ขุนพันธ์ สร้างจากชีวประวัติของพลตำรวจตรี ขุนพันธรักษ์ราชเดช (บุตร พันธรักษ์) อดีตนายตำรวจชื่อดังที่ปราบเสือตามภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศมาตั้งแต่ยุคสงครามโลก กำกับโดย ก้องเกียรติ โขมศิริ ผู้กำกับแนวหน้าของเมืองไทยจากเรื่อง ลองของ, ไชยา, เฉือน, Take Me Home: สุขสันต์วันกลับบ้าน ฯลฯ
Read More: แนะนำ 7 ตัวละครจาก ‘ขุนพันธ์’ ระเบิดพลังอาคมและศรัทธา สุดยอดหนังไทยที่รอคอย
เรื่องย่อ ขุนพันธ์
ช่วงปีพ.ศ. 2481 ร้อยตำรวจโทขุนพันธรักษ์ราชเดช หรือ นายบุตร์ (อนันดา เอเวอริงแฮม) ได้รับมอบหมายจากทางการให้ลงใต้ไปปราบจอมโจร อัลฮาวียะลู (กฤษดา สุโกศล แคลปป์ / น้อย วงพรู) และสมุนซ้ายขวา เสือสัง (เดี่ยว ชูพงษ์ ช่างปรุง จาก องก์บาก) และ บุหงา (กบ พิมลรัตน์ พิศลยบุตร จาก สุริโยไท) โดยขุนพันธ์ได้รับความช่วยเหลือจากสองพี่น้อง ไข่โถ (สนธยา ชิตมณี / สน The Star 1) และ มาลัย (อ้อม กานต์พิสชา เกตุมณี จาก แม่เบี้ย) ที่ทำงานอยู่ในสโมสรงาช้างของ หลวงโอฬาร (ภคชนก์ โวอ่อนศรี / แฟร้งค์ พิธีกร The Star) ข้าราชการใหญ่ขายชาติผู้มีอำนาจที่สุดในแดนใต้
Read More: ไฟท์กันแบบชัดๆ วัดพลัง ขุนพันธ์ Vs อัลฮาวียะลู อาคมต่ออาคมใครเหนือกว่ากัน??
รีวิว วิเคราะห์ วิจารณ์ ขุนพันธ์
เข้าไปดู ขุนพันธ์ อย่างไม่คาดหวังอะไร พบว่ามันไม่แย่อย่างที่คิด ดีกว่าหนังไทยหลาย ๆ เรื่อง แต่ก็ยังห่างไกลจากคำว่าดีเด่นหรือยอดเยี่ยมถึงขั้นจะเป็นผลงานภาพยนตร์ชูหน้าชูตาให้แก่สยามประเทศได้ สิ่งเดียวที่เต็มใจจะเชยชมสำหรับหนังเรื่องนี้คือการแสดงของ อนันดา กับ น้อย วงพรู ที่ต้องยอมรับว่า “ตีบทแตก” และเข้าชิงสุพรรณหงส์ได้สบาย ๆ
ขุนพันธ์ ไม่ได้เป็นหนังชีวประวัติที่เล่าเรื่องของพลตำรวจตรี ขุนพันธรักษ์ราชเดช (บุตร พันธรักษ์) ทั่วไป แต่เน้นหนักไปทางหนังบู๊เว่อร์วังอลังการงานสร้างและความแฟนตาซีเกินจริง เหมาะแก่การดูเพื่อความบันเทิง
คอหนังบู๊ที่ชอบดูคิวบู๊โหด ๆ หรือล้างผลาญเว่อร์วังชนิดไม่แคร์พล็อตแคร์บทอาจจะชอบ ขุนพันธ์ เพราะหนังตอบโจทย์ด้านนี้มาก บู๊หนักมาก ความเวอร์เต็มสิบให้ร้อย คือลำพังแค่คาถาอาคมมันก็เหลือเชื่อเหนือธรรมชาติในตัวของมันอยู่แล้ว แล้วหนังก็ยังพยายามใส่ความแฟนตาซีเพิ่มเติมเสริมแต่งลงไปอีกยกใหญ่ จนบางทีความพยายามนั้นก็ออกมาดู “เชย” มากกว่าจะดู “ล้ำ”
