เคยได้ยินหรือได้เห็นใครสักคนออกความเห็นว่า เด็กจุฬาฯ มีแต่ลูกคุณหนู ลูกคุณรวย เพราะใช้ชีวิตติดหรู ติดห้างฯ บ้างก็อ้างอีกว่า เด็กพวกนี้ส่วนใหญ่ติดจุฬาฯ ได้ ก็เพราะที่บ้านมีตังค์ส่งลูกส่งหลานไปเรียนพิเศษ กล่าวคือ พอบ้านรวยก็เลยซื้อโอกาสในการเรียนพิเศษได้และมีโอกาสที่จะสอบติดสูงกว่าคนอื่นที่ที่บ้านไม่มีปัญญาจ่ายค่าเรียนพิเศษแพงๆ ให้ ซึ่งเราคิดว่า คำกล่าวที่ว่านี้ มันดูจะเกินความเป็นจริงไปเสียหน่อย
เราไม่เถียงนะว่า การเรียนพิเศษทำให้ผู้เรียนมีโอกาสได้คะแนนสูงขึ้นจริง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นมันก็ขึ้นอยู่ที่ตัวผู้เรียนด้วยอยู่ดี อย่างเราเอง เราก็ไม่เคยเรียนพิเศษที่ไหน แต่สุดท้ายก็แอดมิชชั่นติดคณะอักษรฯ จุฬาฯ ในขณะที่บางคนที่พ่อแม่ส่งเสียให้เรียนหาบรุ่งหามค่ำ กลับสอบไม่ติดคณะที่ใฝ่ฝันเลยสักแห่ง เพราะอะไรน่ะเหรอ? ก็เพราะการเรียนพิเศษมันซื้อได้แค่ “โอกาส” มันไม่ได้แถมที่นั่งหรือที่ยืนในรั้วคณะและมหา’ลัยที่ต้องการมาให้เราด้วย จริงมั้ย?
เพราะการเรียนคือการลงทุน
ถ้าคุณมีเงิน คุณจะไม่เรียนหรอ? อย่างเราเนี่ย ถ้าวันนึงเราแต่งงานและมีลูก เราก็คงส่งเสริมให้ลูกได้เรียนพิเศษกับเขาเหมือนกันนะ (ถ้าการศึกษาไทยยังคงเป็นอย่างนี้ต่อไป…) ไม่ว่าจะมีมากมีน้อย เราก็ยินดีจะยอมจ่าย และเชื่อว่าผู้ปกครองหลายคนก็คิดเช่นกันจริงๆ เพราะการลงทุนกับลูก ดีกว่าลงทุนกับหุ้นตัวไหนๆ
การลงทุนกับการศึกษาของลูกหลานมันก็คือการลงทุนระยะยาวอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะในสังคมทุนนิยมอย่างทุกวันนี้ ถ้าเด็กได้รับการศึกษาที่สูงพอ อนาคตเด็กก็ย่อมจะมีหน้าที่การงานและคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ผู้ปกครองจะยอมลงทุนลงทุ่ม (หรือยอมเจียด) เงินจำนวนหนึ่ง เพื่อแลกกับการศึกษาและอนาคตของลูกหลาน ด้วยความหวังอยู่ลึกๆ ว่า มันจะ “คุ้มค่า” แก่การลงทุน และจะ “คืนทุน” ให้เขาในวันที่เขาแก่เฒ่าหรือเกษียณ โดยไม่หวังว่าจะต้องได้ “กำไร” จากการลงทุนนี้เลยเสียด้วยซ้ำ
“An investment in knowledge pays the best interest.” (Benjamin Franklin)
