บางครั้ง ฉันเดินเล่นอยู่ในห้างฯ ทานอาหารอยู่ในร้านรวงต่างๆ แล้วนั่งคิดอยู่คนเดียวในใจว่า คนเหล่านี้เขาทำงานอะไรกันนะ…
เป็นทนายความ?
เป็นโปรแกรมเมอร์?
เป็นสถาปนิก?
เป็นช่างแต่งหน้า?
เป็นนักเขียนบทละครโทรทัศน์?
เป็นเจ้าของร้านกาแฟ?
เป็นซีอีโอ?
ฉันได้แต่นึกชื่ออาชีพต่างๆ ไปเรื่อย เท่าที่จะนึกออกจากกรอบสมองอันน้อยนิด รู้นะว่าเดาไปก็ไม่รู้คำตอบ แต่ก็จะเดา ทั้งที่รู้ตัวว่ารู้จักชื่ออาชีพบนโลกอยู่ไม่เยอะ เพราะไม่ค่อยได้คลุกคลีตีโมงอยู่ในวงการอื่นๆ เท่าไหร่
แต่ก็ชอบเดา…
วิชาที่รัก อาชีพที่ฝันตอนเด็กๆ ฉันรู้จักแต่อาชีพที่มีเครื่องแบบ อาชีพที่นึกภาพตามได้ชัด หรือเป็นอาชีพที่เด็กน้อยคนหนึ่งจะพอพบเจอได้ในชีวิตประจำวัน หรืออาชีพที่สติปัญญาของเด็กอนุบาล-ประถมคนหนึ่งจะพอสะกดตามได้ เช่น ครู ตำรวจ หมอ พยาบาล ทหาร ฯลฯ พอโตขึ้นมาหน่อยก็ได้รู้จักอาชีพที่เฉพาะทางและสะกดยากขึ้นมาหน่อย เช่น โปรแกรมเมอร์ วิศวกร สถาปนิก บรรณาธิการ กราฟิกดีไซเนอร์ แอร์โฮสเตส มัคคุเทศก์ นักการตลาด ฯลฯ
และเคยคิดว่า คนที่เรียนจบจากคณะใดๆ ก็ควรจะจบมาทำงานตามสายนั้นๆ อย่างเรียนครุศาสตร์ ก็ต้องจบมาเป็นครู มีคำว่า ‘ครู’ เป็นยศนำหน้า เช่น ครูขวัญมณี หรือเรียนสถาปัตยกรรมศาสตร์ ก็ต้องจบมาเป็นสถาปนิกออกแบบบ้าน มีศักดิ์ประดับตัวว่าเป็น “นายสถาปนิก” (ด.ญ. ขวัญมณี โลกสวยซะจริงๆ)
อืม กว่าจะรู้ตัวว่าตอนเด็กๆ ถูกผู้ใหญ่หลอกลวงและปิดบังด้านมืดของโลกหลังสำเร็จการศึกษามาค่อนชีวิต ก็ปาไปตอนที่หลวมตัวเลือกคณะเข้าไปแล้ว
ตอนที่เลือกยื่นคะแนนเข้าคณะอักษรฯ ก็ไม่เคยมีภาพในหัวมาก่อนล่วงหน้าหรอกว่าจะทำอาชีพอะไร รู้แต่ว่าตัวเองโง่วิทย์โง่คำนวณขั้นเรื้อรัง ยังไงๆ ก็เรียนหมอหรือวิศวะตามเพื่อนๆ ในห้องไม่ได้แน่ๆ (ตอนม.ปลาย ฉันเรียนสายวิทย์-คณิต ห้องคิงด้วย) และโดยพื้นฐาน ฉันเป็นคนชอบอ่าน ชอบเขียน เลยเรียนอักษรฯ ละกัน อย่างน้อยก็อาจจบไปทำมาหากินอะไรเกี่ยวกับหนังสือหนังหาได้ น่าจะโอเคกว่าจมอยู่กับสูตรกับตัวเลข (อันนั้นคือแสลงมาก เห็นเลขแล้วผื่นขึ้นทันที!)
