“Sometimes the enemy doesn’t exist until you go looking for them,”
เวลานึกถึงหนังคิงคอง ส่วนใหญ่ก็คงนึกถึงคิงคองตัวใหญ่ปีนไปบนยอดตึก Empire State กลางมหานคร New York ต่อสู้กับฝูงเฮลิคอปเตอร์ที่รุมกระหน่ำยิงมัน และบ้างก็อาจจะนึกถึงผู้หญิงผมบลอนด์หนึ่งคนบนอุ้งมืออันใหญ่ยักษ์ของเจ้าราชาแห่งลิง
King Kong เป็นสัตว์ประหลาดที่ popular ถูกรีเมคเป็นหนังมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง ทั้งหนังเล็กหนังใหญ่ โดยส่วนตัว เราไม่เคยดู King Kong (1933) ซึ่งเป็นหนังคิงคองฉบับออริจินัล เราเคยดูแค่ King Kong (2005) ที่ Naomi Watts เป็นนางเอก แต่นั่นก็ตั้งแต่เด็ก ๆ
ล่าสุดโปรดิวเซอร์ของ Godzilla (2014) ซึ่งเป็นก๊อดซิลล่าที่บู๊มัน(ส์)มาก ได้มาสร้างหนังคิงคอง ภายใต้ชื่อ Kong: Skull Island โดยคราวนี้เจ้า Kong จะไม่ได้ไปไต่ยอดตึก Empire State เหมือนเวอร์ชั่นก่อน ๆ Kong เวอร์ชั่นนี้เป็นราชาแห่ง Skull Island คอยดูแลสรรพสัตว์(ประหลาด) และสรรพสิ่ง(แปลก ๆ) บนเกาะจากพวก Skull Crawlers หรือตัวตะกวดยักษ์จากใต้ดิน
ในหนังไม่ได้บอกแน่ชัดว่า เกาะกะโหลกอะไรนี่อยู่แห่งหนใด รู้แต่ว่าทุกคนเริ่มออกเดินทางทางเรือที่เทียบท่าที่ Bangkok, Thailand ของเรานี่แหละ เพื่อมุ่งหน้าไปยังเกาะกะโหลก (บางทีเกาะกะโหลกอาจจะเป็นเกาะแก้วพิสดารก็ได้ 555)
เรื่องราวในหนัง Kong: Skull Island เกิดขึ้นปี 1973 หลังสงครามเวียดนาม Bill Randa (John Goodman จาก 10 Cloverfield Lane) กับ Houston Brooks (Corey Hawkins จาก Straight Outta Compton) จากสถาบัน Monarch (สถาบันเดียวกับในเรื่อง Godzilla ของ Gareth Edwards) ได้รับการอนุมัติให้ไปสำรวจ Skull Island ก่อนที่รัสเซียจะไปเจอ (พวกเขาเชื่อว่าเกาะนี้คือ “a place where myth and science meet”)
กองทหารที่เพิ่งเสร็จศึกสงครามเวียดนาม นำโดย Lt. Col. Preston Packard (Samuel L. Jackson จาก Avengers) ได้รับคำสั่งให้ไปคุ้มกันกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ นอกจากนี้ยังมี อดีตผู้กอง James Conrad ผู้เชี่ยวชาญด้านการแกะรอย (Tom Hiddleston จาก Thor), Mason Weaver ช่างภาพสงครามผู้แอนตี้สงคราม (Brie Larson เจ้าของรางวัลออสการ์จาก Room), และนักชีววิทยา San (Tian Jing จาก The Great Wall)
ทันทีที่ถึง Skull Island พวกเขาก็ได้ปะทะกับ Kong ตัวใหญ่เท่าภูเขาเลากาและบู๊สนั่นเกาะกระจายตั้งแต่ 5 นาทีแรก ซึ่งผู้กำกับเวอร์ชั่นนี้ไม่หวงของเลย เล่นใหญ่ มหึมา จัดเต็ม โชว์ตัว Kong เยอะมากและใหญ่มาก แล้วบนเกาะมันก็ไม่ได้มีแค่ Kong ที่ตัวใหญ่ยักษ์ หากแต่ยังมีปลาหมึก แมงมุม นก จามรี ฯลฯ แต่ที่เป็นเจ้ากรรมเจ้าเวรตัวฉกาจเบอร์หนึ่งของ Kong คือพวก Skull Crawlers ที่เหมือนสัตว์เลื้อยคลานยักษ์
