คำว่า โจรกรรมทางวรรณกรรม หรือ Plagiarism อาจจะเป็นศัพท์ที่ไม่คุ้นหูคุ้นตาสำหรับบางคน หรือบางคนอาจจะเคยเห็นหรือเคยได้ยินผ่านๆ มาบ้าง แต่ก็ไม่ได้เข้าใจมากนัก เอาเป็นว่าบล็อกนี้ เราจะมาทำความรู้จัก Plagiarism โดยคร่าวๆ ไปพร้อมกันค่ะ
Plagiarism หมายถึง การกระทำที่เป็นการแอบอ้างงานเขียนดั้งเดิมของผู้อื่นทั้งหมดหรือบางส่วนมาใส่ในงานของตน โดยไม่มีการอ้างอิงแหล่งข้อมูล
พูดง่ายๆ Plagiarism ก็คือ การขโมยความคิด หรือคำพูดของคนอื่นมาดื้อๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตนั่นเอง เช่น การนำเอาต้นฉบับของเขามาเขียนใหม่ และใส่ชื่อของตนเอง รวมถึงการนำสถิติ รูปภาพ หรือกราฟจากแหล่งอื่นมาทำรายงานส่งอาจารย์ โดย copy & paste และไม่อ้างอิงแหล่งที่มาให้ชัดเจน
การกระทำเชิง Plagiarism ดังกล่าว เป็นการกระทำที่เหมือนจะสมอ้างแสดงตนว่า ฉันเป็นคนคิดและเป็นคนเขียนสิ่งนั้นๆ ขึ้นมาเอง ซึ่งถือเป็นการเอาเปรียบเจ้าของผลงานที่แท้จริง และยังเป็นการดูถูกสติปัญญาของตัวเองอีกต่างหาก
เรื่อง Plagiarism เป็นเรื่องที่อาจารย์ โดยเฉพาะอาจารย์ชาวต่างประเทศ ที่คณะอักษรศาสตร์ เคร่งมากกกกก…ก เพราะมันเป็นเรื่องที่สำคัญจริงๆ มันคือทรัพย์สินทางปัญญา มันคือเรื่องของลิขสิทธิ ที่ทุกคนควรให้ความเคารพกับงานเขียนของคนอื่น ซึ่งเราก็เชื่อว่า คงไม่มีใครหน้าไหนพอใจหรอก ถ้าบังเอิญไปเจองานของตัวเองอยู่บนพื้นที่ของคนอื่น…ในนามของคนอื่น… โดยเรามิได้เห็นชอบมาก่อน
ไม่ว่าจะเป็นการทำงานเชิงวิชาการ หรือการสร้างสรรค์ผลงานงานเขียนของตนเอง เรามีสิทธิที่จะไปอ่านงานอื่นๆ แล้วเกิดแรงบันดาลใจหรือความคิดต่อยอดดีๆ มาใส่ในงานของเรา แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น “การคัดลอกกับการได้รับแรงบันดาลใจ” มันต่างกันนิดเดียวเท่านั้น
ทางที่ดีเราควรหลีกเลี่ยง Plagiarism โดยท่องหลักการที่ง่ายมากๆ ไว้ตลอด นั่นคือ “Don’t copy!” งานของเรา สมองของเรา คิดเองเขียนเอง น่าภูมิใจกว่ากันเยอะ หรือถ้าเราจำเป็นจะต้องเอางานเขามาใส่ในงานของเรา แม้จะเพียงประโยคหนึ่งประโยคเดียวก็ตาม ก็ควรทำอย่างถูกต้องเหมาะสม โดยวิธีต่อไปนี้
- จดโน้ตย่อทุกครั้งที่อ่านแหล่งอ้างอิง โดยจดสั้นๆ สรุปเอาใจความสำคัญด้วยภาษาของเราเอง และกำกับรายละเอียดที่จะใช้ในการอ้างอิง (เช่น ชื่อหนังสือ ชื่อผู้แต่ง ปีที่พิมพ์ ฯลฯ)