แล้วเวลาบอกคนอื่นว่าจะเรียน / กำลังเรียน / จบคณะ “อักษรศาสตร์” ก็มักจะมีคำถามตามมาแทบทุกครั้งว่า…
“เรียนเกี่ยวกับอะไร”
“จบมาทำอะไร” (เป็นคำถามขั้นกว่าของ “ตายแล้วไปไหน”)
เออ ช่วงแรกๆ ก็เหวอนะ ก็เคว้งนะ ตอบเขาไม่ได้ เพราะสายงานที่เกี่ยวข้องกับอักษรศาสตร์มันกว้างมากจริงๆ นั่นแหละ
ตอนปีท้ายๆ (หมายถึงช่วงปี 3 – ปี 4) เคยถามเพื่อนที่อักษรฯ ว่าจบไปจะทำอะไร บางคนก็บอกว่า ถ้าเรียนจบป.ตรี ก็คงต่อป.โท พอจบป.โท ก็ต่อป.เอก (เออ โคตรจะเลื่อนลอย นี่ถ้าโลกนี้มีป.จัตวา เชื่อว่ามันคงขอเรียนต่ออีกใบหนึ่ง)
แต่ฉันไม่อยากเรียนต่อแบบคนอื่นเค้านี่…
ก็เคว้งคว้างต่อไป
…
แต่พอจบมา ก็โล่งใจขึ้นมาบ้างที่บัณฑิตร่วมรุ่น (จนถึงรุ่นที่แก่กว่า) คณะอื่นๆ หลายคนเขาก็ทำงานไม่ตรงกับสายที่เรียนมา บางคนจบวิดยา ก็ไม่ได้ไปทำงานในห้องแล็บ จบครุฯ ก็ไม่ได้ไปสอนหนังสือ จบวิศวะ ก็ไม่ได้ไปสร้างบ้าน จบถาปัตย์ฯ ก็ไม่ได้ไปออกแบบบ้าน ดีไม่ดีบางคนที่เรียนเฉพาะทางมาเลือดตาแทบกระเด็น สุดท้ายลงเอยเป็นแอร์โฮสเตส เพราะอาชีพนางฟ้าไม่เน้นอะไรมาก ขอแค่บุคลิกดี ภาษาใช้ได้ และใจรักบริการ ก็เป็นได้
ดังนั้น พอเห็นเหล่าบัณเฑาะก์ เอ้ย บัณฑิต สายเฉพาะทางหลายคนจบไปทำงานไม่ตรงสาย เราก็รู้สึกเครียดน้อยลง จนในที่สุด คำถามที่ว่า “จบอักษรฯ ไปทำอะไร” ก็ไม่สามารถบั่นทอนเราได้อีกต่อไป (เย้!)
อย่างน้อยสิ่งที่เรียนมาจากคณะอักษรศาสตร์ยังสามารถเอาไปต่อยอดทำอะไรได้หลายต่อหลายอย่าง โดยเฉพาะรายวิชาพื้นฐานอักษรศาสตร์ที่เป็นวิชาบังคับของนิสิตปี 1 – ปี 2 ก็เป็นพื้นฐานที่เอาไปประยุกต์ใช้ได้มากมาย หรือบางวิชา เช่น การแปล (Translation) แม้เราจะไม่ได้แปลหนังสือเป็นงานหล่อเลี้ยงชีพ แต่ก็ไม่เสียดายความรู้ เพราะหลักการแปลที่เรียนมาสามารถเอาไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้บ้าง
แต่ถ้าเป็นคนเลือกงานหน่อย ชีวิตนี้อาจต้องใช้ความพยายามสูงกว่าเพื่อนนิดนึง เพราะเด็กอักษรฯ ที่จะประสบความสำเร็จในเรื่องเงินเดือน หรือเป็นฟรีแลนซ์ที่มีงานชุกเงินชุมได้นั้น ส่วนใหญ่ต้องเป็นคนที่มีความสามารถโดดเด่นไปด้านใดด้านหนึ่งอย่างเด่นชัดจริงๆ หรือไม่เช่นนั้นก็ต้องโสดสวยและรวยมาก ถึงจะเอาชนะผู้สมัครนับหมื่นนับพัน และฝ่าฟันไปเป็นผู้ที่ถูกเลือก ได้ทำงานดีๆ บริษัทดังๆ และเงินเดือนสูงๆ กับเขาได้
