เดือนสุดท้ายของปี มีหนังไซไฟอวกาศแข่งกันเข้าโรงกันรัว ๆ ตั้งแต่ Rogue One, Passengers, ยัน Arrival หนังเอเลี่ยนสุดล้ำนำแสดงโดยสองนักแสดงนำฝีมือคุณภาพ Amy Adams (จาก American Hustle, Batman v Superman) และ Jeremy Renner (จาก The Hurt Locker, Avengers)
Arrival สร้างจากเรื่องสั้นเรื่อง “Story of Your Life” ของ Ted Chiang ตัวภาพยนตร์กำกับโดย Denis Villeneuve ผู้กำกับเรื่อง Prisoners, Enemy, และ Sicario
เรื่องย่อ Arrival : ผู้มาเยือน
เมื่อ Shells หรือยานจากต่างดาวลงจอดที่พื้นที่ต่าง ๆ จำนวน 12 ตำแหน่งทั่วโลก Colonel Weber (Forest Whitaker) จึงมอบหมายให้ผู้เชี่ยวชาญทางการแปลภาษา Louise Banks (Amy Adams) และนักฟิสิกส์คณิตศาสตร์ Ian Donnelly (Jeremy Renner) เป็นทูตเจรจาและศึกษาว่าเอเลี่ยนพวกนี้มายังโลกมนุษย์ทำไม โดย Louise กับ Ian จะถูกส่งขึ้นไปบน Shell ทุก ๆ 18 ชั่วโมง และลงมาแปลภาษาเอเลี่ยนร่วมกันอีกที
โดยเอเลี่ยนได้รับการขนานนามว่า Heptapods เพราะมีขาหรือหนวดยั๊วเยี๊ยะเหมือนปลาหมึก ตัวที่มากับยานที่มาลงที่รัฐ Montana มีสองตัว แล้ว Ian ก็ตั้งชื่อให้ว่า Abbott กับ Costello
“I used to think to this was the beginning of your story.”
รีวิว วิเคราะห์ วิจารณ์ Arrival : ผู้มาเยือน (*มีเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของหนัง)
Arrival อาจไม่ใช่หนังเอเลี่ยนสไตล์บล็อกบัสเตอร์อย่างที่คนไทยชอบกันอย่าง ID4 เพราะมีสารที่ต้องอาศัยการตีความลึกซึ้งและใช้ความคิด ณ ขณะดูไปด้วย (แต่ก็ไม่ได้ตีความยากเท่าเรื่อง Enemy ของผู้กำกับคนเดียวกันนี้หรอกนะ) แต่หากใครอยากเสพงานภาพ Visual และงาน CGI สุดสวยล้ำโลกของหนังไซไฟแล้วล่ะก็ไม่ผิดหวังกับ Arrival แน่นอน
Arrival ไม่ได้มีฉากบู๊ ต่อสู้ หรือฉากเอเลี่ยนทำลายล้างโลกแต่อย่างใด ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการสื่อสารและการแปลภาษาเอเลี่ยน ดังนั้นกลุ่มคนที่อาจจะชอบ Arrival อีกกลุ่มหนึ่งคือ กลุ่มคนที่เรียนเกี่ยวกับภาษาหรือ Linguistics เช่นเดียวกับนางเอก
ยกตัวอย่างไดอะล็อกเกี่ยวกับภาษาที่เราชอบ เพราะเป็นความรู้ใหม่ของเราคือ การยกตัวอย่างเปรียบเปรยกับเรื่องเล่าของชนเผ่าอะบอริจินสมัยที่มี “ผู้มาเยือน” แผ่นดินของเขา เกี่ยวกับต้นกำเนิดของคำว่า Kangaroo (จิงโจ้)
