จริงมั้ย เรียน Grammar มาตั้งหลายปี แต่ชีวิตจริงก็ใช้ไม่เป็นซะที…
วันนี้ขวัญจะมาแนะนำว่า ถ้าอยากเป๊ะ grammar ต้องเริ่มตรงไหน ต้องอ่านอะไร และต้องทำอะไรเพิ่มบ้าง
สิ่งสำคัญอันดับแรกของการเรียน Grammar ให้สัมฤทธิผล คือเราต้องปรับ attitude เกี่ยวกับมันเสียก่อน
ใครมองว่า Grammar คือกฎเกณฑ์ โบราณ ยุ่งยาก น่าเบื่อ ก็ต้องจูนเสียใหม่
ใครมองว่า Grammar ไม่สำคัญ ไม่จำเป็น แค่พูดได้ พอสื่อสารกันรู้เรื่องก็พอแล้ว ก็ต้องเปลี่ยนมุมมองเสียใหม่
ในภาษาพูด Grammar อาจจะดูไม่สำคัญอะไร แต่ก็มีหลายคนที่เคยเข้าใจกันคลาดเคลื่อนมาแล้ว เพราะใช้ Grammar ที่ผิดๆในการสื่อสาร
และอย่างน้อยที่สุด ในภาษาเขียน Grammar ก็สำคัญอย่างยิ่ง ไม่ว่ายังไง ชีวิตนี้เราก็ต้องเขียน (หรือพิมพ์!)
จริงๆแล้ว Grammar ไม่ใช่เรื่องยาก เราเรียนเรื่องเดิมๆ มาตั้งแต่ประถมยันมหาลัย
แค่พอโตขึ้น เนื้อหาในบทเรียนอาจลึกขึ้น ตัวอย่างกะแบบฝึกอาจยาวขึ้นซับซ้อนขึ้น แต่มันก็แค่นั้น หลักการก็เดิมๆ รู้ทีเดียวใช้ได้ทั้งชีวิต
ถ้าเราเรียน Grammar ถูกวิธี และรู้เทคนิคที่ดี เราก็คงไม่มองว่ามันยุ่งยาก น่าเบื่อ หรือไร้สาระอีกต่อไป
- Understanding
ถ้าเราเปิดคัมภีร์ไวยากรณ์ดู เราจะเห็นว่าภาษาอังกฤษมี chapter ใหญ่ lesson ย่อยมากมายจนลายตา
ถ้าไม่รู้จะเริ่มยังไง อย่าเพิ่งท้อหรือถอดใจ
ลองเริ่มต้นจากการเข้าใจ Grammar ใหญ่ๆ ที่สำคัญก่อน
อย่าง Part of speech (แยกคำนาม กริยา วิเศษณ์ ฯลฯ) ก็ต้องรู้ เพื่อเข้าใจ building blocks ของภาษาเค้า
Sentence Structure ก็ต้องสังเกต เพื่อเข้าใจว่าแต่ละประโยคถูกเค้า construct ออกมายังไง
และก็ Tense ทั้ง Active & Passive ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของ Grammar เลยก็ว่าได้
แล้วจากนั้นก็ค่อยเก็บเล็กเก็บน้อย เช่น เรื่อง some/any, other/another, subjunctive, gerund เป็นต้น
มองภาพรวมทั้งหมดก่อนว่า มีเรื่องอะไรบ้างที่เราจะต้องฝ่าฟัน จดลิสต์มาเลยว่ามีเรื่องอะไรบ้าง
จากนั้นคำนวณระยะเวลาแต่ละบท ว่าต้องใช้เวลาเท่าไหร่ในการอ่านและทำแบบฝึก
และที่สำคัญ แพลนแล้ว ก็ต้องพยายามทำให้ได้ตามเป้าหมายที่แพลนไว้ด้วยนะคะ - Exercise & Practice
บางทีแค่อ่านตามเฉยๆ ก็ดูเหมือนจะง่าย แต่พอทำเข้าจริง หรือเอาไปใช้จริง มันไม่ง่ายอย่างนั้นน่ะสิ
การทำแบบฝึกหัด จะช่วยเช็คความเข้าใจ ทบทวนความรู้ และหาจุดอ่อนของตัวเองในบทนั้นๆ
