The Theory of Everything หนังเนื้อดี based on true stories ของ Stephen Hawking นักจักรวาลวิทยา (Cosmology) ผู้มีชื่อเสียงอันดับต้นๆ ของโลก และเป็นผู้เขียนหนังสือ “A Brief History of Time: From the Big Bang to Black Holes” (ปัจจุบันเขายังคงมีชีวิตอยู่ ด้วยวัย 70 ปีต้นๆ)
The Theory of Everything ดัดแปลงบทจากหนังสือ “Travelling to Infinity: My Life with Stephen“ ของ Jane Hawking ภรรยาคนแรกของ Stephen Hawking โดย Anthony McCarten และกำกับภาพยนตร์โดย James Marsh
The Theory of Everything เข้าชิงและได้รับรางวัลดังๆ มาแล้วหลายเวที เริ่มตั้งแต่ ลูกโลกทองคำ 2015 4 สาขา และได้รับรางวัล 2 สาขาใหญ่ๆ ดังนี้
- เข้าชิงและคว้ารางวัล Best Original Score
- Eddie Redmayne เข้าชิงและคว้ารางวัล Best Actor — Drama
- Felicity Jones เข้าชิง Best Actress — Drama
- เข้าชิง Best Motion Picture — Drama
ตามด้วย SAG Awards 2015 อีก 3 สาขา
- Eddie Redmayne เข้าชิงและคว้ารางวัล Performance By a Male Actor in a Leading Role
- Felicity Jones เข้าชิง Performance By a Female Actor in a Leading Role
- เข้าชิง Performance By a Cast in a Motion Picture
และสำหรับเวทีตุ๊กตาทองออสการ์ 2015 The Theory of Everything ก็เข้าชิงอีก 5 สาขา
- Best Picture
- Best Actor: Eddie Redmayne (เข้าชิงและคว้ารางวัล!)
- Best Actress: Felicity Jones
- Best Adapted Screenplay
- Best Original Score
เรื่องย่อ The Theory of Everything
ในหนังเรื่อง The Theory of Everything เริ่มเล่าเรื่องตั้งแต่ช่วงปี 1963 ซึ่งเป็นปีที่ Stephen Hawking ในวัย 21 ปี (Eddie Redmayne จาก Les Misérables และ My Week with Marilyn) กำลังศึกษาด้านฟิสิกส์อยู่ที่ University of Cambridge
เขาได้พบรักกับ Jane Wilde (Felicity Jones จาก The Amazing Spider-Man 2) นักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ด้านกวีสเปนและฝรั่งเศส ก่อนที่เขาจะล้มกระแทกพื้นหน้า Trinity Hall และพบว่าตัวเองป่วยเป็นโรค **motor neurone disease ซึ่งเป็นโรคที่จะทำให้เซลล์ประสาทและกล้ามเนื้อของเขาเสื่อมลีบและใช้การไม่ได้
**เป็นโรคจำพวกเดียวกับโรค ALS ที่พวกเราฮิตๆ ทำ “the ice bucket challenge” กันเมื่อปี 2014 (คลิกดูคลิปครอบครัว Hawking ทำ the ice bucket challenge)**
Stephen พยายามกีดกันหญิงคนรักออกจากชีวิต เพราะเขากำลังกลายเป็นคนพิการที่มีอายุอยู่บนโลกได้เพียง 2 ปีเท่านั้น แต่ Jane พิสูจน์ความรักที่มีต่อนักวิทยาศาสตร์หนุ่ม โดยการหมั้นกับเขาในเดือน ต.ค. 1964 และแต่งงานกันวันที่ 14 ก.ค. 1965
Stephen อยู่ได้นานกว่าที่หมอคาดคะเน ต่อมาเขากับ Jane Hawking มีลูกด้วยกันทั้งหมด 3 คน ได้แก่ Robert (1967), Lucy (1970), และ Timothy (1979) ตามลำดับ (แน่นอนว่าโรค MND ไม่มีผลต่อสมองและส่วน “นั้น” ของร่างกาย ยังคงทำ thesis ได้ และปั๊มลูกได้ปกติ)
