ภาษาอังกฤษสำคัญอย่างไรกับ AEC
ทำไมคนไทยอ่อนภาษา และทำอย่างไรจึงจะเก่ง
หาคำตอบได้ที่นี่ค่ะ…
“พี่ขวัญ สอนภาษาอังกฤษผมหน่อย พี่คิดชั่วโมงละเท่าไหร่” ว่าที่บัณฑิตอนาคตไกลถามฉัน
ฉันสงสัยในใจ เด็กคนนี้มีดีกรีถึงวิศวะ จุฬาฯ เกรดเฉลี่ยก็ไม่ใช่น้อยๆ จะมาขอเรียนพิเศษกับฉันทำไม
ฉันสังเกตว่า กลุ่มลูกค้าของฉันมักเป็นเด็กมัธยม โดยเฉพาะ นร. ม.ปลาย ที่จะต้องเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย ที่ผ่านมา ไม่ค่อยมีผู้ใหญ่วัยทำงานหรือเด็กใกล้เรียนจบมาจ้างสอน จนกระทั่งช่วงหลังๆ มานี้
“ผมต้องใช้สมัครงาน เดี๋ยวนี้ที่ไหนๆ เค้าก็บังคับยื่นคะแนนภาษาอังกฤษ” น้องคนนั้นกล่าว
ใช่สิ เพราะเดี๋ยวประเทศเราจะเข้า AEC แล้ว ใครๆ ก็ต้องการพนักงานที่เก่งภาษาอังกฤษกันทั้งนั้น
เพราะ AEC ปัจจุบันกลุ่มลูกค้าที่ต้องการเรียนภาษาอังกฤษกับฉันจึงเปลี่ยนแปลงไป คือ เริ่มมีกลุ่มคนทำงานมาเรียน และจุดประสงค์การเรียนก็เปลี่ยนไป คือต้องการเน้นที่การใช้สื่อสารในชีวิตประจำวัน และใช้ประกอบอาชีพหรือธุรกิจมากขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องดีสำหรับคนที่ยึดอาชีพสอนพิเศษภาษาอังกฤษอย่างฉัน… ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อก่อนจะเลี้ยวเข้าสู่ประตู AEC คือช่วงโอกาสทองในการสร้างรายได้ของฉันจริงๆ เพราะช่วงนี้ใครๆ ก็ตื่นตระหนกกับ AEC ทุกๆ คน รวมทั้งหน่วยงานต่างๆ ต่างต้องการสร้างโอกาสในการแข่งขัน เนื่องจากกฎบัตรอาเซียนข้อ 34 บัญญัติเอาไว้ว่า
“ภาษาที่ใช้ในการทํางานของอาเซียน คือ ภาษาอังกฤษ”
(The working language of ASEAN shall be English)
นั่นคือ เมื่อถึงวันนั้น แรงงานของแต่ละประเทศจะสามารถเดินทางไปทำงาน ณ ประเทศต่างๆ ในอาเซียนด้วยกันได้สะดวกมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่ประกอบสาขาวิชาชีพหลักที่มีการจัดทำข้อตกลงยอมรับร่วมกัน หรือ MRA (Mutual Recognition Agreement) ทั้ง 8 สาขาได้แก่ แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล วิศวกรรม สถาปัตยกรรม บัญชี การสำรวจ และการท่องเที่ยว
หมายความว่า วิชาชีพเหล่านี้จะมีการแข่งขันกันสูง เช่น อาชีพวิศวกร อีกหน่อยก็ ไม่ใช่แค่บัณฑิตจุฬาฯ แข่งกับบัณฑิตเกษตรฯ หรืออะไร แต่ยังต้องแข่งกับคนจาก National University of Singapore หรือ Nanyang Technological University จากสิงคโปร์ และบัณฑิตเก่งๆ จากอีกหลายๆ มหาวิทยาลัยของประเทศต่างๆ ในอาเซียน ที่จะมาแย่งงานกับเรา
