Pawn Sacrifice สร้างจากเรื่องจริงของ Bobby Fischer นักหมากรุกแชมป์โลก….ชาวอเมริกัน เชื้อสายยิว…ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในวงการว่า…เป็นนักหมากรุกที่เก่งที่สุดเท่าที่โลกเคยมีมาจวบจนถึงปัจจุบัน
“Chessboards bloomed like flowers in the living rooms of every fashionable home and models and stars in magazines posed next to chessboards, trying to look alluring, or at least like they understood the difference between a queen and a pawn.” (When Chess Was King of the City, )
เรื่องย่อ Pawn Sacrifice
Bobby Fischer (Tobey Maguire จาก Spider-Man) เริ่มเล่นหมากรุกมาตั้งแต่ 6 ขวบ และจริงจังกับมันมาก ช่วงต้น 1950s แม่และพี่สาวของเขา Regina Fischer (Robin Weigert) และ Joan Fischer (Lily Rabe) จึงพาเขาไปเป็นศิษย์ของ Carmine Nigro (Conrad Pla)
ณ ขณะนั้น อเมริกากำลังมี Cold War กับรัสเซีย และรัสเซียขึ้นชื่อว่าเป็นชาติที่เล่นหมากรุกเก่งที่สุดในโลก โดย Boris Spassky (Liev Schreiber จาก X-Men Origins: Wolverine) แชมป์โลกของรัสเซีย เป็นคู่แข่งคนสำคัญของ Bobby Fischer
Bobby Fischer มีความฝันยิ่งใหญ่มาแต่เด็กว่าจะเป็นนักหมากรุกแชมป์โลกและโค่นชาติรัสเซีย โดยเฉพาะ Boris Spassky นี้ให้ได้ เขาจึงให้ทนายความหนุ่ม Paul Marshall (Michael Stuhlbarg จาก Hugo) มาเป็นผู้ช่วยหรือผู้จัดการส่วนตัว และให้บาทหลวง Bill Lombardy (Peter Sarsgaard จาก Orphan) มาเป็น mentor หรือพี่เลี้ยง
โดย Bobby Fischer กับ Boris Spassky ได้แข่งชิงแชมป์กันในปี 1972 ณ Reykjavik ประเทศ Iceland ซึ่งนัด World Chess Championship 1972 นี้ ถือเป็นแมตช์ในตำนานของโลกเลยทีเดียว
รีวิว วิเคราะห์ วิจารณ์ Pawn Sacrifice
Pawn Sacrifice เป็นหนัง based on a true story อีกเรื่อง ที่ดูสนุก จากที่เราได้ดูในหนัง เราได้เห็นว่า Bobby Fischer เป็นคนเก่ง คนดังในประวัติศาสตร์ ที่น่าสนใจอย่างยิ่งในทุกๆ ด้าน แล้ว Tobey Maguire (จาก Spider-Man) ผู้รับบทเป็น Bobby Fischer ก็ถ่ายทอดออกมาได้ดีเลยทีเดียว
เราว่า Tobey Maguire เป็นนักหมากรุกใช้สมองแล้วเท่กว่าตอนหนุ่มๆ ที่เป็นสไปเดอร์แมนหลายเท่าเลย คือเขาแสดงเป็นอัจฉริยะจิตป่วยได้เมพมาก ดูแล้วชวนจิตตามจริงๆ เรียกได้ว่านี่เป็นการแสดงที่ดีที่สุดในชีวิตของเขาเลยก็ว่าได้ เตรียมได้รับการเลื่อนขั้นเป็นนักแสดงแถวหน้าในฮอลลีวูดได้เลยไม่ยาก เขาทำได้ ลองไปดู
ในส่วนของเนื้อหาหนัง ถึงแม้ Pawn Sacrifice จะเป็นหนังเกี่ยวกับหมากรุก แต่คนที่แทบไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับหมากรุก (เช่น เราเอง) ก็สามารถดูได้รู้เรื่อง เพราะจริงๆ แล้วหมากรุกเป็นเพียงแค่ฉากหน้าเท่านั้น!
