สามัญสำนึก (Common Sense) จุลสารการเมืองของอเมริกา เขียนโดย โธมัส เพน (Thomas Paine) ตีพิมพ์ครั้งแรก 10 ม.ค. 1776 โดยฉบับที่เราอ่านเป็นฉบับที่แปลโดย ภัควดี วีระภาสพงษ์ และจัดพิมพ์โดย บจก.บุ๊คสเคป 📌 พิกัดหนังสือ https://shope.ee/1fu91mk4U4
สามัญสำนึก (Common Sense) “วิพากษ์ระบอบกษัตริย์” ที่สร้างระบบการปกครองจากการสืบทอดมรดกทางสายเลือด พร้อมทั้ง “เสนอระบอบมหาชนรัฐ” ที่มาจากประชาชน และการปกครองเพื่อส่วนรวม (public good) ไม่ใช่เพื่ออภิสิทธิ์ชน อันนำอเมริกาไปสู่ “การเป็นเอกราช” จากอังกฤษในสมัยนั้น
สามัญสำนึก (Common Sense) ทำให้ผู้อ่าน ณ เวลานั้นค่อย ๆ เสื่อมความรู้สึกจงรักภักดีต่อคิง George III แห่งอังกฤษ (Reign: 25 October 1760 –; 29 January 1820) นำไปสู่เหตุการณ์ 4 ก.ค. 1776 (วันชาติอเมริกา) ที่ขบวนการต่อสู้เพื่ออิสรภาพของคนอเมริกันได้ประกาศตัดความสัมพันธ์แบบอาณานิคมและการเป็นข้าราชบริพารของกษัตริย์อังกฤษ ก่อนเข้าสู่การทำสงครามเอกราชกับจักรภพอังกฤษอย่างเต็มตัว จนกระทั่งได้รับเอกราชในปี 1783
บทนำ โดย ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ
สามัญสำนึก (Common Sense) เริ่มจากบทนำ ซึ่งนำพาผู้อ่านไปรู้จักกับปูมหลังชีวิตของ Thomas Paine ทำให้ได้เข้าใจว่า ทำไมเขาจึงมีแนวคิดเช่นนั้น ทำไมเขาจึงเขียนเช่นนี้
- Thomas Paine เกิดที่ประเทศอังกฤษ แต่ย้ายมาอเมริกาเมื่ออายุ 37 ปี เพราะถูกไล่ออกจากราชการและกิจการครอบครัวล้มละลายหลังจากรวมพรรคพวกประท้วงเรียกร้องขอขึ้นเงินเดือน
- ครอบครัวของ Thomas Paine ปลูกฝังความคิดอิสรเสรี และเป็นพวก Quakers ซึ่งเป็นกลุ่มคริสเตียนฝ่ายโปรเตสแตนท์ที่มีหลักการสำคัญคือ การเคารพความเป็นอิสระและแสงสว่างในตัวเองของแต่ละคนในการเข้าถึงพระเจ้า พวกเขามีความต้องการปฏิรูปสังคม นอกจากนี้เขายังได้รับอิทธิพลของวิทยาศาสตร์แบบ Newton ซึ่งสอนว่าจักรวาลนี้มี harmony and order
==========
ในจุลสาร อภิปราย 3 ประเด็นใหญ่ ได้แก่...