ดีกรีดี ไม่มีที่อยู่
ลองสมมติตัวเองเป็น Recruitor หรือ HR บริษัทแห่งหนึ่ง แล้วต้องตัดสินใจเลือกบัณฑิตจบใหม่เพียงคนเดียวมาเป็นเลขาฯ ของผู้จัดการ ถามว่า คุณจะเลือกใคร…
ระหว่างคนแรก จบอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เอกภาษาอังกฤษ เกียรตินิยมอันดับ 1 แต่ใช้ Excel ไม่เป็น
กับอีกคน จบคณะครุศาสตร์ ไม่มีเกียรตินิยม ภาษาอังกฤษเกือบดี ภาษาจีนพอได้ และใช้ MS คล่องทุกโปรแกรม แถมโฟโต้ช็อปให้ด้วยอีกหนึ่ง
แน่นอนว่าคนที่สองย่อมเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน บริษัท หรือองค์กรต่างๆ มากกว่า นายจ้างคนไหนๆ ก็อยากได้ลูกจ้างที่มัลติฟังก์ชั่นมากกว่าลูกจ้างที่มีความรู้ความสามารถเพียงแค่สาขาเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเป็นสาขาภาษาอังกฤษแล้วล่ะก็ยิ่งยากใหญ่ เพราะสมัยนี้ใครๆ เขาก็สื่อสารภาษาอังกฤษกันได้ทั้งนั้น ไม่จำเป็นต้องจบอักษรศาสตร์ เขาก็สปีคอิงลิชกันได้ จนแทบจะเป็นแฟชั่นไปแล้ว… สมัยนี้ ใครไม่รู้ภาษาอังกฤษคือเฉิ่มเชย…
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะพยายามอธิบายปากเปียกปากแฉะยังไง สังคมก็ยังไม่เข้าใจว่า อักษรศาสตร์ไม่ได้เรียนแต่ภาษาไปวันๆ นะคะ! เพราะถ้าเรียนแค่นั้น ไปเรียนคอร์ส British Council หรือ Wall Street ก็ได้ค่ะ!
เราเรียนเพื่อเข้าใจมนุษย์ เราเรียนแนวคิด หรือทักษะต่างๆ ที่ต้องเอาไปประยุกต์หรือต่อยอดความคิดกันเอง เช่น เรียนวรรณกรรม เราไม่ได้สนใจแค่หลักภาษา ไวยากรณ์ หรือความสละสลวยของการใช้ภาษา แต่เรายังสนใจแนวคิด ภูมิหลัง ภูมิปัญญา วัฒนธรรม และเรื่องราวต่างๆ ที่อยู่เบื้องหลังวรรณกรรมทั้งหลายนั้นด้วย! (อธิบายไป น้ำตาไหลไป T___T)
แต่ถึงแม้สังคมจะเข้าใจ เราก็ต้องยอมรับอยู่ดีว่าอักษรศาสตร์เป็นสายที่กว้างเกินไป กว้างจนเหมือนบัณฑิตจะไม่มีเส้นทางสายอาชีพให้เลือกมากนัก เพราะการแข่งขันค่อนข้างสูง (ตอนสอบเข้าก็แย่งกันเข้า ตอนเรียนจบก็แย่งงานกันทำ) และไม่ว่าจะทำงานอะไร รายได้ก็อาจจะไม่ฟู่ฟ่าเท่าเป็นหมอ วิศวกร หรือสถาปนิก เงินเดือนเริ่มต้นโดยเฉลี่ยของคนทำงานสายอักษรฯ อยู่แค่ราวๆ 15,000 บาท ตามมาตรฐานแรงงานขั้นต่ำของรัฐบาลไทยเท่านั้น