หนังไม่ได้เน้นนำเสนอเลยว่า Bobby Fischer กับ Boris Spassky เขาคิดวางแผนการเดินเกมอย่างไร หรือเดินหมากอย่างไร ดังนั้นคนดูจึงอาจจะไม่ได้เห็นความอัจฉริยะหรือทักษะบนกระดานของพวกเขาอย่างเห็นแจ้ง (แต่นั่นก็เพราะว่าผู้กำกับเขารู้อยู่แก่ใจว่า ถ้ามาเล่าการเล่นการคิดโดยละเอียดยิบขนาดนั้น คนดูกว่าครึ่งก็คงหลับคาโรง เพราะตามไม่ทัน ดูไม่รู้เรื่อง)
เวลาที่ตัวละครแข่งขันหรือเล่นหมากรุกกัน หนังจะตัดต่ออย่างกระชับฉับไว เน้นเล่าแต่ซีนที่เป็นไฮไลท์สำคัญของการแข่งขัน เวลากล้องแพนไปที่คู่แข่งขันและกระดานที่พวกเขากำลังเล่น เราจะไม่รู้เลยว่าตัวละครกำลังคิดอะไรอยู่ในหัว เพราะหนังไม่ได้ให้ตัวละครพูดคนเดียวแบบละครช่อง 7 หรือฉายภาพในหัวของพวกเขาให้เราดู
คนดู (หรือคนนอก) อย่างเราๆ จะตามเกมบนกระดานนั้นทัน หรือพอจับสถานการณ์เกม ณ ขณะนั้นได้ โดยการดูจากปฏิกิริยาหรือบทสนทนาของผู้ชมข้างสนาม (ซึ่งก็คือพวกพี่เลี้ยงนั่นแหละ) ซึ่งกล้องจะฉายสลับตัดภาพไปมาระหว่างคนแข่งกับคนเชียร์ให้ตลอด
เราว่า Pawn Sacrifice ดีงามตรงที่หนังเล่าเรื่อง World War III บนกระดานหมากรุกได้เหนือชั้น หนังไม่ได้เน้นเบื้องหน้าของการแข่งขันจริง แต่สิ่งที่หนังเน้นจริงๆ ก็คือ propaganda war ในช่วง Cold War ที่ใช้เกมกระดานนี้เป็นเครื่องมือ พร้อมกับเบื้องหลังชีวิตและปัญหาสุขภาพจิตของอัจฉริยะเซเลบของโลก
Bobby Fischer เกลียดรัสเซีย เกลียดคอมมิวนิสต์ และเกลียดยิวด้วยซ้ำ ทั้งๆ ที่ชาติกำเนิดของตัวเองก็เป็นชาวยิว และแม่ของเขาเป็นพวกคอมมิวนิสต์ซ้ายจัด ทนาย Paul Marshall รู้เห็นความจริงข้อนี้ เขาจึงเข้ามาในชีวิตของ Bobby เพราะเห็นว่า Bobby สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการสร้าง nationalism ในชาติอเมริกา และเอาชนะรัสเซียได้
ในสมัยนั้นหมากรุกป็อปปูล่าร์มาก ไปไหนมาไหนก็มีแต่คนเล่นหมากรุก แล้วเวลามีการแข่งขันเล็กใหญ่… สื่อต่างๆ ทั้งทีวีและหนังสือพิมพ์หรือแม็กกาซีนต่างให้ความสนใจ มีการถ่ายทอดสดทางทีวี มีการพนันกันว่าเขาจะเดินหมากตัวไหนทางไหนต่อไป มีการขายตั๋วให้ประชาชนเข้ามาดูการแข่งขันสดริมขอบสนาม มีการวิ่งตามมารุมสัมภาษณ์นักกีฬาเหมือนวิ่งตามเซเลบริตี้ และนักหมากรุกดังๆ จะเหมือนฮีโร่ที่ประชาชนต่างคลั่งไคล้ติดตามและอยากจะทำอะไรตามเขาราวกับเป็นไอดอล