กล่าวคือ คำว่า Kangaroo มีที่มาจากครั้งที่ชาวตะวันตกมาค้นพบทวีปออสเตรเลียครั้งแรก เห็นจิงโจ้กระโดดไปมา อยากรู้ว่าคือตัวอะไร จึงถามชาวอะบอริจินซึ่งเป็นชนพื้นเมืองด้วยภาษาของตน แล้วชาวอะบอริจินฟังภาษาเขาไม่ออก ตอบเป็นภาษาพื้นเมืองไปว่า “Kangaroo” ซึ่งแปลว่า “I don’t understand.” ทำให้ Kangaroo เป็นคำภาษาอังกฤษที่แปลเป็นไทยว่าจิงโจ้แต่นั้นมา
ฟังแล้วก็เออ… ทำให้เริ่มเก๊ตแล้วว่า นี่หรือคือธีมของเรื่อง
ในช่วงต้นเรื่อง Colonel Weber เลือก Dr. Brooks มาร่วมงานแทนนักแปลอีกคนหนึ่ง เพราะ Dr. Brooks แปลความหมายของ War หรือ Argument ในภาษาสันสกฤตได้ลึกซึ้งกว่า (“A desire for more cows”)
ในหนังเล่าว่าแต่ละประเทศต่างก็มีนักแปลมาแปลภาษาเอเลี่ยนเช่นเดียวกับที่อเมริกามี Dr. Brooks ซึ่งแต่ละประเทศต่างก็แปลและตีความความหมายของข้อความเอเลี่ยนแตกต่างกันไป แม้แต้คนชาติเดียวกันก็ยังตีความความหมายแตกต่างกันไปตามอาชีพหรือประสบการณ์ส่วนตัวทั้งที่อยู่ในบริบทเดียวกัน
อีกอย่างคือภาษาเราล้วนดิ้นได้และตีความได้หลากหลาย อย่างคำว่า Weapon อาจจะไม่ได้ถึงอาวุธที่ใช้ฆ่าล้างกันอย่างเดียว สำหรับเอเลี่ยนอาจหมายถึงเครื่องมือ สำหรับบางคนอาจหมายถึงของขวัญ หรือนึกภาพตามง่าย ๆ ในภาษาไทยเราเอง บางครั้งเราก็ใช้คำว่า “อาวุธ” แทนช้อนกับส้อมที่ใช้ทานข้าว (“เอ้า! แจกอาวุธ”)
“War does not make winners, only widows.”
อย่างไรก็ดี คนที่เรียนทางวิทยาศาตร์เหมือนพระเอกก็น่าจะชอบเช่นเดียวกันเพราะมีประเด็นเรื่องของ “เวลา” เหมือนกับใน Interstellar (แต่เล่นประเด็นได้ถึงและลึกกว่า Interstellar)
สมมติฐานของ Sapir-Whorf กล่าวว่า “The structure of a language determines or greatly influences the modes of thought and behaviour characteristic of the culture in which it is spoken.” เป็นแก่นสำคัญแก่นหนึ่งของหนังเรื่องนี้ (สมมติฐานนี้พัฒนามาจากทฤษฎีของ Edward Sapir กับ Benjamin Whorf ที่ว่า The structure of a language determines, or at least influences, how we perceive and experience the world. )
เขาต้องการนำเสนอว่าภาษาที่เราใช้เป็นตัวกำหนดวิธีคิดและการรับรู้สิ่งต่าง ๆ ของสมองของเรา หมายความว่า มนุษย์เรามองเวลาเป็นเส้นตรง ภาษาของเราก็เลยเป็นเส้นตรง นึกถึงเส้นตรงที่ขีดจากซ้ายไปขวา หรือ past ไป present ไป future ตอนเรียนเรื่อง Tenses ประมาณนั้นนั่นแหละ
