Bridge of Spies เป็นการกลับมาร่วมงานกันอีกครั้งระหว่างผู้กำกับ Steven Spielberg และนักแสดงชื่อดัง Tom Hanks โดยหนังเรื่องนี้สร้างจากเรื่องจริงช่วงปี 1950-1960s เกี่ยวกับเหตุการณ์การแลกเปลี่ยนเชลยศึกหรือสปายสายลับ (อย่างลับๆ) ระหว่าง CIA กับ KGB ในยุคสงครามเย็น (Cold War)
เรื่องย่อ Bridge of Spies
Rudolf Abel (Mark Rylance) สายลับ KGB ถูก CIA จับได้ ระหว่างรอการไต่สวนตามกฎหมายบ้านเมือง ทางรัฐอเมริกาจัด James B. Donovan (Tom Hanks จาก Forrest Gump, Saving Private Ryan, Catch Me If You Can, The Green Mile, Cast Away ฯลฯ) มาเป็นทนายความให้ตามธรรมเนียมเพื่อให้ “ดู” ยุติธรรมเท่าเทียมต่อจำเลย Donovan จำเป็นต้องรับงาน ทั้งที่สังคม ภรรยา (Amy Ryan จาก Birdman) และครอบครัวไม่เห็นด้วย
ในขณะเดียวกัน นักบินสายลับของอเมริกา Francis Gary Powers (Austin Stowell จาก Whiplash) กับนักศึกษาหนุ่มป.โทผู้ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ Frederic Pryor (Will Rogers) ก็ถูกทางโซเวียตจับไป Donovan จึงถูกส่งตัวไปเยอรมันตะวันออก เพื่อเจรจาต่อรองแลกเปลี่ยนเชลยกลับคืนมาตุภูมิ
รีวิว วิเคราะห์ วิจารณ์ Bridge of Spies
หนังสงครามเย็น (Cold War) จะไม่เหมือนหนังสงครามทั่วไป เพราะมันไม่ได้มีฉากยิงราฆ่าฟันกันเลือดสาดหรือบ้านเมืองลุกเป็นไฟ สงครามเย็นโดยปกติมันจะเย็นๆ เรื่อยๆ คือจะต้องน่าเบื่อ บทพูดมากๆ เน้นเจรจาต่อรอง หรือชิงไหวชิงพริบ
ซึ่ง Bridge of Spies ก็เป็นทำนองนั้น คือมีแต่การเจรจาต่อรอง แต่ที่พิเศษจากหนังสงครามเย็นทั่วไปคือ หนังเรื่องนี้กลับไม่น่าเบื่อหรือเข้าใจยากเลย แถมยังมีมุกตลกน่ารักแทรกอยู่ตลอดเรื่อง ด้วยฝีมือการกำกับของพ่อมดแห่งวงการอย่าง Steven Spielberg และการเขียนบทของสองพี่น้อง Coen (นักเขียนบทรางวัลออสการ์จาก No Country for Old Men และ Fargo)
สิ่งที่เราชอบมากที่สุดในหนังเรื่องนี้คือเรื่องภาพ คือภาพสวย ดูเก่าๆ วินเทจ มีรสนิยม และสเกลเหมาะแก่การชมในโรงจอใหญ่ๆ ที่สำคัญที่สุดคือเรื่องโปรดักชั่นดีไซน์ ซึ่งไม่ใช่แค่โปรดักชั่นดีในส่วนของการออกแบบข้าวของเครื่องใช้หรือเสื้อผ้าหน้าผมเท่านั้น หากแต่การจัดองค์ประกอบภาพของเขายังดีงามมากๆ
ถ้าสังเกตดูดีๆ แทบทุกซีน เรียกว่า 95% ของภาพในเรื่องเลยก็ว่าได้ ภาพจะเทน้ำหนักเอียงไปด้านใดด้านหนึ่งอย่างชัดเจน เช่น คนในฉากหนึ่งๆ มักจะมีจำนวนเป็นเลขคี่ (เช่น 3 คน หรือ 5 คน) หรือถ้าเป็นเลขคู่ (เช่น 2 คน) ก็จะมี objects มาทำให้อีกฝั่งใดฝั่งหนึ่งหนักกว่าอีกฝั่งหนึ่ง เช่น ฉากที่ Donovan คุยกับ Abel ในห้องสอบสวนหรือห้องเยี่ยมญาติ เป็นต้น ซึ่งตรงนี้ก็สะท้อนถึงประเด็น Unfairness นั่นเอง
เราติดตาติดใจกับภาพของหนังเรื่องนี้มากๆ จึงออกมาสืบต่อ ได้ความว่า production designer / art director ของ Bridge of Spies ไม่ใช่ใครอื่นที่ไหน เขาคือ Adam Stockhausen จาก The Grand Budapest Hotel และ 12 Years a Slave ซึ่ง The Grand Budapest Hotel ได้รางวัลออสการ์ด้วยนะ เราชอบมาก องค์ประกอบภาพในหนังเขาจะ “สมมาตร” กันแทบทุกซีนเลย
ที่เราชอบอีกอย่างนึงก็คือ หนังมีการแอบนำเสนอประเด็น Inequality of Gender Roles ในสังคมยุค 1950s แทรกเข้ามาเนียนๆ ด้วย จากในหนัง เราจะได้เห็นว่าเพศหญิงจะได้ทำงานแต่ตำแหน่งเสมียน เลขาฯ พนักงานเสิร์ฟ หรือแม่บ้านเท่านั้น พูดง่ายๆ คือสมัยนั้นผู้หญิงจะเป็นได้แค่ลูกน้องหรือช้างเท้าหลังของผู้ชาย
นอกจากนี้หนังยังมีประเด็นเล็กๆ น้อยๆ สอดแทรกอยู่ตลอด เช่น กำแพงเบอร์ลิน (Berlin Wall) การข้ามเส้นระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่แต่ละหน่วยงาน ปิดทองหลังพระ การตัดสินของสังคม (เราชอบฉากบนรถเมล์/รถไฟมากๆ) รวมถึงประเด็นครอบครัว ซึ่งขาดไม่ได้เลยในหนังของสปีลเบิร์ก
ซึ่งต้องยอมรับเลยว่า หนังเรื่องนี้เก็บรายละเอียดได้ดีทุกเม็ดตั้งแต่ต้นจนจบเลยจริงๆ น่าเสียดายที่ยังไม่ขยี้หัวใจหรือบิลด์อารมณ์เท่าไหร่นัก แต่อย่างไรก็ตาม เราก็แอบน้ำตาซึมในฉากสุดท้ายตอนทนายความคนเก่งของเรา…กลับบ้าน…
โดยรวม เป็นหนังที่ดี แต่ไม่ได้โดดเด่นมากถึงขั้นออสการ์ (เว้นแต่ด้านโปรดักชั่นดีไซน์ที่เราอยากเชียร์ให้เข้าชิงสักหน่อย) คะแนนตามความชอบส่วนตัว 8/10 เข้าฉายในไทย 22 ต.ค. ในโรงภาพยนตร์
ป.ล. แต่หนังอเมริกันจ๋ามากๆ ยกย่องชาติสุดๆ ไม่อยากจะพูด
102 comments