Okja (อ่านว่า โอค-จา ไม่ใช่ โอ-เค-จ้า) เป็นหนังของ Netflix กำกับโดยผู้กำกับเกาหลี Joon-ho Bong (จาก Snowpiercer) หนังมีพูดทั้งภาษาอังกฤษและภาษาเกาหลี โดยมีนักแสดงฮอลลีวูดชื่อดังมาร่วมวงอย่างคับคั่ง ได้แก่ Tilda Swinton, Paul Dano, Steven Yeun, Lily Collins และ Jake Gyllenhaal (รวมถึงอาตี๋หล่อนักเบสบอลจาก Train to Busan ด้วย)
Okja ถูกจับตามองตั้งแต่ได้รับเลือกให้ไปฉายที่ Cannes เพราะปกติหนังที่ควรได้เข้าประกวดบนเวทีนี้ต้องเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ปกติ (ใครสนใจประเด็นนี้ก็ไป Google หาอ่านดราม่าเพิ่มเติมดู) แต่อย่างไรก็ดี กระแสตอบรับของคนดูจากในงาน รวมถึงนักวิจารณ์สำนักต่าง ๆ ก็ออกมาในเชิงบวก ยิ่งทำให้ Okja ได้รับความสนใจในหมู่คนดูทั่วไปยิ่งขึ้นไปอีก
เรื่องย่อ
Okja บอกเล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ของเด็กหญิง Mija (Seo-Hyun Ahn) ซึ่งเป็นหลานสาวของเกษตรกรท้องถิ่นบนภูเขาแห่งหนึ่งในเกาหลี กับซูเปอร์หมู Okja ซึ่งเป็นหมูพิเศษจากโครงการของ บ. Mirando ภายใต้การบริหารของ CEO Lucy Mirando (Tilda Swinton จาก Doctor Strange ฯลฯ)
เมื่อ Okja อายุครบ 10 ปี ดร. Johnny (Jake Gyllenhaal จาก Nightcrawler) ก็มาเอาตัว Okja กลับไปเพื่อแปรรูปเป็นอาหารขาย Mija ตามไปที่โซล เพื่อที่จะพาตัว Okja กลับมาก่อนจะถูกส่งตัวไปนิวยอร์ก และเจอพวก ALF อีกกลุ่มที่มาชิงตัว Okja ด้วย กลุ่ม ALF นำโดย Jay (Paul Dano จาก Love & Mercy) ร่วมด้วย K (Steven Yeun จาก The Walking Dead) และ Red (Lily Collins จาก Love, Rosie)
รีวิว วิเคราะห์ วิจารณ์
ตอนแรกเห็นเป็นหนังฉายใน Netflix อย่างเดียว ไม่เข้าฉายตามโรงภาพยนตร์ เลยไม่ได้ตื่นเต้นอะไรมาก แต่พอทราบว่าหนังเกี่ยวกับสัตว์โลกน่ารัก ใช้ทุนสร้างสูงที่สุดในเกาหลี นักแสดงแต่ละคนก็หาใช่ไก่กาอาราเล่ แถมยังกำกับโดยผู้กำกับเรื่อง Snowpiercer ที่เราชอบมากอีกต่างหาก เราก็สนใจเรื่องนี้มากขึ้นทันที
ซูเปอร์หมูในเรื่องหน้าตาไม่ค่อยเหมือนหมูที่เราคุ้นเคย แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นเมื่อเห็นความน่ารักแสนรู้ของ Okja โดยเฉพาะตอนซีนเปิดตัว Okja ที่หนังพาเราไปรู้จักกับความสัมพันธ์ของมันกับ Mija มันทำให้เราค่อย ๆ หลงรัก อินจัด และอยากเอาใจช่วยทั้งสองตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง เพราะเราได้เห็นพวกเขาโตด้วยกันมาฉันพี่น้อง