ลำพังแค่ดูแล Stephen คนเดียว Jane ก็อาจจะพอไหวอยู่ แต่พอมีลูกเล็กๆ ที่ต้องดูแลไปด้วย และต้องทำวิทยานิพนธ์ไปด้วย เธอก็เริ่มเหนื่อยล้าและเครียดกับชีวิตที่เธอเคยคิดว่าไหว แม่ของเธอแนะนำให้เธอลองไปร่วมวงร้องเพลงประสานเสียงในโบสถ์ และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นพาเธอไปรู้จักกับ Jonathan Hellyer Jones (Charlie Cox จาก Stardust) พ่อม่ายหนุ่มหล่อที่เข้ามาช่วยดูแลครอบครัว Hawking
ในปลายปี 1977 Jane กับ Jonathan แอบมีใจให้กันอย่างลับๆ Jonathan กลัวคนสงสัย กลัวทำให้ Jane เสียหาย และทำให้ครอบครัว Hawking มีปัญหา เขาจึงยอมถอยออกไป แต่ Stephen ไปขอร้องให้เขากลับมาช่วย Jane
Jane had been raising three children in addition to caring for her husband. “I had two tiny babies,” says Jane. “I was running the home and looking after Stephen full time: dressing, bathing, and he refused to have any help with that other than from me” (The Observer).
ต่อมา Stephen ป่วยหนัก มีโรคปอดอักเสบแทรกซ้อน ต้องผ่าตัดหลอดลม ทำให้เขาพูดไม่ได้อีกตลอดชีวิต ต้องจ้าง Elaine Mason (Maxine Peake) พยาบาลผู้มีประสบการณ์มาช่วย Jane ดูแล Stephen ที่บ้าน และซื้อรถเข็นไฟฟ้าแบบที่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ชื่อ “Equalizer” จาก Walt Woltosz เป็นตัวช่วยพิมพ์และพูดความคิดไว้ให้ Stephen ใช้งานเพื่อการสื่อสารและเพื่อการทำงาน โดยเฉพาะการเขียนหนังสือในตำนาน “A Brief History of Time: From the Big Bang to Black Holes” สำหรับเจ้าเครื่องนี้ Stephen ออกปากเลยว่ามีประโยชน์ต่อเขามากๆ
“I can communicate better now than before I lost my voice.”
Stephen กับ Jane แยกกันอยู่ในปี 1990 และหย่าร้างกันในปี 1995 Stephen ไปแต่งงานใหม่กับ Elaine Mason (แต่ต่อมาหย่ากันอย่างเงียบๆ ในปี 2006) ส่วน Jane ก็แต่งงานกับ Jonathan ในปี 1997 โดย Stephen กับ Jane ยังคงเป็นเพื่อนที่ดีต่อกันจนถึงปัจจุบัน ช่วยกันรับผิดชอบดูแลลูกทั้ง 3 และมีหลานด้วยกันอีก 3 คน
รีวิว / วิเคราะห์ / วิจารณ์ The Theory of Everything
1. วงกลมที่วนลูป
สิ่งที่เราชอบอย่างนึงในหนังเรื่องนี้คือ “ภาพ” ไม่ว่าจะเป็นซีนที่ใส่ filter สีเก่าๆ หรือใส่ noise ให้ภาพเยอะๆ สำหรับซีนที่เป็นเสมือนซีนแห่งความทรงจำในภาพถ่ายหรือวิดีโอของ Hawking เช่น ซีนแต่งงาน เป็นต้น มันเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งที่ทำให้หนังน่าจดจำขึ้นไปอีก
แต่ด้านภาพที่ชอบมากที่สุด คือมีการใช้ภาพในเชิงอุปมาอุปไมยเปรียบเทียบกับจักรวาล กาแล็กซี หลุมดำ บิ๊กแบง ฯลฯ ถ้าเราสังเกตดูดีๆ หลายซีนในหนังมีความเชื่อมโยงหรือเกี่ยวข้องกับ “วงกลม” หรือ “การวนลูป”