ดังนั้นเราต้องฝึกฝนบ่อยๆ เขาว่ากันว่า ถ้าอยากเก่งเรื่องใดให้ทำเรื่องนั้นซ้ำๆ สักพันครั้ง ซึ่งเราเห็นด้วยนะ
แต่ไม่ใช่ฝึกสะเปะสะปะ ควรพยายามเลือกแบบฝึกที่ประยุกต์ๆ หน่อย
ส่วนไอ้พวกโจทย์ง่ายๆ ง่อยๆ ถามเราตรงๆ อย่าไปเสียเวลากะมันมาก
เช่น แบบฝึกหัดแบบ choice เนี่ย มันเหมาะสำหรับ beginner ใช้ทบทวน แต่ไม่เหมาะแก่การพัฒนาไปข้างหน้า ทำแค่ประปรายก็พอ
แนะนำแบบฝึกที่เป็นแบบเติมคำ หรืออะไรก็ตามที่ได้ฝึกคิดจริงๆ ฝึกเขียนจริงๆ และมีความหลากหลาย ทั้งรูปแบบและเนื้อหา
พอทำเสร็จก็ตรวจด้วยปากกาแดง เรียนรู้ข้อที่ผิด (รวมถึงข้อที่ฟลุ้คถูก) และทำความเข้าใจว่าทำไมถึงผิด และที่ถูกควรจะเป็นยังไง - Materials
หนังสือ Grammar ที่แนะนำคือเซตของคุณ Raymond Murphy (Cambridge)
เล่มนี้สรุปสั้นๆ เรื่องละหน้า (หน้าซ้ายเป็นเนื้อหา หน้าขวาเป็นแบบฝึกไว้ทำควบคู่กัน) แต่ครอบคลุมและเข้าใจง่าย
มีสามสี สามระดับ (แดง น้ำเงิน เขียว ตามลำดับง่ายไปยาก) โดยส่วนตัว ขวัญเริ่มจากเล่มสีน้ำเงินค่ะ
พออ่านและทำเล่มนี้จบแล้ว ก็ซื้อเล่ม Supplementary Exercise มาทำเพิ่ม เล่มจะบางกว่าพอสมควร
เนื่องจากเป็นแบบฝึกหัดล้วนๆ แบบฝึกในเล่ม Supplementary Exercise จึงเข้มข้น ละเอียด หลากหลาย และท้าทายกว่า
แต่หนังสือไวยากรณ์ของคนไทยที่ราคาเบาๆและเนื้อหาดี ก็มีให้เลือกสรร สำหรับคนที่งบน้อยลงมาหน่อย
เวลาเลือกก็ลองเปิดอ่านดูสักบท แล้วอ่านคร่าวๆ ว่า เราอ่านแล้วเข้าใจหรือเปล่า เหมาะสมกับเรามั้ย แบบฝึกพอมั้ย
อย่างไรก็ตามเล่ม English Grammar in Use ของคุณ Raymond Murphy ก็มีไฟล์ pdf ให้โหลดกันฟรีๆ ใน Internet นะคะ ลองหาดู - Reading or Movies
การเรียนรู้ Grammar ก็คล้ายๆ กับการเรียนรู้ Vocab แหละค่ะ คิดจะทำให้สนุก มันก็สนุก
ถ้าเรียนรู้จาก context เช่น การอ่าน หรือการดูอะไรที่เราสนใจ เช่น นิยาย หรือหนังสนุกๆ การเรียน grammar ก็ไม่น่าง่วงอีกต่อไป
หรือถ้าจริงจังหน่อย ลองนสพ. กับบทความก็ได้ (เช่น BBC) ก็จะได้เรียนรู้ correct & proper grammar ของเจ้าของภาษาจริงๆ
เวลาอ่านหรือดูก็ทำความเข้าใจไปด้วยว่าทำไมประโยคนั้นๆ จึงต้องถูกเขียนหรือถูกพูดแบบนั้นนะ
แล้วถามตัวอย่างว่าเราจะลองสร้างประโยคที่คล้ายคลึงกันแบบนั้นได้มั้ยนะ ลองดูสักประโยคซิ
- Write/Translate Something