- หลังจากอ่านแหล่งข้อมูลเสร็จ ทิ้งเวลาสักพัก แล้วจึงเขียนงานของเราเอง เพราะมิฉะนั้นเราอาจติดภาษาและสำนวนของผู้เขียนที่เขียนงานชิ้นที่เราเพิ่งอ่านมาโดยไม่รู้ตัว
- เวลาเขียนงานตัวเอง ให้ปิดแหล่งอ้างอิงนั้นก่อน ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ควรเปิด จะเปิดได้ก็แต่โน้ตย่อที่เราจดสรุปมาเท่านั้น ถ้าสงสัยหรือไม่แน่ใจส่วนใดของเนื้อหาจริงๆ ถึงจะหยวนๆ กลับไปเปิดได้ เพื่อความถูกต้องของข้อมูล
- หากจำเป็นต้องคัดลอกมาทั้งประโยคหรือทั้งย่อหน้า จะต้องใส่เครื่องหมายอัญประกาศ (Quotation Mark) “…” และระบุแหล่งอ้างอิงให้ชัดเจน
- ถ้ารู้สึกว่าเครื่องหมายคำพูดหรือเครื่องหมายอัญประกาศ (Quotation Mark) มันรกหูรกตา สามารถใช้เทคนิคการถอดความ (Paraphrase) หรือ การสรุปสาระสำคัญ (Summary) แทนได้ แต่ก็ต้องใส่แหล่งที่มาอยู่ดี ห้ามละทิ้งเด็ดขาด
Paraphrase คือการเขียนข้อความใหม่ที่ยังคงเนื้อหาหรือความหมายเดิมของต้นฉบับ โดยปรับเปลี่ยนสำนวนภาษา คำ และรูปประโยคให้เป็นภาษาของเราเอง ความยาวและน้ำหนักของเนื้อหาจะเท่าๆ กับของเดิม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ขอย้ำว่าการ paraphrase ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนเพียงคำสองคำในประโยค หรือตัดทอนบางคำออกไป แต่เราต้องเขียนใหม่เองเท่านั้น
ส่วน Summary คือการจับใจความสำคัญมาเขียนใหม่ เป็นการสรุปให้ข้อความนั้นสั้นกว่าเดิม เช่น จาก 10 บรรทัด เหลือ 2 บรรทัด ซึ่งแน่นอนว่าภาษาที่ใช้ก็ต้องเป็นภาษาของเราเองด้วยเช่นกัน
ตัวอย่าง Quotation ในบทความ
………………………………………………….. “Treating people as though they have knowledge that they do not have can result in miscommunication and perhaps embarrassment.” (Nickersong, 1999) …………………………………………………………………………………..
จากตัวอย่างข้างต้น ประโยคที่ถูกครอบโดยเครื่องหมายคำพูดนี้เป็นส่วนหนึ่งอยู่ในบทความเลย ส่วนในวงเล็บที่ต่อท้ายประโยคดังกล่าวนั้นคือชื่อผู้แต่งและปีที่พิมพ์ตามลำดับ
ถามว่าวงเล็บไว้เพื่ออะไร?
นอกจากให้เกียรติเจ้าของเดิมแล้ว เราจำเป็นต้องบอกที่มาไว้สำหรับผู้อ่านที่อยากหาต้นฉบับมาอ่านประกอบหรือหาข้อมูลจากแหล่งอื่นมาศึกษาเพิ่มเติมได้
ถามว่าแค่ชื่อผู้แต่งกับปีที่พิมพ์ที่วงเล็บแทรกไว้ในเนื้อหานั้นจะพอหรือ?
