ใช้เวลากว่าร่วมเดือนในการสอบใบขับขี่ ตั้งแต่เตรียมตัว หัดขับรถ อบรม และไปสอบที่กรมการขนส่ง พอสอบผ่านและได้ใบขับขี่ (สักที) ปุ๊บ ก็อยากจะอัพบล็อกบันทึกเส้นทางการได้มาซึ่งใบขับขี่ใบแรกในชีวิต (อย่างบรีฟ ๆ) เก็บไว้เป็นที่ระลึก
ฝึกขับ
เราฝึกขับรถด้วยตัวเองโดยมีแฟนคอยประกบและชี้แนะพื้นฐานให้ เป็นเวลา 3 ครั้ง ครั้งละประมาณ 2 ชั่วโมง มาถึงครั้งแรกก็ไม่พูดพร่ำทำเพลงมาก ฝึกขับจริงเลย ขับทางตรงและฝึกยูเทิร์นในม.เกษตรฯ ครั้งที่สองไปฝึกขับที่จุฬาฯ โดยเริ่มขับในเส้นทางที่ไกลขึ้น หลากหลายขึ้น รวมถึงฝึกจอดแปะเทียบฟุตบาท ครั้งที่สาม ไปฝึกจอดเข้าซองในลานจอดรถห้างฯ และทดลองขับบนถนนใหญ่แถวชานเมืองซึ่งไม่ค่อยมีรถมาเกะกะรบกวนการฝึกซ้อมของเรามากนัก
จากนั้นก็ไปสมัครเรียนขับรถที่ “โรงเรียนสอนขับรถไชยา” แถว MRT ห้วยขวาง ราคาคอร์ส 2,200 บาท/10 ช.ม. แต่สรุปเราก็ได้ไปเรียนแค่ 2 ครั้ง หรือแค่ 4 ช.ม. เท่านั้น การเรียนในสถาบันจำพวกนี้ไม่ค่อยให้อะไรเพิ่มกับเรามากเท่าไหร่ ครูสอนก็นั่งอยู่ในรถกับเราจริง ๆ ก็แค่ 2 ช.ม. แรกเท่านั้น ที่เหลือก็ปล่อยให้เราขับเองในบริเวณที่เขาจัดให้
หลัก ๆ ที่เราได้จากการเรียนขับรถตามสถาบันคือ อย่างน้อยก็ได้รู้ว่าสนามสอบจริงมันหน้าตาประมาณไหน เขาสอบท่าอะไรบ้าง แต่ละท่ามีเทคนิคอย่างไร ซึ่งเอาจริง ๆ เราว่า ดู Youtube หรืออ่านรีวิวตามเว็บเอาก็ได้นั่นแหละ แต่ที่ดูมีประโยชน์จริงจังหน่อยก็คือ สถาบันพวกนี้เขามีที่และมีรถปุโรทั่งให้เราฝึกขับโดยเฉพาะ สะดวกและปลอดภัยกว่าไปหาทำเลลองขับเองข้างนอกนิดนึง
อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากฝึกขับที่โรงเรียนนี้ เราก็แอบใช้รถจริงของแฟนขับบนถนนจริงไปด้วยเป็นครั้งคราว เพราะรถที่โรงเรียนขับไม่สนุกจริง ๆ ปุโรทั่งคือปุโรทั่ง เหยียบคันเร่งสุดตีนแล้วก็ยังไม่เร็วเท่ารถธรรมดาเข้าเกียร์ D ปล่อยไหลเฉย ๆ เลย แถมบางคันก็แอร์ร้อนด้วย เรียนตอนเที่ยง ๆ บ่าย ๆ นี่จะเป็นลม นึกว่าขับรถอยู่ในกรีนเฮ้าส์
เตรียมเอกสารและความรู้
จากนั้นเราก็พยายามจองเข้าอบรมใบขับขี่ (สำหรับคนสมัยก่อน ต้องเข้าใจใหม่ก่อนนะว่า สมัยนี้เราต้องผ่านการอบรมก่อนถึงจะไปสอบได้) ซึ่งตอนแรกช็อคหนักมาก เปิดเว็บกรมขนส่งไปดูนี่คือตารางคิวอบรมของทุกเขตพื้นที่ถูกจองเต็มยาวเป็นเดือน ๆ เราเลยตัดสินใจไปฝึกอบรมของสถาบันข้างนอกที่ได้รับการรับรองแล้วแทน ซึ่งการเข้าอบรมกับสถาบันพวกนี้จะเสียค่าใช้จ่ายในขณะที่อบรมกับกรมขนส่งเขาจะอบรมฟรี แต่สำหรับเรา ถ้าเงิน 500 บาทสามารถซื้อเวลาได้ 2 เดือน เรายอมจ่าย
