Pete’s Dragon ของ David Lowery เวอร์ชั่น 2016 นี้ เป็นฉบับรีเมคนจากเวอร์ชั่น animated musical ปี 1977 ของ Walt Disney เป็นเรื่องราวของเด็กชายหลงป่าคนหนึ่งกับมังกรตัวเขียวเพื่อนรักของเขาในป่าอันไกลโพ้น
เรื่องย่อ Pete’s Dragon
เมื่อ 6 ปีก่อน Pete (Oakes Fegley) สูญเสียพ่อแม่จากอุบัติเหตุทางรถยนต์ขณะกำลังเดินทางมาเที่ยวป่า Pete พลัดหลงเข้าไปในป่าและได้พบกับ Elliot มังกรสีเขียวมีขน ที่ต่อมาได้กลายเป็นเพื่อนรักและครอบครัวคนเดียวของเขา
วันหนึ่ง Natalie (Oona Laurence จาก Bad Moms และ Southpaw) แอบหนีเข้าไปวิ่งเล่นและพบกับ Pete ในป่า พ่อของเธอ Jack (Wes Bentley จาก The Hunger Games และ Interstellar) กับแฟนสาว Grace ซึ่งเป็นนักป่าไม้ (Bryce Dallas Howard จาก Jurassic World และ The Help) จึงรับ Pete ไปดูแลชั่วคราว
Gavin (Karl Urban จาก Star Trek) น้องชายของ Jack เข้าไปในป่า และเจอกับ Elliot ด้วยความละโมบ เขาจึงพยายามจับ Elliot มาให้ได้ ซึ่งตอนแรกไม่มีใครเชื่อ Gavin เลย เพราะไม่มีใครเคยเห็นมังกร แม้แต่ Jack กับ Grace ที่ทำงานในป่ามานานก็ไม่เคยเจอ มีแต่ลุง Meacham (Robert Redford) พ่อของ Grace เท่านั้น ที่เคยเจอ Elliot เมื่อหลายสิบปีก่อน…
รีวิว วิเคราะห์ วิจารณ์ Pete’s Dragon
ไม่ต้องย้อนความไปถึงตั้งแต่ตอนเพิ่งจำความได้ ก็คงจะเห็นหนังที่มีมังกรเป็นส่วนประกอบสำคัญของเรื่องมาทุกยุคทุกสมัย อย่างปัจจุบันก็มี How to Train Your Dragon, Game of Thrones ฯลฯ หรือหนังที่เป็นเรื่องราวของเด็กน้อยกับสัตว์ใหญ่ก็มีมากมายหลายเรื่อง เช่น ไม่นานมานี้ เราก็ได้ดู The Jungle Book, The Good Dinosaur ฯลฯ ทั้งนี้ยังไม่นับหนังคู่หูต่างสายพันธ์ุเรื่องอื่น ๆ นั่นอีกส่วนหนึ่ง ทำให้เราไม่ค่อยมีความตื่นเต้นเท่าไหร่ที่จะได้ดู Pete’s Dragon หนังครอบครัวเรื่องล่าสุดของดิสนีย์เรื่องนี้
ช่วงเริ่มเรื่อง Pete’s Dragon ก็เปิดเรื่องและดำเนินเรื่องมาเรื่อย ๆ นิ่ม ๆ และสวย ๆ ตามสไตล์ดิสนีย์ แต่อยู่ดี ๆ มารู้ตัวอีกที ตัวเราก็ถูกดูดเข้าไปอยู่ในโลกของหนังเสียแล้ว และสุดท้าย ในช่วงองก์สุดท้ายของหนัง เราก็น้ำตาซึมอย่างไม่ทันตั้งตัว แต่มันไม่ใช่น้ำตาแห่งความฟูมฟาย ดราม่า หรือสะเทือนจิตใจ แต่เป็นน้ำตาแห่งความอบอุ่นและความรู้สึกดี
โดยพื้นฐานเป็นคนรักสัตว์อยู่แล้ว โดยเฉพาะสุนัข แล้วคนทำหนังเรื่องนี้เขาตั้งใจออกแบบเจ้ามังกร Elliot นี้มาให้เหมือนสัตว์เลี้ยงเลย โดย Pete ตั้งชื่อมังกรตามชื่อหมาในหนังสือเล่มโปรดของเขา “Elliott Gets Lost”
เวลาเราดูไป เราก็คิดถึงน้องหมาที่บ้านเราไป เพราะพฤติกรรมของ Elliot เหมือนหมามากจริง ๆ น่ารักมาก ๆ ๆ ทำให้จากที่ตอนแรกเราบ่นเทรลเลอร์หนังว่า “มังกรอะไรวะ หน้าตาตลกชะมัด” กลายเป็นเราเผลอหลงรักเจ้ามังกรหน้าตลกนี่ตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง
แต่ที่อินที่สุดคือเนื้อหา – ไม่เคยคิดเหมือนกันว่าตัวเองจะอินกับหนังครอบครัวได้ขนาดนี้ ซึ่งคำว่า “ครอบครัว” ของหนังเรื่องนี้ ไม่ได้เป็นครอบครัวฉบับโลกสวยอย่างที่หลายคนเข้าใจ