อย่างไรก็ดี ทุกคนต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะด้านภาษาอังกฤษควบคู่ไปกับวิชาพื้นฐานด้วยแล้ว เพราะต่อไปนี้ภาษาจะเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่กำหนดความจำกัดและโอกาสความก้าวหน้าของเราในอนาคต ไม่ว่าจะเรียนคณะอะไร หรือประกอบอาชีพอะไรก็ตาม
ถ้าประตูสู่อาเซียนเปิด แรงงานในประเทศฟิลิปปินส์ก็สามารถมาทำงานในประเทศไทยได้ หรือคนไทยก็สามารถไปทำงานได้ทุกประเทศในอาเซียน แต่ถามว่า เราจะไปอยู่ตรงนั้นได้อย่างไร? คำตอบคือ ถ้าจะไปอยู่ตรงนั้นได้ เราก็ต้องสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษได้
กฎง่ายๆคือ ใครที่รู้ภาษาดีย่อมมีภาษีดีกว่าคู่แข่ง
อันที่จริง คนไทยเองมีความรู้ความสามารถในเชิงวิชาชีพไม่ได้ด้อยกว่าใคร แต่มันจะมีประโยชน์อะไร ถ้าเราเป็นคนเก่ง มีความรู้ความสามารถ มีความชำนาญในงานที่ทำ แต่กลับอ่อนแอทางภาษา เช่น สมมติว่า เราแม่นวิชาชีพวิชาการที่ร่ำเรียนมา อยู่ที่มหาวิทยาลัย เราเป็นมือวางอันดับต้นๆ ของรุ่นของคณะ แต่เมื่อก้าวเข้ามาทำงานในระดับนานาชาติ เราอาจไปไหนไม่ได้ก็ได้ เพราะทักษะการฟังที่ฟังภาษาอังกฤษไม่เข้าใจ และทักษะการพูดที่สื่อสารกับฝรั่งเขาไม่รู้เรื่อง
แม้เราจะมีความรู้ความสามารถมากน้อยแค่ไหน หากเราอธิบายออกไปไม่ได้ ก็คงไม่ต่างอะไรกับ “เราไม่รู้”
แล้วเป็นที่ทราบกันดีว่า คนไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่มความสามารถด้านภาษาอังกฤษระดับ ต่ำ
ดัชนีชี้วัดตัวแรกคือจำนวนผู้สามารถสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ (%) เทียบกับจำนวนประชากร
สิงคโปร์ 71%
ฟิลิปปินส์ 55.49%
บรูไร ดารุสซาลาม 37.73%
มาเลเซีย 27.24%
ไทย 10%
ซึ่งก็แปลกนะ เพราะจริงๆ บ้านเราให้ความสำคัญกับภาษาอังกฤษมาก เด็กๆ ถูกบังคับเรียนภาษาอังกฤษทุกคน ตั้งแต่อนุบาลยันมหาวิทยาลัย รวมแล้วก็คือ ได้เรียนภาษาอังกฤษมาทั้ชีวิต… มากกว่า 10-20 ปี เออ… แต่ทำไมภาษาอังกฤษของเด็กไทยยังแพ้แทบทุกประเทศในอาเซียน? (ซึ่งเราจะมาถกประเด็นนี้กันอีกทีในบล็อกอื่นๆ ในวันหน้าค่ะ)
ลองมาดูประเทศที่มีการพัฒนาในอันดับต้นๆ อย่างสิงคโปร์ ประเทศเขาใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาทางการมานาน ทุกคนได้เรียนวิชาต่างๆ เป็นภาษาอังกฤษ พร้อมๆ กับเรียนภาษาจีนหรือภาษามลายู จึงได้เปรียบกว่าประเทศอื่นๆ ในอาเซียน เพราะสื่อสารภาษาอังกฤษได้คล่องแคล่วอย่างเป็นธรรมชาติ เชื่อมโยงกับคนทั่วโลกและเข้าถึงองค์ความรู้สาขาต่างๆ ที่ส่วนใหญ่เป็นภาษาอังกฤษได้ โดยไม่ต้องถอดความอีกชั้นหนึ่งเหมือนคนไทย
