หนังเรื่อง Coco before Chanel (2009) (หรือชื่อออริจินัลตามภาษาฝรั่งเศส Coco avant Chanel) ของผู้กำกับ Anne Fontaine เป็นหนังกึ่งอัตชีวประวัติของ Gabrielle “Coco” Chanel (1883 – 1971) ผู้ก่อตั้งแบรนด์ดังสุดหรูตลอดกาล CHANEL โดย Audrey Tautou (จาก The Da Vinci Code) รับบทบาทเป็น Mademoiselle
หนังทำให้เรารู้ว่า How Coco Became CHANEL แต่ส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องชีวิตรักในวัยสาว (ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างแรงบันดาลใจในเรื่องงานของคุณ Coco นั่นแหละ) เรื่องราวบอกเล่าตั้งแต่สมัยนางกับพี่สาวอยู่สถานเลี้ยงเด็กกำพร้าจนมาถึงช่วงยี่สิบปลาย ๆ สามสิบต้น ๆ ตอนทำแบรนด์เสื้อผ้าสำเร็จในวงกว้าง ส่วนเรื่องราวช่วง Coco after Chanel นั้น… ไม่มี
ดังนั้นหนัง Coco before Chanel ไม่ได้เล่าช่วงหลังจากที่นางเป็นเจ้าแม่แฟชั่นแล้ว หรือเหตุการณ์ช่วงสงครามโลก ซึ่งมาดามไปพัวพันกับชายผู้มีอิทธิพลอีกมากหน้าหลายตา ไม่ว่าจะเป็น การคบหากับทหารนาซีจนทำให้ชาวปารีสขับไล่เธอออกจากเมืองเป็นเวลากว่า 15 ปี หรือการเป็นเมียน้อยของ Grand Duke Dimitri แห่งรัสเซีย ผู้ร่ำรวยที่สุดในยุโรป ณ เวลานั้น ซึ่งเป็นแรงสำคัญทำให้เธอออกน้ำหอม Chanel No. 5 ขึ้นมาได้
หนัง Coco before Chanel ทำให้เรารู้จักมาดามแค่เพียงผิวเผินเท่านั้น (อ่าน wikipedia หรือตามเว็บไซต์ต่าง ๆ ยังรู้เยอะกว่า) แต่การดูหนังก็พอทำให้เห็นภาพบริบทในสมัยนั้นหลายอย่าง โดยเฉพาะพาร์ทของคอสตูม ซึ่งเขาทำมาได้ดีทีเดียว ดีถึงขนาดได้เข้าชิงออสการ์สาขาออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยมในปีนั้น
อย่างไรก็ดี หนังก็ทำให้เรารู้จักมาดามชาแนลมากพอที่จะรักและเกลียดนางมากขึ้นได้ในเวลาเดียวกัน เราได้รู้อะไรเกี่ยวกับตัวนางจากหนังเรื่องนี้บ้าง… อืมมม… เราลองมาลิสต์พร้อม ๆ กัน (มาดูกันว่าจะมีเรื่องดีสักกี่ข้อนะ)
- จริง ๆ เธอชื่อ Gabrielle แล้วชื่อว่า Coco เป็นชื่อเล่นที่เธอได้มาสมัยทำอาชีพนักร้องในคาเฟ่อยู่กับ Adrienne (Marie Gillain) ผู้เป็นพี่สาว นอกจากงานร้องเล่นเต้นรำ เธอยังรับจ้างตัดเย็บในร้านตัดเสื้ออีกด้วย
- จุดเริ่มต้นในการใช้เต้าไต่คือ เธอโกหกสร้างสตอรี่เรื่องชีวิตของเธอ เพื่อจับผู้ชายรวยที่แก่คราวพ่ออย่าง Étienne Balsan (Benoît Poelvoorde) และตามเขามาอยู่คฤหาสน์หลังโต
- เธอได้คอนเนคชั่นจากเพื่อน ๆ และสาว ๆ ของ Balsan รวมถึง Emilienne d’Alençon (Emmanuelle Devos) นักแสดงละครเวทีชื่อดังหมวกทุกรุ่นที่เธอทำให้นักแสดงคนนี้ใส่ขึ้นโชว์ ขายดีเป็นเทน้ำเทท่าทั่วพระนครปารีส
