แม่เบี้ย เป็นวรรณกรรมร่วมสมัยของคุณวาณิช จรุงกิจอนันต์ (นักเขียนรางวัลซีไรต์ ปี 2527 จากเรื่อง ซอยเดียวกัน) ถูกสร้างเป็นละคร ละครเวที และภาพยนตร์มาแล้วหลายครั้ง เวอร์ชั่นที่เราเกิดทันหน่อย และดังเป็น talk of the town คือเวอร์ชั่นที่ “มะหมี่” นภคปภา นาคประสิทธิ์ เป็น “เมขลา” และ “กอล์ฟ” พุฒิชัย อมาตยกุล เป็น “ชนะชล” สำหรับฉากเลิฟซีนสุดเร่าร้อนและท่าขูดมะพร้าวสุดเซ็กซี่ของนางเอกสาว
ภาพยนตร์วิจิตรกามา (Erotic) เรื่อง “แม่เบี้ย” ฉบับตีความใหม่ของ ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล หรือ “หม่อมน้อย” จึงเป็นที่จับตามองมาตั้งแต่วันประกาศสร้าง เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่า ระยะหลังหม่อมน้อยชอบสร้างหนังอีโรติคชนิดเล่นจริง เปลือยจริง เลิฟซีนจริงถึงพริกถึงขิง ไม่ว่าจะเป็น ชั่วฟ้าดินสลาย (2553), อุโมงค์ผาเมือง (2554), และ จัน ดารา (2555)
เราไม่เคยอ่านตัววรรณกรรมต้นฉบับ ตัวหนังเวอร์ชั่น “มะหมี่ขูดมะพร้าว” (ปี 2544) ก็ไม่ได้ดู เพราะตอนนั้นเราเองก็ยังเด็กน้อยอยู่ ดังนั้นเวอร์ชั่น 2558 นี้ จึงเป็นครั้งแรกที่เราจะได้ไปรู้จักกับเรื่องราว “พิษสวาท” ของงูเจ้าตัวนี้
เรื่องย่อ แม่เบี้ย
ชนะชล (ชาคริต แย้มนาม) นักธุรกิจหนุ่มไฮโซรูปงาม มีความใฝ่ฝันจะมีบ้านเรือนไทยเป็นของตัวเองสักหลัง ภาคภูมิ (ฮัท เดอะสตาร์ 8) จึงแนะนำให้เขารู้จักกับ เมย์ หรือ เมขลา (อ้อม กานต์พิสชา รองฯ Miss Thailand World 2009) สาวสวยเจ้าของเรือนไทยริมน้ำใน อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี ซึ่งครองตัวเป็นโสด อาศัยอยู่กับลุงทิม (ศักราช ฤกษ์ธำรงค์) คนเก่าคนแก่ และบรรดาสาวรับใช้
ชนะชลกับเมขลาตกหลุมรักกันและมีสัมพันธ์สวาทกัน ทั้งๆ ที่ชนะชลก็มีลูกมีเมียอยู่แล้ว คือไหมแก้ว (เนตรดาว ภัทรนันท์ สาวประเภทสองที่แจ้งเกิดจาก จัน ดารา) และเมขลาเองก็มีคู่นอนขาประจำอยู่แล้วคือ เสี่ยพจน์ (ต๊อบ ชัยวัฒน์) นักการเมืองหนุ่มร่างบึ้ก ซึ่งเสี่ยพจน์เองก็มีลูกมีเมียอยู่แล้วด้วยเช่นกัน โดยไม่มีใครรู้ว่าเมขลามีความผูกพันอย่างเร้นลับกับ “คุณ” งูเห่ายักษ์ที่เธอเลี้ยงไว้ประหนึ่งสัตว์เลี้ยงหรือญาติผู้ใหญ่ มาตั้งแต่สมัยของคุณโกสุม (แม็กกี้ อาภา ภาวิไล) ผู้เป็นแม่ของเธอ