1. ต้นกำเนิดและจุดประสงค์ของรัฐบาล
2. รัฐธรรมนูญอังกฤษ ระบอบกษัตริย์ ระบบรัฐบาล
3. อเมริกาจะไปทางไหนดี
I. จุดกำเนิดและจุดประสงค์ของรัฐบาล และรัฐธรรมนูญอังกฤษ
ในพาร์ทนี้ Thomas Paine ได้อธิบายว่า คนเราเกิดมาเท่าเทียมกันตามธรรมชาติ แต่พอรวมตัวกันเป็นสังคมแล้ว คนบางคนหย่อนยานในหน้าที่และความซื่อตรงต่อกัน คนในสังคมจึงต้องการความมั่นคงปลอดภัย ทำให้จำเป็นต้องมีการปกครองและการใช้อำนาจในการปกครองขึ้น
Society in every state is a blessing, but government even in its best state is but a necessary evil; in its worst state an intolerable one…
ผู้เขียนได้เปรียบเทียบสังคมกับรัฐบาล ดังนี้…
- สังคมเกิดจากความต้องการของเรา / รัฐบาลเกิดจากความชั่วร้ายของเรา
- สังคมส่งเสริมความสุขของเราในด้านบวก / รัฐบาลคอยระงับยับยั้งความชั่วของเรา
- สังคมเกื้อหนุนการมีปฏิสัมพันธ์ / รัฐบาลสร้างการกีดกันแบ่งแยก
- สังคมคือผู้อุปถัมภ์ / รัฐบาลคือผู้ลงโทษ
สรุปคือ สังคมเกิดจากสิ่งที่ดีงามในตัวเรา แต่รัฐบาลหรือการปกครองจำเป็นต้องเกิดขึ้นเพราะความชั่วร้ายหรือความบกพร่องของคุณธรรมของมนุษย์เราเอง ดังนั้น วัตถุประสงค์และเป้าหมายของการมีรัฐบาลคือ เสรีภาพและความมั่นคงปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สินของเราจากผู้ร่วมสังคมคนอื่นอีกที
แรก ๆ สังคมยังเล็ก ทุกคนอาจมาประชุมหารือประเด็นสาธารณะกันโดยพร้อมหน้า (รัฐสภา ณ ตอนนั้นอาจเป็นเพียงลานกว้างใกล้ต้นไม้ใหญ่สักต้น) ต่อมา เมื่อสังคมขยายใหญ่ขึ้น จึงแบ่งชุมชนออกเป็นส่วน ๆ และเกิด “ผู้แทน” หรือ “ผู้ได้รับการเลือกตั้ง” ขึ้น โดยการจัดการเลือกตั้งบ่อย ๆ ทำให้ผู้ได้รับการเลือกตั้งจะต้องกลับมาคลุกคลีแลกเปลี่ยนกับฐานเสียงหรือผู้เลือกบ่อย ๆ
นอกจากนี้ ผู้เขียนยังวิพากษ์รัฐธรรมนูญอังกฤษ ที่มีการวางรากฐานบนซากเดนของระบบโบราณสองประการ อันได้แก่ ระบอบกษัตริย์ กับระบบขุนนางชนชั้นสูง (ซึ่งสืบทอดทางสายเลือด ไม่เกี่ยวกับประชาชน และไม่มีคุณูปการใดใดต่อเสรีภาพของรัฐ) ผสมผสานกับระบอบสาธารณรัฐ (ซึ่งอยู่ในรูปแบบของสภาสามัญชน) เพื่อถ่วงดุลอำนาจกันและกันนั้น เป็นเรื่องที่ ไม่สมเหตุสมผลและย้อนแย้ง กล่าวคือ…
- “สภาถ่วงดุลอำนาจกษัตริย์” นั่นหมายความว่า กษัตริย์เป็นบุคคลไม่น่าไว้วางใจแต่แรก จึงต้องมีสภาผู้มีปัญญามากกว่าและน่าไว้วางใจมากกว่ากษัตริย์มาตรวจสอบ ใช่หรือไม่?
- ในขณะเดียวกัน “กษัตริย์มีอำนาจถ่วงดุลสภาสามัญชน” (เช่น กษัตริย์สามารถปฏิเสธการออกก.ม.ของสภา) นั่นหมายความว่า กษัตริย์มีปัญญามากกว่าสภา อย่างนั้นด้วยหรือไม่?
มีการตั้งคำถามอีกว่า สถาบันกษัตริย์ถูกแยกตัวออกจากสังคมและการรับรู้ข่าวสารบ้านเมือง แต่ทำไมยังให้อำนาจกษัตริย์ในการกระทำการกรณีต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องใช้วิจารณญาณสูงสุด? และเหตุใดกษัตริย์จึงเป็นอำนาจที่ประชาชนไม่ควรไว้ใจและต้องคอยถ่วงดุลไว้เสมอ?