ถ้าจะพูดให้เห็นภาพ กีฬาหมากรุกในสมัยนั้นก็เหมือนกีฬาฟุตบอลหรือมวยไทยในสมัยนี้นั่นแล (ว่าแล้วภาพชับปุยส์กับบัวขาวก็ลอยมาแต่ไกล) ซึ่งเราก็ไม่รู้เหมือนกันว่า ทำไมเทรนด์หมากรุกมันถึงค่อยๆ หายไป แล้วเป็นกีฬาประเภทอื่นๆ แทน อย่างที่เราเห็นกันในปัจจุบัน บางทีความเท่มันอาจจะต่างกัน กีฬาใช้สมองมันโชว์อะไรคูลๆ ไม่ค่อยได้ (ถึงโชว์มาก็ต้องเป็นคนฉลาดด้วยกันเท่านั้นถึงจะเข้าใจ) นักกีฬาหมากรุกเลยพ่ายให้กับนักกีฬาซิกแพ็กไปตามค่านิยมที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย
อย่างไรก็ตาม Bobby Fischer เป็น role model ของคนที่อยากประสบความสำเร็จได้ทุกสาขา เขาไม่ได้มีแต่พรสวรรค์ มี passion มีความทะเยอทะยาน หรือได้เปรียบตรงที่ออกตัวเร็วกว่าคนอื่นเท่านั้น (เขาเริ่มเล่นหมากรุกตั้งแต่ 6 ขวบ ก่อนจะมาเป็นแชมป์ที่อายุน้อยที่สุดในโลก) หากแต่เขายังมีพรแสวงและฝึกฝนอย่างหนักด้วย เขาคิดและเล่นหมากรุก 18 ช.ม./วัน เขาศึกษาวิถีการเล่นของคู่แข่ง และติดตามข่าวสารในวงการ ซึ่งตรงนี้นี่แหละที่สำคัญกว่าต้นทุนที่เขามีมาทั้งหมดรวมกัน
คือ Bobby เขา Geek มาก Geek จนบางทีเราก็สงสัยว่า เขาเป็น “อัจฉริยะ” หรือแค่ “หมกมุ่น” หรือเราต้อง “หมกมุ่น” ให้มากพอก่อน ถึงจะได้เป็น “อัจฉริยะ” แล้วประเด็นคือ กว่าจะได้เป็นอัจฉริยะว่ายากแล้ว “การเป็นอัจฉริยะ” ยากกว่ามาก เพราะเขายังต้องเจอกับปัญหาสังคมคาดหวัง สังคมจับตา สังคมจ้องเอาผลประโยชน์จากเขา หรือถ้าหนักหน่อย อย่างที่เราเห็นกัน อัจฉริยะดังๆ ระดับโลกส่วนใหญ่ มักมี “ปัญหาทางจิต”
Bobby Fischer เขาดังตั้งแต่เด็ก และมี IQ สูง จึงไม่แปลกที่เขาจะเป็นคนมั่นใจในความเก่งของตัวเองสูง (จนบางทีก็น่าหมันไส้) หยิ่งยโส เอาแต่ใจ (จนบางทีก็น่ารำคาญ) ประกอบกับความเครียดจากการหมกมุ่น ยิ่งทำให้เขายิ่งโตยิ่งเจ้าอารมณ์และเกรี้ยวกราด
แต่ต้องเข้าใจเบื้องต้นอีกว่า กว่าเขาจะถูกขนานนามหรือได้รับการยอมรับว่าเป็น “อัจฉริยะ” นั้นไม่ง่าย ถึงแม้จะสำเร็จแต่เด็ก แต่เขาต้องผ่านอะไรมามากกว่าที่คนธรรมดาอาจจะเข้าใจ และเขาอาจจะต้องสูญเสียหรือแลกกับอะไรบางอย่างในชีวิตไป เช่น การใช้ชีวิตวัยรุ่นวัยหนุ่ม สังคม เพื่อน ผู้หญิง หรือแม้กระทั่งครอบครัว เพราะเศษ 3 ส่วน 4 ใน 1 วันของเขามีแต่หมากรุก (ไม่รู้ตอนนอนฝันถึงหมากรุกต่อด้วยรึเปล่า แม่งเป็นไปได้)
แล้วพอเขาหมกมุ่นกับหมากรุกมาตั้งแต่จำความได้ เขาจึงมี social skill ต่ำมาก มิหนำซ้ำยังไล่แม่ออกจากบ้านอีก เพราะเขาต้องการสมาธิโฟกัสกับหมากรุกตลอดเวลาแม้แต่ตอนอยู่บ้าน คนที่เขารักและไว้วางใจที่สุดเห็นจะเป็นพี่สาว แต่ถึงจุดหนึ่ง พี่สาวก็ต้องไปมีครอบครัวใหม่ สุดท้ายเขาก็ต้องอยู่คนเดียวให้ได้ และหมากรุกก็เป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของเขา มนุษย์ที่จะมาเป็นเพื่อนเขาได้ก็ต้องพูดจาภาษาหมากรุกกับเขารู้เรื่อง เช่น บาทหลวงนั่น เป็นต้น
