หนังลิงไตรภาค Rise of the Planet of the Apes: กำเนิดพิภพวานร (2011), Dawn of the Planet of the Apes: รุ่งอรุณแห่งอาณาจักรพิภพวานร (2014), และล่าสุด War for the Planet of the Apes: มหาสงครามพิภพวานร (2017) เป็นฉบับรีบู๊ทจากฉบับต้นฉบับ (ปี 1968)
ถ้าไม่เคยดูซีรีส์ของมันมาก่อน ก็จะพอดูรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง เพราะซีนเปิดเรื่อง เขาก็มีเขียนสรุปบรีฟ ๆ ให้อ่านก่อนเข้าเรื่อง (แต่มันก็เขียนงง ๆ) อย่างไรก็ดี เราแนะนำให้ดู Rise (2011) กับ Dawn (2014) มาก่อน จะอินกว่าและเข้าใจอะไร ๆ ง่ายกว่า (โดยส่วนตัว นี่เราก็แอบเสียใจที่ไม่ยอมดูสองภาคนั้นซ้ำเพื่อเป็นการทบทวนก่อนจะมาดู War)
หรือหากใครไม่มีเวลาหาภาคก่อนนี้มาดู อ่านบทความ สรุปเรื่องราวก่อนลิงกับคนจะมาเปิดวอร์ใน War for the Planet of the Apes ในเว็บแบไต๋ก็พอแทนกันได้อยู่
ส่วนเรื่องราวของ War for the Planet of the Apes อยู่ในช่วง apocalypse ก็ว่าได้ (ทั้งที่เหตุการณ์จริงเกิดหลังจากภาค Dawn แค่ 2-3 ปี) กล่าวคือหลังจากไวรัสลิงระบาด คนก็เริ่มเจ็บป่วยติดเชื้อ ในขณะที่วานรเริ่มฉลาดขึ้น แข็งแกร่งขึ้น มีวิวัฒนาการชัดเจนขึ้น จนเหมือนจะสามารถมาแทนที่มนุษย์ได้ (มันก็ตลกร้ายอยู่นะ ที่ลิงดูเหมือนคนมากกว่าคน และคนก็เริ่มเหมือนสัตว์เข้าไปทุกที) สงครามจึงบังเกิดขึ้นเมื่อต่างฝ่ายต่างก็ต้องการให้สปีชีส์ของตนเองอยู่รอดต่อไป
เรื่องย่อของภาคนี้เริ่มจาก Caesar (เจ้าพ่อโมแคป Andy Serkis หรือ Kong จาก King Kong และ Gollum ใน The Lord of the Rings) ต้องพาครอบครัวและฝูงลิงย้ายถิ่นที่อยู่เพื่อหลบหนีให้ห่างไกลจากพวกมนุษย์ให้มากที่สุด โดยเฉพาะพวกทหารที่ต้องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์วานร แต่ครอบครัวของ Caesar กลับถูก Colonel McCullough (Woody Harrelson จาก Now You See Me และ The Hunger Games) ฆ่าตายเสียก่อน ทำให้ Caesar ขอแยกออกจากฝูง เพื่อไปตามล้างแค้นผู้พันผู้ไร้ซึ่งความเมตตาคนนั้น
War for the Planet of the Apes ไม่ได้มีฉากบู๊แอ็คชั่นหรือฉากการต่อสู้มัน ๆ มากมายอะไร ตรงกันข้าม มันอิงจากเรื่องหนึ่งในไบเบิล ค่อนข้างหนักไปทางหดหู่และชวนเศร้าเสียด้วยซ้ำ คนดูทั่วไปบางคนจึงอาจรู้สึกว่าภาคนี้ไม่สนุกเท่าภาคก่อนหน้านี้ ดังนั้นมันจึงสำคัญที่คุณควรจะต้องเข้าใจก่อนเข้าโรงว่า นี่ไม่ใช่หนังที่จะดูเอาบันเทิงได้ และไม่ใช่เห็นว่าในหนังมีลิง ก็หอบลูกจูงหลานไปดูหนังลิง
ช่วงที่ดูสนุก ๆ มันก็มีอยู่บ้างในช่วง ‘prison break’ หรือช่วงที่เราต้องเอาใจช่วยให้เหล่าวานรสามารถหลบหนีออกจากคุกทหารได้ โดยตอนอยู่ในค่ายนี้ สิ่งที่คนทำกับวานรมันก็เหมือนคือสิ่งที่เคยเกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์มาแล้วทั้งนั้น (เห็นแล้วนึกถึงในหนังเรื่อง Unbroken ด้วย) และหนังก็พอมีความตลกอยู่บ้างด้วยตัวละครใหม่อย่าง Bad Ape (Steve Zahn) ที่ใคร ๆ ดูแล้วก็คงลืมเขาไม่ลง หรือหากใครรู้สึกว่าดูแล้วหดหู่เหลือเกิน ดูหน้าเด็กหญิง Nova (Amiah Miller จาก Lights Out) ไว้ นางน่ารักสมกับเป็นบุปฝางามใจกลางสมรภูมิยิ่งนัก
แต่คนดูทั่วไปสามารถมั่นใจได้อย่างหนึ่งว่า War for the Planet of the Apes เป็นหนังที่ภาพสวย สกอร์เพลงดีงาม งาน CG สมจริง และ motion capture (หรือเรียกสั้น ๆ ว่า mo-cap) เนียนกริ๊บไร้ที่ติ ตัวละครมีเหตุผล มีแรงจูงใจ มีมิติ และน่าเห็นใจกันทุกฝ่าย ซึ่งแค่นี้ก็การันตีได้ระดับหนึ่งเลยว่า อย่างน้อยก็ไม่เสียดายค่าตั๋ว ส่วนคอหนังคุณภาพเอง ไม่ต้องพูดถึง ไปดูเถิด ยังไง ๆ ก็ยิ่งฟิน หนังเขาดีมาก
คือมันเป็นหนังที่ต้องใช้ใจดู… หนังมัน so emotional … เน้นอารมณ์ล้วน ๆ เลย ที่เราชอบคือเขาเล่าเรื่องด้วยภาพและเสียงได้ทรงพลัง มันอิมแพคความรู้สึกจริง ๆ ตัวละครในหนังก็ไม่ต้องพูดเยอะ ทุกอย่างออกมาทางสีหน้า แววตา และการแสดงเขาออกหมด
หลัก ๆ หนังเน้นสะท้อน “ด้านมืดของมนุษย์” เวลาที่ถูกครอบงำโดย “ความเกลียดชัง ความโกรธแค้น และความหวาดกลัว” โดยการแสดงออกดังกล่าวมักออกมาในรูปแบบของความรุนแรง… ซึ่งไม่ได้นำพาอะไรเลยนอกเสียจากความฉิบหาย สิ่งที่เราค้นพบจากในหนังเรื่องนี้คือ สิ่งที่มีค่าที่สุดในความเป็นมนุษย์คือ “ความกล้าหาญ ความเสียสละ และความร่วมมือร่วมใจ” ซึ่งมักทำให้โลกน่าอยู่ขึ้นและนำไปสู่ความสงบสุขในที่สุด
คะแนนตามความชอบส่วนตัว 8.5/10
เข้าฉาย 13 ก.ค. 2017
43 comments
Comments are closed.