อย่างไรก็ดี โปรดักชั่นเขาก็เล่นใหญ่ระดับอินเตอร์ทั้งงานภาพงานเสียง เสียแต่ CG หลายฉากยังดูหลอก ๆ (แต่ก็ดีกว่า CG ช่อง 7) แถมยังพยายามใส่ความฮอลลีวู้ดลงไปในหนังเกินไปนิด เช่น ฉากเปิดมีความคาวบอยตะวันตก มีเอาไอเดียที่ซ้ำจาก The Revenant มาเล่น (หรือถ้าหากเรื่องจริง ขุนพันธ์ท่านทำแบบ Leonardo จริง ๆ อยู่แล้ว ก็ขออภัย) และการใส่ end credit หยอดน้ำจิ้มแย้มคล้าย ๆ ว่า อาจจะมีภาคสอง แบบหนังฮีโร่ Marvel
ในส่วนของตัวบท ก็ต้องบอกตรง ๆ ว่าค่อนข้างอ่อน หลาย ๆ ฉากยืดเยื้อ ไม่รู้มีมาเพื่ออะไร รวมถึงตัวละครบางตัวก็ดูมีอยู่โดยไม่จำเป็น เช่น บทของมาลัย ที่มางง ๆ ไปงง ๆ แสดงโดยนางเอกแม่เบี้ย ซึ่งในเรื่องนี้ก็โชว์อีกเช่นกัน ในขณะที่บทจอมโจรอัลฮาวียะลูที่ควรจะเด่นมาก ๆ กลับทำให้เขาโหดได้ไม่สุด เหมือนใช้ฝีมือพี่น้อยได้ไม่คุ้มเลย แต่ก็ไม่อยากว่าอะไรมาก เพราะเห็นได้ชัดว่าเขาดูตั้งใจและทุ่มเทที่จะขายความบู๊มากกว่าเนื้อหาสาระอยู่แล้ว
แต่เราก็แอบเสียดายไง ถึงแม้เราจะอยากดูหนังเพื่อความบันเทิง แต่เราก็ไปดูเพราะอยากรู้จักขุนพันธ์กับจอมโจรอัลฮาวียะลูสักหน่อย โดยเฉพาะขุนพันธ์ซึ่งเป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญในประวัติศาตร์ไทยที่คนไทยยังไม่ค่อยรู้จักมักคุ้น แทนที่จะโปรโมตให้คนดูรู้จักขุนพันธ์มากขึ้น ในทางกลับกัน หนังมีการโปรโมตแฝงความเป็นไทยสูงมาก
นอกจากเรื่องความเชื่อด้านไสยเวทย์อาคมที่ต้องมีแน่นอนตามหน้าหนัง และประเด็นรักชาติ ศานา พระมหากษัตริย์ที่พึงมีตามสูตรแล้ว ยังมีการสอดแทรกวัฒนธรรม เช่น รำโนราห์ เพลงชาติ และเกร็ดประวัติศาสตร์ช่วงสงครามโลกที่ไทยเข้าไปเอี่ยวกับญี่ปุ่นด้วยเบา ๆ อีกทั้งยังมีแอ็คชั่นสไตล์คล้าย “องก์บาก” ผสมมาด้วย
เออ จะว่าไปหนังก็ดูไปทางบู๊แอ็คชั่นสไตล์ “องก์บาก” จริง ๆ นะ แทนที่เขาจะไปโฟกัสที่ไสยเวทย์อาคมของขุนพันธ์กับจอมโจรอัลฮาวียะลูอย่างที่ควรจะเป็น ในเรื่องนั้น สองตัวละครหลักใช้คาถาอาคมน้อยมาก และเราก็ไม่ได้รับการบอกเล่าอย่างจริงจังด้วยว่าทั้งสองมีคาถาอาคมได้อย่างไร คาถาอาคมอยู่ยงคงกระพันก็ยังคงเป็นปริศนาของคนรุ่นหลังต่อไปว่ามันมีอยู่จริงหรือไม่
โดยสรุป ขุนพันธ์ คะแนนความชอบส่วนตัว 7/10 คือสำหรับมาตรฐานหนังไทย จัดว่าไม่ได้แย่ แต่ก็ไม่ได้ดีเด่อะไรตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น แนะนำว่าไปดูได้เพื่อความบันเทิง เอาสะใจ และอย่างน้อยก็เพื่อเป็นกำลังใจให้กับ อนันดา กับ น้อย วงพรู ที่อุตส่าห์แสดงได้ดี
ขุนพันธ์ เข้าฉาย 14 ก.ค. 2016 นี้ ในโรงภาพยนตร์
38 comments