พูดได้ว่า หมากรุกถือเป็นชีวิตและทุกๆ อย่างของ Bobby เลยก็ว่าได้ เพราะถ้าไม่มีหมากรุกแล้ว ชีวิตเขาก็ nothing ตัวเขาเองก็ nothing การเล่นหมากรุกให้เป็นมือวางอันดับต้นๆ ของโลกเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้เขามี “ตัวตน” และมีจุดยืนบนโลก ดังนั้นเขาเลยเล่นหมากรุก (โดยไม่เกี่ยวกับการเมือง… อืม เขาว่าอย่างนั้น)
นอกจากนี้ ปัญหาทางจิตอีกอย่างของ Bobby Fischer ที่หนักสุดคือ เขาเป็นโรค paranoid เกินกว่าเหตุ เขาจิตตกหวาดระแวงตลอดเวลาว่ามีคนดักฟังเขาหรือตาม stalk เขา ซึ่งสาเหตุหนึ่งที่น่าจะสำคัญ น่าจะเป็นเพราะแม่ของเขา (ซึ่งเป็นคอมมิวนิสต์) สอนเขาให้เฝ้าระวังสังเกตตลอดเวลาว่ามีคนร้าย (หมายถึงฝั่งตรงข้าม) แอบดูและตามพวกเขาอยู่ แล้วพอเขาโตขึ้นมามีชื่อเสียง อาการของเขาก็เลยค่อยๆ หนักขึ้นๆ ตามลำดับ
เห็นได้ชัดว่า ชื่อเสียงเหมือนดาบสองคม อย่างใน Pawn Sacrifice จะเห็นได้เลยว่า ชาติและสื่อ ปั้นเขาขึ้นเป็นเซเลบหน้าหนึ่ง เพราะผลประโยชน์บางอย่าง แล้วสุดท้าย พอเขาหมดประโยชน์ หรือเริ่มใช้การไม่ได้แล้ว ก็ค่อยๆ ทำลายเขา หรือไม่ก็ปล่อยให้เขาทำลายตัวเขาเอง โดยที่เราไม่ยอมเข้าไปช่วยแก้ไขอะไร
แม้แต่ผู้หญิงที่เข้ามาในชีวิตเขา ก็หวังในตัวเขาเพียงเพราะอยากนอนกับคนดังของอเมริกา ทั้งๆ ที่ตัวเองไม่มีอะไรคู่ควรกับเขาเลย โดยเฉพาะ “ปัญญา” แล้วแน่นอนว่า ไม่ใช่แค่จะคุยกันไม่รู้เรื่อง แต่ผู้หญิงแบบนี้ยังจะไม่มีวันเข้าใจ Bobby และไม่สามารถซัพพอร์ตเกื้อหนุนความสำเร็จในชีวิตของเขาได้ พูดง่ายๆ คือ “ไร้ค่า”
Bobby Fischer เป็นเสมือน “เบี้ยตัวหนึ่งบนกระดานสงครามเย็น” นั้นเท่านั้น พวกเราเอง…ก็เช่นกัน ไม่ว่าจะเก่งมาจากไหน ก็แพ้อำนาจบาตรใหญ่ของผู้ทรงอิทธิพล เราต่างเป็นเบี้ยด้วยกันทั้งนั้น บางคนก็เป็น “เบี้ย” เล็กๆ บนกระดานที่เรียกว่า “องค์กร” หรือบางคนก็เป็น “เบี้ย” ของกระดานที่เรียกว่า “การเมือง”
อย่างไรก็ตาม จริงๆ แล้ว ชีวิตคนเราก็เหมือนการเล่นหมากรุก ไม่ว่าเราจะเป็นเบี้ย เป็นขุน เป็นม้า เป็นเรือ หรือจะเป็นคิงเป็นควีน เราก็ต้องมีสติตลอดเวลา บ่อยครั้งเรามักคิดกันไปเองว่าเรามีทางเดินให้เลือกไปมากกว่า แต่จริงๆ แล้วเราอาจจะมีแค่ “ทางเดียว” ก็ได้ที่ใช่ และถ้าเราเดินผิดเดินพลาด หรือเดินไม่ดู “ตาม้าตาเรือ” เราก็อาจจะถูก “รุกฆาต” ได้โดยไม่ทันตั้งตัว…
และแน่นอน หมากเดินแล้ว มันกรอกลับไปเดินใหม่ไม่ได้ จำไว้
Pawn Sacrifice เข้าฉาย 24 ก.ย. นี้ ในโรงภาพยนตร์
(คะแนนตามความชอบส่วนตัว 8/10)
44 comments