“ชีวิตจริงมันไม่ใช่ข้อสอบอัตนัย”
ประมวลรายวิชา ฉลาดเกม(ส์)โกง
หนังที่น่าดูที่สุดในบ้านเราประจำสัปดาห์นี้หาใช่หนังฮอลลีวู้ดไม่ เพราะนาทีนี้คอหนังทุกคนต่างพูดถึง ฉลาดเกมส์โกง หนังไทยเรื่องล่าสุดจากค่าย GDH ผลงานการกำกับของ บาส-นัฐวุฒิ พูนพิริยะ ผู้กำกับที่สร้างชื่อจาก เคาท์ดาวน์ หนังไทยคุณภาพที่คว้าสุพรรณหงส์มาถึง 3 รางวัล
ฉลาดเกมส์โกง เป็นเรื่องราวของธุรกิจกลางสนามสอบของเด็กนักเรียนทุนอัจฉริยะ ลิน (ออกแบบ-ชุติมณฑน์) ที่เริ่มต้นจากการช่วยเพื่อนสนิทอย่าง เกรซ (อุ้ม-อิษยา) และ พัฒน์ (เจมส์-ธีรดนย์) แฟนของเกรซ ที่บ้านรวยระดับอภิมหาเศรษฐี ด้วยการแชร์คำตอบกลางห้องสอบ ก่อนจะขยายไปในวงที่กว้างขึ้น จนกลายเป็นอุตสาหกรรมการลอกขนาดใหญ่ขึ้น ถึงขั้นโกงข้อสอบ STIC ซึ่งเป็นข้อสอบวัดระดับที่ใช้ยื่นเข้ามหาวิทยาลัยในอเมริกา แต่ STIC เป็นสนามสอบระดับโลก เธอจึงต้องให้ แบงค์ (นน-ชานน) อีกหนึ่งอัจฉริยะที่เป็นคู่แข่งนักเรียนทุนของเธอ มาร่วมด้วยช่วยกันโจรกรรมโกงข้อสอบข้ามชาติ
ฉลาดเกม(ส์)โกง ฉุด mean หนังไทยให้สูงขึ้น?
ในส่วนของความน่าดู เราจะไม่พูดเยอะ เพราะหลายเสียงรีวิวและคำวิจารณ์จากผู้ชมรอบสื่อมวลชนและรอบพิเศษต่างออกมาในทิศทางบวกกันแทบทุกคนกันอยู่แล้ว แม้แต่เราเอง… ซึ่งปกติก็ไม่ค่อยถูกจริตกับหนังหลายเรื่องของค่ายนี้ เรายังรู้สึกไปในเชิงบวกและไม่ผิดหวังกับ ฉลาดเกมส์โกง
ฉลาดเกมส์โกง เป็นหนังไทยคุณภาพเกรด A ทั้งการกำกับ บทภาพยนตร์ การตัดต่อ การถ่ายภาพ จนถึงการแสดง ฯลฯ เรียกว่าสู้ระดับอินเตอร์เนชั่นแนลได้สบาย ๆ ในส่วนของความบันเทิงก็สนุก ทั้งพาร์ททริลเลอร์ และมุกตลกที่ทัชจริงอะไรจริง และไหนจะตลกร้ายอีก ฯลฯ แต่ถ้าให้เกรดว่าสนุกแค่ไหนก็คงพูดยาก เอาเป็นว่าแต่ละคนดูเทรลเลอร์แล้วรู้สึกว่าเขาตัดเทรลเลอร์มาสนุกแค่ไหน ก็คูณสิบไป เพราะหนังเต็มสนุกกว่าเทรลเลอร์นั้นสิบเท่า
เช่นเดียวกับตัวละครทั้งหลาย… ฉลาดเกมส์โกง มีความทะเยอะทะยาน มีความพยายามในการผูกเรื่องผูกสถานการณ์ และมีชั้นเชิงในการลำดับเรื่อง โดยรวมก็ทำได้ดีนะ แต่ก็มีจุดที่ไม่สมเหตุสมผลและไม่ชวนเชื่ออยู่เยอะมาก (จนตอนนี้ก็ยังสงสัย โรงพิมพ์ของบ้านนางเกรซนี่เจ๊งหรือยัง) แต่สุดท้ายมันคือความโอเว่อร์ที่คนไทยยอมรับได้ เพราะปลายทางมันสนุก