กลับมามองที่ประเทศไทย เราลองมานึกเปรียบเทียบการใช้ภาษาอังกฤษกับการใช้ภาษาแม่ของเราเองบ้าง สังเกตมั้ย ไม่ว่าจะอยู่ตรงไหนหรือไม่ได้ใช้นานแค่ไหน เราก็ไม่ลืมภาษาไทย นั่นเป็นเพราะแรกเริ่มเราเรียนรู้แบบวิธีธรรมชาติ เริ่มจากทักษะการฟัง ซึ่งฟังจากพ่อแม่และคนรอบข้างพูดมาตั้งแต่เกิด เมื่อเราฟังเสร็จแล้วจึงจะค่อยๆ พูดได้ เมื่อพูดเสร็จแล้วจึงจะค่อยๆ อ่านออกเขียนได้ตามลำดับ แต่ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง เราเพิ่งมาเริ่มต้นจริงๆ จังๆ เมื่อเข้าโรงเรียน เราถูกหลักสูตรบังคับให้ท่องและฟังพูดอ่านเขียน การพัฒนาจึงไม่ได้เป็นไปตามธรรมชาติ ถ้าเราไม่ได้ใช้ภาษาเขาไปนานๆ เราก็ลืม
ดังนั้น สิ่งสำคัญคือการสะสมและการหมั่นฝึกพัฒนา
ซึ่งถามว่าเริ่มต้นตอนนี้จะทันมั้ย
คำตอบของฉันคือ “ไม่มีอะไรสายเกินไปกว่าการไม่ลงมือทำสักที”
ที่ฉันเป็นห่วงไม่แพ้ภาษาอังกฤษของคนไทยคืออะไร? ทราบมั้ยคะ?
อย่างฉันเองก็มองว่าเป็นเรื่องดีนะ ที่ปัจจุบันผู้ใหญ่หลายท่าน รวมถึงตัวเด็กเอง ต่างให้ความสำคัญกับการเรียนภาษาอังกฤษมากขึ้น แต่อย่างไรก็ดี มันก็ไม่ใช่แค่เรื่องภาษาอย่างเดียวที่ควรพัฒนาก่อนรับมือกับการเปิดประชาคมอาเซียนใช่หรือไม่ หากแต่ยังมีทักษะชีวิตด้านอื่นๆ อีก ที่ผู้ปกครองและผู้ใหญ่ในสังคมควรให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ
ทุกวันนี้หลายๆ คนมุ่งเน้นภาษาอังกฤษมากจนลืมทักษะชีวิตด้านอื่นๆ เช่น ความเคารพในความเป็นมนุษย์ของกันและกัน เข้าใจในศักดิ์ศรีความมีคุณค่า และการเปิดใจยอมรับความแตกต่างหลากหลาย ทั้งทางวัฒนธรรมและสังคม รวมไปถึงการทำงานในบริบทวัฒนธรรมที่ต่างกันไป ซึ่งเป็นทักษะสำคัญในการเตรียมเด็กไทยสู่การเป็นพลเมืองอาเซียนที่ดีมีคุณภาพ และสำคัญในการปรับตัวท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงบนความแตกต่าง
ดังนั้นเราอาจจัดให้มีหลักสูตรอาเซียนศึกษาอย่างจริงจังเพิ่ม ซึ่งไม่ใช่แค่ให้เด็กนั่งท่องสีธงชาติแต่ละชาตินะ แต่ต้องเน้นให้เด็กเข้าใจวัฒนธรรม และการอยู่ร่วมกันกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างแท้จริง
ทุกวันนี้ ทันทีที่เรานึกถึงพม่า เรายังถึงนึกโสร่งกับมีดดาบแบบสมัยกรุงแตกอยู่เลย…จริงมั้ยคะ?
91 comments