ภาพยนตร์รอมคอมแฟนตาซีเรื่อง “PK :ผู้ชายปาฏิหาริย์” ไม่ได้เป็นแค่ภาพยนตร์ที่ดีที่สุดของ Bollywood หรืออินเดียเท่านั้น แต่นักวิจารณ์ทั่วโลกยังยกนิ้วให้ว่าเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่ดีที่สุดที่โลกเคยมีมา แถมรายได้เปิดตัวก็สูงสุดติดอันดับ TOP 10 ของอเมริกาในปี 2014 กว่า 3,200 ล้านบาท!
เรื่องย่อ “PK :ผู้ชายปาฏิหาริย์”
PK คือมนุษย์ต่างดาวตาโตหูกาง (Aamir Khan) ที่ถูกยานแม่ส่งลงมายังโลกมนุษย์ในชุดวันเกิด กลางทะเลทราย Rajasthan เพื่อมาศึกษาวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่ามนุษย์ แต่โชคร้ายของ PK ที่ลงมาปุ๊บ เขาก็ถูกตาแก่ฉกสร้อยรีโมทของเขาไปปั๊บ มนุษย์ต่างดาวหนุ่มจึงต้องพยายามตามหารีโมทเรียกยานแม่ของเขาคืน มิฉะนั้นเขาจะกลับดาวบ้านเกิดของเขาไม่ได้
เนื่องจาก PK ลงมาอย่างเปล่าๆ เปลือยๆ ไม่มีเสื้อผ้าห่อหุ้ม ไม่รู้ภาษา และไม่รู้จักอะไรเลยสักอย่าง เขาจึงต้องประสบความยากลำบากกับการลองผิดลองถูกและปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมอันหลากหลายบนโลกใบนี้ พร้อมๆ กับตามหารีโมทแสนล้ำค่าของเขาไปด้วย อย่างไรก็ตาม โชคชะตาก็ยังใจดีพาเขาไปเจอกับพี่ชายใจดี Bhairav Singh (Sanjay Dutt) ที่พาเขาไปอยู่ด้วย และมีส่วนช่วยทำให้เขาพูดภาษาเดียวกันได้ในที่สุด
หลังจากรู้ภาษาและเริ่มเรียนรู้ปรับตัวได้ PK ผู้แสนจริงใจไร้เดียงสาก็ออกเดินทางไปกรุง Delhi เพื่อตามหารีโมทของเขาต่อไป แต่เมื่อเขาไปถามชาวบ้าน ใครต่อใครก็ต่างบอกเขาเป็นเสียงเดียวกันว่า “พระเจ้าเท่านั้นแหละที่จะนำรีโมทมาคืนให้ได้” ดังนั้น เขาจึงเริ่มเบนเข็มออกปฏิบัติการตามหาพระเจ้าบนแผ่นดินที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางความเชื่อหรือศาสนา โดยมีนักข่าวสาวสวย Jagat Janani หรือ Jaggu (Anushka Sharma) และบอสของเธอ Cherry Bajwa (Boman Irani) คอยช่วยเขาตามหารีโมทที่หายไป
ยิ่งชิดใกล้ ความสัมพันธ์ของหนุ่มสาวก็ยิ่งค่อยๆ เบ่งบานขึ้น วันหนึ่ง PK พบว่าตัวเองกำลังตกหลุมรัก Jaggu เข้าเสียแล้ว แต่เขาต้องจำต้องหักห้ามใจไว้ เพราะ Jaggu ยังมีอดีตรักที่ฝังใจในวัยเรียนกับหนุ่มปากีสถาน Sarfraz Yousuf (Sushant Singh Rajput) ซึ่งเป็นคนที่พ่อแม่กีดกันไม่ให้คบหาเพราะความแตกต่างทางเชื้อชาติศาสนา ประกอบกับเจ้าร่างทรง Tapasvi Maharaj (Saurabh Shukla) ที่พ่อของเธอ (Parikshat Sahni) เคารพนับถือเป็นหนักหนา ก็ทักด้วยว่าคนมุสลิมอย่าง Sarfraz จะทิ้งเธอไปและไม่มีวันแต่งงานกับเธออย่างแน่นอน
