รู้จักสินเชื่อรถยนต์ก่อนยื่นเรื่องขอสินเชื่อรถยนต์กันเถอะ
สินเชื่อรถยนต์ขอยากไหม? สำหรับคนที่วางแผนจะซื้อรถยนต์แต่ไม่มีเงินสดมากพอที่จะซื้อ จึงจำเป็นที่จะต้องขอกู้เงินจากธนาคารหรือบริษัทลิสซิ่งที่เปิดให้บริการสินเชื่อรถยนต์ แต่ก็อาจจะมีคำถามวนเวียนและทำให้กังวลใจว่าสินเชื่อรถยนต์ขอกู้ยากไหม จะต้องทำยังไง ดอกเบี้ยจะแพงไหม จำเป็นแค่ไหนที่จะซื้อรถยนต์จะต้องมีเงินสำรอง และที่สำคัญเลือกขอสินเชื่อกับธนาคารหรือบริษัทลีสซิ่งไหนดี
วันนี้เราจะช่วยไขข้อสงสัยต่าง ๆ เพื่อที่จะได้ช่วยทำให้การตัดสินใจขอสินเชื่อรถยนต์ของคุณง่ายขึ้น ฉะนั้นใครที่กำลังวางแผนซื้อรถยนต์แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นยังไงนั้น ไม่ควรพลาดกับบทความนี้เลย ที่เราจะพาคุณไปรู้จักกับสินเชื่อรถยนต์ก่อนยื่นเรื่องขอสินเชื่อรถยนต์กันค่ะ
ทำความรู้จัก สินเชื่อรถยนต์คือะไร
สินเชื่อรถยนต์ เป็นสินเชื่ออีกประเภทหนึ่งที่ในการขอสินเชื่อนั้นจะต้องมีหลักทรัพย์ในการค้ำประกัน หรืออาจจะต้องมีบุคคลมาค้ำประกัน ซึ่งหลักทรัพย์ที่นำมาค้ำประกันนั้นก็จะเป็นรถยนต์ที่คุณจะซื้อนั่นเอง โดยการขอสินเชื่อรถยนต์นั้นจะเกิดขึ้นระหว่างผู้ที่ซื้อรถยนต์กับธนาคารหรือลีสซิ่งผู้ให้กู้เงิน เพื่อนำมาซื้อรถยนต์ และธนาคารหรือลิสซิ่งจะกำหนดอัตราเงินในการผ่อนจ่ายในการแต่ละงวด ว่าจะต้องจ่ายเท่าไร มีระยะเวลการผ่อนกี่งวด ซึ่งส่วนใหญ่แล้วถ้าเป็นรถยนต์ใหม่ป้ายแดงก็จะให้ผ่อนสูงสุด 84 งวด ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละแห่งด้วย
การขอสินเชื่อรถยนต์จะคิดอัตราดอกเบี้ยอย่างไร
การคิดดอกเบี้ยของสินเชื่อรถยนต์นั้น ปัจจุบันมีการคิดดอกเบี้ย 2 แบบ คือ อัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ และดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก ซึ่งตามกฎหมายใหม่ที่ออกมานั้นก็จะให้สินเชื่อรถยนต์ใหม่นั้นคิดดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก งั้นเราลองมาเริ่มดูทีละวิธีการคิดดอกเบี้ยกันว่าคิดกันอย่างไร
ยกตัวอย่างเช่น นาย ก ยื่นขอกู้สินเชื่อรถยนต์กับธนาคารแห่งหนึ่ง ด้วยวงเงิน 800,000 บาท อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ร้อยละ 6 ต่อปี ซึ่งมีระยะเวลาในการผ่อนนาน 6 ปี ฉะนั้นจากสูตรของดอกเบี้ยก็จะทำให้นาย ก จะต้องจ่ายดอกเบี้ยในการขอกู้สินเชื่อรถยนต์ ดังนี้
วิธีการคิดดอกเบี้ยแบบคงที่
การคิดดอกเบี้ยแบบคงที่นั้น ธนาคารหรือลีสซิ่งจะคิดดอกเบี้ยในอัตราเดียวกันตลอดทั้งสัญญาเงินกู้ เรามาลองดูวิธีการคิดหาดอกเบี้ย ดังนี้
สูตรการคิดดอกเบี้ยคงที่
ยอดเงินที่ขอสินเชื่อ x อัตราดอกเบี้ยต่อปี = ดอกเบี้ยที่จะต้องจ่ายต่อปี
อัตราดอกเบี้ยต่อปี = 800,000 บาท (ยอดเงินที่ขอสินเชื่อ) x 6.00 (อัตราดอกเบี้ยต่อปี) = 48,000 บาทต่อปี
ดังนั้น หากนาย ก ผ่อนสินเชื่อรถยนต์เป็นเวลา 6 ปี ก็จะต้องเสียดอกเบี้ยอยู่ที่ 288,000 บาท
วิธีการคิดดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก
การคิดดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก จะช่วยทำให้คุณเสียดอกเบี้ยในอัตราที่ถูกลง เนื่องจากดอกเบี้ยจะคิดใหม่ทุกรอบ เพราะการจ่ายค่างวดไปหนึ่งงวดนั้นก็จะไปหักกับเงินต้น ทำให้เงินต้นเหลือน้อยลง เงินต้นที่เหลือก็จะถูกนำไปคิดดอกเบี้ยใหม่อีกครั้ง
สูตรการคิดดอกเบี้ยลดต้นลดดอก
ยอดเงินต้นคงเหลือ x อัตราดอกเบี้ยต่อปี x จำนวนวันของเดือนนั้น / 365 วัน (จำนวนวันภายใน 1 ปี)
จากตัวอย่างข้างต้น หากคิดคำนวณอัตราดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก ก็จะทำให้จะต้องเสียดอกเบี้ยในแต่ละงวด ดังนี้
งวดที่ 1 ดอกเบี้ย/เดือน = 800,000 x 6.0% x 30 ÷ 365 = 3,945.20 บาท
ยอดเงินสิ้นงวด = 800,000 + 3,945.20 = 803,945.20 บาท
หักค่างวดรายเดือน 8,000 บาท
ดังนั้น คงเหลือยอดเงินต้น = 803,945.20 – 8,000 = 795,945.20 บาท
ยอดเงินต้นคงเหลือ = 795,945.20 บาท
ดอกเบี้ย = 3,945.20 บาท
งวดที่ 2 ดอกเบี้ย/เดือน = 795,945.20 x 6.0% x 30 ÷ 365 = 3,925.20 บาท
ยอดเงินสิ้นงวด = 795,945.20 + 3,925.20 = 799,870.40 บาท
หักค่างวดรายเดือน 8,000 บาท
ดังนั้น คงเหลือยอดเงินต้น = 799,870.40 – 8,000 = 791,870.40 บาท
ยอดเงินต้นคงเหลือ = 791,870.40 บาท
ดอกเบี้ย = 3,925.20 บาท
จากที่เห็นข้างต้นนี้ก็จะเห็นได้ว่าอัตราดอกเบี้ยในแต่ละงวดนั้นไม่เท่ากัน เพราะจะคิดไปตามจำนวนเงินต้นคงเหลือในแต่ละงวดนั่นเอง
ขอสินเชื่อรถยนต์จะต้องเสียค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง
แม้ว่าปัจจุบันจะเห็นโปรโมชั่นการขายรถยนต์ตามโชว์รูม หรืองานมอเตอร์โชว์ต่าง ๆ นั้นจะมีข้อเสนอดี ๆ ว่าไม่ต้องวางเงินดาวน์ก็ขับรถยนต์ออกไปได้เลย แต่นอกจากเงินดาวน์แล้วยังมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่คุณจะต้องเตรียมเงินไว้ส่วนหนึ่งในการขอสินเชื่อ ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้างนั้น มาดูกันเลยค่ะ
1. เงินดาวน์รถยนต์
สิ่งแรกเลยก็คือเงินสำหรับที่ใช้ในการมัดจำหรือดาวน์รถยนต์ โดยส่วนใหญ่ในการวางเงินดาวน์นั้นขึ้นอยู่กับยี่ห้อรถยนต์ รุ่นของรถยนต์ หากคิดเป็นเงินแล้วก็จะอยู่สักประมาณ 5 – 15% จากราคารถยนต์ เช่น ซื้อรถยนต์ในราคา 800,000 บาท แต่จะต้องมีเงินดาวน์ 15% จากราคารถยนต์ ทำให้คุณจะต้องมีเงินสดอย่างน้อย ๆ อยู่ที่ 120,000 บาท ทั้งนี้ นอกจากเงินดาวน์รถยนต์แล้ว อาจจะต้องเตรียมเงินก้อนไว้อีกส่วนหนึ่งในกรณีที่ขอสินเชื่อแล้วอนุมัติได้วงเงินไม่เต็มจำนวนตามที่ต้องการ
2. ค่าอากรแสตมป์
การทำสัญญาของสินเชื่อต่าง ๆ จะต้องมีเสียค่าอากรแสตมป์ ส่วนใหญ่แล้วการค่าธรรมเนียมในส่วนนี้ก็จะอยู่ที่ 0.5% ของวงเงินสินเชื่อที่ได้รับอนุมัติ
3. ค่าโอนทะเบียนรถยนต์หลังได้รับอนุมัติสินเชื่อ
เมื่อสินเชื่อรถยนต์ได้รับอนุมัติแล้ว ธนาคารหรือลิสซิ่งก็จะนัดเข้าไปทำสัญญาเพื่อทำการโอนทะเบียนรถยนต์ ส่วนใหญ่แล้วธนาคารหรือลิสซิ่งจะไม่ออกค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ให้ ฉะนั้นคุณจะต้องเป็นคนที่จ่ายเอง
4. ค่าเบี้ยประกันภัยรถยนต์