เช่น พระนางจับมือกันสองข้างแล้วหมุ้นหมุนเป็นวงกลมอย่างลัลล้า พระนางเล่นม้าหมุนในงานเมย์บอล การใส่ครีมวนๆ ในถ้วยกาแฟเหมือนทางกาแล็กซี การมองเตาผิงไฟผ่านรูเสื้อไหมพรมถักเทียบกับหลุมดำในจักรวาล บันไดวนๆ ที่นางเอกเดินขึ้นที่ Cambridge ก็ให้ฟีลเหมือนกาแล็กซีแบบสไปรัล ฯลฯ (หรือจะนับล้อรถเข็น กับการปั่นจักรยานไปอีกด้วยก็ได้ตามอัธยาศัย เพิ่มระดับการมโน)
ทั้งนี้ คงเฉกเช่นเดียวกับเวลาบนหน้าปัดนาฬิกา ที่พอครบรอบก็กลับมาที่จุดเดิมใหม่ หรือจะเฉกเช่นเดียวกับทฤษฎีบิ๊กแบงของจักรวาล ที่พอระเบิดหรือดับแล้ว แต่ไม่สูญ เพียงแค่กลับไปเริ่มใหม่ที่ศูนย์ วนลูป วนลูป และวนลูป กลับไปเริ่มต้นใหม่ที่เดิม แบบนี้เรื่อยๆ เรื่อยๆ และเรื่อยๆ นี่จึงอาจจะเป็นคำตอบ (เดา) ว่าทำไมหนังจึงพยายามถ่ายทอดภาพต่างๆ โดยมีวงกลมเป็นสื่อ
“Your glasses are always dirty.”
2. Eddie Redmayne แจ้งเกิดเต็มตัว
ปกติเราดูหนังรอบสื่อ คนดูมักปรบมือให้ตอนหนังจบ จนเหมือนเป็นธรรมเนียมหรือเป็นเรื่องปกติ แต่สำหรับ The Theory of Everything เรื่องนี้เราดูในรอบฉายปกติ (แบบ sneak preview ที่ฉายจำกัดโรงและจำกัดรอบหลัง 20.00 น.) แล้วคนดูปรบมือให้ทันทีที่หนังจบ โดยเราเชื่อว่าส่วนใหญ่เขาปรบมือให้การแสดงของสุดหล่อ Eddie Redmayne
ทุกคนคงเห็นเป็นเอกฉันท์ว่าสิ่งที่ดีที่สุดใน The Theory of Everything คือการแสดงของ Eddie Redmayne (แน่นอน แท็คทีมกับ Felicity Jones) ถึงแม้บางจุดหนังจะมีรอยรั่วหรือมีช่วงที่น่าง่วงเล็กน้อย แต่การแสดงของ Eddie Redmayne ช่วยฉุดหนังให้ยังคงพีคต่อไปได้จนถึงนาทีสุดท้ายอย่างไม่มีสะดุด
ก่อนหน้านี้เราได้ดูเรื่อง The Imitation Game เห็นการแสดงของ Benedict Cumberbatch มาก่อน ตอนแรกเราจึงเชียร์ Benedict ให้ได้รางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมมาก แต่พอเห็นการแสดงของ Eddie Redmayne ใน The Theory of Everything แล้วคงต้องยอมให้ Eddie Redmayne เขาเลยจริงๆ
สำหรับเรา เราค่อนข้างเซอร์ไพรส์กับ Eddie Redmayne เพราะก่อนหน้านี้เห็นเขาใน Les Misérables เขาก็ไม่ได้โดดเด่นอะไรมากนัก (นอกจากหล่อและร้องเพลงเพราะระดับมาตรฐาน) แต่กับบท Stephen Hawking นี้ เราเห็นความสามารถและความทุ่มเทในตัวนักแสดงหนุ่มคนนี้อย่างที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน ส่งผลให้เขาได้รับรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมของลูกโลกทองคำ, SAG Awards, และออสการ์ (ชนะ Keaton จาก Birdman เก๋ๆ)
การแสดงของ Eddie Redmayne ใน The Theory of Everything มีพลัง ดูแล้วอิน อยากให้กำลังใจเขาไปตลอดเรื่อง โคตรดราม่า ร้องไห้หนักมาก เชื่อเลยว่าเขาเป็น Stephen Hawking จริงๆ เขา “nailed it มากๆ” ไม่ว่าจะการพูด แววตา ท่าทาง หรืออิริยาบถต่างๆ ไม่รู้ว่าทำได้ยังไง ทนหงิกๆ งอๆ (หรือพูดตรงๆ ก็คือง่อย) ตลอดเรื่อง ไม่เหลือเค้าตัวจริงของเขาที่โคตร smart and handsome เลยสักนิด แม้แต่ Stephen Hawking ตัวจริงเสียงจริงยังต้องยอมรับว่า “นึกว่ากำลังดูตัวเองอยู่”