Dr. Brooks เห็นว่าเบื้องต้นสื่อสารกันด้วยภาษาพูดแล้วไม่เวิร์ค จึงเริ่มสื่อสารกับ Heptapods ด้วยภาษาเขียน กล่าวคือเธอเขียนภาษาอังกฤษคุยกับพวก Heptapods และพวก Heptapods ก็พ่นหมึกใส่เป็นภาษาเขียนของเอเลี่ยนคุยตอบกับมนุษย์อีกที
ภาษาเขียนของเอเลี่ยนมีความพิเศษและแปลกกว่าภาษาเขียนภาษาต่าง ๆ ของมนุษย์ เพราะตัวเขียนของพวกมันมีลักษณะเป็นวงกลม ๆ คล้ายคราบกาแฟก้นแก้วกาแฟ แล้วเวลาพวกมันเขียนประโยคหนึ่ง ๆ ประโยคนั้นจะมาพร้อมกันเป็นเส้นวงกลมทั้งวงเลย
จะเห็นได้ว่าภาษาเอเลี่ยนต่างกับภาษาเขียนของมนุษย์ที่จะเขียนทีละคำ ๆ และเป็นเส้นตรง (linear) เช่น ภาษาอังกฤษเขียนจากซ้ายไปขวา ภาษาจีนเขียนจากบนลงล่าง หรือภาษาอาหรับที่เขียนจากหลังไปหน้า
เอเลี่ยนมาโลกเพื่อมอบของขวัญอันยิ่งใหญ่นั่นคือ “The real universal language” (แน่นอนว่าไม่ใช่ภาษาอังกฤษหรือภาษาจีน) ถ้ามนุษย์สามารถเข้าใจภาษานี้ ก็จะสามารถเห็นอดีต ปัจจุบัน และอนาคตได้พร้อม ๆ กัน
ดังนั้นเมื่อ Dr. Brooks เริ่มเข้าใจภาษาเอเลี่ยน เธอก็เริ่มมีความทรงจำของอนาคตที่ชัดราวกับว่ามันเกิดขึ้นมาแล้ว เห็นการเกิดการตายของลูกสาว รวมถึงการแยกทางกับสามี และเหตุการณ์ต่าง ๆ
นอกจากนี้นี่ยังเป็นเหตุผลที่เธอตั้งชื่อลูกสาวของเธอว่า Hannah ซึ่งเรียงตัวอักษรเหมือนกันไม่ว่าจะอ่านชื่อจากหน้าไปหลังหรือหลังไปหน้า
นอกจากเรื่องการสื่อสาร ภาษา และเวลาแล้ว หนังเอเลี่ยนเรื่องนี้ยังชี้ให้เห็นอีกว่า คนคนนึงจะเลือกเส้นทางชีวิตต่อไปอย่างไรหากเขาคนนั้นเห็นแล้วว่าถ้าเลือกทางนี้แล้วชีวิตเขาจะเป็นไปอย่างไร
Dr. Brooks ยอมรับว่าความเศร้า-ความสุขเป็นของคู่กัน ความรัก-ความเกลียด การเกิด-การตาย การมาถึง-การจากลา ก็เช่นกัน เธอจึงยอมรับในโชคชะตา ถึงแม้จะรู้ว่าวันนึงมันจะต้องมีการสูญเสียหรือการจากลา เธอก็ยอมรับมัน เธอยินดีที่จะมีความรักและการสูญเสียดีกว่าการที่ชีวิตนี้จะไม่เคยมีความรักหรือการได้รับความรักเลยสักครั้ง ซึ่ง Amy Adams เล่นได้ดีมาก แสดงอารมณ์ที่ซับซ้อนได้ละเอียดสุด ๆ
การมาเยือนของเอเลี่ยนเปลี่ยนชีวิตและมุมมองของ Dr. Brooks แล้วอาจจะเปลี่ยนประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติตลอดไป เช่นเดียวกับการมาถึงของทารกน้อยคนหนึ่งที่อาจจะเปลี่ยนชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่งไปตลอดกาล
“I remember moments in the middle … and this was the end.”
Arrival เข้าฉายรอบพิเศษ 5-11 ม.ค. 2017 และฉายจริง 12 ม.ค. 2017
คะแนนตามความชอบส่วนตัว 8.5/10
44 comments
Comments are closed.