เนื้อหาใน blog นี้เป็นเพียง Review แบบ Overall จึงไม่มีการลงลึก detail หรือ spoil แต่ใดใด ในส่วนของการวิเคราะห์และตีความฉากต่างๆ เราจะเขียนแยกไว้ใน blog ถัดไป เพื่อไม่ให้บล็อกนี้มีการสปอยล์เนื้อหาหรือมีความยืดยาวจนเกินไป
คนรุ่นหลังๆ อย่างกลุ่ม GEN-Y ส่วนใหญ่ และเด็กๆ GEN-Z อาจไม่รู้จักมักคุ้นกับ “แผลเก่า” เท่าไหร่นัก แต่ถ้าพูดว่า “ขวัญ-เรียม คลองแสนแสบ” หรือขึ้นเพลงท่อน “เรียมเหลือทนแล้วนั่น… ขวัญของเรียม…” ก็อาจจะมีคนร้องอ๋อขึ้นมาบ้าง
จริงๆ “ขวัญ-เรียม” เป็นตัวละครเอกจากบทประพันธ์เรื่อง “แผลเก่า” ไม้ เมืองเดิม ตีพิมพ์ครั้งแรกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2479 และถูกนำมาสร้างเป็นละครกับภาพยนตร์หลายต่อหลายครั้ง เวอร์ชั่นที่โด่งดังที่สุดคือเวอร์ชั่นปี 2520 ของคุณเชิด ทรงศรี ที่คุณสรพงศ์ ชาตรี รับบท “ขวัญ” และคุณนันทนา เงากระจ่าง รับบท “เรียม”
ซึ่งแน่นอนว่า… ตอนนั้นเรายังไม่เกิดเลย…
ยอมรับซื่อๆ ว่า เราไม่เคยดูและไม่เคยอ่าน “แผลเก่า” มาก่อน จึงไม่มีความรู้พื้นฐานใดใดเลยก่อนจะไปดู “แผลเก่า (2014)” เวอร์ชั่นรีเมคของหม่อมน้อย (ม.ล. พันธุ์เทวนพ เทวกุล) แต่มีคาดเดานิดหน่อยว่า “แผลเก่า” ก็คงคล้ายๆ กับ “Romeo and Juliet” ของ William Shakespeare ในแบบ Thai Style ประมาณว่าเป็น Forbidden Love หรือรักต้องห้าม เพราะครอบครัวไม่ถูกกัน แล้วจุดจบของเรื่องก็เป็น Tragedy หรือโศกนาฏกรรม เพราะตัวเอกต้องตายทั้งคู่ เพื่อให้สองตระกูลกลับมาญาติดีต่อกัน ซึ่งเราเชื่อว่าคนรุ่นหลังๆ หลายคนคงคาดเดาเรื่องราวของ “แผลเก่า” ไม่ต่างไปจากเรา
ถ้าตัดสินจากเรื่องย่อกับหน้าหนังแล้ว ไม่แปลกที่เด็กยุคนี้จะมองว่าแผลเก่ามันก็คง “เป็นแค่หนังรักพีเรียด” เรื่องหนึ่ง ที่ไม่มีอะไรหวือหวาน่าสนใจ โดยเฉพาะหนังรักที่มีพล็อตประมาณนี้ มันคง “น้ำเน่า”, “น่าเบื่อ”, และ “ล้าสมัย” เกินไปแล้วด้วยซ้ำสำหรับคนยุค 2014
สังเกตว่าคนสมัยนี้มักชอบดูหนัง Action, Sci-fi หรือ Romantic Comedy ซึ่งดูง่าย เน้นความบันเทิง ถ้าจะเป็นหนังแนว Period หรือหนังย้อนยุค ก็ต้องมีดาราที่หน้าตาดีเว่อร์ดังเว่อร์ และหนังต้องมีความแปลกใหม่ เช่น “พี่มากพระโขนง (2013)” ที่มีการตีความและฉีกตำนานแม่นาคอย่างสิ้นเชิง หรือไม่ก็ต้องเป็นหนังติดเรท อย่างเช่น “จันดารา ปฐมบท/ปัจฉิมบท” ดังนั้น “แผลเก่า” จึงค่อนข้างเป็นหนังที่อยู่นอกสายตาไปบ้าง เมื่อเทียบกับหนัง Hollywood เรื่องอื่นๆ ที่เข้าฉายในวีคเดียวกัน
แต่คงเป็นเรื่องน่าเสียดาย ถ้าคนสมัยนี้จะเลือกดูหนังเพียงเพราะหน้าหนัง หรือเพียงเรื่องย่อ หรือเสพสื่อเพียงเพื่อความบันเทิงเท่านั้น เพราะนั่นคงทำให้เขาพลาดหนังดีๆ และโลกทัศน์ใหม่ๆ ไปอีกหลายเรื่องเลยทีเดียว