แต่ข้อดีคือ มีดีกรีอักษรฯ จุฬาฯ ตีตราซะอย่าง ถ้าไม่เลือกงานหรือเลือกเงินจนเกินไป ยังไงๆ ก็ไม่ตกงาน ไปทำงานบริษัทเล็กๆ ตำแหน่งธรรมดาๆ ก็ได้ แล้วค่อยๆ หาทางเลื่อนขั้นหรือย้ายงานเอาภายหลัง (แต่ก็ต้องทำใจด้วยนะว่าเงินเดือนจะไม่เยอะ และงานจะหนัก ไม่ใช่แค่นั่งเลคเชอร์เฉยๆ หรือพรีเซนต์สวยๆ เหมือนตอนสมัยเรียน)
หรือต่อให้เด็กอักษรฯ คนไหนจะตกอับถึงขั้นหางานประจำที่ถูกใจไม่ได้จริงๆ อย่างน้อยก็ยังพอทำอาชีพฟรีแลนซ์ประทังชีพได้ เช่น รับแปลงาน สอนภาษา ล่าม ไกด์ พิธีกร ฯลฯ แต่ก็ต้องขยันและขวนขวายมากถึงจะอยู่รอด
ถึงแม้จะไม่มีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ ยังไงๆ ก็ยังพอมีอนาคต
การสอบเข้าอักษรฯ ไม่ยาก ที่ยากกว่าคือการเป็นเด็กอักษรฯ
อ่านมาถึงตรงนี้ ดูเหมือนฉันภูมิใจกับชื่อ “อักษรฯ จุฬาฯ” มากใช่ไหม… แต่เปล่าเลย — ตรงกันข้าม — บางครั้งชื่อ “อักษรฯ จุฬาฯ” ก็ทำให้ชีวิตฉัน “ยุ่ง” และ “ยาก” ขึ้นกว่าเดิมเสียอีกด้วยซ้ำ บอกตามตรง ฉันเองก็เคยคิดเหมือนกันว่า
ถ้าไม่มีวุฒิการศึกษา ชื่อคณะ หรือชื่อมหา’ลัยติดแท็กมา มันจะเป็นยังไง?
ชีวิตมันจะยากขึ้นเท่านั้นหรือ? บางทีอะไรๆ มันอาจจะง่ายขึ้นก็ได้ เพราะไม่มีคนมาคาดหวัง หรือตัดสินเราด้วยชื่อคณะกับชื่อสถาบันอย่างที่เป็นอยู่ (ตัดสิน ณ ที่นี้ มีตั้งแต่ Overestimate เช่น ต้องทำงานได้เพอร์เฟคต์ จนไปถึง Underestimate เช่น เป็นลูกคุณหนู หยิบหย่ง หนักไม่เอาเบาไม่สู้)
เอาจริงๆ ตั้งแต่สอบติดคณะนี้มา ชีวิตก็แทบไม่มีอะไรง่ายอีกเลย
ไม่ใช่แค่ข้อสอบหรือการเรียนในคณะนะที่ว่ายาก แต่เหมือนเรามีชื่อคณะกับชื่อมหา’ลัยเขาค้ำคอ สังคมและคนทั่วไปก็คาดหวังว่าเราเป็นผลผลิตของคณะนี้ มหาวิทยาลัยนี้ เราจะต้องเก่งดีมีคุณภาพ และทำงานเกี่ยวกับภาษาได้ทุกอย่างอย่างยอดเยี่ยม
เขาคงไม่รู้กันว่าคนเรียนอักษรฯ นั้น ถึงแม้ภาษาอังกฤษจะอยู่ในเกณฑ์ดีจนถึงดีมากกันแค่ไหน แต่ก็ไม่มีใครทำได้ครอบจักรวาล เด็กอักษรฯ คนนี้อาจจะทำงานแปลได้ดี แต่ก็เป็นล่ามไม่ได้ ในขณะที่เด็กอักษรฯ คนนั้นอาจจะทำงานแปลไม่ไหว แต่เรื่องเป็นล่าม… ขอให้เรียก ซึ่งฉันเชื่อว่าคณะอื่นๆ ก็คงเป็นคล้ายๆ กัน อย่างเพื่อนของฉันที่จบวิศวะคอมฯ ก็ไม่ได้เขียนโปรแกรมหรือเขียนแอปพลิเคชั่นเป็นกันทุกคน จริงมั้ย?
