จริงอยู่ที่หนังเรื่อง It (2017) เป็นเพียงแค่ครึ่งแรกของฉบับนิยายเท่านั้น แต่ถ้าหากหนังภาคแรกทำออกมาไม่เวิร์ก ทั้งด้านรายได้และคำวิจารณ์ โปรเจ็กต์การสร้าง It: Chapter 2 ก็อาจจะไม่โผล่ออกมาให้ได้ชมกันรวดเร็วปานนี้ ทั้งนี้ต้องชื่นชมผู้กำกับ Andy Muschietti ที่สามารถกำกับ It ภาคแรกออกมาได้ประสบความสำเร็จท่ามกลางความล้มเหลวของหนังเรื่องอื่น ๆ อีกหลายเรื่องที่สร้างจากนิยายของ Stephen King เหมือนกัน
สำหรับ It: Chapter 2 เราแนะนำว่า ควรดูภาคแรกให้เรียบร้อยก่อนมาดูภาคสองนี้ (ไม่ดูภาคแรกมา ก็อาจจะพอทำเนาไปได้ แต่ถ้าดูมาก่อน ก็จะอินกว่า) โดยภาคนี้ หนังบอกเล่าเรื่องราว 27 ปีต่อมา ของแก๊งขี้แพ้ (The Losers’ Club) ที่ต้องกลับมาเผชิญหน้ากับ A Killing Clown หรือตัวตลก Pennywise (Bill Skarsgård จาก Atomic Blonde) อีกครั้ง
จากภาคแรกที่เราได้เห็นกันไปแล้วว่า เด็ก ๆ แต่ละคนต่างมีความกลัวที่ต้องก้าวข้ามผ่านแตกต่างกัน ความกลัวที่เคยมีในวันนั้น ที่เราคิดว่ามันคงตายจากหายไปแล้ว แต่แท้จริง มันยังไม่ไปไหน มันแค่ถูกกดทับไว้ หรือเป็นอะไรที่เราพยายามปิดบังหรือหลงลืมมัน ซึ่งสุดท้ายแล้ว มันก็ยังคงติดตัวเรา ดีไม่ดีก็หล่อหลอมให้เราเป็นเราในวันที่เราเป็นผู้ใหญ่นี้แหละ
- Bill เด็กติดอ่างในวันนั้น (Jaeden Lieberher) ถึงแม้จะเติบโตมาเป็นนักเขียนนิยายชื่อดัง (James McAvoy จาก Split และ X-Men) แต่เขาก็มีปัญหากับการเขียนตอนจบให้กับงานเขียนของเขา (ตอนแรกก็เหมือนจะไม่ยอมรับความจริงด้วยว่า ตอนจบของหนังสือตัวเองมันมีปัญหา) และลึก ๆ แล้วก็ยังคงรู้สึกผิดที่ทำให้น้องชายของตัวเองตายในช่วงเริ่มเรื่องของ It
- Beverly เด็กหญิงคนเดียวของกลุ่มในวันนั้น (Sophia Lillis) ที่เคยมีปมเรื่อง abusive father และเหมือนจะกลัวการโตเป็นสาว เมื่อเธอโตมาเป็นสาวใหญ่ (Jessica Chastain จาก Zero Dark Thirty และ The Help) เธอก็ยังคงแต่งงานและทนอยู่กับ abusive husband อยู่เหมือนเดิม ราวกับเธอคิดว่า ตัวเองไม่มีค่าพอหรือไม่ deserve กับความรักที่แท้ทรู
- Ben เด็กอ้วนที่เคยแอบหลงรัก Bev ในวันนั้น (Jeremy Ray Taylor) โตขึ้นมาเป็นหนุ่มหล่อและรวยมาก (Jay Ryan) แต่ก็ยังเหงา และยังคงรัก Bev เหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง (เฟรนด์โซนยาวนานอะไรปานนั้น) เพียงแต่เขาก็ยังฝังใจว่า เขาเคยเป็นเด็กอ้วนคนหนึ่ง ไม่คู่ควรกับสาวสวยคนนั้นเท่ากับ Bill จึงไม่กล้าเผยความในใจสักที