แล้วที่สำคัญคือฉากบู๊แต่ละฉากของ Kong ก็ยิ่งใหญ่อลังการงานสร้าง มันส์มาก สนุกมาก บันเทิงสุด ๆ ช่วงฟินาเล่นี่คือ Kong กับ Skull Crawlers นี่ไฟท์กันยิ่งใหญ่จริงจังยาวนานมาก คือแบบแค่ซีนไฟท์กันยกนี้ยกเดียวของสองตัวนี้ก็คุ้มค่าตั๋ว IMAX 3D แล้ว พูดเลย
Toby Kebbell เป็นคนที่มาเล่นเป็น Kong เช่นเดียวกับที่เขาเคยประสบความสำเร็จในการเป็นลิง Koba ใน Dawn of the Planet of the Apes (ทำไมชีวิตนี้เหมือนพี่เกิดมาเพื่อเล่นเป็นลิง) โดยในเรื่องนี้เขาก็เล่นเป็นทั้ง Kong ด้วย และเป็นทหารในทีมสำรวจด้วย
มุมกล้องก็เท่มาก ภาพมีความเรโทร แต่สวยมากกกกก แถมยังมีลูกเล่นกับภาพ เช่น ตัดต่อภาพ สโลว์ภาพ เพื่อให้ภาพนั้นกลายเป็น joke ฮา ๆ ได้ ทั้งที่จริง ๆ ตามหลักแล้วสถานการณ์มันไม่ควรจะฮาเลย แต่แม่งฮาจริง แล้วเราก็ชอบดนตรีและเพลงที่เขาเปิดตลอดเรื่องด้วย คือมันก็เป็นเพลงในยุค 1970s ของเขานั่นแหละ แต่มันเข้ากับโทนของหนังสุด ๆ
ทั้งภาพและเสียงเบอร์ใหญ่ขนาดนี้ ย้ำว่าต้อง IMAX 3D เท่านั้นจริง ๆ นะ เพราะเราดู Godzilla (2014) ของโปรดิวเซอร์เดียวกับ Kong: Skull Island นี่แหละ ครั้งแรกในโรงภาพยนตร์ มันยิ่งใหญ่มากจริง ๆ แต่ไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมานี้ เราดูด้วยแผ่น DVD กับทีวีที่บ้านเรา ฟีลสัตว์ประหลาดยักษ์มันไม่ได้ดั่งใจอย่างตอนที่ดูในโรงจริง ๆ ดังนั้นกล้าพูดเลยว่า ถ้าพลาดดู Kong: Skull Island ในโรง IMAX 3D แล้วล่ะก็ เสียดายแย่
พาร์ทมนุษย์ไม่ค่อยมันส์เท่าพาร์ทสัตว์ประหลาด ที่ชอบ ๆ ก็เห็นจะเป็นพวกไดอะล็อกนี่แหละ มี quote คำคมเด็ด ๆ น่าจดเยอะดี แทรกแนวคิด การเมือง ประวัติศาสตร์ ฯลฯ นี่คิดอยู่ว่า อยากไปดูรอบสอง ไปนั่งฟังคำพูดพวกนี้อีกรอบให้แจ้งใจด้วย ไปฟินกับฉากบู๊อีกสักทีด้วย และที่สำคัญคือ ไปนั่งดู End Credit! (เสียใจมากที่รีบลุกทันทีที่หนังจบตอนดูรอบสื่อ เพราะ End Credit พีคมาก มันส่งต่อไปยังหนังภาคหน้าที่โคตรน่าดู)
พาร์ทมนุษย์ก็เป็นเรื่องของการสำรวจ ค้นหา ผจญภัย ตามธีมหนังสัตว์ประหลาดทั่วไป แต่ตัวละครเยอะ ต้องกระจายบท ทำให้ Tom Hiddleston & Brie Larson ไม่ค่อยเด่นสมราคาพระเอกนางเอกสักเท่าไหร่ แต่อย่างน้อย นางเอกก็ชัดเจนนะว่าเป็นตากล้อง (ใครจะถือปืนยังไงถือไป ฉันจะถือกล้อง) แต่พระเอกไม่ค่อยได้ใช้ได้โชว์สกิลส่วนตัวจริง ๆ สักเท่าไหร่
พวกทีมงานที่รอดชีวิตจาก First Meet กับ Kong ได้ก็ ฮ. ตกไปคนละทิศคนละทาง กลุ่มหนึ่งก็กลุ่มพลเรือน นำโดยพระเอกกับนางเอกนี่แหละ และก็นักวิทยาศาสตร์ มีทหารติดมาคนนึงเพราะมา ฮ. เดียวกัน คือ Slivko (Thomas Mann) กลุ่มนี้เป็นคนดี รักสงบ ไม่ค่อยเจอสิ่งชั่วร้ายขณะเดินทาง จึงไม่ค่อยมีอะไรน่าสนุกสำหรับคนดู เราก็ได้แต่ดูหน้าหล่อ ๆ ของ Tom Hiddleston & Thomas Mann ไป (เด็กนี่มีซีนเยอะนะ เพราะตัวติดกับพี่ Tom แทบตลอด และโพกหัวเหมือน Rambo)
