You can not reason with a Tiger when your head is in its mouth.
คืนวันที่เราไปดูหนังรอบสื่อเรื่อง Darkest Hour คือวันเดียวกับที่ Gary Oldman (จาก The Dark Knight, Harry Potter) เพิ่งได้รับรางวัลลูกโลกทองคำสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจากเรื่องนี้มาสด ๆ ร้อน ๆ (แถมล่าสุดเพิ่งเข้าชิง BAFTA Film Award อีกถึง 9 สาขา) ซึ่ง ณ เรื่องนี้เขารับบทเป็น Winston Churchill อดีตนายกรัฐมนตรีสองสมัยแห่งสหราชอาณาจักร (ปี 1940 – 1945 และ 1951 – 1955)
Darkest Hour ของผู้กำกับ Joe Wright (จาก Atonement) เปรียบเสมือน prequel ของหนัง Dunkirk โดยหนังเปิดเรื่องช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (ปี 1940) ที่นายกฯ Neville Chamberlain (Ronald Pickup จาก Prince of Persia: The Sands of Time) ถูกบีบให้ลาออกจากตำแหน่ง ส่งผลให้ Winston Churchill เข้ามารับช่วงต่อทันที
นอกจาก Clemmie (Kristin Scott Thomas จาก Only God Forgives) ภรรยาของเขาแล้ว Winston Churchill ก็ไม่ค่อยมีคนรักหรือเคารพนับถืออีกสักเท่าไหร่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเขามีนโยบายที่จะสู้กับนาซีหัวชนฝา ในขณะที่ Lord Halifax (Stephen Dillane จาก Game of Thrones) และคนอื่น ๆ ในพรรคมีนโยบายเห็นชอบที่จะเจรจาต่อรองกับฮิตเลอร์อย่างสันติ ทำให้ Churchill ต้องพิสูจน์ตัวเองต่อคนในพรรค ต่อ King George VI (Ben Mendelsohn จาก Rogue One: A Star Wars Story) และต่อประชาชนชาวอังกฤษของเขา
เนื้อหาของหนังเต็มไปด้วยบทสนทนาทางการเมืองและเกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์อังกฤษที่เราอาจไม่ค่อยมีความรู้ลึกซึ้งกับมันมากนัก (โชคดีที่เคยดูหนัง Dunkirk, King’s Speech, The Crown ฯลฯ ที่เรื่องราวเกิดในยุคนั้น ๆ มาแล้วบ้าง) แต่การแสดงของ Gary Oldman ที่ทำให้ Winston Churchill เป็นตัวละครที่มีมิติ มีความเป็นมนุษย์ และมีอารมณ์ขันตลกร้ายอันเป็นสีสันอย่างหนึ่งแก่คนดูนั้น (คือไมไ่ด้นำเสนอแต่มุมที่เป็นนักการเมือง แต่ยังมีมุมของความเป็นสามี เป็นพ่อ เป็นเพื่อน และเป็นเจ้าคนนายคน) ทำให้หนังเรื่องนี้ไม่น่าเบื่อสักนาทีเดียว
การแสดงของ Gary Oldman ไม่ว่าจะเป็นบุคลิกท่าทางหรือวิธีการพูดทุกอย่างก๊อป Winston Churchill มาได้อย่างแนบเนียนประกอบกับเสื้อผ้าหน้าผมและเมคอัพสมจริงขั้นเทพที่เสกให้เขาเหมือน Winston Churchill เข้าไปอีก (ตอนดูเทรลเลอร์นี่จำไม่ได้เลยว่านี่คือ Gary Oldman จนกระทั่งมีชื่อของเขาปรากฏขึ้นท้ายเทรลเลอร์)
ตลอดปีที่ผ่านมา จากหนังเท่าที่เราดูมาทั้งปี ต้องบอกเลยว่า Gary Oldman ผู้ซึ่งถือว่าแบกหนังไว้เกือบทั้งเรื่องนี้ เขาคู่ควรที่สุดแล้วกับรางวัลลูกโลกทองคำสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมที่เพิ่งคว้ามา และยังคงมีแนวโน้มสูงมาก ๆ ว่าเขาจะสามารถคว้ารางวัลนำชายจากเวทีอื่น ๆ ได้อีกหลายสำนัก รวมถึงเวทีใหญ่อย่างออสการ์
บทและสคริปต์ที่เขียนโดย Anthony McCarten (คนเขียนบท The Theory of Everything) ก็มีส่วนช่วยเติมความสนุกและความอินกับหนังให้กับคนดูได้อย่างดี เพราะหนังเรื่องนี้เต็มไปด้วยบทสนทนา คำพูด วาทศิลป์ การโต้แย้ง ฯลฯ ดังนั้นหากเขียนบทพูดไม่เฉียบพอ มันอาจเปลี่ยนมู้ดแอนด์โทนของหนังไปเลยก็เป็นได้ (เช่น แทนที่จะสนุกก็น่าเบื่อทันที นึกออกปะ)
อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ฉากหน้าของหนังดูเหมือนจะเน้นให้เห็นว่า Winston Churchill คือจุดเปลี่ยนพลิกโลกในช่วงสงครามโลกนั้น สิ่งที่เราสนใจมากกว่าและเห็นว่ามันมีพลังในการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์โลกในครั้งนั้นไม่แพ้คำพูดของ Winston Churchill คือ “ความหลากหลายทางเพศ เชื้อชาติ และสถานะทางสังคม” ที่ได้รับการเปิดโอกาสมากขึ้น
ในสภาหรือที่ทำงานเกี่ยวกับการบ้านการเมืองสมัยนั้น แน่นอนว่า เต็มไปด้วยผู้ชาย (แล้วส่วนมากก็มักจะแก่ หรือพูดอีกแง่ คนที่มีตำแหน่งสูง ๆ มักจะเป็นผู้ชายที่แก่ ๆ เสียกว่าจะเป็นคนหนุ่ม) แล้วบรรยากาศมันเป็นอะไรที่วุ่นวายมาก หนังจึงมีบทของ Clemmie (Kristin Scott Thomas) ผู้เป็นภรรยาของ Churchill มาปลอบประโลมความแข็งกร้าวและปากร้ายของ Churchill นั้น และก็มีบทของ Elizabeth Layton (Lily James จาก Cinderella) ผู้เป็นเลขาฯ ของ Churchill มาเป็นดอกไม้งามกลางสมรภูมิอันเต็มไปด้วยชายฉกรรจ์พันอีโก้
จุดเปลี่ยนสำคัญที่ช่วยพลิกโลกของเรื่องจริง ๆ คือ จุดที่ Churchill เริ่มให้เลขาฯ ของเขามีสิทธิออกเสียงและมีสิทธิรับรู้ความจริงเท่า ๆ กับผู้ชายหรือผู้มีอำนาจทั้งหลายได้มี… จุดเปลี่ยนสำคัญที่ช่วยพลิกโลกของเรื่องจริง ๆ คือ จุดที่ Churchill เริ่มจับเข่าคุยและฟังเสียงของประชาชนรากหญ้า… ทุกเพศ ทุกวัย และทุกสีผิว… อย่างจริงใจ
Darkest Hour หนังอิงประวัติศาสตร์ ภาพสวย การแสดงทรงพลัง คะแนนตามความชอบส่วนตัว 8/10
เข้าฉาย 11 ม.ค. 2018
36 comments
Comments are closed.