“I thought Eddie Redmayne portrayed me very well,” remarked Stephen. “At times, I thought he was me. … Felicity made a very charming Jane. The film was surprisingly honest about our marriage and reflects our struggle to bring up three children, despite my disability”
จุดที่เราสงสารที่สุดในตัว Stephen Hawking ที่เราเห็นจากในหนังคือ ภาพที่ Stephen Hawking หรือ Eddie Redmayne ในสภาพที่เริ่มไม่สมประกอบดีแล้ว ตักอาหารทานเองก็ไม่ค่อยจะไหว ถูกเปรียบเทียบกับคนหนุ่มร่วมโต๊ะคนอื่นๆ ที่สามารถเฮฮาครื้นเครง ตักอาหารกินแต่ละคำด้วยความเร็วสูง ตักอาหารเผื่อแผ่เพื่อนร่วมโต๊ะ ลุกขึ้นรินและชนแก้วไวน์กันสนุกสนาน แล้วยิ่งเห็นใจเขาเข้าไปอีก ที่เขาไม่สามารถดูแล สอนเปียโน หรือวิ่งเล่นกับลูกๆ ของเขาได้อย่างเต็มที่อย่างที่พ่อทั่วไปเขาทำได้ ในขณะที่มีคนอื่นๆ สามารถเข้ามาทำหน้าที่นั้นได้สมบูรณ์กว่าเขาต่อหน้าต่อตา
(เกร็ดความรู้: เมื่อปี 2004 Benedict Cumberbatch ก็เคยแสดงเป็น Stephen Hawking เช่นกันในภาพยนตร์โทรทัศน์ เรื่อง Hawking)
3. จักรวาลวิทยา
ในหนัง มีการ mention ถึง Kip Thorne นักฟิสิกส์และจักรวาลวิทยาชื่อดัง (เขาพนันเรื่องทฤษฎีหักล้างอะไรสักอย่างกับ Stephen Hawking) เขาเป็นเพื่อนในวงการของ Stephen Hawking นี่แหละ แต่ถ้าจะให้ทุกคนร้อง “อ๋อ” กันชัดๆ ก็คือ… Kip Thorne ไม่ใช่ใครอื่น เขาเป็นที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์และจักรวาลของ Christopher Nolan ในการสร้างภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ “Interstellar” เมื่อปีที่ผ่านมานั่นเอง (อ๋อ~)
แต่ก็เป็นสิ่งที่น่าเสียดายที่หนังไม่ mention ชื่อของ ศจ. Dennis William Siahou Sciama (แสดงโดย David Thewlis หรือ ศจ. Lupin จาก Harry Potter) ให้บทบาท ศจ. ท่านนี้เป็นเพียงอาจารย์ที่ปรึกษาทีซิส PhD ของ Stephen Hawking เท่านั้น ทั้งๆ ที่ท่านเป็นหนึ่งในบิดาของ modern cosmology และลูกศิษย์ลูกหาของท่านหลายคนก็เป็นบุคคลสำคัญทางด้านฟิสิกส์ของโลกมากมาย
เพื่อนพ้องร่วมรุ่นของ Stephen มีเพียง Brian (Harry Lloyd จากซีรีส์ Game of Thrones และ Jane Eyre) เท่านั้น ที่ได้รับการ mention ถึงบ่อยๆ และมีหลายซีนที่ได้รับบทค่อนข้างเด่น เพราะมีบุคลิกเป็นคนหนุ่มที่มีอารมณ์ขัน อีกทั้งยังเป็นเพื่อนสนิทและรูมเมทของ Stephen มาตั้งแต่สมัยเรียนที่ University of Oxford
(Stephen เข้าเรียนที่ Oxford ตั้งแต่อายุเพียง 17 ปี จบด้วยเกียรตินิยมอันดับ 1 และเข้าศึกษาต่อที่ Cambridge ตอนอายุเพียง 20 ปี)
“If you award me a First, I will go to Cambridge. If I receive a Second, I shall stay in Oxford, so I expect you will give me a First.”