เราเลือกไปอบรมใบขับขี่ 4 ช.ม. ที่ “เกรทไดรเวอร์” ตรงกินซ่า แถวฟิวเจอร์ปาร์ครังสิต สิ่งที่ต้องนำไปคือ บัตรประชาชนตัวจริง รูปถ่าย 1 นิ้ว และเงิน 500 บาท ในส่วนของการเรียนก็ชิลล์มาก เราไปรอบบ่าย นั่งเรียนคนเดียวในห้อง แล้วนั่งเรียนกับเทปวิดีโอ ดังนั้นค่อนข้างทำอะไรก็ได้ งีบก็ได้ เล่นมือถือก็ได้ ไม่มีใครคุม (เอาจริง ๆ นี่เป็นพฤติกรรมที่ไม่ดีเท่าไหร่ โปรดอย่าลอกเลียนแบบ)
เนื่องจากตอนไปอบรม เราไม่ตั้งใจเรียน (หรือต่อให้ตั้งใจเรียน ก็จำทุกอย่างในเทปได้ไม่หมดอยู่ดี) เราก็หาเนื้อหาอ่านเองและหาตัวอย่างข้อสอบมานั่งทำเองด้วย โดยเนื้อหาเราอ่านจากในเว็บกรมขนส่งโดยตรง เลือกเมนูสาระน่ารู้ หรือตามลิงค์ http://www.dlt.go.th/th/index.php?option=com_weblinks&view=category&id=81&Itemid=55 ส่วนข้อสอบเราอ่านจากเว็บ https://knowledgeth.blogspot.com/2013/11/2556-2557.html ซึ่งดีมาก ครบ เยอะ และค่อนข้างตรง มีเฉลยผิดบางข้อนิดหน่อย แต่ขี้หมูขี้หมามาก ไม่เป็นปัญหายิ่งใหญ่อะไร
เมื่อได้ใบรับรอง (certificate) ว่าผ่านการอบรมเรียบร้อย อีกสิ่งที่สำคัญในการไปยื่นสอบใบขับขี่คือ ใบรับรองแพทย์ ซึ่งตอนแรกเราก็กะว่าจะไปขอที่โรงพยาบาลเอกชน แต่บังเอิญผ่านคลินิกเล็ก ๆ ติดริมถนนแถวเกษตรฯ พอดี ก็เลยขอซื้อที่คลินิกนั้นซะเลย คุณหมอรู้งานและใจดีง่าย ๆ ไม่ตรวจอะไรเลย แค่บอกว่ามาขอใบรับรองแพทย์ เขาก็ถามว่าเอาไปสอบใบขับขี่ใช่มั้ย แล้วก็เขียน ๆ เซ็น ๆ ให้ ราคา 50 บาทถ้วน ปิดดีล
ไปทดสอบสมรรถภาพและสอบข้อเขียน
พอเอกสารทุกอย่างครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว ก็ไปสอบใบขับขี่จริง เราไป “กรมการขนส่ง เขตพื้นที่ 3” ตรงสุขุมวิท 62 ติดกับ BTS บางจาก ก็ยื่นเอกสารที่ชั้น 1 ได้แก่ บัตรประชาชนตัวจริง ใบรับรองแพทย์ และใบรับรองผ่านการอบรม
ย้ำว่า บัตรประชาชนตัวจริงสำคัญมากที่สุด ใช้ทุกครั้งทุกเวลา ต้องติดตัวเราทุกขั้นตอนแต่ต้นจนจบ
ด่านแรกคือทดสอบสมรรถภาพ เขาจะเรียกเข้าไปในห้องห้องนึงทีละประมาณ 20 คน สิ่งที่เขาทดสอบได้แก่ ทดสอบปฏิกิริยาการเหยียบคันเร่ง ทดสอบสายตาเอียง ทดสอบตาบอดสีและความกว้างความลึกของระดับสายตา โดยรวมแล้วเหมือนเล่นเกม ไม่ยาก ไม่ต้องเตรียมตัวมาก่อนก็ทำได้ เขาอธิบายและมีการสาธิตให้ดูก่อนอยู่แล้ว แถมมีโอกาสให้แก้ตัวกันคนละ 2-3 หนอีกด้วย