รีวิว วิเคราะห์ วิจารณ์ แม่เบี้ย
พอคนรู้ว่าเรามาดู “แม่เบี้ย” รอบ Royal Gala Charity Night สิ่งแรกที่ทุกคนถามถึงก็ไม่พ้นเกี่ยวกับฉากเลิฟซีนหรือฉากโป๊เปลือยในเรื่อง ดังนั้นเราจะขอรีวิวเรื่องฉาก 18+ ทั้งหลายเหล่านี้ก่อนเลยละกัน คนที่เข้ามาอ่านเพื่อสิ่งนี้จะได้รีบๆ อ่านให้มันจบๆ ไปเป็นเรื่องเป็นราว
ฉากโชว์เนื้อหนังมังสาใน “แม่เบี้ย” มีปริมาณที่ค่อนข้างเยอะและไม่มีเซ็นเซอร์เช่นเคย เนื้อนมไข่จัดเต็มจนอิ่มไปข้างแน่นอน เพราะทั้งเรื่องมีหลายฉากเลยที่เราจะได้เห็นหน้าอกหน้าใจดูมๆ ของสาว อ้อม กานต์พิสชา กับ แม็กกี้ อาภา รวมถึงตัวประกอบอื่นๆ แบบเป็นเต้าๆ เต็มสองตา และเห็นแช่หลายวินาทีอีกต่างหาก ถามว่าเปลือยแล้วเซ็กซี่มั้ย เปลือยแล้วโป๊มั้ย เราว่ามันก็เป็นศิลปะดีนะ ดูแพง นมส้วยสวย ออกจากโรงแล้วนี่อยากจะบึ่งไปยันฮีซะเลยเดี๋ยวนั้น
ฝั่งนักแสดงชายก็แซ่บไม่แพ้ฝ่ายหญิง ต๊อบ ชัยวัฒน์ นี่โชว์ anatomy เต็มตัวแบบยิ่งใหญ่บะลักกัก หรือรุ่นน้องอย่าง ฮัท เดอะสตาร์ ก็โชว์ก้นขาวๆ ซิกแพ็กงามๆ ให้แฟนคลับน้ำลายสอกันจนแทบเช็ดไม่ทัน ส่วนพ่อหนุ่มไม้เลื้อย ชาคริต แย้มนาม พระเอกของเรื่องกลับไม่ค่อยมีฉากโชว์หุ่นเท่าไหร่เลย ก็แอบผิดหวังเล็กน้อย แต่จริงๆ ก็พอเข้าใจได้นะว่า 1. พี่คริตอายุอานามมากขึ้น หุ่นอาจไม่เช้งกระเด๊ะเท่าไหร่แล้ว 2. พี่คริตแต่งงานแล้ว มันก็ต้องเกรงใจภรรยากันบ้างนี๊สนึง เนาะ
ฉากเลิฟซีนมีไม่ต่ำกว่า 5 ซีน ใหญ่เล็กแตกต่างกันไป แต่มีตลอดเรื่องเลย ทั้ง indoor ยัน outdoor เรียกได้ว่าเอะอะก็เอากัน เอะอะก็เอากัน จนบางครั้งนี่ก็สงสัยว่าตัณหามนุษย์มันรุนแรงขนาดนี้เลยจริงๆ หรอ เพราะบางซีนนี่ไม่เข้าใจจริงๆ ว่าจะเอากันอีกทำไม หักห้ามใจบ้างก็ได้นะโยมนะ
แต่จริงๆ ก็พอเข้าใจเหมือนกันนะว่า ฉากเซ็กส์แต่ละฉาก โดยเฉพาะตอนเมขลานอนกับเสี่ยพจน์หรือชนะชลเนี่ย เขาตั้งใจเซตเป็นฉากสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินเรื่อง ในวรรณคดีไทยแทบทุกเรื่องล้วนแต่มีฉากลักษณะมาแต่ไหนแต่ไรเป็นเรื่องปกติ แล้วหนังหม่อมที่ผ่านมาก็แอบเซอร์เรียลอยู่แล้ว คิดซะว่าเป็นอีกหนึ่งวิธีการนำเสนอสารของหม่อมก็แล้วกันนะ