ฉากที่เราชอบมากที่สุดของ Brian คือซีนที่เขาอุ้มเพื่อนรักขึ้นบันได เพราะน่ารักดี และอีกซีนคือซีนการบรรยายทฤษฎีสักอย่าง (ขออภัยในความโง่วิทย์) ที่หนังตัดภาพการบรรยายทฤษฎีนี้สลับกันไปมา ระหว่างซีน Stephen บรรยายบรรดานักวิทยาศาสตร์ผู้อาวุโสทั้งหลายในห้องเลคเชอร์ กับซีนที่ Brian เล่าสรุปทฤษฎีดังกล่าวของเพื่อนรักกับบรรดาคนหนุ่มๆ ในร้านเหล้าแห่งหนึ่ง โดยซีนนี้มันทำให้เกิดการเปรียบเทียบบางประการ เช่น
- พลังของคนพูดที่แตกต่างกัน ระหว่าง Stephen ที่ดูแก่หงำเหงือกและพูดอะไรก็ฟังลำบาก (นี่ให้กำลังใจเหนื่อยมากกว่าเขาจะพ่นออกมาได้แต่ละพยางค์) กับ Brian ที่ยังดูหนุ่มแน่น คึกคะนอง และดูน่าสนใจกว่า ทั้งๆ ที่กำลังพูดเรื่องเดียวกัน และเป็นเรื่องที่ Stephen ค้นพบ
- บรรยากาศของคนฟังที่แตกต่างกัน ระหว่างคนฟังของ Stephen ที่แทบ 100% เป็นผู้ทรงคุณวุฒิและวัยวุฒิ ซึ่งจะแก่ๆ นิ่งๆ และบางคนก็ดูไม่ยอมรับกับความคิดที่แตกต่างของเด็กสมัยใหม่ (โดยเฉพาะยิ่งของใหม่มันมาหักล้างหรือค้านกับของเก่าของเขา) เทียบกับคนฟังของ Brian ที่ยังเป็นนักศึกษารุ่นใหม่ คึกคัก สนุกสนาน และตื่นเต้นกับทฤษฎีใหม่ๆ ของเพื่อนร่วมรุ่น
4. พบรักบนความต่างของ Stephen กับ Jane
Stephen กับ Jane เป็นคู่รักที่ค่อนข้างแตกต่างกันคนละขั้ว Stephen เรียนวิทยาศาสตร์ Jane เรียนศิลปศาสตร์ สนใจศาสตร์กันคนละอย่าง ใช้ซีกสมองกันคนละด้าน แต่มันอาจเป็นความแตกต่างที่ช่วยเติมเต็มกันและกัน ได้แลกเปลี่ยนความรู้ของกันและกัน เปิดโลกทัศน์หรือมุมมองให้กันและกัน ที่สำคัญยังดึงส่วนที่ดีที่สุดของอีกฝ่ายออกมาได้อีกต่างหาก (อืม… การมีแฟนที่คิดอ่านหรือชอบอะไรแตกต่างจากเรา จริงๆ มันก็ไม่เลวนะ)
ถ้าเราเองเป็น Jane เราก็คงหลงในความเนิร์ดของ Stephen ได้ไม่ยากเช่นกัน อย่างเรา เราก็พอมีความรู้ด้านภาษากับวรรณกรรมพอตัวอยู่แล้ว พอได้เจอและได้ฟังคนอื่นพูดในเรื่องที่ตนเองไม่ค่อยมีความรู้ อย่างพวกวิทย์ๆ ดูบ้าง ก็น่าค้นหาและน่าสนใจดี โดยเฉพาะถ้าคนพูดคนนั้นอัจฉริยะอย่าง Stephen สามารถอธิบายฟิสิกส์ยากๆ ให้คนแขนงอื่นอย่างเราเข้าใจได้โดยง่าย เราว่าคนแบบนี้ยิ่งน่าประทับใจ
“Oh, he was great fun,” says Jane. “He was eccentric. I was really drawn to his very wide smile and his beautiful grey eyes, and I think that’s what made me fall in love with him.”