ส่วนสาเหตุที่พวกเขาต้องมาลงทุนเพิ่มจากตะกร้าแรกที่เป็นการศึกษาขั้นพื้นฐานตามโรงเรียนทั่วไป (ซึ่งอาจแพงกว่าค่าเทอมปกติด้วยซ้ำ) ส่วนหนึ่งนั่นก็เพราะการศึกษาไทยตามระบบสมัยนี้… ถ้าพูดตามตรง… มันยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร รวมถึงโรงเรียนหลายแห่งและคุณครูหลายคนนระบบนั่นด้วย เราเคยผ่านอยู่และเคยผ่านระบบนั้นกันมาแล้วทั้งนั้น ก็คงจะเข้าใจว่าการเรียนการสอนในชั้นเรียนนั้นยังไม่เพียงพอสำหรับการแข่งขันระดับชาติ อย่างตัวเราเอง ถึงแม้จะไม่เคยเรียนพิเศษก็จริง แต่ก็ต้องขวนขวายซื้อหนังสือเสริมมาอ่านเองและฝึกทำแบบฝึกเองอย่างหนักหน่วง เพื่อให้สู้กับเพื่อนๆ ที่เขามีปัญญาจ่ายค่าเรียนพิเศษเป็นหมื่นเป็นแสนได้… และเพื่อให้สอบติด “คณะที่ใช่ในมหา’ลัยที่ชอบ” สมตั้งใจ…
และอีกสาเหตุว่าทำไมพ่อแม่หลายคนยอมจ่ายเงินเพื่อการศึกษามากมาย ส่งให้ลูกได้เรียนพิเศษ ซื้อคู่มือติวสอบหรือหนังสืออ่านเสริมดีๆ และส่งลูกไปเรียนคอร์สภาษาหรือโปรแกรมอะไรก็ได้ที่เมืองนอก (หรือบางคนก็เป็นพ่อแม่ “ขั้นกว่า” คือยอมแม้กระทั่งบริจาคเงินหลักแสนหลักล้าน เพียงเพื่อยัดลูกเข้าไปเรียนที่โรงเรียนชื่อดังมีคุณภาพ) ก็เพราะในโลกภายหลังการศึกษา หรือ “LIFE AFTER DEBT” นั้นไม่ง่าย อย่าไปเชื่อถ้าใครปลอบเราว่า “เรียนที่ไหนก็เหมือนกัน” เพราะในความเป็นจริง สังคมเรายังตัดสินคนที่ดีกรีที่เรียนหรือสถาบันที่จบอยู่ (ทั้งๆ ที่รู้อยู่เต็มอกว่า ใบปริญญาบางแผ่น แค่จ่ายเงินครบก็จบได้)
เป็นหัวหมาดีกว่าเป็นหางมังกร?
นอกจากนี้ ในโลกแห่งความเป็นจริง คำกล่าว “เป็นหัวหมาดีกว่าเป็นหางมังกร” นั้นใช้การไม่ได้ เพราะเด็กจะโตเป็นผู้ใหญ่ยังไง ก็ขึ้นอยู่กับเพื่อนที่เขาคบ หนังสือที่เขาอ่าน สื่อที่เขาเสพ และสภาพแวดล้อมที่เขาอยู่ ดังนั้น ถ้าเราปล่อยให้เด็กเป็น “หัวหมา” เด็กก็จะได้เติบโตท่ามกลางสภาพแวดล้อมแบบหมาๆ เช่น ถ้าเพื่อนในห้องเรียนมีแต่เด็กเกเรหรือไม่ขยันเรียน ก็จะมีโอกาสสูงมากที่เขาจะกลายเป็นเด็กเกเร ก้าวร้าว และขี้เกียจตามไปด้วย ซึ่งอาจส่งผลให้เขาเสียคน (หรือเสียหมา) หรือไม่ก็หยุดพัฒนาตัวเอง เพราะคิดว่าตัวเองเก่งพอแล้ว และในที่สุด “หัวหมา” ตัวนี้ จะไม่มีวันได้ผงาดเป็น “มังกร” ได้เลย