แต่ขอบอกก่อนว่า เจ้าพนักงานที่นี่ดุมาก แต่ส่วนใหญ่เขาจะดุเฉพาะคนที่เก้ ๆ กัง ๆ เงอะ ๆ งัน ๆ หรือทำไม่ผ่าน โชคดีที่เราไม่โดนดุ เพราะเราผ่านฉลุยทุกแบบทดสอบ แต่ก็มิวายตื่นเต้นนะ กลัวโดนดุ และสงสารคนที่โดนดุด้วย
เมื่อทดสอบสมรรถภาพเสร็จแล้ว ต่อไปก็สอบข้อเขียนที่ชั้น 3 ซึ่งเป็นระบบการสอบแบบอิเล็กทรอนิกส์และแรนดอมโจทย์ โดยสมัยนี้เกณฑ์คือ ต้องทำข้อสอบให้ได้มากกว่า 90% (จากเดิม 75%) จึงจะสอบผ่าน นั่นแปลว่า เราต้องทำถูก 45 ข้อขึ้นไป จากข้อสอบ 50 ข้อ
เนื่องจากเตรียมตัวมาน้อย และรีบทำในเวลา 15 นาทีเสร็จโดยไม่ตรวจทานใด ๆ เราเลยสอบไม่ผ่าน ได้คะแนน 43/50 แล้วต้องมาสอบใหม่ในวันทำการถัดไป สอบซ่อมนี้ เราใจเย็นมากขึ้น ค่อย ๆ ทำ และตรวจทาน สรุปก็ได้ 47/50 ผ่านสวย ๆ และจองสอบวันสอบปฏิบัติได้เลย (แต่เป็นการจองกึ่งบังคับ เราไม่มีสิทธิเลือกวัน เจ้าหน้าที่ขู่ว่าถ้าไม่เอาวันนี้เขาก็ไม่รับประกันนะว่าจะได้สอบวันไหนเพราะรับแค่ 30 คนต่อวันเท่านั้น บลา ๆ ๆ ซึ่งเช่นเดียวกับข้างล่าง เจ้าหน้าที่ดุมาก กูสอบผ่านก็ดุ กูสอบตกก็ด่า กลัว)
สอบปฏิบัติ
การสอบปฏิบัติ ต้องมารายงานตัวที่สนามสอบ 8:30 น. พวกมอเตอร์ไซค์ขับก่อน ใครไม่ใส่หมวกกันน็อคโดนปรับตกทันที ดังนั้น พวกขับรถก็เช่นกัน อย่าลืมคาดเข็มขัดนิรภัยเด็ดขาด
สนามสอบเป็นแบบอิเล็กทรอนิกส์เช่นกัน มีกล้องและคอมพิวเตอร์จับภาพและประเมินผลเราทันที เจ้าหน้าที่ช่วยอะไรไม่ได้เลย แต่ยังดีนะ สนามสอบนี้เจ้าหน้าที่ใจดีทุกคน ไม่ดุเหมือนพวกในตึก
ในส่วนของรถที่ใช้สอบ สำหรับคนที่ไม่มีรถมา เขามีรถให้ยืมเช่า คนละ 100 บาท สภาพรถค่อนข้างดี ไม่แย่ แต่โดยส่วนตัวเราว่าใช้รถส่วนตัวขับเองน่าจะดีกว่า เพราะชินกว่า อุ่นใจกว่า
ก่อนสอบ เขาก็พาเดินไปสำรวจและอธิบายแต่ละฐาน ๆ ว่าท่านั้น ๆ ต้องทำยังไงถึงจะผ่านหรือไม่ผ่าน ท่าแรกคือท่าขับเดินหน้าและจอดเทียบฟุตบาทตรงป้ายหยุด ท่าสองคือขับเดินหน้าและถอยหลังแนวตรง ท่าสุดท้ายคือจอดเข้าออกซองภายใน 7 เกียร์ โดยมีจับเวลา แต่ละท่าใช้เวลาได้ 4 นาที
การสอบขับครั้งแรกเราตกท่าที่หนึ่งเพราะยังไม่เข้าใจดีพอว่าต้องขับอย่างไร ก็เลยจอดไม่ถึงที่หมายที่กำหนด เราต้องรออีก 3 วันทำการจึงมาสอบใหม่ ตกท่าเดียวก็สอบซ่อมแค่ท่าที่ตกท่าเดียว เวลามาขอสอบซ่อม ก็ต้องมาจองหน้างานตอน 11:00-12:00 น. (แต่ควรมาสัก 10:30 น. เพื่อความชัวร์ เพราะคนชอบรีบมาต่อแถวก่อนเหมือนซื้อตั๋วคอนฯ และเขาก็จำกัดให้ซ่อมแค่วันละ 50 คน) และเข้าสนามสอบ 13:00 น.