ส่วน Tian Jing เนี่ย เรื่องสวยก็ไม่เถียงนะ เห็นสวยมาแต่กำแพงเมืองจีนละ แต่เรื่องนี้หล่อนไร้ประโยชน์อะ เข้าใจว่าเป็นนักชีววิทยา คือหล่อนต้องมา แต่ยังไงชั้นดูแล้ว หล่อนก็ไม่จำเป็นกับความอยู่รอดของพี่ Tom ชั้นเลย (แต่สุดท้ายยังไงก็ต้องยอมให้นางมีบทนั่นแหละ เพื่อจะได้เอาหนังไปขายในจีนง่ายอะไรง่าย)
อีกกลุ่มเป็นกลุ่มทหารของ Samuel L. Jackson กลุ่มนี้มีสีสันหน่อย เพราะพวกนี้มีสกิล บ้าสงคราม และโกรธแค้นแทนพี่น้องผองเพื่อนที่ตายไปตอน Kong เปิดตัวแกรนด์โอเพนนิ่ง กลุ่มนี้เดินทางเพื่อชำระแค้น เพื่อทำลาย Kong และก็ตามหา Jack Chapman (Toby Kebbell จาก Dawn of the Planet of the Apes) เพื่อนทหารที่ ฮ. พลัดตกไปอีกฟากของเกาะด้วย
จริง ๆ ส่วนหนึ่งที่กลุ่มนี้มันสนุกก็เพราะความเยอะของ Samuel L. Jackson ด้วยนั่นแหละ คนอื่นก็ลูกกระจ๊อก ไม่อะไรมาก ตามประสาทหาร ทำตามบัญชาผู้มียศสูงกว่าเท่านั้น
แต่คนที่ขโมยซีนจริง ๆ ไม่ใช่ Samuel L. Jackson นะ แต่เป็น John C. Reilly (จาก Chicago) ผู้รับบท Hank Marlow อดีตทหารอเมริกาที่เครื่องบินตกลงมาที่เกาะนี้ตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง แล้วก็ติดเกาะอยู่ที่นี่ 28 ปี ตอนแรกเขาก็มาติดพร้อมกับทหารญี่ปุ่นแหละ (คือสองชาติสู้กันไปสู้กันมา จนมาตกระกำลำบากที่นี่ด้วยกัน ประมาณนั้น) แต่ทหารญี่ปุ่นนั่นดันตายไปเสียก่อน
Hank Marlow มีอยู่เพื่ออะไร? คำตอบคือ เพื่อให้ทีมพระเอกเก๊ตว่า จริง ๆ Kong ไม่ใช่ monster แต่สำหรับที่นี่ Kong เปรียบเสมือนราชา เปรียบเสมือนพระเจ้า ในหนัง ก็จะสังเกตได้ว่าหนังเขาจะให้เห็น Kong คู่กับพระอาทิตย์ดวงกลม ๆ สีแดง ๆ แบบที่ปรากฏอยู่บนธงชาติญี่ปุ่น อยู่บ่อยครั้ง ซึ่งเท่าที่เราเข้าใจคือ พระอาทิตย์เป็นสัญลักษณ์เกี่ยวกับพระเจ้าของญี่ปุ่น เสมือน Amaterasu Omikami แห่งศาสนา Shinto ประมาณนั้น (เบื้องลึก ต้องให้คนที่เข้าใจวัฒนธรรมญี่ปุ่นจริง ๆ มาอธิบายอีกที)
อีกนัยนึง Kong ณ Skull Island นี้มีความเหมือน Godzilla ของ Gareth Edwards สูงมาก ทั้งนี้ไม่ใช่เพราะมีโปรดิวเซอร์เดียวกัน แต่มันอยู่ในจักรวาลเดียวกัน ฉากต่อสู้ระหว่าง Kong กับ Skull Crawler ตัวพ่อ นั้นฟีลเหมือนฉาก Godzilla สู้กับคู่ตั๊กแตนยักษ์ผัวเมียนั่นเลย นี่ดูแล้วก็ได้แต่คิดว่า… อยากเห็น Kong กับ Godzilla ปะทะกันโดยไว… คงจะมันส์น่าดู
Kong: Skull Island เข้าฉาย 9 มี.ค. 2017 ความชอบส่วนตัว 8.5/10
46 comments
Comments are closed.