นอกจากนี้ ถ้าเด็กได้รับการเรียนการสอนที่ไม่มีคุณภาพที่เหมาะสม เช่น เรียนกับครูที่มีความรู้ “งูๆ ปลาๆ” หรือครูที่ไม่มีจรรยาบรรณ ไม่สนใจนักเรียน เด็กก็จะได้ความรู้ที่ผิดๆ ถูกๆ ความรู้ที่ไม่แน่นพอ จนไปถึงนิสัยแย่ๆ ของครูคนนั้น ตรงกันข้าม ถ้าเด็กได้เรียนในสถาบันที่บุคลากรดีมีคุณภาพ เด็กก็ได้ทั้งความรู้ความสามารถ และการอบรมบ่มนิสัยที่ดี ประกอบกับเด็กได้อยู่ในสังคมเพื่อนที่เก่งๆ ก็จะช่วยกันผลักดันให้เด็กพัฒนาตนเองตลอดเวลา ไม่เฉื่อย ไม่ไร้สาระ และไม่ใฝ่ต่ำ
ต้นทุนของเราไม่เท่ากัน
อย่างไรก็ตาม เราอยากจะย้ำว่า เราไม่ได้มีความคิดหรือค่านิยมว่า “เงินทำให้คนเก่ง” หรือ “เงินทำให้คนสอบเข้ามหาวิทยาลัยดีๆ ได้” แต่เราแค่เชื่อว่า “เงินสามารถซื้อโอกาสทางการศึกษาและสภาพแวดล้อมดีๆ ได้” ตามที่กล่าวไปแล้วข้างต้น แล้วสุดท้าย เมื่อเด็กได้โอกาสเรียนพิเศษ โอกาสเรียนในที่ดีๆ หรือโอกาสไปเรียนเมืองนอกเมืองนา หลังจากนั้นมันก็ขึ้นอยู่กับตัวเด็กกับตัวผู้ปกครองเองล้วนๆ
มันสำคัญด้วยว่าเด็กจะใช้โอกาสนั้นได้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์มากน้อยแค่ไหน แล้วผู้ปกครองก็ควรคอยดูแล สนับสนุน และให้กำลังใจไปด้วย ไม่ใช่จ่ายเงินเสร็จก็ทิ้งขว้างลูก เหมือนจ้างครูมาเป็นพี่เลี้ยงลูก ทั้งหมดนี้ทุกฝ่ายต้องร่วมด้วยช่วยกัน เงินมันก็แค่ใบเบิกทางทำให้ชีวิตง่ายขึ้น แต่มันไม่ได้ซื้อได้ทุกอย่าง ต้องใช้ให้เป็น
สุดท้ายนี้ เราอยากบอกคนที่ขัดสนด้านการลงทุนทางการศึกษาด้วยว่า ถึงแม้ต้นทุนของเราจะไม่เท่าของเขา เราก็ไม่ควรไปแขวะหรือกระแนะกระแหนคนที่มีตังค์ว่า “ที่เขาได้ดีกว่าเราเพราะต้นทุนในชีวิตเขาดีกว่าเรา” และไม่ควรตัดพ้อชะตากรรมตัวเองด้วยที่เกิดมายากจน ถ้าเราแข่งบุญแข่งวาสนาเขาไม่ไหว เราก็ต้องมองมุมกลับปรับมุมมอง ลองหันไปเร่งแข่งเรือแข่งพายให้ทันเขาแทน ดีกว่ามั้ย?
ไม่ว่าจะยังไง เงินทองมันเป็นแค่ของนอกกาย ไม่ได้สำคัญไปกว่าความคิด ทัศนคติ และจิตใจของเรา ถ้าคนเราคิดบวก มีความตั้งใจ และไม่คิดอิจฉาริษยาใคร วันนึงเราก็ต้องได้ดีอยู่ดี…
รูปประกอบจากบทความ “Only 1 State’s College Students Graduate With Less Than $20,000 Of Debt, Report Finds” ของ Huffingtonpost
30 comments