นอกจากเรื่องความรู้ความถนัดที่ Stephen กับ Jane แตกต่างกันสุดขั้วแล้ว เรื่องความเชื่อหรือศาสนา ทั้งสองก็ดูไม่น่าจะเข้ากันได้ตั้งแต่แรก Stephen เป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้เชื่อในหลักของเหตุผลเหนือสิ่งอื่นใด เขาจึงไม่เชื่อในพระเจ้า และประกาศตนเป็น atheist ในขณะที่ Jane และครอบครัวของเธอ เคร่งศาสนา นับถือพระเจ้ามาก และต้องไปโบสถ์ทุกเช้าวันอาทิตย์ แต่ทั้งสองก็ดูคบกันได้ด้วยดี จะเห็นได้ว่าตลอดเวลาที่ทั้งสองครองคู่อยู่ด้วยกันนั้น แทบไม่มีการ mention ถึงประเด็นศาสนาเลย ทั้งนี้อาจด้วยความเข้าใจและเคารพในความคิดความเชื่อของคนรักของตนนั่นเอง
การยอมรับ เข้าใจ และเคารพซึ่งกันและกัน เป็นสิ่งสำคัญพื้นฐานที่พึงมีในทุกๆ ความสัมพันธ์บนโลก เรายังรู้สึกตื้นตันกับฉากที่ Jane ได้รู้ว่า Stephen เขียนถึง “พระเจ้า” ที่เธอนับถือในหนังสือเล่มแรกของเขา มันยังทำให้เราเห็นด้วยว่า Stephen รักและเทิดทูนภรรยาคนนี้มากแค่ไหน นอกจากนี้แววตาของ Jane (จากการแสดงขั้นเทพของ Felicity Jones) ยังบ่งบอกความรู้สึกในใจของเธอ ณ นาทีนั้นได้นับหมื่นนับพัน ว่าเธอรู้สึกซาบซึ้งและดีใจแค่ไหน
เราว่าคู่นี้เป็นคู่รักตัวอย่างที่ดีในเรื่องของการยอมรับและรักทุกๆ อย่างของคนรักของเขาอย่างที่คนคนนั้น “เป็น” จริงๆ
“I had controversially shown the laws of nature suggest there is no need for a creator or God. The universe just came into existence all by itself.” -Hawking Documentary
5. ความรักของ Stephen กับ Jane ที่สวยงามเกินจริง
ความรักที่ Jane มีต่อ Stephen นั้นน่ายกย่อง ในวันที่ Stephen รู้ตัวว่าป่วย เธอมีสิทธิเดินออกไปจากชีวิตเขา และไปหาผู้ชายดีๆ คนใหม่ใน Cambridge อีกกี่คนก็ได้ แต่เธอก็ยังยืนยันว่าเธอรัก Stephen ยอมเสียสละความสุขวัยสาวสะพรั่ง และพิสูจน์ความรักที่เธอมีต่อเขาโดยการแต่งงานอยู่กินกับคนใกล้ทุพพลภาพอย่าง Stephen ถึงแม้เธอจะรู้ว่าจะมีเวลาอยู่ด้วยกันไม่มากไม่นาน เธอก็บอก “ไม่เป็นไร แค่ไหนแค่นั้น” คือมันซึ้งมากจริงๆ เรามองว่าแบบนี้สิ ความรักที่แท้จริง
มันทำให้เราลองย้อนกลับมาบอกตัวเองว่า ถ้าเราเจอคนที่ทำให้เรายอมทนและยอมทำทุกอย่างให้ได้ แม้เขาจะพิกลพิการแบบ Stephen เมื่อไหร่ล่ะก็… เราจะรักและรักษาเขาไว้ให้ดีที่สุด
“ฉันอยากให้เราอยู่ด้วยกันนานที่สุด ถ้าไม่นานก็ช่างมัน”
