เดิม Bridget Jones’s Diary เป็นงานเขียนชื่อดังของ Helen Fielding ก่อนจะถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ Bridget Jones’s Diary (2001) และ Bridget Jones: The Edge of Reason (2004) ตามลำดับ
Bridget Jones’s Diary ภาคแรกเป็นเรื่องรักสามเส้าระหว่าง Renée Zellweger, Colin Firth, และ Hugh Grant ได้รับการยกย่องจากสาวกรอมคอมหลายสำนักว่า นี่เป็นหนึ่งในหนังโรแมนติก-คอเมดี้ที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่ง แถมเป็นหนังเรื่องแรกที่นำพานางเอก Renée Zellweger ไปสู่เวทีออสการ์สาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม
Bridget Jones: The Edge of Reason ก็ยังคงเวียนว่ายตายเกิดอยู่กับรักสามเส้าไม่รู้จบของหนุ่มสาวชุดเดิม เพิ่มเติมคือผู้กำกับคนใหม่พาบินมาติดคุกที่ไทยแลนด์แดนสยาม ซึ่งไม่รู้ว่ามาทำไม — Bridget Jones ภาคนั้นถือเป็นความล้มเหลวของการสร้างหนังภาคต่อ จนไม่คิดว่าจะมีใครกลับมาสร้างภาค 3 ต่อแล้ว
จนเวลาล่วงเลยมา 1 รอบ (12 ปี) Sharon Maguire ผู้กำกับคนเดิมจาก Bridget Jones’s Diary ภาคแรก ได้กลับมาทำชีวิตรักป้า Bridget Jones ให้กลับมา ท็อปฟอร์ม ต่อในภาคสาม ภายใต้ชื่อเรื่องว่า Bridget Jones’s Baby (2016) โดยเป็นเรื่องราวรักซ้อนสามเส้าเหมือนเดิม เพียงแต่เติม Patrick Dempsey มาแทน Hugh Grant
เรื่องย่อ Bridget Jones’s Baby
หลังจาก Bridget Jones (Renée Zellweger) เลิกกับทนาย Mark Darcy (Colin Firth) อีกครั้ง และเพื่อน ๆ ร่วมแก๊งต่างก็แต่งงาน มีลูก มีครอบครัวกันหมด ไม่เว้นแม้แต่เพื่อนเก้ง ทำให้ Bridget Jones ต้องฉลองคืนวันเกิดวัย 43 ปีเพียงลำพังที่แฟลตแห่งเดิม
เพื่อไม่ให้ชีวิตเซ็กส์ของคนใกล้วัยทองต้องเหี่ยวเฉา Bridget Jones จึงไปงานเทศกาลดนตรีกับ Miranda (Sarah Solemani) เพื่อนสาวที่ทำงานวัยสามสิบตอนต้น และที่นั่นเองเธอก็ได้พบและมี one-night stand กับ Jack (Patrick Dempsey) มหาเศรษฐีเจ้าของเว็บไซต์ชื่อดัง ก่อนที่อาทิตย์ถัดมา เธอได้กลับไปสปาร์คและมีอะไรกับ Mark ถ่านไฟเก่าของเธออีกครั้ง
ตอนแรกนางก็ตั้งใจจะเททั้งสองคน แต่ปัญหารุงรังก็ได้บังเกิดขึ้นเมื่อเธอพบว่าเธอตั้งครรภ์โดยที่ไม่รู้ว่าใครคือพ่อของเด็ก!!!
รีวิว วิเคราะห์ วิจารณ์ Bridget Jones’s Baby
เมื่อ 15 ปีก่อน ป้า Bridget Jones ในวัย 32 ปีต้องบันทึกชีวิตโสดระยะสุดท้ายและความวันทองของเธอลงในสมุดไดอารี่ ปัจจุบัน ป้า Bridget Jones ในวัย 43 ปีก็ยังคงเวิ่นเว้อกับความโสดใกล้วัยทองของเธอลงไดอารี่อยู่ แต่เป็นไดอารี่ที่เป็นแอปฯ ใน iPad ร่วมสมัยแทนสมุดแบบ hard cover เล่มเก่า แต่ความเพ้อเจ้อเวิ่นเว้อของเธอไม่เคยออกมาในรูปแบบที่น่ารำคาญเลยสำหรับเรา
ใน Bridget Jones’s Diary สองภาคแรก เราเข้าใจเธอถึงแม้ตอนนี้เราจะอายุยังไม่ขึ้นเลขสาม เราเห็นภาพตัวเองเป็นเธอในอนาคตได้ไม่ยาก ผู้หญิงวัยสามสิบตอนต้นที่ยังโสดมักถูกครอบครัวและคนรอบข้างถามว่า “เมื่อไหร่จะมีแฟน” และมีความกลัวจะ “ขึ้นคาน” พร้อม ๆ กับความวิตกกังวลเรื่องรูปร่างหน้าตาหรือ “ความอ้วน”
ส่วนภาค Bridget Jones’s Baby นี้ เธออายุสี่สิบตอนต้น แต่เธอก็ยังถูกกดดันโดยครอบครัวและคนรอบข้างอีกว่า “เมื่อไหร่จะแต่งงาน / แล้วจะได้มีลูกมีหลานมั้ย” โดยเฉพาะเมื่อเพื่อนสนิทต่างมีครอบครัวและมีลูกกันหมด ความโสดก็อาจไม่ใช่ความสนุกอีกต่อไป ไม่นับเรื่องเซ็กส์ที่ขาดหายนั่นอีกเรื่องหนึ่ง