รีวิว วิเคราะห์ วิจารณ์ “PK :ผู้ชายปาฏิหาริย์”
The Meaning of PK
ที่มาของชื่อหนัง PK นั้น ไม่ใช่ชื่อย่อของพระเอกหรือนางเอกของเรื่อง แต่ PK (หรือ pee-kay) เป็นภาษาฮินดี มีความหมายตามภาษาอังกฤษว่า “tipsy” หรือที่แปลว่า “ขี้เมา” ในภาษาไทยนั่นเอง โดยตามท้องเรื่อง พระเอกซึ่งเป็นมนุษย์ต่างดาวเนี่ย มักพูดจา ถามคำถาม หรือกระทำอะไรที่แปลกประหลาดเหมือนคนเมาอยู่เสมอ ชาวบ้านทุกคนจึงพร้อมใจเรียกเขาว่า “tipsy”
Multipopulation Land
เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่า อินเดียเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของโลก และมีประชากรที่หลากหลายมาก ไม่ว่าจะหลากหลายทางชนชั้นวรรณะ วัฒนธรรม หรือความเชื่อทางศาสนา
ความแตกต่างทางชนชั้นวรรณะหรือฐานะกับรายได้ กล่าวคือ คนรวยก็รวยไปเลย คนจนก็จนไปเลย ทำให้อินเดียมีการฉกชิงวิ่งราว มิจฉาชีพรูปแบบต่างๆ หรือการลักเล็กขโมยน้อยเกิดขึ้นแทบไม่เว้นแต่ละวัน แม้แต่รองเท้าข้างโบสถ์ข้างวัดของคนที่เขาอุตส่าห์มาทำบุญก็ยังถูกสลับสับเปลี่ยนหรือขโมยกันได้ ทั้งๆ ที่อินเดียเป็นประเทศที่อุดมไปด้วยศาสนา และประชากรทั้งหลายก็ดูเคร่งครัดกับศาสนาที่ตนนับถือกันมาก
นอกจากนี้การติดสินบนหรือการคอร์รัปชั่นในหมู่ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ยังคงพบเกร่อในสังคมอินเดีย ตัวอย่างง่ายๆ ที่เราก็เห็นจากในหนังก็คือ แค่พระเอกเอาชุดตำรวจมาใส่เฉยๆ แค่นั้น พ่อค้าแม่ขายทั้งหลายก็รีบเอาของขายมาเซ่นไหว้ให้ฟรีๆ ซึ่งเอาจริงๆ มันดูไม่งามเอาเสียเลย จนเราเริ่มสงสัยแล้วว่า ตกลงการมีศาสนานี่มันเกี่ยวข้องกับความดีความเลวของคนจริงๆ หรือ
แล้วเสียดสีวงการตำรวจยังไม่พอ PK ยังเสียดสีวงการสื่ออีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นผู้อ่านข่าวที่ท่อนบนแต่งสูทผูกไทด์เต็มยศแต่ท่อนล่างเหมือนคนเพิ่งลุกออกจากเตียงนอน หรือสำนักข่าวที่ปั้นน้ำเป็นตัวเพื่อขายผ้าเอาหน้ารอดไปวันๆ จนหลังๆ เริ่มเจอแต่พาดหัวข่าวหรือประเด็นข่าวที่ไม่ใช่แค่หลอกลวงประชาชนแต่ยังไร้สาระขึ้นเรื่อยๆ มันทำให้เราต้องตั้งคำถามว่า information หรือสารที่เรารับส่งกันอยู่ทุกวันนี้ จะมีบ้างไหม ที่เชื่อถือได้ 100% จริงๆ