II. ระบอบกษัตริย์กับการสืบทอดทางสายเลือด
ตามหลักธรรมชาติ มนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกันโดยกำเนิด การแบ่งแยกเพศชายกับเพศหญิง ซึ่งเป็นการแบ่งแยกโดยธรรมชาติ อาจเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แม้แต่ความแบ่งแยกระหว่างคนรวยกับคนจน ก็ยังเปลี่ยนสถานะกันได้ (เกิดมาจนไม่จำเป็นต้องตายอย่างจน) มันล้วนอธิบายได้และมีเหตุมีผล แต่การแบ่งแยกมนุษย์ออกเป็น “กษัตริย์” กับ “ราษฎร” เป็นการแบ่งแยกที่ไร้เหตุผล
“But there is another and greater distinction for which no truly natural or religious reason can be assigned, and that is the distinction of men into kings and subjects. Male and female are the distinctions of nature, good and band, the distinctions of heaven; but how a race of men came into the world so exalted above the rest, and distinguished like some new species, is worth inquiring into, and whether they are the means of happiness or of misery to mankind.”
ในอดีต โลกยังไม่มีกษัตริย์ และนั่นคือโลกที่ยังไม่มีสงคราม สงครามบ่อยครั้งเกิดจากความโอหังของกษัตริย์ หลายประเทศในยุโรปมีความสงบสุขเพราะไม่มีระบอบกษัตริย์มาหลายศตวรรษแล้ว
ชนนอกศาสนา (หรือชาวยิว ณ ตอนนั้น) คือชนกลุ่มแรกที่นำระบอบกษัตริย์เข้ามา ซึ่งเป็นระบอบที่ฟุ้งเฟ้อ และส่งเสริมลัทธิบูชาตัวบุคคล ในพระคัมภีร์กล่าวว่า ตอนนั้นซามูเอลก็เคยได้เตือนพวกเขาแล้วว่า กษัตริย์ที่จะมาปกครองพวกเขานั้นจะทำสิ่งใดบ้าง (หมายถึงกษัตริย์โดยรวม ไม่ได้เจาะจงคนใดคนหนึ่ง) ซึ่งนั่นก็ได้แก่…
- กษัตริย์จะเกณฑ์บุตรชายของท่านไปรบ (เกณฑ์ทหาร) เกณฑ์คนหนุ่มสาวไปรับใช้ และเอาสัตว์เลี้ยงของท่านไปใช้สอย
- กษัตริย์จะให้บางคนเป็นนายทัพ ให้บางคนทำนาเก็บเกี่ยวพืชพันธุ์ให้เขา ให้บางคนทำอาวุธให้เขา และให้บุตรสาวของท่านไปทำครัว (กดขี่และฟุ้งเฟ้อ)
- กษัตริย์จะริบพืชผลส่วนที่ดีที่สุดของท่านไปแจกจ่ายข้าราชบริพารของเขา (การติดสินบน ฉ้อราษฎร์บังหลวง เล่นพรรคเล่นพวก)
Thomas Paine เชื่อและอธิบายว่า “มนุษย์ทุกคนเกิดมาเท่าเทียมกัน ไม่มีมนุษย์คนไหนพึงมีสิทธิแต่กำเนิดในอันที่จะยกยอตระกูลของตนให้มีอภิสิทธิ์ถาวรเหนือคนทั้งปวงตลอดไป และถึงแม้ตัวเขาเองอาจสมควรได้รับการยกย่องนับถือพอประมาณจากผู้คนร่วมรุ่น แต่ลูกหลานของเขาอาจหล่นไกลต้นเกินกว่าจะควรค่าให้ยกย่องนับถือสืบต่อไป”
พูดอีกนัยคือ ถ้าพวกเขาจะเคารพบูชาบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ก็ไม่ควรไปบอกว่า ลูกหลานของบุคคลนั้นจะมาปกครองเหนือหัวพวกเราตลอดไปด้วย เพราะมันไม่แฟร์กับลูกหลานตัวเขาเอง ข้อตกลงนั้นอาจทำให้คนรุ่นหลังต้องอยู่ภายใต้การปกครองของคนชั่วหรือคนโง่ในภายภาคหน้าก็ได้ คุณธรรมไม่ได้สืบทอดกันทางสายเลือด และมิได้คงอยู่ถาวร
“For all men being originally equals, no one by birth could have the right to set up his own family in perpetual preference to all others forever, and tho’ himself might deserve some decent degree of honours of his cotemporaries, yet his descendants might be far too unworthy to inherit them.”