บทภาคภูมิของ ฮัท เดอะสตาร์ เนี่ย จะมีบทเข้าพระเข้านางกับสาวเล็กสาวน้อยตลอดเรื่องแทบไม่ซ้ำหน้า เรียกได้ว่ามีฉากอะไรแบบนี้บ่อยกว่าชาคริตเองซะอีก เลิฟซีนของอีตาภาคภูมินี่จะไม่มีสาระอะไรมาก ไม่ค่อยมีความสำคัญกับเส้นเรื่อง มีเกี่ยวข้องกับเรื่องจริงๆ ก็แค่ซีนเดียวเองมั้งที่พีคๆ ส่วนนอกนั้นจะมีเพื่อบ่งบอกคาแรกเตอร์ของภาคภูมิว่า เป็นหนุ่มเจ้าสำราญ และชอบมีอะไรกับเลขาฯ หรือสาวใช้เฉยๆ (ต่างกับเมขลาที่มักจะเลือกคู่นอนเป็นผู้ชายชั้นสูง…หล่อรวยมีตำแหน่ง)
แต่ก็นั่นแหละ นั่นเลยทำให้สีสันของเรื่องหรือซีนตลกส่วนใหญ่ตกเป็นของ ฮัท เดอะสตาร์ จนพูดได้เลยว่า ฮัทนี่ตัวขโมยซีนประจำเรื่องเลยนะ บทคือดันฮัทสุดชีวิต แถมในหนังยังมีฉากที่เปิดเพลงไทยที่ฮัทร้องคลอตลอดเรื่องจนนี่รู้สึกหลอนติดหูออกจากโรงมาเลย (นี่ยังไม่นับที่ในรอบกาล่าที่เราดูมีการแสดงมิวสิคัลก่อนเปิดเรื่องของฮัทกับคุณรัดเกล้าอีกนะ) งานนี้ฮัทไม่เกิดก็ต้องเกิดแล้วล่ะค่ะ
ถ้าพูดถึงการแสดง แต่ละคนก็สอบผ่านนะ ไม่ได้ปังมาก แต่ก็ไม่ได้แย่ อย่างน้อยคือเห็นความตั้งใจชัดและสปิริตอันแรงกล้าของนักแสดง อย่างฮัท นี่จะไม่อะไรมาก บทเพลย์บอย กะล่อนๆ มันเล่นไม่ยากอยู่ละ แต่นางเอก อ้อม กานต์พิสชา นี่ทุ่มสุดตัวเลยนะสำหรับหนังเรื่องแรก แม้แต่ แม็กกี้ อาภา ก็ยังทำเราเซอร์ไพรส์เลย
อันนี้พูดจริงๆ แบบไม่ได้อวยน้องตัวเองเลยนะ เราว่า แม็กกี้ อาภา นางเป็นส่วนที่ดีที่สุดของหนังเรื่องนี้เลย นางเล่นดีมาก สวยมาก ถึงแม้บทคุณโกสุมจะออกมาไม่มาก ที่ออกส่วนใหญ่ก็เป็นแบบเดินไปเดินมาสวยๆ แต่แต่ละซีนทุกซีนที่นางออกมามันมีพลัง
คือ แม็กกี้ เป็นนักแสดงที่ใช้แววตาเก่งมาก มันทำให้คนดูเชื่อและอินไปกับนางได้ในทุกบทบาทที่นางเล่น อันนี้เห็นมาตั้งแต่ “ผีห่าอโยธยา” ที่นางเล่นเป็นอีใบ้ละ เราว่านางมีพัฒนาการมาเรื่อยๆ อนาคตน่าจะไปได้ไกล และมีสิทธิเข้าชิงสมทบหญิงได้เลยสบายๆ งานนี้นางต้องเกิดสุดๆ ไม่รู้แหละ
สิ่งสำคัญคือ ตัวหนัง “แม่เบี้ย” เวอร์ชั่น “หม่อมน้อย” ก็ยังคงลายเซ็นและความเป็น “หม่อมน้อย” ทั้งในเรื่องขององค์ประกอบศิลป์ ภาพ แสง สี และเสียงดนตรีประกอบ เราชอบภาพ ฉาก และองค์ประกอบศิลป์อันละเมียดละไมของหนังหม่อม สำหรับเรื่องนี้หม่อมก็ยังคงจุดขายจุดนี้ได้ดีอย่างไม่มีขาดตกบกพร่อง