รายละเอียดและเทคนิคต่าง ๆ ของแต่ละท่า ที่เราประมวลความเข้าใจหลังจากสอบผ่านทุกท่าแล้ว ประมวลสรุปออกมาได้ดังนี้…
1) ท่าขับเดินหน้าและจอดเทียบฟุตบาทตรงป้ายหยุด
ท่าแรกคือ เราต้องค่อย ๆ เลียดเข้ามาชิดฟุตบาทซึ่งอยู่ทางซ้ายมือ โดยเราต้องจอดให้ห่างจากฟุตบาทไม่เกิน 25 cm แต่ข้อดีคือ เขามีเส้นขาวกว้าง 25 cm ขนานกับฟุตบาทเอาไว้ให้แล้ว เราก็แค่จอดให้ล้อซ้ายเหยียบเส้นขาวนั้น แน่นอนว่าห้ามเสย เกย หรือชนฟุตบาทเด็ดขาด
เทคนิคการโกงคือ ปรับกระจกข้างด้านซ้ายให้กดต่ำที่สุดเพื่อที่เราจะได้เห็นเส้นขาว และอย่าเพิ่งรีบด่วนเอาล้อเข้าไปเหยียบเส้นขาวแต่เนิ่น ๆ เพราะเสี่ยงต่อการชนฟุตบาท ส่วนตัวเราค่อย ๆ เลียดเข้าให้ล้อไปทับเส้นขาวตอนที่ใกล้ถึงป้ายหยุดทีเดียวเลย หรือถ้าใครไม่อยากโกง ก็มองจุดกึ่งกลางของคอนโซลรถไว้ มันจะมีจุดสัญลักษณ์อยู่ ตอนขับเดินหน้า มองกระจกหน้า ให้จุดนั้นมันขนานตรงกับเส้นขาวข้างฟุตบาทนั้น แล้วล้อซ้ายเราจะอยู่บนฟุตบาทพอดี แต่เราใช้ทั้งสองวิธี คือปรับกระจกข้างซ้ายลง ดูกระจกซ้าย และก็ดูกระจกตรงกลางหน้ารถไปด้วย
นอกจากต้องจอดให้ล้อซ้ายอยู่ห่างจากฟุตบาทไม่เกิน 25 cm แล้ว ต้องดูเส้นขาวด้านหน้าคันรถด้วย เขาจะมีเส้นขาวอยู่ข้างหน้าสองเส้น เราต้องจอดให้กันชนด้านหน้ารถเราอยู่ระหว่างเส้นสองเส้นนั้น (พูดอีกอย่างคือล้อหน้าจะเหยียบเส้นขาวเส้นแรกพอดี) ถ้าจอดเร็วไป กันชนหน้ารถไม่ผ่านเส้นขาวเส้นแรก ก็ตก หรือถ้าหยุดช้าไป แล้วกันชนหน้ารถมันเลยเส้นขาวเส้นที่สอง ก็ตกเช่นกัน
เทคนิคการจอดให้กันชนด้านหน้าอยู่พอดีกับเส้นด้านหน้าสองเส้นที่เขากำหนดก็คือ ให้สังเกตสติ๊กเกอร์ยี่ห้อรถ (ที่ติดมากับรถตั้งแต่ดั้งเดิม) ตรงมุมซ้ายล่างของกระจกหน้ารถเอาไว้ พยายามกะให้สติ๊กเกอร์นั้นทำมุม 45 องศากับป้ายหยุดพอดี หรือไม่ก่อนสอบก็สังเกตสภาพแวดล้อมแถวนั้น หาจุดสังเกตที่เชื่อมโยงกับเส้นนั้นได้ เช่น ต้นไม้ทางขวา หรือเสาทางซ้าย แล้วกะเอาเองว่าพอถึงตรงไหนเราควรหยุดรถเพื่อให้จอดได้พอดีเส้นดังกล่าว
อีกอย่างนึงคือ ตอนขับตรงมา เราต้องขับมาเนียน ๆ อย่างต่อเนื่อง ห้ามกระตุก ห้ามหยุด ๆ เดิน ๆ โดยเด็ดขาด เพราะฐานนี้คือท่าขับเดินหน้าปกติและจอดเทียบฟุตบาท ไม่ใช่แค่ท่าจอดเทียบฟุตบาทเฉย ๆ นะจ๊ะ ก็หยุดแค่ตรงป้ายหยุดเท่านั้นทีเดียวจอด