Okja อาจจะดูยังไงก็เหมือนลูกช้างผสมฮิปโปฯ มากกว่าเหมือนหมู แต่ก็ว่าไม่ได้อีกเช่นกัน เพราะ CGI ของเกาหลีเขาเนียนมากกกกก เชื่อว่าทุนสร้างมหาศาลนั้นหมดกับส่วนนี้ไปโขอยู่ ขนาดหมูเคลื่อนไหวตลอดเวลา และอยู่ในเฟรมแทบตลอดในหลาย ๆ ซีน มันยังดูมีชีวิตชีวาสมจริงไร้ที่ติ (แต่พอลองกลับมามอง CG เสือและงู ณ ไทยแลนด์แล้วก็ถอนหายใจ เฮ้อ~)
แล้วเช่นเดียวกับ Snowpiercer ผู้กำกับก็ยังคงขยี้สังคมทุนนิยมอยู่อย่างต่อเนื่อง (แต่ไม่หนักหน่วงเท่า Snowpiercer) นอกจากประเด็นทุนนิยมแล้ว ยังมีประเด็นสังคมโซเชียลฯ อีกนิด ๆ หน่อย ๆ เช่น พวกชอบไลฟ์หรืออัดวิดีโอในเหตุการณ์หน้าสิ่วหน้าขวาน หรือโพสต์รูปลงไอจี ฯลฯ แต่ไม่ได้เสียดสีอะไรมากนัก มีพอเป็นหอมปากหอมคอ ดูน่ารัก ตลก และทันยุคสมัยดี
โดยใน Okja นี้ มี Mirando เป็นตัวแทนของนักธุรกิจหน้าเลือด สร้างภาพเก่ง โฆษณาเก่ง โน้มน้าวเก่ง ฯลฯ ทำธุรกิจประเภทเดียวกับ CP และสร้างโปรเจ็กต์บังหน้าบังตาประชาชนว่า หมูของเธอเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งที่จริง ๆ แล้วเธอก็มองแต่ว่ามันคือสินค้าทำเงิน
สำหรับคนอย่างเจ๊ Mirando สนใจแต่ตัวเลขและเงินทอง ประมาณว่าแค่มีเงินก็ซื้อได้ แต่สำหรับเด็กชาวเขาอย่าง Mija แล้ว ต่อให้เอาเงินเป็นล้านมาแลก เธอก็คงไม่ขาย Okja ให้ใคร เพราะ Okja คือเพื่อนคนเดียวของเธอ ในขณะเดียวกันเธอก็เป็นโลกทั้งใบของ Okja เช่นกัน
ซึ่ง Tilda Swinton (คนเดียวกับป้าแว่นใน Snowpiercer) กับ Jake Gyllenhaal นี่เล่นใหญ่ล้นเบอร์กันได้ใจ โดยเฉพาะ Jake นี่เราแทบไม่เชื่อสายตาตัวเองว่านี่คือ Jake จริง ๆ คือ… ถึงแม้จะรู้ว่าเขาไม่ค่อยเล่นเป็นคนปกติเท่าไหร่ แต่ก็ไม่ค่อยอยากจะเชื่อว่าเขาจะมาเล่นเป็นอีตาบ้าอะไรเบอร์นี้ ปกติเห็นเขาเล่นแต่หนังเครียด ๆ ประมาณนั้น แต่โดยรวมก็เป็นสีสันดี
สรุปความรู้สึกของเรา เราดูแล้วเราได้ฟีลเหมือนดู Pete’s Dragon ผสมองค์บาก (‘ช้างกูอยู่ไหน’) ดูสนุก บันเทิง หรรษา ครบรส หลากอารมณ์ เด็กดูได้ ผู้ใหญ่ดูดี ไม่มีเบื่อ (แต่ก็มีฉากรุนแรงบ้างเล็กน้อย เด็กกับคนรักสัตว์อาจมีสะเทือนใจบ้างนิดหน่อย เรานี่บางฉากใจจะขาด) หนังเรื่องนี้จึงถือเป็นฤกษ์งามยามดีที่สมาชิกในครอบครัวหรือผองเพื่อนจะเปิด Netflix ที่บ้าน และ enjoy watching ร่วมกัน
คะแนนตามความชอบส่วนตัว 8/10
ย้ำว่า ฉายใน Netflix เท่านั้น ไม่เข้าโรงภาพยนตร์จ้า
165 comments
Comments are closed.