เริ่มจากชีวิตประจำวัน หรือสิ่งรอบๆ ตัวเรา ณ ตอนนี้เนี่ยแหละค่ะ
แรกๆ ลองคิดเป็นภาษาไทยในหัวก่อน แล้วค่อยๆ ปะติดปะต่อเป็นภาษาอังกฤษ แทนที่จะพูดออกมาเป็นภาษาไทย
เริ่มต้นอาจจะรู้สึกว่ายากว่ะ คิดช้าจัง ผิดๆ ถูกๆ ตะกุกตะกัก แต่ถ้าไม่ละความพยายาม ต่อไปมันจะดีขึ้นเองค่ะ
ลองหยิบอะไรง่ายๆ มาดู เช่น ประกาศนี่นั่น (ภาษาไทย) แล้วลองมาคิดดูว่าจะพูดยังไงเป็นภาษาอังกฤษ
ขั้นตอนนี้ ไม่ต้องเครียดนะคะว่า ภาษาจะไม่สวย เพราะเราแค่จะฝึกพื้นฐาน เราไม่ได้เขียนวรรณกรรม หรือส่งประกวดระดับชาติ
คำไหนไม่รู้ศัพท์ในภาษาอังกฤษจริงๆ ก็ใช้ something หรือ someone โปะๆ แทนคำ xxx นั้นไปก่อน
เช่น “เขากระชากประตูแท็กซี่” >> ถ้าไม่รู้ “กระชาก” คือ “yank” ก็แถๆ ไปก่อน เช่น “He does something the taxi door.” - Find a mentor
หลายคนคงไม่ชอบให้ใครมาแหกหน้าว่า “เฮ้ย! แกใช้ผิดนะ แกพูดผิดนะ ต้องยังงี้ๆๆๆ ต่างหาก”
แต่บางอย่างเราก็ต้องยอมรับ เรียนรู้ และทำความเข้าใจเสียใหม่ เพื่อไม่ให้เป็นความดักดานขั้นเรื้อรังในภายภาคหน้า
สำหรับขวัญ การเรียนรู้ feedback แบบสดๆ แบบ real time นั้นเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง
ยิ่งถ้าใช้อะไรผิด ก็ต้องรีบทำความเข้าใจ และแก้ไขตั้งแต่เนิ่นๆ (ผิดเป็นครู ยิ่งผิดยิ่งเก่ง ไม่ต้องอายค่ะ)
ถ้าไม่เข้าใจอะไร ให้รีบถาม หรือจดไว้ก่อน แล้วไปถามหรือค้นคว้าหาคำตอบทีหลัง (ยิ่งถามยิ่งฉลาดด้วยค่ะ)
- Teach other
ขวัญยอมรับว่าตอนแรกก็ใช้ภาษาอังกฤษแบบงูๆ ปลาๆ และตาม sense ไปวันๆ อาศัยคุ้นอะไรก็พูดยังงั้น (เชื่อว่าคนอื่นๆ ก็เป็น ใช่มั้ยล่ะ)
มาค้นพบว่า ตราบใดที่เรายังไม่สามาถอธิบายง่ายๆให้คนอื่นเข้าใจได้ แสดงว่าเรายังไม่เข้าใจมันอย่างแท้จริง
ซึ่งการได้สอนหนังสือ บังคับให้ขวัญได้ใช้ภาษาอังกฤษทุกวัน อย่างน้อยก็ไม่ลืมคำศัพท์ และเนื้อหาของมัน
นอกจากนี้ยังบังคับให้ขวัญไม่หยุดเรียนรู้ ขวนขวายเพิ่มเติม และทบทวนเรื่องเก่าๆ ซึ่งทำให้เราแน่นขึ้นโดยธรรมชาติ
ถ้ากลัวความรู้ยังไม่ถึง เริ่มสอนจากเด็กเล็กๆ ก่อนก็ได้ค่ะ แล้วค่อยขยับขึ้นเป็นเด็กโต
ถ้าเข้าใจ Grammar และพอมีคลังคำสะสมไว้พอหยิบมือแล้วล่ะก็ การใช้ภาษาอังกฤษในการฟัง พูด อ่าน เขียนก็จะง่ายขึ้นเยอะ เหลือก็แต่ว่าเราจะกล้าใช้ และหมั่นพัฒนาฝึกฝนอย่างต่อเนื่องหรือไม่ ลองดูนะคะ ขวัญทำได้ คุณก็ต้องทำได้ สู้ๆ ค่ะ เป็นกำลังใจให้ทุกคนเลย ^^
30 comments