หมายเหตุ ท่านี้คนตกเยอะมาก ดีไม่ดีมากกว่าท่าจอดเข้าซองเสียอีก
2) ท่าขับเดินหน้าและถอยหลังแนวตรง
ท่านี้คนตกไม่เยอะ ง่าย ๆ ชิลล์ ๆ ถ้าใครขับบ่อย ๆ ก็ผ่านได้สบาย แค่ขับตรงไปข้างหน้าและถอยหลังตรง ๆ ให้พ้นเสาที่เขากำหนด และไม่ชนเสาของเขาก็เป็นใช้ได้ ตั้งพวงมาลัยตรง ๆ เหยียดแขนตรง ๆ และไม่ต้องเหยียบคันเร่ง ปล่อยมันไหลไป แต่ละท่าเขากำหนดเวลาให้สอบท่าละ 4 นาที ซึ่งเหลือเฟือเลยแหละ
3) ท่าเข้าออกซอง
ท่าสุดท้ายคือจอดเข้าออกซองภายใน 7 เกียร์ ตอนแรกเราคิดว่าท่านี้จะยากสุด แต่พอมาอยู่สนามจริง เราว่าไม่ยากอย่างที่คิด เพราะซองค่อนข้างกว้างใหญ่ไพศาล ไปจอดซองข้างนอกแคบและยากกว่านี้เยอะ อันนี้คาดว่าเขาคงกะให้พวกรถกระบะหรือคันใหญ่ ๆ ใช้สอบได้ ดังนั้นยิ่งใครรถคันเล็กก็ยิ่งสบายเลย
วิธีการคือ ขับรถตรงเลยซองไปนิดนึง ให้ล้อหน้าจอดตรงเส้นขาวที่เขาทาไว้ให้ จากนั้นหักพวงมาลัยไปซ้ายสุด เข้าเกียร์ถอยหลัง ค่อย ๆ ถอยจนรถตั้งมุม 45 องศาแล้วหมุนพวงมาลัยกลับสองรอบเพื่อให้พวงมาลัยตั้งตรง ค่อย ๆ ถอยตรงจนล้อหลังใกล้เส้นด้านในสุดของซอง แต่ระวังอย่าใกล้จนเบียดเพราะอาจชนเสาได้ จากนั้นค่อย ๆ หมุนพวงมาลัยไปขวาสุด ยังอยู่เกียร์ R เหมือนเดิม ค่อย ๆ ถอยจนรถตั้งตรง อาจใช้สิทธิเกียร์ D ปรับให้รถขนานซ้ายขวาสวยงาม
จอดสวยแล้วอย่าเพิ่งรีบออก รอเครื่องประกาศก่อน พอมันบอกให้ออกจากซองได้ ก็หักออกจากซอง ขณะออกก็ต้องระวังอย่าชนเสาชนกรวยเช่นกัน มิเช่นนั้นก็จะตกเหมือนกันนะจะบอกให้
รับใบขับขี่
เมื่อสอบผ่านทุกท่าทุกขั้นตอนแล้ว เอาเอกสารไปยื่นที่ชั้น 1 อีกครั้ง เข้าไปถ่ายรูปและทำบัตรตามคิว เสียค่าใช้จ่ายประมาณ 305 บาท แต่ขั้นตอนนี้รวดเร็ว ไม่นาน ได้บัตรกลับบ้านทันที ไม่ต้องมาอีกแล้วจนกว่าบัตรจะหมดอายุ เย้~
ป.ล. นี่คือบันทึกของข้าพเจ้า เนื่องในโอกาสตื้นตันใจที่สอบใบขับขี่ได้ ก็แค่รีวิวการสอบในฐานะผู้สอบคนหนึ่ง ไม่ใช่เขียนในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการขับรถแต่ใดใด หากมีเทคนิคหรือวิธีการประการใดที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม ท่านไม่ต้องนำไปทำตามก็ได้ แต่ได้โปรดอย่าเอาไปดราม่า เข้าใจตรงกันเนาะ จบ.
45 comments