ครั้งหนึ่ง มีคนมาจ้างฉันให้ช่วยแปลเอกสารราชการ พอฉันบอกไม่รับแปล แปลไม่ได้ ไปหาคนอื่นเถอะ เขาก็ผิดหวังว่า “อะไรกัน อักษรฯ จุฬาฯ ไม่ใช่หรอ ภาษาอังกฤษต้องเป๊ะสิ แปลเอกสารแค่นี้ ทำไมแปลให้ไม่ได้” หรือบางทีแค่ฉันท่อง ก.ไก่ – ฮ.นกฮูก ไม่ได้ ก็โดนแซวแล้วว่า เรียนอักษรฯ มาได้ยังไง
อยากตอบเหลือเกินว่า ขอโทษนะ — กูเป็นเด็กอักษรฯ ไม่ใช่พจนานุกรม…
มีปริญญาไม่สำคัญเท่ามีปัญญา
ในปัจจุบัน มันคงไม่ประหลาดเกินไปใช่ไหม ถ้าฉันจะพูดว่า…
คำถาม “คุณจบอะไรมา” มันไม่สำคัญเท่ากับ “คุณทำอะไรได้บ้าง”
โดยส่วนตัว ฉัน เลิก หลงระเริงกับชื่อคณะหรือชื่อสถาบันมานานแล้ว จำไม่ได้เหมือนกันว่าเมื่อไหร่ อาจจะเป็นวันที่ฉันรู้ว่า ผลคะแนนสอบโทอิค (TOEIC) ของฉันได้น้อยกว่าของเพื่อนวิศวะบางคน หรืออาจจะเป็นวันที่ฉันตกรอบการสมัครเป็นแอร์โฮสเตสของสายการบินแห่งหนึ่ง ในขณะที่ผู้หญิงที่จบจากมหาวิทยาลัยไก่กาอาราเล่ผ่านเข้ารอบ หรืออาจจะเป็นวันที่ฉันได้ฟังเพื่อนที่จบมหา’ลัยเปิดเล่าว่า เขาเพิ่งเปิดธุรกิจเป็นของตัวเองและมันกำลังไปได้สวย ในขณะที่ฉัน… ยังย่ำอยู่ที่เดิม นอกจากชื่อคณะ กับชื่อมหา’ลัยแล้ว ฉันไม่มีอะไรเลยสักอย่าง
คนเรา ถ้าไม่มีแท็กชื่อสถาบันการศึกษาติดตัวอยู่ เราจะเหลืออะไร?
คนเรา ถ้าไม่มีตำแหน่งหรือยศถาบรรดาศักดิ์อันยาวเฟื้อย เราจะเหลืออะไร?
คนเรา ถ้าถูกถอดสถานะทางหน้าที่การงานออก เราจะเหลืออะไร?