- Coco ไม่ได้มีรูปร่างหน้าตาแบบพิมพ์นิยม เธอไม่ค่อยมีส่วนโค้งเว้า เธอจึงไม่ชอบใส่คอร์เซ็ตต์ และไม่ชอบแฟชั่นเยอะ ๆ ด้วย เธอชอบแต่งเรียบ ๆ และแต่งสบาย ๆ แบบผู้ชาย สไตล์ของเธอจึงโดดเด่นไม่เหมือนใคร
- เธอเป็นเมียเก็บของ Balsan เธอก็ไม่มีความสุขเลย จนกระทั่งมาเจอนักธุรกิจหนุ่มอังกฤษ Arthur “Boy” Capel (Alessandro Nivola) ซึ่งเป็นเพื่อนของ Balsan และรวยกว่า Balsan แต่สุดท้าย ถึงแม้ Boy จะเป็นรักแท้ของเธอ แต่เธอกับ Boy ก็คบกันลับ ๆ ในฐานะเมียน้อย
- Boy เป็นผู้ผลักดันให้เธอทำแบรนด์ และให้เงินทุนตั้งตัวมาเปิดร้านในปารีสได้
- พอ Boy ตาย เธอก็ก้มหน้าก้มตาทำแต่งาน ออกแบบคอลเล็กชั่นสุดล้ำ ปฏิวัติวงการแฟชั่น และประสบความสำเร็จแต่นั้นมา
โดยสรุปคือ คุณ Coco ไม่ได้มีความรู้อะไรหรอก อาศัยครูพักลักจำมาจากตอนเป็นลูกจ้างเขา ส่วนเงินทุนก็ไม่มีเพราะกำพร้าและยากจน ต้องหาเงินทุนเอาจากผู้ชายสายเปย์ แต่ถึงกระนั้น กุญแจสำคัญที่ทำให้ Coco Became CHANEL คือ ความกล้าที่จะแตกต่าง เป็นตัวของตัวเอง และทำสิ่งที่ตนเองรัก โดยมีชายคนรักเป็นแรงผลักดันให้เธอทำตามความฝัน
ส่วนเรื่องการเป็นเมียน้อยเมียเก็บ ก็พูดยาก เพราะถ้ามองแง่ดีคือ เธออยากเลี้ยงตัวเองได้ในระยะยาวโดยไม่ต้องพึ่งผู้ชาย แต่เบื้องต้นมันยากสำหรับผู้หญิงอย่างเธอที่จะเริ่มต้น เนื่องจากในฝรั่งเศสสมัยนั้น เขาต้องให้ผู้ชายเป็นฝ่ายหาเลี้ยงผู้หญิง เขาไม่ค่อยให้โอกาสผู้หญิงทำงาน (เครื่องแต่งกายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของการกดขี่และความไม่เท่าเทียมทางเพศอย่างหนึ่ง) คุณ Coco จึงต้องยอมเป็นเมียน้อยบ้างล่ะ ยอมนอนกับคนรวยบ้างล่ะ เพื่อให้ได้มาซึ่งโอกาส เงินทอง คอนเน็คชั่น อำนาจบารมี และอิทธิพลนานา ทำให้เธอมีหน้ามีตาจากวันนั้นถึงวันนี้
ในฐานะคนดูยุค 2017 ดูแล้วก็อาจจะเอาข้อดีของคุณ Coco มาเป็นแบบอย่าง ส่วนเรื่องการใช้เต้าไต่เพื่อได้มาซึ่งสิ่งต้าง ๆ ข้างต้นนั้น เราไม่จำเป็นต้องทำแบบคุณ Coco สมัยนั้นหรอกนะ เพราะสมัยนี้ผู้หญิงเราต่างได้รับโอกาสมากขึ้นทั้งในด้านการศึกษาและการงานอาชีพหลาย ๆ อย่าง เพียงแค่เรารู้จักไขว่คว้าโอกาสทั้งหลายนั้นให้ได้ เราก็จะสามารถสะสม เงินทอง คอนเน็คชั่น อำนาจบารมี ฯลฯ จนเพียงพอที่เราจะเริ่มต้นทำธุรกิจหรือสร้างแบรนด์เป็นของตนเอง ถึงขั้นอาจจะประสบความสำเร็จตลอดกาลอย่างคุณ Coco Chanel ก็เป็นได้
คะแนนตามความชอบส่วนตัว 7/10
38 comments
Comments are closed.