มนุษย์โลกบางกลุ่มก็ไปไกลเกินกว่าจะกู่กลับมาเป็นคนได้แล้ว อย่างที่เราก็เห็นๆ กันอยู่ ความเข้มแข็ง ความเฉลียวฉลาด ความตั้งใจแน่วแน่ ความซื่อสัตย์จริงใจ และความมีน้ำใจต่อเพื่อนร่วมโลกเดียวกันนั้น มนุษย์เรามีน้อยลงเข้าทุกวัน ในขณะที่ PK ซึ่งเป็นมนุษย์ต่างดาว กลับมีสิ่งเหล่านั้นมากกว่ามนุษย์เราหลายคนมีรวมกันเสียอีก เออ มันก็ดูขันดีเหมือนกันนะ ที่ต้องพูดว่า คนที่จริงใจและดีที่สุดในหนังเรื่องนี้กลับเป็น PK ซึ่งเป็นมนุษย์ต่างดาว
Culture Shock
การมาของ PK ก็เหมือนเวลาเราจากบ้านเราไปยังที่ที่ใหม่ที่เราไม่คุ้นเคย ทั้งความแตกต่างทางภาษา วัฒนธรรม การแต่งกาย และความคิดความเชื่อ ที่คนเข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม
ดาวที่ PK จากมา เป็นดาวที่แสนจะสงบสุขและเรียบง่าย ทุกคนเปิดเผยจริงใจ ไม่มีเสื้อผ้าใส่ ไม่มีภาษาพูด และไม่มีการโกหกต่อกัน มันทำให้เรามองเห็นชีวิตเราว่า จริงๆ แล้วตอนเราเกิด เราก็มีมาแต่ตัวเปล่าเหมือน PK ก้าวลงจากยานนั่นแหละ ส่วนแฟชั่น เสื้อผ้า เงินทอง หรือภาษาคำพูดที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้นั้น ทุกอย่างล้วนแต่เป็น “สิ่งปรุงแต่ง” ให้แต่ละปัจเจกแตกต่างกันทั้งสิ้น
ที่ดาวของ PK ไม่มีระบบเงินตราแลกเปลี่ยนให้วุ่นวาย เขาจึงต้องเรียนรู้เองว่า “เงิน” คืออะไร เมื่อเขาค้นพบว่ากระดาษที่มีหน้า Mahatma Gandhi นั้นสามารถนำไปแลกข้าวปลาอาหารได้ เขาจึงรีบเร่ไปเก็บกระดาษทุกแผ่นที่มีหน้า Mahatma Gandhi เช่น ใบปลิว มาใช้ แต่มันเหมือนตลกร้าย ที่ในที่สุดเขาก็ได้เข้าใจว่าหน้าของ Mahatma Gandhi ผู้ยิ่งใหญ่นั้น จะไม่มีค่าอันใดเลย ถ้าไม่ได้ประทับอยู่บนกระดาษที่เรียกว่า “ธนบัตร”
และนอกจากชีวิตประจำวันแล้ว PK ยังต้องพยายามเรียนรู้ ปรับตัว และเข้าถึงศาสนาหลักๆ ในอินเดีย เพื่อเข้าถึงพระเจ้าให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นศาสนาฮินดู ซิกข์ อิสลาม หรือคริสต์ (คนอินเดียในปัจจุบันนับถือศาสนาพุทธน้อยมาก ทั้งๆ ที่ศาสนาพุทธถือกำเนิดขึ้นในประเทศอินเดีย) ซึ่งเขาก็สับสนกับความแตกต่างของศาสนาทั้งหลายเหล่านี้มาก เพราะวิถีปฏิบัติและคำสอนของแต่ละศาสนาช่างแตกต่างและย้อนแย้งกันเองเสียเหลือเกิน
Wrong Number