- Richie เด็กแว่นปากมอมในวันนั้น (Finn Wolfhard) ในวันนี้ก็ได้เป็นนักพูดชื่อดัง (Bill Hader จาก Trainwreck) ยังปากมอมเหมือนเดิม แต่ความกลัวที่เขาซ่อนไว้ตั้งแต่ยังเด็ก ในภาคนี้ก็ชัดเจนมากขึ้น นั่นก็คือ เขากลัวคนรู้ว่าเขาเป็นเกย์และแอบชอบเพื่อนคนนึงเสมอมา
- Eddie เด็กเซนซิทีฟที่เป็นโรค Hypochondriasis (Jack Dylan Grazer) โตมาเขา (James Ransone) ก็ยังไม่หายขาดจากโรคนั้น และแต่งงานกับผู้หญิงอ้วนที่อะไร ๆ แทบไม่ต่างจากแม่ของเขาเลย เช่น ความ overprotective แต่เขาก็ได้ทำอาชีพที่เหมาะกับเขาที่สุด นั่นคือ นักประเมินความเสี่ยง
- Stanley เด็กยิวผู้อ่อนแอที่สุดในวันนั้น (Wyatt Oleff) โตมา (Andy Bean) ก็ยังเป็นคนที่ไม่มั่นใจในตัวเองเหมือนเดิม และหวาดกลัวกับการกลับไปเผชิญหน้ากับ “มัน”
- Mike เด็กผิวสีผู้เคยสูญเสียพ่อแม่จากเหตุเพลิงไหม้ (Chosen Jacobs) และเป็นคนเดียวในแก๊งที่ไม่เคยไปจากเมืองนี้เลย เขาใช้เวลาทั้งชีวิตในการหาวิธีกำจัด Pennywise โดยเขา (Isaiah Mustafa) เป็นคนโทรเพื่อน ๆ ให้กลับมารวมตัวกันอีกครั้ง
ด้วยความที่ตัวละครเค้ามีหลายตัวและแต่ละตัวก็มีแผลในใจหรือปมของใครของมันที่จะต้องแก้ หนังภาคแรกที่ว่ายาวแล้ว (2 ชั่วโมง 15 นาที) ภาคนี้ยาวยิ่งกว่า (2 ชั่วโมง 50 นาที) แต่เราไม่รู้สึกเบื่อสักนาทีนะ หนังเล่าสนุก ครบรส น่าติดตามตลอด มีเนื้อหาเล่าเยอะ และมันก็เป็นเนื้อจริง ๆ แทบไม่มีน้ำผสมเลย ใดใดล้วนสำคัญ ใดใดล้วนมีความหมาย ใดใดล้วนส่งผลต่อใดใดในลำดับต่อไปเช่นเดียวกับปัจจัยหรือ events ต่าง ๆ ที่ถาโถมเข้ามาในชีวิตเราจริง ๆ
เช่น ฉากในร้านอาหารจีน ที่แก๊งขี้แพ้กลับมารวมตัวกันครั้งแรก และเม้าธ์มอยสัพเพเหระกัน ก็ถือเป็นฉากที่สำคัญต่อฉากอื่น ๆ แล้วหนังเค้าก็ไม่ใช่ทำไปงั้น ๆ แบบว่ามันเป็นซีนไฟล์ทบังคับที่ต้องมีซีนรียูเนียน หากแต่เค้าตั้งใจทำ สื่อแสดงถึงความผูกพัน ทั้งระหว่างตัวละครด้วยกัน รวมถึงความผูกพันที่คนดูอย่างเรามีต่อตัวละคร เหมือนเราได้ไปรียูเนียนด้วยจริง ๆ
ถึงแม้หนังจะมีดาราใหญ่แค่สองคน (James McAvoy x Jessica Chastain) แต่นักแสดงคนอื่น ๆ ก็แทบไม่ดร็อปเลยนะ โดยเฉพาะ Bill Hader กับ James Ransone ที่รับบทเป็น Richie & Eddie นี่ตลกมาก และขโมยซีนได้ตลอด ส่วนนักแสดงเด็ก (แก๊งเดิม มาครบก๊วน) ก็ยังทำหน้าที่ของพวกเขาได้ดี โดยหนังมีการเล่าสลับพาร์ทเด็กกับพาร์ทผู้ใหญ่อย่างบาลานซ์ลงตัว ที่สำคัญแคสต์นักแสดงมาดีมาก ทีมเสื้อผ้าหน้าผมเองก็ทำการบ้านมาดีทีเดียว