กล่าวคือ Natalie ไม่มีแม่ แล้ว Jack พ่อของเธอ ก็มาคบกับ Grace และมีแพลนจะแต่งงานกัน ซึ่งทั้งสามคนก็ดูเข้ากันได้ดี แม้แต่วันที่มีเด็กกำพร้าอย่าง Pete เข้ามาอยู่ด้วยแล้ว ก็ยังเป็นภาพที่น่าประทับใจ หรือตัว Grace เอง ก็สูญเสียแม่ตั้งแต่เล็ก แต่เธอก็เติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่ดี และทุกบทสนทนาระหว่างเธอกับ Single Dad ของเธอ ก็เต็มไปด้วยความอบอุ่น
นอกจากนี้ ความสัมพันธ์ระหว่าง Pete กับมังกร Elliot ก็สามารถเรียกมันได้ว่า “ครอบครัว” เช่นกัน เพราะทั้งสองอยู่ด้วยกัน เล่นด้วยกัน ดูแลและปกป้องซึ่งกันและกันมาแต่เล็ก บางครั้ง Elliot ก็เหมือนเพื่อนเล่น เหมือนสัตว์เลี้ยงของ Pete แต่บางครั้ง Elliot ก็เหมือนพี่ชาย หรือกระทั่งเหมือนพ่อเหมือนแม่ของ Pete เลยด้วยซ้ำ
เราชอบเวลาที่ Pete พูดถึง Elliot ให้ Grace กับ Natalie ฟัง มันสัมผัสได้เลยว่า Elliot คือโลกทั้งใบของเขา คือความสุข ความรัก และความปลอดภัย ซึ่งเป็นนิยามสำคัญของคำว่า “ครอบครัว” หรือ “เพื่อน” อย่างแท้จริง เราชอบที่ Pete ทำให้เราเห็นว่า สำหรับเด็กหลาย ๆ คน มังกรอาจเป็นแค่เพื่อนในจินตนาการ (เหมือนกับเจ้าปิ๊งป่องใน Inside Out) แต่สำหรับเขา… มังกรมีอยู่จริง และเป็นเพื่อนแท้ของเขา
ว่ากันด้วย “ความมีอยู่จริง” ก็เป็นอีกประเด็นที่น่าสนใจ เพราะเรื่องนี้ก็สอนอีกเช่นกันว่า “สิ่งที่เรามองไม่เห็น ไม่ได้แปลว่ามันไม่มีอยู่จริง” #ความดีก็เช่นกัน
ตลอดเวลาที่ผ่านมา ไม่เคยมีใครเชื่อพ่อของ Grace เลยว่าเขาเคยเจอมังกร เพราะไม่มีใครเคยเห็นมังกรมาก่อน เวลาที่พ่อของ Grace จะเล่าเรื่องมังกรให้รุ่นลูกรุ่นหลานฟัง เขาเลยจำเป็นต้องเล่าแบบเล่านิทาน และเหยาะความดุร้ายเกินจริงให้เจ้ามังกรนิดหน่อย เพื่อให้ผู้คนสนใจที่จะฟังเรื่องเล่าของเขาและไม่มองเขาเป็นตาแก่สติฟั่นเฟือน
จริง ๆ แล้ว มันก็มีหลายสิ่งหลายอย่างเหมือนกันนะ ที่เราไม่เคยพบเห็นหรือรู้จักมันกับตัวเองมาก่อน อย่างมากที่สุดคือก็รู้จักสิ่งนั้น ๆ ผ่านตัวหนังสือ รูปภาพ หรือคำบอกเล่าของคนนั้นคนนี้ ซึ่งอาจจะมีการปรุงแต่ง เหมารวม หรือเล่าจากมุมมองของคนคนนั้นเพียงด้านหนึ่งด้านเดียวเท่านั้น
เช่น ถ้าให้ Gavin พูดถึงมังกร เขาก็ต้องพูดถึงแต่ด้านดุร้ายของมังกร เพราะตอนเขาเจอ เขาพุ่งเข้าชาร์จและหวังจับมันมาขังกรงโชว์ในเมือง แน่นอนว่า เรื่องเล่าของเขาต้องตรงกันข้ามกับเรื่องเล่าจากประสบการณ์ของ Pete ที่มีต่อมังกรตัวเดียวกัน
น่าเก็บไปคิดเหมือนกันว่า พวกเราต่างไม่เคยเจอมังกรกันสักตัว แต่เรากลับเชื่อว่ามันตัวเป็นเกล็ด ดุร้าย และจ้องแต่จะพ่นไฟใส่ทุกอย่างที่ขวางหน้า ไม่เคยนึกถึงมันในด้านที่เชื่อง ๆ หรือน่ารัก ๆ กันบ้างเลย ทั้ง ๆ ที่มันก็อาจจะมีหลายมิติเหมือนมนุษย์เราก็ได้ ที่มีทั้งคนดีและคนเลว หรือแม้แต่แค่คนคนเดียวกันก็ตาม… บางครั้งก็แสนดี… บางครั้งก็ดุร้าย… แล้วแต่เวลาและอารมณ์… ไม่ใช่หรือ…
โดยสรุป Pete’s Dragon เป็นหนึ่งในหนังครอบครัวและหนังเกี่ยวกับมังกรที่แนะนำให้ดูเรื่องหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องเป็นเด็กก็ดูได้ดูดี เพราะเจ้า Elliot อาจจะทำให้คุณมองสิ่งรอบข้างคุณ… หรือแม้กระทั่งความหมายของคำว่า “ครอบครัว” ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
คะแนนตามความชอบส่วนตัว 8/10
Pete’s Dragon เข้าฉาย 25 ส.ค. 2016 นี้
32 comments