เราชอบหนัง Bridget Jones’s Diary ทั้งสองภาคแรก (ถึงแม้ภาคสองจะแอบป่วง ๆ ไปเสียหน่อยก็เถอะ) และเพลงประกอบในหนังทั้งสองภาคก็ยังคงเพราะฮิตติดหูมาตลอดเวลาสิบกว่าปีที่ผ่านมา แต่สำหรับ Bridget Jones’s Baby ที่ป้า Bridget Jones กลับมาเวิ่นเว้ออีกครั้งในวันที่สังขารโรยราและหาพ่อให้ลูกในท้องไม่ได้ เพลงก็เพราะเหมือนเดิม… จนเราต้องบอกตรง ๆ ว่า… เราไม่ใช่แค่ชอบหนังเรื่องนี้ แต่เรา “รัก” หนังเรื่องนี้มาก ๆ ๆ และอาจยกขึ้นหิ้งเป็นหนึ่งในหนังรอมคอมโปรดตลอดกาลเรื่องหนึ่งของเราเลยก็ยังได้
Bridget Jones’s Baby เป็นอะไรที่เซอร์ไพรส์มาก ๆ ถึงแม้จะเป็นหนังสูตรสำเร็จ คาดเดาเนื้อเรื่องได้ง่าย แต่นั่นไม่สำคัญเลยสักนิด เพราะความบันเทิงที่มันมอบให้นั้นล้นเหลือมาก และถึงแม้ในภาคนี้ธีมการเขียนไดอารี่ของป้า Bridget Jones จะไม่ชัดเท่าภาคก่อน ๆ แต่ความเก๋าของลุง ๆ ป้า ๆ กลับมาแรงและมาเต็มกว่าสองภาคแรกรวมกันเสียอีก โดยเฉพาะฉากที่ทั้งสามตัวละครหลักต้องมารับรู้เรื่อง “ลูก” ร่วมกันบนโต๊ะอาหาร โดยมีบ๋อยอิตาเลี่ยนเป็นตัวแอบเสือกอยู่หลังเคาน์เตอร์นั้น เรายกให้เป็นหนึ่งในฉากที่ท็อปฟอร์มที่สุดของหนังรอมคอมเช่นกัน
แถมหนังไม่ได้มีแต่ความฮาหรือซีนแข่งกันพิชิตใจแม่นางท้องแก่นี่เท่านั้น หากแต่ยังมีสาระและความซึ้งอีกหลายด้าน เพราะชีวิตของป้า Bridget Jones ไม่ได้มีแต่ความรักนี่เนอะ ชีวิตนางยังมีหน้าที่การงาน (ซึ่งสเกลใหญ่ขึ้น และมีหนุ่มสาวฮิปสเตอร์รุ่นใหม่ไฟแรงมาขึ้นแท่นบริหารสำนักข่าวอีก) ยังมีพ่อแม่ (โดยเฉพาะแม่ที่กำลังลงสมัครเลือกตั้งตำแหน่งใหญ่ในเขต) และที่สำคัญ… ตอนนี้มีเจ้าตัวน้อยอยู่ในท้องของเธอแล้วด้วย
นอกจากนี้ยังมีประเด็นสังคมอย่าง ความเท่าเทียมทางเพศ (Gender Equality) ที่กำลัง hot issue อีกต่างหาก ไม่ว่าจะเป็นพลังหญิง, Single Mom, คู่รักเกย์, คู่รักเลสเบี้ยน, คุณแม่อุ้มบุญ ฯลฯ มาครบองค์ประชุม และเอามาล้อได้อย่างน่ารัก
พูดเลยว่า Renée Zellweger ควงคู่ทนายหน้าตาย Colin Firth กลับมาท็อปฟอร์มอีกครั้งในวัยกระดังงาลนไฟ ซึ่งถึงแม้ภาคนี้จะไม่มี Hugh Grant กลับมารับบทเพลย์บอย Daniel Cleaver และ Patrick Dempsey อาจจะบารมีไม่เท่าคนอื่น แต่เขาก็หล่อวัวตายควายล้มชดเชยกันได้อยู่ ยิ่งได้ Emma Thompson มารับบทเป็นคุณหมอ หนังก็มีสีสันได้อีก หมอจังหวะมุกดีมาก #ปรบมือรัว
โดยสรุป Bridget Jones’s Baby เป็นไดอารี่ของ Bridget Jones เล่มที่สนุกและสมบูรณ์ที่สุด (ขาดก็แต่ Hugh Grant ที่กลับมาเพียงรูปถ่าย) รักมาก
คนที่เคยดูภาคแรก ๆ จะรู้สึกฟีลกู้ดที่ได้เห็นตัวละครที่เรารักเติบโตมาอีกขั้น คนที่ไม่เคยดูภาคก่อน ๆ ก็สามารถตามเรื่องทันและดูสนุกไม่แพ้กัน เพราะหนังมีเสน่ห์ตามแบบของเก่าออริจินัล แต่สอดแทรกความทันสมัยและความสดใหม่เข้าไปอย่างลงตัว
นี่เป็นหนังที่ทำให้เรามีความสุขและหัวเราะน้ำตาเล็ดตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง สนุกมากกกกก ไม่อยากให้จบเลย (อยากดูภาค 4 ต่อด้วย ทำเลย! ทำเลย! ทำเลย!)
ป.ล. มีนักร้องดังมาเป็นแขกรับเชิญด้วยนะจะบอกให้ กรี๊ดเลย
Bridget Jones’s Baby คะแนนตามความชอบส่วนตัว 8.5/10
เข้าฉายรอบ Sneak Preview (หลัง 20:00 น.) ตั้งแต่ 15 ก.ย. 2016 และเข้าฉายจริง 22 ก.ย. 2016 เป็นต้นไป
48 comments
โอ้ยเค้าจะไปดู รักบริดเจดมากๆ รีกหนังเรื่องนี้