มีความเชื่อกันว่า กษัตริย์มีต้นตระกูลอันทรงเกียรติ ทั้ง ๆ ที่ ในความเป็นจริง ต้นตระกูลของกษัตริย์ก็เป็นคนธรรมดาที่อาจไม่ได้ดีกว่าพวกทรชน อาจเป็นหัวโจกของกลุ่มด้วยนิสัยหยาบกร้านหรือมีเล่ห์กล แผ่อำนาจอาณาเขตด้วยการปล้นสะดม และกดขี่ผู้คนที่ไร้ทางสู้ให้ส่งส่วยให้เพื่อแลกกับความปลอดภัย ก็เป็นได้
คนที่มองว่าตัวเองเกิดมาเพื่อปกครองคนและอยู่เหนือคนอื่น ไม่ช้าเขาจะกลายเป็นคนโอหังและสำคัญตน โลกของเขาก็แตกต่างจากโลกภายนอก เขาจึงแทบไม่มีโอกาสได้เข้าใจชีวิตของคนหมู่มากเลย. ดังนั้น ผู้เขียนมองว่า ผู้สืบทอดของกษัตริย์มักเป็นคนที่ไม่เหมาะสมที่สุดที่จะปกครองคน ทั้งนี้ยังไม่นับผู้สำเร็จราชการแผ่นดินที่มีอำนาจในช่วงกษัตริย์อ่อนแอนั่นอีก นอกจากนี้ บ่อยครั้งที่มีสงครามกลางเมืองหรือสงครามแย่งชิงบัลลังก์มากมายเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์
ในยุคที่กษัตริย์ไม่ได้เป็นผู้พิพากษาหรือจอมพล กษัตริย์บางประเทศก็ไม่มีภารกิจอะไรเลย ใช้ชีวิตเปล่าเปลืองไปวัน ๆ และเปลี่ยนผ่านให้ทายาทมาสืบทอดวงจรเดิม ๆ ต่อไป แล้วยิ่งการปกครองใกล้เคียงระบอบสาธารณรัฐมากเท่าไหร่ ภารกิจของกษัตริย์ก็น้อยลงเท่านั้น นอกจากนี้ Thomas Paine ยังวิพากษ์กษัตริย์อังกฤษว่า ดีแต่ทำสงคราม สร้างความขัดแย้ง สร้างความยากจน และแจกจ่ายยศถาบรรดาศักดิ์
“There is something exceedingly ridiculous in the composition of monarchy; it first excludes a man from the means of information, yet empowers him to act in cases where the highest judgment is required. The state of a king shuts him from the world, yet the business of a king requires him to know it thoroughly; wherefore the different parts, by unnaturally opposing and destroying each other, prove the whole character to be absurd and useless.”
โดยสรุป พาร์ทนี้ Thomas Paine เน้น “ประเด็นความเสมอภาคเท่าเทียมกัน” โดยเขาวิพากษ์และชำแหละความเป็นมาและการดำรงอยู่ของสถาบันกษัตริย์อังกฤษ โดยใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ (ใช้ข้อเท็จจริง เหตุผล การตั้งคำถาม และการอภิรายไปสู่ข้อสรุป) จนไปถึงอภิปรายประเด็นสิทธิในการสืบทอดบัลลังก์หรืออภิสิทธิ์จากการสืบสายเลือดของระบอบปกครอง ว่าไม่ยุติธรรม ซับซ้อน และย้อนแย้งกับกฎธรรมชาติ ซึ่งจะนำไปสู่บทสรุปของพาร์ทถัดไป “อเมริกาจะไปทางไหนดี” ซึ่งนั่นก็คือ การเสนอความเป็นเอกราชและอิสระจากอำนาจและการปกครองที่อยุติธรรมและไม่เป็นธรรมชาติของระบอบกษัตริย์อังกฤษนั่นเอง