ส่วนสิ่งที่เรามองว่า ฉลาดเกมส์โกง เป็นหนังที่จะยกระดับหนังไทยได้จริง ๆ ไม่ใช่ประเด็นเรื่องโปรดักชั่น หากแต่เป็นเรื่องของ story ที่จริง ๆ แอบดีใจร้อง finally มาตั้งแต่ตอนดู trailer แล้วว่า ในที่สุด วงการภาพยนตร์ไทยก็จะมีมากกว่าหนังรัก หนังผี และหนังตลกสักที
สูตรเฉพาะของ ฉลาดเกม(ส์)โกง
หลัก ๆ หนังต้องการจะบอกว่า ชีวิตเรามันถูกโกงมาแต่แรกแล้ว ไม่มีอะไรเท่าเทียมกันมาแต่แรกแล้ว แต่ละคนต้นทุนชีวิตไม่เท่ากันทั้งนั้น กล่าวคือ หนังเรื่องนี้ไม่มีตัวละครตัวไหนที่เพอร์เฟ็กต์ คู่ของ ลิน กับ แบงค์ คือตัวแทนของเด็กเรียนเก่งแต่ฐานะทางบ้านปานกลาง (คนนึงพ่อเป็นครูและเป็นซิงเกิ้ลแดด อีกคนนึงแม่รับจ้างซักรีดและเป็นซิงเกิ้ลมัม) ส่วนคู่ของ เกรซ กับ พัฒน์ คือตัวแทนของเด็กที่ครอบครัวมีตังค์แต่ตัวเองเรียนไม่เก่ง
นอกจากนี้ยังชี้ให้เห็นว่า การโกงมันไม่ได้มีแค่ในกลุ่มเด็กนักเรียน แต่มันฝังรากลึกอยู่ในระบบ มันมีตั้งแต่เด็กจนถึงผู้ใหญ่ จนเหมือนการโกงเป็นเรื่องปกติและไม่มีอะไรเสียหาย (เช่น เด็กบางคนมีความคิดว่า… “มึงให้กูลอก คะแนนมึงก็ไม่ลดนะ”) แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่า จะโกงทางตรง หรือโกงทางอ้อม และนิยามของคำว่า “โกง” กับ “ถูกโกง” ของแต่ละคนมันคืออะไรด้วยนั่นก็อีกเรื่อง
อย่างไรก็ดี ฉลาดเกมส์โกง ไม่ได้มาตีแผ่เด็กขี้โกงหรือชี้นำเทคนิคการโกงข้อสอบ หรือ how to เปลี่ยนกระดาษคำตอบให้เป็นเงินล้านให้เด็กนักเรียน แต่เขาตั้งใจเน้นตีแผ่ระบบการศึกษาไทย ค่านิยมด้านการศึกษา และระบบทุนนิยมในสังคมไทย เช่น
- เกรดเฉลี่ยและคะแนนที่สูงเป็นใบเบิกทางให้ทุกอย่าง เสมือนเป็นสิ่งเดียวในจักรวาลที่ชี้วัดคุณค่าของเด็กได้
- พ่อของลินยอมส่งเสียลูกเรียนโรงเรียนแพง ๆ เพราะโรงเรียนนั้นมีทุนให้เด็กไปเรียนต่อเมืองนอกเยอะ (แต่เราก็งง ๆ นะ พ่อนางบอกว่าที่รร.นี้มีทุนเยอะ แต่ ผ.อ. กลับบอกให้ ลิน กับ แบงค์ แย่งทุนเรียนต่อที่สิงคโปร์กันเอง เพราะมีให้แค่ทุนเดียว)
- จะส่งลูกเรียนโรงเรียนดี ๆ แพง ๆ ไม่ได้ต้องจ่ายแต่ค่าเทอม แต่ต้องจ่ายค่าแปะเจี๊ยะหรือเงินปากถุงหลักหมื่นหลักแสนกันอีก ซึ่งค่าเหล่านี้มักมาในรูปแบบของ ‘ค่าบำรุงรักษาสถานศึกษา’
- ครูที่เพิกเฉยกับการทุจริตของนักเรียน
- ครูที่ยกย่องและให้อภิสิทธิ์เด็กเรียนดีเหนือกว่าเด็กคนอื่น เพราะเด็กเหล่านี้จะสร้างชื่อเสียงให้รร.