สิ่งที่เราชอบมากในหนังของหม่อมคือ “ความเป็นไทย” อย่างใน “แม่เบี้ย” นี้ จะมีตั้งแต่การแสดงระบำหุ่น อาหารไทย ขนมไทย ผลไม้ไทยแกะสลัก บ้านเรือนไทย วิถีชีวิตแห่งสายน้ำ ชุดไทย พิธีกรรมและความเชื่อแบบไทยๆ จนไปถึงดอกไม้ไทยในวรรณคดี หลายอย่างคือเราไม่รู้จัก ไม่เคยเห็น หรือไม่ก็เคยรู้จักแต่หลงลืมมันไปแล้ว หนังของหม่อมทำให้เราเห็นความงดงามของความเป็นไทยที่หาดูได้ยากแล้วในสังคมปัจจุบัน
ฉากสุพรรณบุรีกับฉากในกรุงเทพฯ มีความแตกต่างและมีเส้นแบ่งระหว่างอดีตกับปัจจุบันอย่างเห็นได้ชัด ความโมเดิร์นทั้งหลายจะสิ้นสุดอยู่แค่ที่ท่าน้ำ คุณขับรถบีเอ็มคันหรูมายังไง คุณก็ต้องจอดมันไว้ที่ท่าน้ำ แล้วพายเรือลำน้อยไปต่อที่บ้านเรือนไทย ซึ่งเหมือนเป็นไทม์แมชชีนดีๆ นี่เอง
ตัวเมขลาเองก็เช่นกัน เธอจะมีทั้งความสวยแบบโบราณและสวยแบบเปรี้ยวจี๊ดทันสมัยอยู่ในคนคนเดียวกัน ตอนอยู่กรุงเทพฯ เธอก็จะเป็นอีกลุคนึง แต่พอกลับบ้านบางปลาม้าเธอก็จะเป็นอีกคนนึง ซึ่งแบบไทยๆ นี่แหละที่ทำให้ชนะชลหลงใหล เพราะชนะชลเติบโตเมืองนอกเมืองนาและโหยหาความเป็นไทย เขาเบื่อคฤหาสน์ทรงยุโรปสุดหรูและภรรยาสาวไฮโซของเขา จึงไม่แปลกที่เขาจะตกหลุมรักเมขลาทันทีที่เห็นเธอแปลงกายห่มสไบ ทั้งชนะชลและเมขลาล้วนแต่ยึดติดอยู่กับอดีต
ปัญหาคือชนะชลมีลูกมีเมียอยู่แล้ว และเขาไม่รู้จักหักห้ามใจ เช่นเดียวกับเสี่ยพจน์ที่มีลูกมีเมียแล้ว แต่ก็ยังมาหลับนอนกับเมขลาแทบทุกคืน เห็นได้ชัดว่า “แม่เบี้ย” มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับสถาบันครอบครัว หรือปัญหามือที่สาม แต่หนังก็ไม่ได้บอกชัดว่าใครผิดใครถูก หนังไม่ได้ชี้นำให้คนดูตัดสินว่าเมขลาผิดหรือถูก เมขลาดีหรือไม่ดี
เมขลาเป็นผู้หญิงโสดฟรีเซ็กส์ และเหมือนจะโปรดปรานการหลับนอนกับผัวชาวบ้านเป็นกรณีพิเศษ (ในหนังไม่ได้ระบุด้วยว่าเมขลาเคยได้กับภาคภูมิเจ้าสำราญรึยัง) แต่ทั้งนี้จะโทษแต่เมขลาอย่างเดียวก็ไม่ใช่ เมขลาถูกหล่อหลอมมาจากสิ่งที่เธอเห็นพ่อของเธอทำและสิ่งที่แม่ของเธอพร่ำสอน มันเป็นอะไรที่ฝังใจ มันเป็นปมลึกๆ ภายในจิตใจที่ทำให้เธอโตมาเป็นคนอย่างนี้