ฉันถึงได้เห็นว่า “มีปริญญา แต่ไม่มีปัญญา… อย่ามี” และเมื่อในที่สุด ฉันได้เข้าใจโดยแท้แล้วว่า ดีกรีการศึกษาไม่ได้ชี้วัดความสุขของชีวิต หรือการันตีความสำเร็จในอนาคตของเราได้เลย ฉันจึงเริ่มมองสถานะทางอาชีพของตัวเองใหม่อีกครั้ง
เวลากรอกข้อมูลส่วนตัว ตรงช่องอาชีพ มีช่องให้เลือกติ๊กอยู่ไม่กี่ช่อง — ธุรกิจส่วนตัว ข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ พนักงานบริษัทเอกชน รับจ้าง
คุณตัน-อิชิตัน หรือเจ้าสัวซีพี ก็คงต้องเลือกช่องธุรกิจส่วนตัวอย่างไม่ต้องกังขา แล้วอาแปะขายข้าวมันไก่ล่ะ? อืม ก็คงติ๊กช่อง “ธุรกิจส่วนตัว” เหมือนกัน
สถาปนิกรับออกแบบคอนโดฯ โปรเจ็กต์หลายร้อยล้าน หรือดารานักร้องซุปเปอร์สตาร์ ก็ต้องติ๊กช่อง “รับจ้าง” เหมือนกับพี่วินมอเตอร์ไซค์หน้าปากซอย
มนุษย์เงินเดือนหรือพนักงานบริษัทเอกชน ไม่ว่าจะบริษัทเล็กใหญ่ หรือตำแหน่งสูงส่งแค่ไหน สุดท้ายก็เป็น “ลูกจ้าง” เหมือนกัน ต้องกรอกช่องเดียวกันอยู่วันยังค่ำ
สุดท้าย แต่ละอาชีพก็ไม่ได้ต่างกันเท่าไหร่ แล้วอะไรถึงมาบอกว่าอาชีพนี้มีเกียรติ อาชีพนั้นไม่มีเกียรติ อาชีพนั้นทำแล้วชีวิตดี อาชีพนี้ทำแล้วชีวิตแย่ อะไรที่เป็นตัวชี้วัดว่า พนักงานเสิร์ฟในร้านอาหาร หรือบ๋อยเดินดิน คนละระดับกับแอร์โฮสเตสที่ถือถาดอยู่บนเครื่องบิน?
ถ้าคุณตอบคำถามตะกี๊ว่า “เงินเดือน” หรือ “วุฒิการศึกษา” ฉันคงคิดว่า เออ…ตลกดี คิดตื้นดี ตั้งตาตั้งตาเรียนเอาวุฒิป.ตรีแทบตาย สุดท้ายได้มา มีค่าเพียงเพื่อแค่จะได้บันไดไปเป็นบ๋อยบนฟ้าที่เงินเดือนสูงกว่าบ๋อยบนดิน
จบแล้วไปไหน?
ฉันคิดว่าเราควรทำงานที่ทำแล้วมีความสุข หางานที่เรารัก เวลาทำงานจะได้เหมือนไม่ได้ทำงาน เพราะไม่ว่าจะยังไง ทำอาชีพอะไรก็ล้วนแต่ต้องเหนื่อย เครียด เสี่ยง กดดัน และมีค่าเสียโอกาสด้วยกันทั้งนั้น แม้กระทั่งอาชีพที่เหมือนจะโก้เก๋เท่สบายอย่างอาชีพดารานักร้องเองก็ตาม ส่วนประเด็นที่ว่าอาชีพที่เรารักมันทำเงินน้อย ก็อย่าไปยึดติดมาก
คิดซะว่า “เลือกทำสิ่งที่เรารักและทำให้สิ่งที่เรารักมันทำเงินให้เราเอง” จะดีกว่า
ถ้าปล่อยวางเรื่องเงินทอง ค่านิยม หรือตำแหน่งหน้าที่การงานไปได้ แล้วเลือกเดินในทางที่เราชอบ ที่เรารัก หรือที่เราอยากทำได้จริงๆ ชีวิตก็คงมีความสุขขึ้นเยอะ
ล่าสุดฉันตัดสินใจกระโดดจากวงล้อ เลิกวิ่งวนอยู่กับที่เหมือนหนูแฮมสเตอร์ ฉันละทิ้งสถานะมนุษย์เงินเดือนที่แสนจะมั่นคง แล้วออกมาใช้เวลาในการค้นหาตัวเองอีกครั้ง ฉันเพิ่งตัดตำแหน่งนำหน้า คำว่า “บ.ก.” (บรรณาธิการ) ออกไปแล้ว ตอนนี้ฉันแทบไม่เหลืออะไรทั้งนั้น นอกจากชื่อสถาบันการศึกษา (ซึ่งรู้แล้วว่าเอามาชี้วัดอะไรในชีวิตไม่ได้เลย) กับความรู้ความสามารถที่พอมีติดตัวนิดๆ หน่อยๆ