- ครูในรร.ที่สอนพิเศษวิชาตัวเองแล้วออกข้อสอบเหมือนที่ตัวเองสอนพิเศษเด๊ะ ประมาณว่า ใครจ่ายเงินเรียนพิเศษกับกู ก็โชคดีไป
นอกจากนั้น หนังยังพยายามสอดแทรกประเด็นเรื่อง “ทางเลือก” ว่า ถึงแม้ต้นทุนชีวิตอาจไม่เท่ากัน แต่จริง ๆ แล้ว เราสามารถเลือกได้หรือเปล่า ชีวิตเรามีทางเลือก ก. ข. ค. ง. จ. หรือเปล่า
แรงจูงใจใน ฉลาดเกม(ส์)โกง
ตัวละครหลักทั้งสี่ตัวต่างมีแบ็คกราวนด์ครอบครัว แต่ส่วนใหญ่จะได้เห็นแบ็คกราวนด์ครอบครัวของ ลิน กับ แบงค์ ซึ่งเป็นชนชั้นกลาง เยอะกว่าเพื่อน ในส่วนของตัวละครบ้านรวย เช่น พัฒน์ หนังก็ไม่ได้ทำให้เรารู้จักอะไรเขามากนัก นอกจากอภิมหาโคตรพ่อโคตรแม่รวย และพ่อแม่อยากให้ไปเรียนต่อที่ ม.บอสตัน ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำที่พ่อเรียนจบมา
ตัวละครแต่ละตัวต่างมีแรงจูงใจ แรงผลักดัน และแรงกระตุ้นให้ทุจริตการสอบ เช่น เกรซที่อยากได้เกรดสูง ๆ เพื่อจะได้มีสิทธิเล่นละครเวทีของโรงเรียน พัฒน์ที่อยากได้เกรดสวย ๆ เพื่อจะได้รถคันใหม่ป้ายแดง จนถึงเด็กหัวดีอย่าง ลิน กับ แบงค์ ที่จำเป็นต้องช่วยเพื่อนทุจริตการสอบด้วยเหตุผลทางการเงิน
พูดอีกแง่คือ คนรวยก็มีปัญหาของคนรวย คนจนก็มีปัญหาของคนจน เช่น คนรวยที่โง่ก็อยากได้คะแนนดีเพื่อจะได้ไปเรียนต่อมหาวิทยาลัยดัง ๆ ได้ (พูดง่าย ๆ คือ มีเงินแต่ไม่มีปัญญา เขาก็ไม่รับเข้าเรียน) คนฉลาดแต่จนก็อยากมีเงินเยอะ ๆ หรือได้ทุนเรียนฟรีเพื่อจะได้มีโอกาสไปเรียนต่อเมืองนอกได้ (พูดง่าย ๆ คือ มีปัญญาแต่ไม่มีตังค์ ก็บินไปเรียนไม่ได้)
การที่จู่ ๆ จะมีสมอง หรือการที่จู่ ๆ จะมีเงิน (หรือมีทุน) นั้น มันไม่ง่ายและต้องใช้เวลา (ดีไม่ดีต้องลงทุนเพิ่มด้วย) การโกงหรือการทุจริตกลายเป็น ‘ทางลัด’ ที่คนมองว่าเป็นทางเลือกที่จะได้มาซึ่งส่วนที่ขาดเพื่อไปถึงยังโอกาสหรือเป้าหมายในฝันนั้นได้ง่ายและเร็วที่สุด (รู้ว่าเสี่ยง แต่ก็ยอม เพราะฝันนั้นยิ่งหย่ายยยย~)
ข้อที่เกือบปรับตกให้กับ ฉลาดเกม(ส์)โกง
แน่นอนว่าไฮไลท์ของหนังคือช่วงที่ ลิน กับ แบงค์ บินไปสอบ STIC ที่ซิดนีย์ ช่วงนั้นนี่โคตรลุ้นจนเยี่ยวเหนียว ตึงเครียด ตื่นเต้น บีบหัวใจ ยิ่งกว่าหนังทริลเลอร์ ข้อดีที่ชื่นชมคือหนังเขาสร้างอารมณ์ร่วมกับคนดูได้เก่งมาก ดูแล้วจะได้ฟีลเหมือนเราเข้าไปสอบเองโกงเอง ยังไงยังงั้น