III. สถานะของอเมริกา (ณ เวลานั้น)
Thomas Paine กล่าวว่า คนที่คิดว่า “อเมริกาเจริญได้เพราะเกาะติดกับอังกฤษ ดังนั้นอเมริกาจึงควรอยู่กับอังกฤษตลอดไป” เป็นคนที่ตรรกะวิบัติ ตรงกันข้าม เขาคิดว่า “อะไรที่เหมาะสมในตอนนั้น อาจล้าสมัยและไร้ประโยชน์ในตอนนี้” เช่น เด็กทารกเจริญเติบโตด้วยนมแม่ แต่พอเขาโตขึ้น เขาก็ต้องเจริญเติบโตด้วยเนื้อสัตว์หรืออาหารอื่น เด็กไม่ได้เติบโตด้วยน้ำนมแม่ตลอดไป
อเมริกันบางคนคิดว่าอังกฤษคุ้มครองอเมริกา แต่แท้จริงแล้ว อังกฤษคุ้มครองอเมริกันจากศัตรูของเขาเองเพื่อประโยชน์ของตัวเขาเองมากกว่า เดิมอเมริกาไม่ได้เป็นศัตรูกับสเปนหรือฝรั่งเศส แต่ก็จะต้องไปเป็นศัตรูกับเขาในฐานะที่อเมริกาเป็นคนในบังคับของเกรทบริเตน
บางคนยึดถือว่าอังกฤษเป็นประเทศแม่ ผู้เขียนก็มองว่า ถ้าเช่นนั้นพ่อแม่คนนี้ก็น่าอดสู เพราะแม้แต่สัตว์เดรัจฉานยังไม่กินลูกอ่อนตัวเอง หรือคนป่าก็ไม่ฆ่าคนในครอบครัวของตน อย่างไรก็ตาม เขามองว่า อังกฤษไม่ใช่ประเทศแม่ของพวกเขาแต่อย่างใด บรรพบุรุษของพวกเขาหนีมาที่นี่ เพราะลี้ภัยจากอสูร หาใช่การถูกจำพรากจากแม่ผู้อบอุ่นไม่ อังกฤษเองก็ไม่ควรมาตามรังควานลูกหลานของผู้อพยพที่ตัวเองขับไสไล่ส่งออกจากบ้านเกิดเมืองนอนเช่นกัน หรือถ้าเราต้องยอมจำนนต่อประเทศแม่ ถ้าเช่นนั้นอังกฤษก็ต้องอยู่ภายใต้ฝรั่งเศสด้วย เพราะกษัตริย์องค์แรกของอังกฤษ (William the Conqueror) เป็นคนฝรั่งเศส ครึ่งหนึ่งของขุนนางราชนิกูลอังกฤษก็สืบเชื้อสายมาจากฝรั่งเศสเช่นกัน
บางคนอยากให้อเมริการวมหรือร่วมกับอังกฤษเพราะจะได้ต่อสู้โลกทั้งใบได้ แต่สงครามมันไม่มีอะไรแน่นอน การันตีไม่ได้ และที่สำคัญ ผู้เขียนมองไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องไปท้าสู้กับโลกทั้งใบ หากแต่อเมริกาควรทำการค้าให้ดีเพื่อเป็นสัมพันธไมตรีที่ดีกับยุโรปต่างหาก ถ้าอเมริกายังอยู่กับอังกฤษ ก็มีแต่จะถูกดึงไปสู่สงคราม ข้อพิพาท และความไม่ลงรอยกับชาติอื่น
ผู้เขียนคิดว่า ตามหลักการการปรองดองโดยธรรมชาติแล้ว เราไม่สามารถรัก ยกย่อง และภักดีต่ออำนาจที่สุมไฟ ใส่แผ่นดินของเราได้ หรือหากใครบอกว่าเขาทนการล่วงละเมิดทั้งหลายได้ ก็ต้องถามว่า คนคนนั้นสูญเสียบ้าน ครอบครัว หรือทรัพย์สินเพราะน้ำมือพวกเขาหรือเปล่า ครอบครัวต้องอดอยากหรือเปล่า หากตอบว่าเปล่า คนคนนั้นก็ไม่ควรมาตัดสินแทนผู้ที่เผชิญชะตากรรมเหล่านี้ หรือถ้าเขาก็เจอเคราะห์กรรมนี้เหมือนกันแต่ยังสามารถจับมือกับฆาตกรได้ เขาก็ไม่คู่ควรต่อการเป็นพ่อแม่ เพื่อน หรือคนรักของใคร เพราะเขาเป็นคนขี้ขลาดและประจบสอพลอ