เราได้ยินมาแต่เด็กว่า “ถึงแม้แต่ละศาสนาจะมีความแตกต่างกัน แต่ทุกศาสนาสอนให้เราเป็นคนดี” ซึ่งเราไม่เคยเข้าถึงคำกล่าวที่ว่านี้เลย เราคิดว่ามันเป็นข้อสรุปที่ออกจะกว้างและฉาบฉวยไปเสียหน่อย เพราะในเชิงลึกแล้ว บางคำสอนยิบย่อยของแต่ละศาสนามันก็มีที่ไม่สมเหตุสมผลบ้างล่ะ ย้อนแย้งกันเองบ้างล่ะ หรือขัดกับศาสนาอื่นๆ บ้างล่ะ จนบางทีเราก็ไม่เข้าใจว่า ศาสนามันนำไปสู่ความสงบและทำให้คนเป็นคนดีได้จริงหรือไม่ แล้วสมมติว่าถ้าโลกนี้ไม่มีศาสนาล่ะ เราจะไม่มีเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจอื่นๆ ในชีวิตที่ทำให้เราอยากเป็นคนดีบ้างเลยหรือ
อย่าลืมว่าการเข้าวัดทำบุญ การไปโบสถ์ทุกวันอาทิตย์ หรือการบริจาคเงินให้สถาบันทางศาสนา ไม่ได้แปลว่าคนคนนั้นเป็นคนดีหรือจิตใจดีเสมอไป อย่างบางคนก็บริจาคเงินให้วัดเพียงเพื่อจะได้ใช้ลดหย่อนภาษี หรือบางคนก็ไปเวียนเทียนที่วัดเพียงเพื่อจะมีรูปเก๋ๆ อัปโหลดในโซเชียลมีเดีย ลองมองดูดีๆ ปัจจุบันศาสนามันยังเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของคนอยู่จริงๆ หรือ
ในช่วงองก์ที่สอง PK เต็มไปด้วยประเด็นทางศาสนาและพระผู้เป็นเจ้า แต่บอกก่อนว่า PK ไม่ใช่หนังล้อเลียน ลบหลู่ หรือปฏิเสธพระเจ้าผู้สร้างโลกแต่อย่างใด หนัง PK เขาแค่ตั้งแง่ตั้งคำถามเกี่ยวกับระบบความเชื่อของศาสนาต่างๆ ที่อ้างตัวว่าเป็นผู้จัดการของพระเจ้า (ตัวกลางสื่อสารกับพระเจ้า) รวมถึงพิธีกรรมหรือวิถีปฏิบัติต่างๆ เช่น การนอนกลิ้งเพื่อคุยกับพระเจ้า หรือการซื้อรูปปั้นพระเจ้าจำลองเล็กใหญ่ไปตั้งบูชาไว้ที่บ้าน
PK ตั้งคำถามเกี่ยวกับพระเจ้าและศาสนาอย่างเคารพนอบน้อมและมีเหตุมีผล ว่าสิ่งที่พวกเรากำลังทำหรือกำลังเชื่ออยู่นั้น มัน “Wrong Number” หรือเปล่า? พระเจ้าประสงค์ให้เราทำอย่างนั้นจริงหรือ? ทำไปแล้วพระเจ้าท่านรับรู้กับเราจริงแท้แค่ไหน? เขาเปรียบเสมือนตัวแทนของคนนอกของศาสนาทุกศาสนาที่มองคนแต่ละศาสนาอย่างเป็นกลาง โดยในหนังเราจะเห็นมุมมองที่ PK มองหรือคิดฉงนต่อศาสนาต่างๆ อย่างจริงใจใสซื่อและตรงไปตรงมา
PK เปรียบเสมือนผ้าขาว เขาไม่เข้าใจความหมายของศาสนา เขาแยกไม่ออกด้วยซ้ำว่าอันไหนฮินดูอันไหนมุสลิม เขาไม่เข้าใจด้วยว่าทำไมพระเจ้าถึงมีหลายองค์ ทำไมต้องมีรูปปั้นแทนพระองค์หลายไซส์หลายแบบ แล้วทำไมแต่ละคนก็บูชาพระเจ้าแตกต่างกัน ทำไมคนเราต้องทำพิธีกรรมอะไรยุ่งยากหรือบริจาคเงินเพื่อแลกกับการวิงวอนขอให้พระเจ้าทำอะไรให้ OMG! (OH MY GOD!) เขาเห็นชาวบ้านทำอะไร เขาก็พยายามทำตามด้วยหัวใจที่บริสุทธิ์และเปี่ยมล้นไปด้วยความหวัง แต่เขาก็ยังมองไม่เห็น point หรือ result ของการกระทำเหล่านั้น และต่อให้เขาจะเข้าใจหรือไม่เข้าใจศาสนา มันก็ไม่ส่งผลอันใดกับจิตใจที่แสนประเสริฐของเขาอยู่ดี
ตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมา เราต่างเชื่อนี่นั่นโน่นตาม “โบราณเขาว่า” อย่างไม่มีเหตุมีผลหรือแม้แต่โอกาสในการถามว่า “ทำไม” มาตั้งแต่จำความได้ เราได้แต่เชื่อและทำตามเพียงเพราะผู้ใหญ่บอกว่า “มันเป็นธรรมเนียม” บ้างล่ะ “มันเป็นคำสอน” บ้างล่ะ แม้ตัวเราเองบ่อยครั้งก็แอบสงสัยเหมือนกันนะว่า ทำไมศาสนานั้นต้องทำอย่างนี้ ทำไมศาสนานี้ให้ฆ่าวัวแต่ศาสนานึงให้บูชาวัว ทำไมเกิดมาเรามีฉลากตีตราติดตัวเลยโดยที่เราไม่ได้เลือก ฯลฯ แล้วมันจะเป็นไปได้รึเปล่า ถ้าสิ่งที่ “ผู้จัดการของพระเจ้า” เขียนไว้ใน “ไดอารี่” (หรือพระคัมภีร์) ตั้งแต่หลายร้อยหลายพันปีก่อนนั้น จะล้าสมัยเกินไปเสียแล้วสำหรับสังคมยุคดิจิตัลในปัจจุบัน
มันถึงเวลาแล้วหรือเปล่า ที่เราควรจะใช้ปัญญาความคิดให้มากกว่าความเชื่อ หรือใช้สติแก้ปัญหาก่อนจะโยนสตังค์ให้พวก “ผู้จัดการของพระเจ้า” มันเข้ามาเดาหนทางให้ เพราะสุดท้ายแล้วคนที่ลิขิตชีวิตเราได้ก็มีแต่ตัวเราเองเท่านั้น
พระเจ้าสร้างเราหรือเราสร้างพระเจ้า?
Business of Fear
สิ่งที่ชั่วร้ายที่สุดในวงการความเชื่อ ไม่ใช่พระเจ้า ไม่ใช่ศาสนา แน่นอนว่า PK ไม่ได้กล่าวโทษ ตำหนิ หรือดูหมิ่นศาสนากับพระเจ้าเลยแม้แต่น้อย สิ่งที่ PK อยากให้พวกเราสนใจให้มากๆ คือพวกที่ทำธุรกิจร่างทรง หมอดู หรือพวกนี่นั่นโน่นในวัดวาอารามทั้งหลาย ที่ฉวยโอกาสทำมาหากินเล่นง่ายบนความทุกข์ ความกลัว ความวิตกกังวล และความงมงายของชาวบ้าน
ธุรกิจเชิงไสยศาสตร์พวกนี้ เอาจริงๆ ก็คือขายผ้าเอาหน้ารอดไปวันต่อวัน และการทำนายหรือคำแนะนำฟาดเคราะห์สะเดาะเคราะห์ต่างๆ นานาก็เป็นการหลอกคนให้เชื่อในเชิงจิตวิทยาเสียมากกว่าจะเป็นการหยั่งรู้ ดังนั้น เราต้องอย่าให้คนพวกนี้มาจูงจมูกเราได้โดยง่าย เราเชื่อได้ฟังได้ด้วยเหตุด้วยผล แต่ไม่ใช่ว่าต้องไปเชื่อทั้งหมดหรือทำตามโดยปราศจากวิจารณญาณไตร่ตรอง
นอกจากผู้ให้บริการแล้ว ผู้ใช้บริการบางคนก็ใช่ย่อย บางคนทำบุญแค่ 20 บาท แต่ขอผลตอบแทนนี่นั่นราวกับบริจาคไปสองหมื่น แถมบางคนก็ใช้ศาสนาเป็นเกราะป้องกันจากความผิดความชั่ว คิดว่าแค่หนีมาพึ่งร่มกาสาวพัสตร์ บาปทั้งหลายที่เขาเคยทำมาก็จะเป็นอันลบล้างและตามมาเอาผิดเขาไม่ได้ตราบใดที่เขามีชายผ้าเหลืองเป็นชุดเกราะกำบัง
Love Is a Waste of Time