ถึงแม้ว่าช่วงที่ ลิน กับ แบงค์ ไปสอบที่ซิดนีย์นั้น จะทริลเลอร์จัดจ้านอย่างไร เราก็คงยกเครดิตให้แต่ในด้านของการกำกับภาพ เสียง และการตัดต่อ เพราะหากตัดสิ่งเหล่านั้นออกไปแล้ว เราต้องพูดตรง ๆ ว่า ยังไม่ค่อยชอบช่วงท้าย ๆ รวมถึงบทสรุปของหนังสักเท่าไหร่ ไม่อินกับการตัดสินใจของตัวละครบางตัว (คือแรงจูงใจที่เด็ก ๆ เริ่มโกงในตอนแรกน่ะเก๊ตน่ะ แต่แรงจูงใจที่มีผลต่อการตัดสินใจช่วงหลัง ๆ นี่เริ่มเข้าไม่ถึงในบางจุด) และรู้สึกว่าเน้นแต่ฝั่งอัจฉริยะอย่าง ลิน กับ แบงค์ แล้วเทพวกเด็กโง่ที่จ่ายเงินเพื่อซื้อคำตอบไปเฉย ๆ
จริง ๆ แล้ว บทสรุปของหนังเป็นไปได้หลายทางมาก แต่แทนที่เขาจะกล้าไปให้สุดโต่ง เขากลับเลือกบทสรุปที่ปลอดภัยที่สุด กล่าวคือ คนดูทุกคนพอใจ ยอมรับได้ (คนดู ณ ที่นี้คือรวมถึงบุคลากรกองเซ็นเซอร์ กระทรวง ทบวง กรม ครูบาอาจารย์ และผู้ปกครองทุกครัวเรือน) พูดอีกอย่างคือ บทสรุปไปไม่สุดไม่เป็นไร แต่อย่างน้อยที่สุด คนดูได้ข้อคิด และไม่มีดราม่า
อย่างน้อย เราก็รู้สึกว่าตัวเองบรรลุกับคำว่า ‘ในมหา’ลัยมันไม่ได้เป็นข้อสอบชอยส์’ / ‘ชีวิตจริงมันไม่ใช่ข้อสอบกากบาท’ อืม… จริง ๆ นะ
ผู้เข้าสอบ สนาม ฉลาดเกม(ส์)โกง
การแสดงของตัวละครหลักทั้งสี่ตัวต่างน่าปรบมือให้ โดยเฉพาะ ออกแบบ-ชุติมณฑน์ กับ นน-ชานน ที่เข้าชิงรางวัลนักแสดงนำยอดเยี่ยมได้อย่างไม่มีข้อกังขา อย่าง นน นี่ดูทำการบ้านมาดีนะ ไม่ใช่แค่ทำการบ้านเรื่องท่องทศนิยมค่า Pi แต่พูดถึงว่าเขาดูเหมือนเด็กเนิร์ดจริง ๆ จนเกือบจะออติสติกอ่อน ๆ (ตามประสาอัจฉริยะ) นึกถึงบทของ Asa Butterfield ในเรื่อง X+Y
ส่วน เจมส์-ธีรดนย์ นี่เหมือนเล่นเป็นตัวเอง ตัวละครไม่ได้มีพัฒนาการเด่นชัดอะไรเมื่อเทียบกับเพื่อน ภาพรวมจึงไม่มีอะไรน่าเซอร์ไพรส์ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า เจมส์ เป็นสีสันของเรื่อง ทำคนดูขำได้ไปหลายช็อตเลยทีเดียว
ที่ดร็อปที่สุด ตัวละครมีมิติน้อยที่สุดในบรรดาทั้งสี่คน เห็นจะเป็น อุ้ม-อิษยา ซึ่งเราดูจนจบแล้ว เรายังไม่แน่ใจเลยว่าบทนังเกรซนี่ใสจริงแบ๊วจริงหรือว่าเฟค แต่โดยรวมก็ยังแอ็คติ้งพอได้อยู่ แถมเรื่องนี้ อุ้ม ดูน่ารักขึ้นกว่าใน สยามสแควร์ และสมัยเล่นละครช่อง 3 ด้วย
สรุป ตัดเกรด ฉลาดเกม(ส์)โกง
ถึงแม้ ฉลาดเกมส์โกง จะไม่ได้ 10 เต็ม 10 ถึงขั้น ‘ไร้ที่ติ’ คือก็มีทั้งที่ชอบและไม่ชอบ แต่สิ่งที่ไม่ชอบนั้นมันก็ไม่ได้มีอะไรเลวร้ายเลย และไม่ใช่เหตุผลที่เราจะไม่ไปดูหนังเรื่องนี้เลยแม้แต่น้อย ตรงกันข้าม ฉลาดเกมส์โกง คือหนังไทยที่สนุกมาก และตีแผ่สังคม เอาจริง ๆ บ้านเราควรจะมีหนังแบบนี้มาเสียตั้งนานแล้ว แนะนำว่า เป็นหนังไทยคุณภาพที่ทุกคนควรดู เชียร์นะ อยากให้ได้ร้อยล้าน
คะแนนตามความชอบส่วนตัว 8.5/10
45 comments
Comments are closed.