จริงๆ มันก็โอเคนะ เราชอบทำอะไร เราถนัดอะไร มีความสามารถเด่นชัดไปทางไหน เราก็ควรลองที่จะกล้าเจียระไนหรือพัฒนามันไปให้ถูกที่ถูกทาง และที่สำคัญ ถามตัวเองให้แน่ใจว่า ในอนาคต เราอยากจะยืนอยู่ ณ จุดจุดใดในสังคม… แล้วก็เดินตามความฝันของตัวเอง
เออ… พอลองทำดู ถึงแม้มันอาจดูขลุกๆ ขลักๆ ไปบ้าง แต่ฉันว่า รวมๆ มันก็มีความสุขดีนะ…
เครดิตภาพ เทวาลัยฝั่งตะวันตก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย : www.panoramio.com
48 comments
เราจบอักษร จุฬาเอกอังกฤษ เงินเดือน start 26,000 ผ่านไป 1 ปี ย้ายงาน ก็ได้ 30,000 ในกลุ่มเราทุกคนที่ทำบริษัทเอกชนก็ได้ start กันราวนี้ ยกเว้นคนที่ติสต์ไปทำงานสายนิเทศ สายอาร์ต หรือทำรัฐวิสาหกิจ ก็จะได้เงินเดือนน้อยกว่า
เราจบอักษร ศิลปากร เอกละคร โทภาษาอังกฤษ ทำงานที่แรกที่โรงแรม JW Marriott แต่ละเดือนได้ไม่ต่ำกว่า 20,000 ช่วงมกราคม ได้ 30,000-40,000 บาท ปีที่ 2 ได้ย้ายไปทำแผนก Marketing ที่เดียวกัน ได้ต่ำสุดคือ 60,000 บาท ไม่มีเพดานเงินเดือน บางเดือนได้เป็นแสน อยู่ที่คนมากกว่า เราไม่เก่งภาษามากๆเหมือนเพื่อน เพราะไม่ได้เลือกเอกภาษา แต่เด็กอักษรบางคนที่เงินเดือนน้อย ก็เพราะตัดสินใจเลือกทำให้สิ่งที่ตัวเองรักจริงๆก็มีเยอะนะคะ
กรุณาอย่าเรียกพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินว่า “บ๋อยบนฟ้า” เลยค่ะ คุณอาจจะติดภาพการทำงานของพวกเขาว่าเป็นการเสิร์ฟอาหาร แต่หากเครื่องบินเกิดอุบัติเหตุขึ้นมา พวกเขาคือคนที่ช่วยชีวิตคุณได้นะคะ
ขอชี้แจงการใช้คำว่า “บ๋อยบนฟ้า” นะคะ เราเลือกใช้คำว่า “แอร์โฮสเตส” ในการ mention ถึงอาชีพนี้ครั้งแรก เพื่อให้คนอ่านตอบคำถามว่าแอร์ฯ ต่างกับบ๋อยตรงไหน ส่วนการ mention ครั้งที่สอง เกิดขึ้นหลังกรณีที่มีคนตอบคำถามว่า ต่างกันที่เงินเดือนและวุฒิการศึกษา เราจึงใช้คำว่า “บ๋อยบนฟ้า” ในกรณีที่แอร์ฯ คนนั้นตอบอย่างนั้น แต่คำตอบของ “คุณที่ไม่เอ่ยนาม” ด้านบนนั้น ถือเป็นคำตอบที่น่าพอใจ และแสดงให้เห็นว่ารักในอาชีพของคุณจริงๆ ซึ่งก็ตรงกับวัตถุประสงค์ของบทความนี้ค่ะ
โดยสรุป เราไม่ได้มีเจตนาดูถูกอาชีพนี้ แต่ดูถูกคนที่เทิดทูนอาชีพนี้สูงกว่าบริกรเพียงเพราะเงินเดือนหรือวุฒิการศึกษาที่ต่างกันค่ะ :)
ป.ล. เพื่อน / รุ่นพี่รุ่นน้อง ของเราหลายคนก็ทำอาชีพนี้ ด้วยเหตุผลที่ต่างกันออกไป แน่นอนว่าเราคงไม่ดูถูกอาชีพที่คนที่เรารักก็ทำอยู่หรอกค่า
ติ๊กช่อง รับจ้าง เหมือนวินปากซอย
มอร์เตอร์ไซค์รับจ้างเป็นอาชีสุจริตนะคะ เหมือนแล้วไม่ดียังไง?