โดยส่วนตัว เราดู “แผลเก่า (2014)” สองรอบถ้วน รอบแรกไปดูกับเพื่อนๆ หลายคน ไม่ได้คาดหวังอะไรมาก เพราะอยากดูเพื่อความบันเทิงและเพื่อรู้ตำนานขวัญเรียมแบบเต็มๆ เท่านั้น ซึ่งอย่างที่บอกตะกี๊ว่า เราเข้าโรงไปแบบไม่รู้เรื่องราวเลย เรียมมีพี่มีน้องด้วยหรอ เรียมถูกพ่อขายไปอยู่บางกอกด้วยหรอ ฯลฯ ซึ่งอาจจะเป็นข้อดีของการไปดูแบบสมองกลวงๆ เพราะในขณะที่ชม เราสามารถเอาตัวเองเข้าไปมีส่วนร่วมกับหนังได้อย่างต็มที่ คือรู้สึกติดตามและลุ้นให้กำลังใจขวัญกับเรียมไปตลอดทั้งเรื่อง (เราดูหนัง “The Fault in Our Stars” หลังอ่านหนังสือไปแล้ว รู้เรื่องราวต้นจนจบหมดแล้ว เลยรู้สึกเฉยๆ กับตัวหนังหลังเดินออกจากโรง)
ที่ประทับใจสุดสำหรับ “แผลเก่า” ของหม่อมน้อย คือภาพสวยมากกกกก… เสื้อผ้าหน้าผมก็อล้าอลัง แสดงให้เห็นของความตั้งใจและความละเอียดละไมของงานโปรดักชั่น ไม่แพ้เรื่องจันดารา, ชั่วฟ้าดินสลาย, หรืออุโมงค์ผาเมือง
ในส่วนของนักแสดงนำก็ทำหน้าที่ได้ดี ตั้งแต่ นิว-ชัยพล (ขวัญ), ใหม่-ดาวิกา (เรียม), อ๊อฟ-พงษ์พัฒน์ (ผู้ใหญ่เขียน พ่อของขวัญ), นก-สินจัย (คุณหญิงทองคำเปลว), และปอ-ปานเลขา (นางรวย แม่ของเรียม) ส่วนนักแสดงตัวประกอบจากแก๊ง The Star ถึงแม้การแสดงจะไม่ทรงพลังหรือฉายแววอะไร ล้นบ้าง ขาดบ้าง แต่ก็พอให้อภัยได้ เพราะพวกเขามีพื้นฐานมาจากการเป็นนักร้องอาชีพ และอย่างน้อยก็เป็นตัวสร้างสีสันที่ทำให้หนังดูน่ารักขึ้น ถ้าขาดตัวประกอบเหล่านี้ไป หนังอาจจะง่วงหงาวหรือจืดชืดไปหลายจุดเหมือนกัน
พอดูจบ เราได้เห็นว่า ภาพรวมของ “แผลเก่า” ไม่ได้ “เก่า” หรือ “โบราณ” เหมือนดั่งชื่อเรื่อง หรือ Font ตัวอักษรบนโปสเตอร์เลย ถึงแม้จะไม่ได้มีการตีความใหม่ หรือการหักมุมที่น่าฮือฮา แต่ก็ไม่ใช่หนังรักน้ำเน่าที่มีแต่เรื่องรักๆ ใคร่ๆ ของหนุ่มสาว (เพราะถ้าอย่างนั้น เขาคงตั้งชื่อหนังว่า “ขวัญเรียม” แทน “แผลเก่า” ไปแล้ว) หากแต่ใส่ใจที่จะถ่ายทอด “คลองแสนแสบ” ออกมามากกว่าให้ความสำคัญเป็นแค่คลองคลองหนึ่งหรือฉากฉากหนึ่งตามท้องเรื่อง (ชอบฉากขวัญกับเรียมว่ายน้ำมาก) แถมหนังยังมีการสอดแทรกประเด็นต่างๆ เช่น แง่คิด วิถีชีวิต ค่านิยม วัฒนธรรม และการเมือง อย่างแยบยลและน่าสนใจ เหมือนได้นั่งไทม์แมชชีนไปสัมผัสเรื่องราวของคนสมัยที่กรุงเทพฯ ยังไม่เรียกว่ากรุงเทพฯ ที่เด็กรุ่นใหม่ไม่ควรมองข้าม
“แผลเก่า 2014” ในมุมมองของเรา จึงถือเป็นหนึ่งในหนังที่คุ้มค่าแก่การดู ทุกคนทุกรุ่น และถ้าใครไปดูแล้ว มีความคิดหรือข้อสงสัยจากหนังอย่างไร มาติดตามอ่านและแลกเปลี่ยนมุมมองกับเราได้ในบล็อกหน้าได้ บล็อกหน้าจะเป็นการวิเคราะห์และตีความฉากต่างๆ จากภาพยนตร์ในมุมมองของเรา (ประกอบกับที่เราได้ไปฟังมาจากแผลเก่ารอบ Q&A) เพื่อนๆ จะได้ดูว่าเราคิดเห็นตรงหรือต่างกันตรงไหนอย่างไรบ้าง ส่วนใครยังไม่ได้ดู แนะนำให้รีบไปดูก่อนที่หนังจะออกโรง ดูจบแล้ว จะได้ตามมา discuss พร้อมๆ กันนะคะ :)
78 comments