Seven เป็นหนังเกี่ยวกับยุคคาวบอย หรือช่วงหลัง Civil War ของอเมริกาได้ไม่นาน และเป็นหนังรีเมคจากต้นฉบับของญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 1954 ดังนั้นพล็อตหลัก ๆ ของหนังอาจไม่ได้แปลกใหม่อะไร เนื้อเรื่องก็ทั่วไป
บางจังหวะดูไปก็นึกถึง The Hateful Eight ของ Quentin Tarantino ที่เพิ่งดูไปเมื่อต้นปี 2016 แต่เรื่องนั้นมัน 8 คนรวมตัวกันอย่างฝนตกขี้หมูไหล ส่วนเรื่องนี้มันเป็นการรวมตัวกันในลักษณะของการรวมทีมฮีโร่ 7 คน (และสตรีอีก 1 นาง) ที่ช่วยกันต่อสู้และพิทักษ์ประชาชนในหมู่บ้าน ถ้าเป็นของไทยก็อาจจะละม้ายคล้ายบางระจัน ประมาณนั้น
ตัวละครหลักของ The Magnificent Seven ทั้ง 7 คน รวมถึงอีก 1 หญิงสาวซึ่งเป็นนายจ้างนั้น ต่างก็มีคาแรกเตอร์ที่มีสไตล์ชัด และที่สำคัญคือ… มีความหลากหลายทางเชื้อชาติและปูมหลัง ไม่ว่าจะเป็นทหารฝ่ายเหนือ ทหารฝ่ายใต้ คนผิวสี คนผิวขาว คนผิวเหลือง คนผิวแดง และคนเม็กซิกัน แต่ที่ได้ซีนที่สุดต้องยกให้ Chris Pratt ที่ยังคงโดดเด่นกับลุคขี้เล่นอารมณ์ดีของเขาเช่นเดิม
จะเห็นได้จากในหนังว่า สิงห์ทั้งเจ็ดคนต่างก็แตกต่างกัน แต่พวกเขาก็เป็นมิตรที่ดีต่อกันได้เมื่อมีเป้าหมายเดียวกัน… ดังนั้น ความแตกต่างอาจไม่ใช่ปัญหาใหญ่ คนเราไม่จำเป็นต้องเหมือนกันไปทั้งหมดอยู่แล้ว บางครั้งเรามีแค่บางอย่างหรืออย่างเดียวที่เหมือนกัน เราก็เป็นเพื่อนกันได้ สิ่งนั้นอาจจะเป็นภาษา หรือบางครั้งสิ่งนั้นอาจจะเป็น “ความดี” หรือ “ความเป็นมนุษย์” ที่เราพึงมีเหมือนกัน
บางคนอาจคิดว่า ความแตกต่างทางเชื้อชาติทำให้คนทะเลาะกันหรือเกลียดกัน แต่เราว่ามันก็แค่ส่วนหนึ่งนั่นแหละ มันเหมือนเป็นธรรมชาติไปโดยปริยายแล้วว่า มนุษย์เราชอบเหยียดคนที่แตกต่างจากเรา เช่น ในหนังเรื่องนี้ เราก็จะเห็นตั้งแต่คนผิวขาวเหยียดคนผิวสี หรือคนผิวแดงเหยียดคนผิวขาว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นมันอยู่ที่การปรับตัวและเรียนรู้วัฒนธรรมกันและกันนั่นแหละ นอกจากนี้ เราก็น่าจะเห็นกันแล้วเนอะว่า ไม่ว่าจะเชื้อชาติอะไร สีผิวอะไร หรือพูดภาษาอะไร มันก็มีทั้งคนดี คนชั่ว หรือเห็นแก่ได้ มาทุกยุคทุกสมัย
นอกจากเหยียดทางเชื้อชาติแล้ว เราก็ยังเห็นประเด็นเหยียดเพศในหนังด้วยนิดหน่อย อาจจะไม่ได้ชัดมาก แต่ก็มี เช่น นางเอกที่ยิงปืนไกลแม่น ก็ยังไม่ค่อยได้รับการสนับสนุนจากผู้ชายให้ถือปืนหรือออกมารบแนวหน้าสักเท่าไหร่ บทบาทส่วนใหญ่ของผู้หญิงในหนังหรือในยุคนั้นจึงไม่พ้นบทบาทเมีย แม่ หรือโสเภณี
อีกอย่างหนึ่งที่เราชอบ ณ ขณะที่ดู The Magnificent Seven นอกเหนือจากฉากบู๊และความกวนตีนของตัวละครคือ เราได้ระลึกประวัติศาสตร์อเมริกา เช่น คนขาวเข้ามาล่าอาณานิคมและชิงแผ่นดินอเมริกาจากพวกชนเผ่าอินเดียนซึ่งเป็นเนทีฟไป มิหนำซ้ำยังมีการล่าค่าหัวพวกอินเดียแดงอีกต่างหาก
วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวตะวันตกในยุคนั้นนั่นก็ด้วย เราก็จะได้เห็นจากหนังเรื่องนี้ด้วย ในหมู่บ้านคาวบอยนั้นมีโบสถ์เป็นศูนย์กลางของหมู่บ้าน เวลามีปัญหาทุกข์ร้อน ชาวบ้านก็จะมาโบสถ์ มาสวดขอกับพระเจ้า รอบ ๆ โบสถ์เต็มไปด้วยร้านรวงมากมาย ประเภทละร้านสองร้าน เช่น ร้านขายของชำ ธนาคาร ร้านซักรีด ร้านอาหาร โรงแรมและซ่อง ร้านขายปืนกับกระสุน ร้านต่อโลงศพ ฯลฯ มันทำให้เรานึกพ่วงไปถึงประเด็นธุรกิจและ “ทุนนิยม”
ยกตัวอย่างอย่างง่ายที่สุด คือ ในยุคนั้น ร้านขายปืนกับกระสุนและร้านโลงศพน่าจะล่ำซำ เพราะคนปล้นฆ่าแกงกันและมีคนตายเป็นเบือทุกวันจนเป็นเรื่องปกติ โดยอาวุธปืนเป็นสิ่งที่คนอเมริกาในยุคนั้น obsess มาก (เอาจริง ปัจจุบันก็ยัง obsess อยู่) สมัยนั้นน่าจะเหมาะกับวลี “The only way to stop a bad guy with a gun is a good guy with a gun.” อย่างแท้จริง
แต่ปัจจุบันการซื้อขายและการครอบครองปืนอาจยากขึ้นหรือซับซ้อนขึ้นมาบ้าง การยิงราฆ่าฟันกันก็ไม่ใช่เรื่องสุ่มสี่สุ่มห้าทำได้อย่างแต่ก่อนเพราะมีกฎหมายที่สตรองขึ้น ดังนั้น กิจการดังกล่าวในสมัยนี้อาจจะไม่ได้ขายดีเทน้ำเทท่าเท่าในสมัยนั้น
แต่ไม่ว่ากี่ยุคกี่สมัย ไม่ว่าเทรนด์ธุรกิจที่หมุนเวียนเปลี่ยนยังไง มนุษย์ก็ยังคงทำทุกอย่างเพื่อ “เงิน” มาตั้งแต่สมัยเงินยังไม่เป็นเงินหน้าตาอย่างทุกวันนี้ด้วยซ้ำ พูดง่าย ๆ คือ ทุนนิยมมันมีมานาน ๆ พอกับประชาธิปไตยเลยก็ว่าได้ และคนที่มีอำนาจที่สุดคือคนที่มี “เงิน” เยอะที่สุด เพราะเงินสามารถซื้อได้แทบทุกอย่าง ตั้งแต่อาวุธเทคโนโลยีสมัยใหม่ หรือกระทั่งซื้อคน
เพื่อแลกกับเงินตราและทรัพย์สมบัติ หลายคนถึงกับต้องคดโกง กดขี่ หรือยอมฆ่าคนกันเอง อาชีพนักล่าค่าหัวผุดขึ้นทั่วแผ่นดิน สงครามกลางเมืองที่คนอเมริกาด้วยกันต้องฟาดฟันกันเองในช่วงปี 1861-1865 ก็มีสาเหตุมาจากการขัดแย้งทางผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจหรือการเลิกทาสด้วยกันทั้งสิ้น มิหนำซ้ำ สงครามค้าทาสจบลง ปัญหาเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ก็ไม่จบไม่สิ้น สงครามก็ยังคงเกิดครั้งแล้วครั้งเล่า เช่น เมื่อก่อนแย่งเหมืองแร่ วันนี้ก็แย่งแหล่งน้ำมัน ชีวิตมันก็แค่นี้
โดยสรุป The Magnificent Seven เป็นหนังแอ็คชั่นคาวบอยที่คอแอ็คชั่นห้ามพลาด เพราะสนุกมากกกก พล็อตอาจจะธรรมดาและเหมือนจะเชย แต่ฉากแอ็คชั่นไม่เชยเลย ตรงกันข้ามกลับมันดีมีสไตล์อย่างยิ่ง ตัวละครมีเสน่ห์ คาแรกเตอร์หลากหลายและชัดเจน ดูเพลินมาก แฝงเกร็ดประวัติศาสตร์และสะท้อนทุนนิยมอีกต่างหาก คะแนนตามความชอบส่วนตัว 8/10
The Magnificent Seven เข้าฉาย 13 ต.ค. 2016 ในโรงภาพยนตร์ และ IMAX
43 comments