ลองอ่านดูด้วยใจเป็นกลางนะคะ ถ้าตัดเป็นท่อนๆมาพูดก็อาจจะตีความไปอย่างนั้นได้ แต่อ่านเอาใจความดู จะไม่เห็นว่าดูถูกอาชีพอะไร
ส่วนตัวจบอักษร ศิลปากร เอกญี่ปุ่น อยู่ในจุดๆเดียวกับผู้เขียน เพื่อนจบไปส่วนใหญ่ ทำล่าม เงินเดือนสตาร์ทน้อยๆก็18000แล้ว พอจบไปปีแรกก็จะมีคนบ่นเรื่องงาน อยากกลับไปใช้ชีวิตมหาวิทยาลัย คิดถึงทับแก้ว หลายคนหนีไปเรียนต่อป.โท ตอนนี้เราก็มีแพลนจะเรียนต่อป.โท แต่ไม่ได้เพราะความเคว้ง แต่เพราะเรารู้แล้วว่างานประจำอะไรที่เราถนัด และสนุกที่จะทำมันแม้เงินเดือนยัง15,000บาท แต่เราอยากทำงานในสายบริการทางการเงินและพัฒนาตัวเองขึ้นไปเพื่องานที่เรารักและสนุกกับมัน
“เลือกทำสิ่งที่เรารักและทำให้สิ่งที่เรารักมันทำเงินให้เราเอง” จะดีกว่า
อันนี้เห็นด้วย ถ้าจบใหม่ๆใครมาพูดอย่างนี้จะพยายามมโนให้ใจคล้อยตาม แต่เชื่อเถอะค่ะ ถ้าเราทำสิ่งที่เรารักไม่ว่าจะงานประจำ งานอดิเรก อะไรก็ตามถ้าเราทำด้วยความรักมันไม่มีขาดทุน ดีไม่ดี มันกลับมาทำเงินให้เราโดยที่เราไม่ได้กะเกณฑ์ ^___^
ขอโทษที่ความเห็นนี้อาจจะทำให้คุณไม่พอใจนะคะ ส่วนตัวคิดว่าการเลือกใช้คำว่า “บ๋อยบนฟ้า” ในบทความนี้มันสื่อออกมาได้ว่าคุณมองอาชีพนั้นอย่างไร ซึ่งจริงๆแล้วมันเป็นแค่ด้านเดียวของอาชีพ แอร์โฮสเตสค่ะ และตัวงานไม่ได้ได้ต่างกับงานบริกรบนภาคพื้นแค่ รายได้กับการศึกษาเท่านั้น มันมีรายละเอียดอีกหลายอย่างที่คนนอกอาจจะมองไม่เห็น ไม่งั้นสายงานนี้คงไม่ต้องมาเทรนกันเป็นเดือนๆ สอบกันตลอดเวลา และหากสอบตกก็อาจหมดสิทธิ์ที่จะทำสายงานนี้ ถ้าจะให้เลือก การใช้คำว่า”พนักงานต้อนรับ”อาจจะเหมาะสมกว่านะคะ เพราะคิดว่าคนทั่วไปก็คงไม่เรียกพนักงานในโรงแรมทุกคนว่า “บ๋อย” ใช่ไหมคะ ^ ^