อย่างไรก็ตาม เราก็แอบมีความรู้สึกว่าหนังเรื่อง The Theory of Everything นี้ยังค่อนข้าง “โลกสวย” เกินจริงไปมาก การถ่ายทอดเรื่องราวประเด็นที่ละเอียดอ่อนต่างๆ ทั้งเรื่องเซ็กส์ และเรื่องมือที่สามสี่ห้า เป็นไปอย่างระมัดระวังและให้เกียรติครอบครัว Hawking อย่างมาก ตัวละครหลักแต่ละตัวล้วนมีแต่ด้าน “สีขาว” กล่าวคือทุกคนดูเก่ง เข้มแข็ง และมองโลกในแง่ดีเกินไปเสียหน่อย ซึ่งทั้งนี้เบื้องต้นอาจเป็นเพราะบทในหนังดัดแปลงมาจากหนังสือที่ Jane Hawking เป็นคนเขียนเองนั่นแหละ
แหม… Jane คงไม่เขียนให้ตัวเอง สามี หรือคนรอบข้างดูแย่อยู่แล้ว ไม่งั้นมันจะกระทบหลายอย่างในชีวิตจริงอะเนาะ และหนังก็คงไม่พูดด้านมืดของพวกเขาโฉ่งฉ่างให้เขามาฟ้องอยู่แล้วแหละ (ย้ำว่า คหสต นะจ๊ะ)
โดยส่วนตัว เราไม่ค่อยเชื่อว่า Jane Hawking ตัวจริงจะแกร่งได้ขนาดที่เราเห็นในจอภาพยนตร์ ผู้หญิงตัวเล็กๆ ที่ต้องแบกรับภาระอันหนักอึ้งขนาดนั้นจะเข้มแข็งหรือมีความอดทนสูงถึงเพียงนั้นเลยหรือ?
อย่างไรก็ดี เราบอกก่อนว่า เราไม่ได้ดูถูกศักยภาพของเพศหญิง ตรงกันข้ามเรากลับชื่นชมเธอด้วยซ้ำ ไม่ว่าเธอจะทำหน้าที่นั้นได้ดีพร้อมสมบูรณ์แบบมากน้อยแค่ไหนก็ตาม เราก็ชื่นชมในความรักอันยิ่งใหญ่ของเธอ เธอเป็นตัวอย่างที่ดีของคนเป็นเมียและเป็นแม่ที่สังคมควรมี
แต่ที่เรากังขาก็คือ มันเป็นไปได้หรือที่ชีวิตคู่ของ Hawking จะไม่เคยทะเลาะหรือผิดใจกันเลย? และประเด็นมือที่สามนั่นก็อีกเรื่อง ของจริงมันสวยงาม เรียบง่าย และลงตัวอย่างที่เราเห็นในหนังจริงๆ กระนั้นหรือ? พูดตรงๆ ซื่อๆ ก็คือ เราแค่รู้สึกว่า มันดูสวยงามและสมบูรณ์แบบเกินไป มันดูดีกว่าชีวิตคู่ของคนปกติทั่วไปหลายคู่เสียอีก
บางเสี้ยววินาที เราก็แอบคิดในแง่ลบนะว่า ตอนที่ Jane ตัดสินใจแต่งงานกับ Stephen เธอคิดว่าตัวเองคงต้องทนอยู่กับเขาแค่ 2-3 ปีหรือเปล่า แบบว่าแต่งเพราะรักไปแล้วด้วยประกอบกับสงสารด้วย คิดซะว่าทำบุญให้คนใกล้ตาย แต่คือก็ไม่คิดว่า Stephen จะพลิกล็อกอายุยืนกว่าที่คาดขนาดนี้ แล้วเอาเข้าจริงพอเธอต้องทนอยู่แบบนี้เป็นสิบปียี่สิบปี เธอก็เริ่มไม่ไหว และคงถามตัวเองในใจว่า “นี่กูคิดถูกแล้วรึเปล่าวะเนี่ย” (ย้ำอีกทีว่า คหสต นะจ๊ะ)
“When I saw Felicity on the screen, I thought, oh my goodness, that’s me,” says Jane, “because she had captured my mannerisms” (The Theory of Everything Featurette).