“คุณ” หรืองูเห่าตัวใหญ่ที่คอยพิทักษ์เมขลา งูจะปรากฏกายมาเฉพาะตอนที่เมขลาหรือคนในบ้านทำผิดศีลธรรม โดยเฉพาะศีลข้อ 3 ปัจจุบันการตีความสัญลักษณ์ “งู” ทางวรรณกรรมไม่ใช่ของใหม่ ไม่ใช่อะไรที่ลึกลับซับซ้อน งูอาจจะแทนตราบาปก็ได้ แทนกิเลสตัณหาก็ได้ แทนสติก็ได้ แทนจารีตประเพณีก็ได้ หรือจะแทนความร้ายกาจของผู้หญิงก็ได้ แต่ที่เราไม่เข้าใจคือ มันจำเป็นด้วยหรือที่จะต้องทำงู CG (ซึ่งไม่มีทางเนียนอยู่แล้วอย่างที่รู้กัน) ให้ออกมาตัวใหญ่อย่างกับลูกอะนาคอนด้าขนาดนี้คะ
เราไม่รู้ว่างูเวอร์ชั่นเก่าๆ เป็นอย่างไร แต่งูเวอร์ชั่นนี้ไม่น่ากลัว อาจจะดุร้ายบ้างตามธรรมชาติเวลามีใครมาทำร้าย แต่โดยภาวะปกติ “คุณ” จะเป็นงูตัวใหญ่ที่เป็นสัตว์เลี้ยง พูดง่ายๆ คือเหมือนหมาที่รู้ภาษาคน มีกระดิกหาง มีพยักหน้า มีร้องไห้น้ำตาไหล ซึ่งแทนที่จะน่ากลัว มันก็ออกไปน่ารักค่อนไปทางตลกอย่างประหลาด แต่ถ้าเมขลาบอกว่า “คุณ” เป็นเสมือนญาติผู้ใหญ่ก็ญาติผู้ใหญ่ ตามแต่คนจะมอง object นั้นๆ แตกต่างกันไปแหละเนาะ (แต่เออ ทำไม “คุณ” ต้องเป็นงูตัวผู้ด้วยนะ ทำไม)
นอกจากงูที่ตลกแล้ว ที่เราว่าแปร่งๆ ก็คือการตีความใหม่ของหม่อมนี่แหละ เข้าใจว่าหม่อมพยายามตีความใหม่ เล่ามุมมองใหม่ และทำหนังให้แปลกใหม่จากออริจินัลหรือเวอร์ชั่นก่อนๆ แต่ผลที่ออกมา ตามมุมมองของเรา เราว่าบทภาพยนตร์ที่ผ่านการ “ตีความใหม่” ของหม่อมนี้ค่อนข้างขาดๆ เกินๆ อย่างบอกไม่ถูก (แต่ก็พูดไรมากไม่ได้นะ เพราะเราไม่เคยอ่านต้นฉบับ)
เราไม่รู้หรอกนะว่าของเดิมเป็นอย่างไร มีหรือไม่มีอันไหนอย่างไรบ้าง รู้แต่จากเพื่อนของเราที่เคยดูเวอร์ชั่นมะหมี่มาก่อนแค่ว่า ไม่มีการตีความลงลึกเกี่ยวกับชาติกำเนิดของชนะชลอย่างของหม่อมในภาคนี้ ซึ่งถ้าหม่อมตีความปูมหลังของพระเอกขึ้นมาใหม่จริง เราก็ต้องขอเสนอความคิดเห็นเลยว่า จินตนาการของหม่อมท่านมันก็เมคเซนส์เป็นไปได้อยู่หรอกนะ แต่พอหยิบจับประเด็นชาติกำเนิดของชนะชลมาเล่าพร้อมๆ กับเมนหลักของเรื่องดั้งเดิมแล้วมัน “เยอะ” ไปหมด