การซื้อรถยนต์ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ใหม่ป้ายแดงหรือรถยนต์มือสองนั้น ส่วนใหญ่จะต้องทำประกันภัยรถยนต์ ซึ่งจะให้เลือกตั้งแต่ ประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 ประกันภัยรถยนต์ชั้น 2 และ ประกันภัยรถยนต์ชั้น 3 ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับเงินในกระเป๋าของคุณและความชอบส่วนบุคคล แต่ยังเสียก็จะต้องเตรียมเงินในส่วนนี้ไว้
5. ค่าภาษีรถยนต์
ตามกฎหมายรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ทุกประเภทจะต้องเสียภาษีรถยนต์ ซึ่งอัตราดอกเบี้ยเสียภาษีจะขึ้นอยู่ยี่ห้อรถยนต์ ประเภทของรถยนต์ เป็นต้น
6. ค่าติดตามทวงถามหนี้
ในการขอสินเชื่อไม่ว่ากับธนาคารหรือลีสซิ่งใดก็ตาม ควรที่จะต้องรู้เงื่อนไข ค่าธรรมเนียม ค่าปรับของธนาคารหรือลิสซิ่งที่นั้น เนื่องจากกรณีที่คุณอาจจะจ่ายไม่ตรงกำหนด ถ้ามีการโทรทวงถามหนี้ ก็อาจจะทำให้ต้องเสียค่าติดตาม ซึ่งจะขึ้นอยู่แต่ละธนาคารหรือลิสซิ่ง
สามารถยื่นขอสินเชื่อรถยนต์ได้ที่ไหนบ้าง
การขอสินเชื่อรถยนต์ จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้ ธนาคารที่จะมีแผนกสินเชื่อรถยนต์โดยเฉพาะ เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารธนชาติ หรือธนาคารจะมีบริษัทไฟแนนซ์ที่อยู่ในเครือของธนาคาร เช่น ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เป็นต้น นอกจากธนาคารแล้วมีบริษัทลิสซิ่งต่าง ๆ ที่จัดทำขึ้นมาโดยเฉพาะเพื่อการปล่อยสินเชื่อ รวมไปถึงค่ายของรถยนต์ก็ยังจัดทำไฟแนนซ์เองอีกด้วย เช่น โตโยต้าลีสซิ่ง, ฮอนด้าลีสซิ่ง, นิสสันลีสซิ่ง เป็นต้น
เอกสารประกอบการสมัครสินเชื่อรถยนต์มีอะไรบ้าง
สำหรับใครที่กำลังจะเตรียมยื่นขอสินเชื่อรถยนต์ สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งก็คือ การเตรียมเอกสารต่างๆ ประกอบการสมัคร ซึ่งเอกสารหลัก ๆ ก็จะประกอบด้วย สำเนาบัตรประชาชน / สำเนาทะเบียนบ้าน / เอกสารที่แสดงที่มาของรายได้ เช่น สลิปเงินเดือน / หนังสือรับรองเงินเดือน / ใบหัก ณ ที่จ่าย / ทวิ 50 / Statement ย้อนหลัง 6 เดือน และกรณีที่สมัครในนามนิติบุคคลก็จะต้องแนบเอกสารของบริษัทมาด้วย สามารถดูรายละเอียดต่างๆ ได้ตามรูปด้านบนได้เลย
เป็นยังไงกันบ้างกับข้อมูลที่เกี่ยวสินเชื่อรถยนต์ หวังว่าจะทำให้คุณได้รู้จักสินเชื่อรถยนต์กันมากขึ้น แม้ว่าการขอสินเชื่อรถยนต์จะเป็นง่ายก็ตาม แต่รายละเอียดอาจจะค่อนข้างยุ่งยากสับสน ฉะนั้นก่อนที่จะตัดสินใจขอสินเชื่อก็ควรที่จะศึกษารายละเอียดให้ดีเสียก่อน ทั้งนี้หากคุณพอจะมีกำลังในการซื้อรถยนต์ โดยที่ไม่ต้องขอสินเชื่อรถยนต์ก็จะเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะจะช่วยทำให้ไม่ต้องเสียเงินค่าดอกเบี้ยให้กับธนาคาร แต่ถ้าไม่มีเงินจริง ๆ แนะนำว่าให้เก็บเงินไว้มาก ๆ เพื่อที่จะวางเงินดาวน์ได้มากก็จะทำให้กู้เงินน้อยลง ดอกเบี้ยก็จ่ายน้อยเช่นเดียวกันค่ะ
ขอขอบคุณภาพ infographic สวยๆจาก iMoney.in.th
108 comments
Comments are closed.