6. คนสำคัญของคนสำคัญ
ไม่ว่าจะอย่างไร นักวิทยาศาสตร์ นักฟิสิกส์ และนักจักรวาลวิทยาทั้งหลาย คงต้องขอบคุณ Jane ที่ทำให้ Stephen อยู่มาได้จนถึงทุกวันนี้ สร้างประโยชน์ต่อวงการวิทยาศาสตร์เหลือคณานับ เพราะถ้าไม่มี Jane ในวันนั้น Stephen ก็คงอ่อนแอ ขาดกำลังใจในการดำเนินชีวิตอยู่ต่อ และอาจจากโลกนี้ไปก่อนที่เขาจะจบด็อกเตอร์เสียด้วยซ้ำ
“Falling in love gave me something to live for,” Stephen said in the 2013 documentary Hawking. “Jane was beautiful and gentle, and seemingly undaunted by the harsh reality of my illness.”
“I was bored with life before my illness,” he said. “There had not seemed to be anything worth doing.” It wasn’t until he was faced with the realization that his life could end before he got his Ph.D. that he put much more effort into his work and research. Stephen also credits his desire to provide for Jane as a motivating factor to get his Ph.D.” (Biography.com)
พอเห็นเคส Jane กับ Stephen นี้แล้ว คงต้องบอกว่า คำกล่าวที่ว่า “Behind every successful man, there is a woman.” นั้นเป็นเรื่องจริง หรือประกอบกับเคสของ Alan Turing (ใน The Imitation Game) แล้ว ก็ยิ่งยืนยันได้อีกว่า ทุกบุคคลผู้ประสบความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ต่างมีความรักเป็นน้ำหล่อเลี้ยงทั้งสมองและจิตใจ
ทุกคนสำคัญล้วนแต่มีคนสำคัญอยู่ในใจที่ทำให้เขาอยากทำอะไรสำคัญๆ เพื่อตัวเอง เพื่อคนนั้น และเพื่อโลกที่พวกเขาอยู่ (หรือเคยอยู่) ร่วมกัน มันจริง
“There should be no boundaries to human endeavor. We are all different. However bad life may seem, there is always something you can do, and succeed at. While there’s life, there is hope.”
7. สรุป
สั้นๆ ง่ายๆ ถึงแม้เรื่องจะเอื่อยบ้างในบางช่วง ตามประสาหนังรัก และหนังอัตชีวประวัติ แต่รวมๆ แล้ว เราว่า แค่ได้ไปดูการแสดงของพระนาง แค่นี้ก็คุ้มแล้ว อินน้ำตาซึมเลยจริงๆ คะแนนตามความชอบส่วนตัว 8.5/10
เออ ไปดูเถอะ แล้วมาเขวี้ยงออสการ์ใส่หน้า Eddie Redmayne กับเรานะ จบ.
29 ม.ค. ฉายรอบ Sneak Preview หลัง 20.00 ที่สยามพารากอน และลิโด้สกาล่า ฉายจริงปกติ 5 ก.พ. 2015 นี้
ชมคลิปตัวอย่างภาพยนตร์
READ MORE:
THE THEORY OF EVERYTHING VS. THE TRUE STORY OF STEPHEN AND JANE HAWKING
101 comments