ผู้เขียนมองไม่เห็นประโยชน์ที่จะอยู่ภายใต้อังกฤษ ในมุมมองของผู้เขียน ผู้ที่สนับสนุนให้ปรองดองกับอังกฤษหรือกษัตริย์อังกฤษ ได้แก่ ผู้หวังผลประโยชน์ ผู้อ่อนแอที่ตาบอด ผู้มีอคติไม่เปิดตามอง และผู้วางตัวเป็นกลางบางกลุ่มที่ลุ่มหลงคิดว่ายุโรปดี ก็เท่านั้น
หากต้องอยู่กับอังกฤษจริง ๆ อเมริกาต้องยอมรับว่า อเมริกาจะขาดเสรีภาพ อเมริกาจะออกกฎหมายของตัวเองไม่ได้เลยถ้าไม่ได้รับการยินยอมของกษัตริย์อังกฤษ แทนที่จะก้าวไปข้างหน้า กลับต้องถอยหลัง และอาจเกิดการก่อกบฏตามมาหากอเมริกาไม่สามารถมีอำนาจการปกครองระดับทวีปเป็นของตนเอง
Thomas Paine ยังกล่าวอีกว่า ทุกประเทศที่ปกครองด้วยระบอบสาธารณรัฐในยุโรปล้วนมีสันติสุข การปกครองด้วยตัวเราเองคือสิทธิตามธรรมชาติของมนุษย์ ส่วนประเทศที่ปกครองด้วยระบอบกษัตริย์จะสงบสุขได้ไม่นานเพราะทุรชนจะแสวงหาผลประโยชน์กับอำนาจและผู้มีอำนาจเองก็จะมีความจองหองโอหัง
IV. สมรรถภาพของอเมริกา (ณ เวลานั้น)
ณ ตอนนั้น อเมริกาก็มีกองกำลังติดอาวุธบนบกที่แข็งแกร่งแล้ว แต่ทางน้ำนั้นยังไม่เพียงพอ ทั้งที่ทวีปนี้มีทรัพยากรมากพอที่จะสร้างกองทัพเรือ ทั้งใช้เองและทั้งสำหรับขายให้ชาติอื่น ผู้เขียนมองว่า ถ้าอเมริกายังอยู่ใต้อังกฤษ อังกฤษคงไม่ยอมให้อเมริกาสร้างเรือรบ และพวกเขาก็คงไม่สามารถไปไหนได้ไกล หรืออาจถอยหลังด้วยซ้ำ เพราะทรัพยากรป่าไม้ในประเทศย่อมลดลงทุกวัน
อังกฤษมีหนี้เยอะ แต่อเมริกาไม่มีหนี้ ถ้าอเมริกาจะต้องสร้างหนี้เพื่อสร้างรูปแบบการปกครองที่ดีและรัฐธรรมนูญเอกราชเป็นมรดกให้แก่คนรุ่นหลัง ผู้เขียนมองว่าคุ้มค่า แต่ถ้าต้องเสียเงินหลายล้านเพื่อยกเลิกก.ม.บางฉบับและเอาชนะอังกฤษ อันนี้ไม่คุ้ม แถมยังเป็นการทิ้งภาระหนี้ไว้ให้คนรุ่นหลัง ซึ่งพวกเขาไม่ได้ประโยชน์อะไรจากหนี้นี้เลย มันคือการเอาเปรียบชนรุ่นหลัง
บางคนอาจแย้งว่า อังกฤษจะคุ้มครองอเมริกาเอง แต่ผู้เขียนมองว่า มหาอำนาจที่พยายามกำราบเราคือผู้ที่ไม่เหมาะสมที่สุดที่จะมาปกป้องคุ้มครองเรา อีกอย่างอังกฤษคงไม่ทิ้งกองทัพเรือของเขาไว้ที่อ่าวของอเมริกาตลอด เมื่อมีอะไรเกิดขึ้น เราก็ต้องดูแลตนเองอยู่ดี
บทตาม โดย ปราบดา หยุ่น
สามัญสำนึก (Common Sense) ทำให้คนอเมริกันมองเห็นความไม่เป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำ ความไร้เหตุผล และเป็นต้นแบบของอุดมการณ์ประชาธิปไตยยุคใหม่ที่ใช้เป็นตรรกะของการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ อีกทั้งชี้ว่าการปกครองของอังกฤษมีปัญหาที่ระดับโครงสร้างและอุดมการณ์การปกครองแบบเผด็จการ (ระบอบกษัตริย์และขุนนาง)