ถึงแม้ PK จะเล่าเรื่องศาสนาได้สมจริงสักแค่ไหน แต่ประเด็นความรักในเรื่อง PK เราคิดว่ามันกลับดูเกินจริงและไม่สมจริงไปเสียหน่อย แต่มันก็เป็นความเมโลดราม่าที่งดงาม และจบได้เซอร์ไพรส์คนดูจนน้ำตาคลอเบ้า (ขอไม่พูดตรงนี้มาก เพราะเสี่ยงต่อการสปอยล์)
รักสามเส้าของ Jaggu, PK, และ Sarfraz ทำให้เราเข้าใจคำกล่าวที่ว่า “ระยะห่างของความรักมักเกิดจาก รักไม่ได้ หรือไม่ก็ ไม่ได้รัก” ซึ่งบางครั้งมันก็คุ้มค่าแก่การเสียสละ และบางครั้งมันก็คุ้มค่าแก่การรอคอย จนลืมคำว่า “เสียเวลา”
Verdict
โดยสรุป PK เป็นหนัง Bollywood ที่เลอค่าและสนุกที่สุดเรื่องหนึ่งในโลก (MUST WATCH!!!) เราชอบมากๆ สนุกครบรส หัวเราะน้ำตาเล็ด ซาบซึ้งน้ำตาไหล พล็อตเรื่องและไดอะล็อกโคตรเจ๋ง สะท้อนความเชื่อทางศาสนาและความแตกต่างทางวัฒนธรรมได้ดีเยี่ยม แถมยังมีกลิ่นอายของความเป็นหนังอินเดียอยู่ด้วย เช่น ฉากการวิ่งไล่และการร้องเล่นเต้นระบำ ซึ่งเพลงมันมากจนอยากจะลุกขึ้นไปเต้นกับตัวละคร เพลงก็เพราะเข้ากับเนื้อเรื่อง และนอกจากนี้ภาพก็ยังสวยมาก โดยเฉพาะฉากที่เบลเยี่ยม ดูแล้วอยากบินไปเที่ยวยุโรปตอนนั้นเดี๋ยวนั้นทันทีเลย
นักแสดงที่ดีที่สุดคือ พระเอกของเรื่อง (Aamir Khan) เล่นดีเว่อร์ๆ ขโมยซีนทุกฉาก ชนิดคนเดียวเอาอยู่ทั้งเรื่อง ส่วนนางเอก (Anushka Sharma) ก็น่ารักสดใสและดูมๆ มาก กิ๊กนางเอก (Sushant Singh Rajput) ก็หล่อลากดิน ยังกับเจ้าชายตะวันออกกลางสั่งตรงมาจากแดนน้ำมัน
ถ้าจะติก็คงจะขอบ่นเรื่อง หนังยาวไปหน่อย ความยาวสองชั่วโมงครึ่ง มีช่วงยืดบ้างอืดไร แต่อย่างไรก็ดี รวมๆ หนังไม่น่าเบื่อเลย รู้สึกทุกช็อตมันสำคัญและน่าติดตามไปซะหมด ไม่มีช็อตไหนที่เราอยากจะแอบหลับหรืออยากลุกไปห้องน้ำเลย (แม้จะปวดฉี่ยังไงก็ตาม)
พูดเลยว่า หนังที่ดีด้วยและสนุกด้วยแบบนี้ หาดูได้ไม่ง่าย ดังนั้น 12 มีนาคมนี้ ตีตั๋วไปดู PK กันได้เลย ของเค้าดีจริงอะไรจริง ถ้าไม่สนุก เอาเครื่องเทศมาปาใส่กำแพงบ้านเราได้เลย (คะแนนความชอบส่วนตัว: 9/10)
“PK :ผู้ชายปาฏิหาริย์” เข้าฉายในไทยแบบจำกัดโรง 12 มีนาคมนี้เป็นต้นไป เฉพาะในโรงภาพยนตร์เครือเมเจอร์ซีนีเพล็กซ์
- ในกรุงเทพฯ เข้าฉายเฉพาะที่ สาขารังสิต เมกะบางนา รัชโยธิน ปิ่นเกล้า บางกะปิ สำโรง ซีคอนบางแค งามวงศ์วาน และเอสพลานาด
- ส่วนต่างจังหวัดเข้าฉายที่เซ็นทรัลเฟสติวัลเชียงใหม่ โคราช อุดรธานี และหาดใหญ่ซีนีเพล็กซ์ เท่านั้น
56 comments