ที่ว่าตัดสลับกับตอนเด็กเนี่ย ก็มี flashback ที่เคยเล่าไปแล้วในภาคหนึ่งเพียงเสี้ยวเดียวเท่านั้นนะ มันไม่ใช่เอา flashback ทั้งดุ้นมาเล่ากรอซ้ำทั้งดุ้น (อย่างที่ละครไทยชอบทำเสมือนว่าคนดูความจำเสื่อม) หากแต่ flashback ที่เราจะได้ดูในภาคนี้ มันจะเป็นโมเมนต์ความทรงจำที่เราไม่เคยได้รู้ได้เห็นมาก่อนจากภาคแรก ซึ่งก็คือเป็นโมเมนต์ที่แต่ละตัวละครอยากจะเก็บมันไว้คนเดียว หรืออยากจะลืม ๆ ทิ้ง ๆ มันไป ดังนั้น ใครที่รู้สึกว่าภาคแรกค้าง ๆ คา ๆ หรือยังไม่เก๊ตตรงไหน ถ้าได้มาดูหนังภาคต่อนี้ ก็น่าจะตอบคำถามหลายข้อที่ค้างคาในใจนั้นได้ไม่มากก็น้อย
ท่ามกลางหนังแนว coming-of-age มากมาย It: Chapter 2 คือหนังที่สมควรถูกเรียกว่าหนัง coming-of-age อย่างแท้จริง ถึงแม้ว่าตัวหนังภาคนี้จะมีความดุดันขึ้น น่ากลัวขึ้น (มี jumpscare แบบหนังผีด้วย) โหดขึ้น เหวอะหวะขึ้น ตามอายุวัยของตัวละคร และตามสกิลกับบารมีของนักแสดงนำ แต่ความ horror นั้นก็ไม่ได้กลบประเด็น coming-of-age ให้เบาบางลงแม้แต่น้อย ตรงกันข้าม มันกลับส่งเสริมให้ประเด็น coming-of-age มันชัดเจนขึ้นเสียอีกด้วยซ้ำ รวมถึงช่วยชูประเด็น bullying, การเหยียดเพศ, การเหยียดรูปร่างหน้าตา ฯลฯ ทั้งหลายนั้นได้อย่างแข็งแรง จวบจนไปถึงบทสรุปหรือจุดจบของตัวตลก
สิ่งที่เราชอบคือ หนังไม่ดูถูกสติปัญญาหรือพยายามสอนคนดู ไม่ได้ยัดเยียดให้เราต้องกล้าในสิ่งที่ควรกลัว แต่สิ่งที่หนังทำคือ เค้าทำให้เราได้ค้นหาตัวเองและสำรวจจิตใจไปพร้อมกับตัวละคร หรือจะบอกว่า ได้เรียนรู้และเติบโตไปพร้อม ๆ กันเลย ก็ไม่ผิดนัก จะบอกว่าเราผูกพันกับตัวละครไปแล้วก็ใช่ จะบอกว่ามันเหมือนเราเป็นตัวละครนั้น ๆ จริง ๆ มาก่อนก็ใช่ อย่างไรก็แล้วแต่ มันชวนให้เราอยากลุ้นอยากติดตาม มีความทรงจำอะไรในวัยเด็กบ้างที่เราเลือกจะลืม/เลือกจะจำ และเราจะก้าวข้ามผ่านหรือต่อสู้กับความกลัวหรือความรู้สึกผิดในใจตัวเองได้มั้ย จะกล้ายอมรับในสิ่งที่ตัวเองเป็นได้หรือไม่ ฯลฯ
โดยสรุป It: Chapter 2 เป็นหนังยาวเกือบสามชั่วโมง แต่ไม่น่าเบื่อ ดูแล้วมีความอิ่ม การทำหนังจากหนังสือมันไม่ง่าย แต่เค้าทำออกมาได้ดีและมีบทสรุปที่น่าพึงพอใจมาก คุ้มกับเงินและเวลาที่ใช้ไป โดยส่วนตัว ชอบภาคนี้มากกว่าภาคแรกนิดหน่อย แต่ว่าแต่ละภาคก็มีฟีลลิ่งของใครของมัน รวม ๆ เกลี่ย ๆ แล้ว ก็ให้คะแนนไม่ต่างกันมาก อยู่ที่ประมาณ 8/10
25 comments
Comments are closed.