การค้นหาตัวตนของชนะชลไม่ได้น่าติดตามเลยสักนิด เหมือนเป็นส่วนเกินของเรื่องก็ว่าได้ โดยเฉพาะช่วงที่หนังเฉลยว่าชนะชลเป็นใครมาจากไหนเป็นช่วงที่เราสบถคำว่า “อะไรวะ” หรือ “แล้วไงวะ” บทของ แจ็บ เพ็ญเพ็ชร ที่เป็นพ่อของภาคภูมิ ที่เหมือนจะสำคัญ (ซึ่งจริงๆ บทนี้ก็สำคัญนะ) แต่สุดท้ายก็เหมือนผ่านมาแล้วผ่านไป… แบบ… “แค่นี้หรอวะ” โอ้อกคิดถึง~
โดยสรุป “แม่เบี้ย 2015” ฉบับตีความใหม่ของ “หม่อมน้อย” มีจุดอ่อนอยู่ที่การตีความใหม่หรือการนำเสนอสารใหม่ของผู้กำกับฯ นี่แหละค่ะ มันแปลกประหลาดเสียเหลือเกิน และแอบสงสัยไม่ได้ด้วยว่า หม่อมกำลังพายเรือวนในแม่น้ำสายเดิมอยู่รึเปล่า
เพราะหนังเรื่องล่าๆ ของหม่อม ไม่ว่าจะหยิบจับวรรณกรรมเรื่องไหนมาแปลง ก็ดูเหมือนท่านจะวนเวียนอยู่กับการสะท้อนประเด็นสังคมชนชั้นสูง ปมครอบครัวพ่อแม่ลูก และกมลสันดารตัณหาราคะของมนุษย์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
แต่ในส่วนของภาพสวยๆ องค์ประกอบศิลป์ต่างๆ และการอนุรักษ์ความเป็นไทยนั้น หม่อมทำได้ดีไร้ที่ติอยู่แล้ว เป็นจุดที่น่าชื่นชมจริงๆ ส่วนฉากเลิฟซีนหรือฉากเปลือยก็งดงามเป็นศิลปะเช่นกัน มีเหตุผลบ้างไม่มีเหตุผลบ้าง แต่อย่าไปคาดหวังความเร่าร้อนมากมาย ถ้าอยากปลุกอารมณ์ขนาดนั้นคงต้องไปดูหนังเรตเอ็กซ์เรตอาร์อีกแบบนึงแหละเนาะ
ในส่วนของการแสดง นักแสดงนำหลักๆ ก็พอประคองบทบาทของตัวเองไปได้ขนถึงตลอดรอดฝั่ง โดดเด่นหน่อยก็ แม็กกี้ อาภา นี่แหละ แต่เสียดายที่บทน้อยไปหน่อย ไดอะล็อกหรือบทพูดบางประโยคแอบตลก แต่ก็พอเข้าใจได้ว่าอยากจะรักษา sentence structure ตามคำประพันธ์ไว้ให้มากที่สุด (อันนี้คิดเอง ไม่รู้นะ)
อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญของหนังเรื่องหนึ่ง นอกจากองค์ประกอบศิลป์อันสวยงามละเอียดลออ การใส่ใจเซตฉากต่างๆ และการออกแบบการแสดงแล้ว คนทำหนังไทยคงต้องทุ่มให้กับตัวพล็อตของหนังกับไดอะล็อกมากขึ้นด้วย เพราะบางทีถ้าจะให้ฉากเซ็กส์เป็นตัวขับเคลื่อนการดำเนินเรื่องอย่างเดียว…มันคงไม่พอ
ป.ล. แต่ชอบที่หนังหม่อมเหมือนหนังรวมญาติ นักแสดงและลูกศิษย์ในสังกัดหม่อมมาเต็มเรื่อง ใช้อย่างคุ้ม แขกรับเชิญพิเศษแต่ละคนแซ่บๆ ทั้งนั้น พูดเลย
แม่เบี้ย คะแนนตามความชอบส่วนตัว 7/10 ฉายจริง 17 ก.ย. นี้ ในโรงภาพยนตร์…
43 comments