Thomas Paine ชี้ให้เห็นด้วยว่านี่ไม่ใช่แค่ปัญหาของเมริกา แต่เป็นปัญหาที่เกิดแก่สังคมมนุษย์โดยทั่วไปอย่างเป็นสากล นั่นก็คือ การตกอยู่ภายใต้อำนาจปกครองและอุดมการณ์ที่ขัดแย้งต่อสิทธิขั้นพื้นฐานโดยธรรมชาติ โดยความรู้สึกแล้ว ทุกคนควรมีความรู้สึกว่าตัวเองมีอิสรภาพ เสรีภาพ และความเสมอภาคโดยไม่ถูกจำกัดด้วยปัจจัยอย่างเพศ ชาติพันธุ์ สีผิว ศาสนา ฐานะ วงศ์ตระกูล หรือความเชื่อไร้หลักฐาน อย่างการรักษาจารีตประเพณีเพียงเพราะมันเป็นสิ่งที่ทำสืบต่อกันมานานทั้งที่มันบิดเบี้ยวและขัดแย้งต่อการดำรงชีวิตด้านอื่น ๆ
หัวใจสำคัญของหนังสือเล่มนี้คือ การตอกย้ำความสำคัญของการใช้เหตุผลในการปกครองสังคมด้วยความเสมอภาคและเป็นธรรมมากกว่าการยึดถือขนบนิยมชนชั้นหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์. อีกทั้งยังเป็นข้อโต้แย้งกับพวกที่ประณามการเคลื่อนไหวของขบวนการปฏิวัติด้วยข้อหากระด้างกระเดื่องต่อจารีตประเพณี
บางคน เช่น Edmund Burke คิดว่า ขนบหรือสิ่งที่คนคุ้นเคยหรือสิ่งอยู่ด้วยมานานมันน่าไว้วางใจกว่า อีกทั้งบางคนก็ไม่เชื่อมั่นในประชาธิปไตยหรือการมอบอำนาจให้คนส่วนใหญ่เพราะคิดว่าคนส่วนใหญ่ยังขาดศักยภาพในการปกครองตนเอง
ครั้งปฏิวัติฝรั่งเศส Edmund Burke ออกมาโจมตีแนวคิดเสรีนิยมและสิทธิมนุษยชน โดยเขาไม่เคยย้อนถามตัวเองเลยว่า ทำไมความรุนแรง ความเดือดร้อน และความทุกข์ยาก จึงเกิดขึ้นภายใต้สังคมที่ปกครองตามจารีตประเพณีอันดีงาม จนคนต้องออกมาเรียกร้องการเปลี่ยนแปลง สำหรับเขา ประชาชนคือฝ่ายผิดที่เห็นต่างจากฝ่ายผู้กุมอำนาจ พูดง่าย ๆ คือ Edmund Burke ยืนอยู่ข้างอำนาจ ในขณะที่ Thomas Paine อยู่ข้างประชาชน
นอกจากนี้ ครั้งพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ของฝรั่งเศสถูกยึดอำนาจและจับกุมโดยคณะปฏิวัติเมื่อปี 1792 Thomas Paine เป็นคนออกความเห็นว่าพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ควรได้รับสิทธิ์ในการขึ้นศาลไต่สวนก่อนที่จะตัดสินประหารชีวิต เขายืนหยัดที่จะให้ความเป็นธรรมกับมนุษย์ทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียม ไม่ใช้ความรุนแรงในการโต้แย้งหรือล้มล้างฝ่ายตรงข้าม
สุดท้าย หากเราพูดถึงเสารีภาพ สิทธิมนุษยชน สิทธิสากลขั้นพื้นฐาน หรือโต้แย้งอุดมการณ์ใดใดที่ขัดแย้งกับหลักประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเผด็จการ ระบบกษัตริย์นิยม หรือความศรัทธาในสิ่งเหนือธรรมชาติที่ไร้หลักฐานรองรับ เราสามารถเรียกตัวเองได้ว่าเป็นสาวกทางอุดมการณ์ของ Thomas Paine
====================
📌 พิกัดหนังสือ https://shope.ee/1fu91mk4U4