แน่นอนว่าไม่พอ แต่เราวงเล็บไว้แค่นั้น เพื่อไม่ให้มันรกจนขัดอรรถรสคนอ่านมากเกินไป วงเล็บแค่นั้นก็พอ ส่วนที่เหลือนั้น คนอ่านเขาเปิดไปดูต่อได้ในหน้าบรรณานุกรม (Work Cited) หรือแหล่งอ้างอิง (Reference) ซึ่งอยู่ท้ายบทความหรือท้ายเล่มหนังสือของเราอีกที
เราอาจจะเอาข้อมูลมาจากหนังสือหรือเว็บไซต์หลากหลายที่มา แต่ก็ไม่ยุ่งยากอะไร เพราะบรรณานุกรม (Work Cited) หรือแหล่งอ้างอิง (Reference) จะเรียงตามลำดับตัวอักษร A-Z (หรือก–ฮ) ของชื่อผู้แต่ง สมมติคนอ่านเขาต้องการหาแหล่งอ้างอิงเต็มๆ ของ Nickersong, 1999 นั้นจริงๆ เขาจะไปรันหาอักษร N เและพบแหล่งที่มาเต็มๆ ของ Nickersong, 1999 เอง คือเขาจะเจอทั้งชื่อหนังสือ ชื่อสำนักพิมพ์ หรือลิงค์เว็บไซต์ที่เป็นที่มาของประโยคนั้นๆ และสามารถไปตามหาอ่านได้ทันที
บรรณานุกรม (Work Cited) หรือแหล่งอ้างอิง (Reference) ต้องมีข้อมูลของแหล่งที่มาที่ครบถ้วนสมบูรณ์และถูกต้องตามหลักสากล โดยเรียงจากชื่อผู้แต่ง, ชื่อบทความ, ชื่อวารสาร และเล่ม, ปีที่พิมพ์, และหน้าของบทความนั้นๆ ตามลำดับ หากมีความยาวเกิน 1 บรรทัด เวลาขึ้นบรรทัดใหม่ ต้องเคาะ space bar เพื่อเว้นวรรคสัก 5-7 ตัวอักษรก่อนด้วย ดังนี้
ตัวอย่างบรรณานุกรม
Nickerson, Raymond S. “How We Know-and Sometimes Misjudge-What Others Know:
Imputing One’s Own Knowledge to Others.” Psychological Bulletin 125.6 (1999): p737.
ตัวอย่างการ Paraphrase ที่ถูกต้อง (จาก Quotation ด้านบน)
Nickerson (1999) suggests that if a speaker assumes too much knowledge about the subject, the audience will either misunderstand or feel uncomfortable (p.737).
ในตัวอย่าง Paraphrase นี้ จะเห็นได้ว่าเราต้องระบุอย่างชัดเจนตั้งแต่ต้นว่า ประโยคตรงนี้เป็นไอเดียของ Nickerson นะ ไม่ใช่ของตัวเราเอง แล้วก็ต้องเปลี่ยนภาษาเป็นภาษาของเราเอง โดยใจความสำคัญยังคงไว้เหมือนเดิมตามที่ Nickerson กล่าวไว้ในต้นฉบับดั้งเดิม
แต่ถ้าไม่ได้เขียนบทความเชิงวิชาการหรืองานเขียนที่เป็นทางการมากๆ เราอาจทำง่ายๆ โดยแค่แปะลิงค์หรือเขียนเครดิตคนเขียนเขานิดนึงก็ได้ อย่างน้อยก็เป็นการแสดงความจริงใจ ไม่หลอกตัวเองและไม่หลอกคนอ่าน
เราเชื่อว่าแค่แปะลิงค์ให้เครดิตที่มาสักนิด เจ้าของเดิมก็ไม่หวงอะไรมากแล้ว ยิ่งการแปะลิงค์ให้เขาก็เหมือนเป็นการเพิ่มปริมาณคนเข้าเว็บ หรือ traffic ให้เว็บของเขาอีกด้วย ใครเขาก็โอเคกันทั้งนั้นแหละ เพราะเรื่องดีๆ ใครเขาก็อยากให้ช่วยกันแบ่งปัน แต่ต้องเป็นไปในทางที่ถูกที่ควร ก็แค่นี้แหละ :D
แหล่งอ้างอิง
พี่สตางค์. (11 พ.ค. 2555). "ต้องอ่าน! สุดยอดเทคนิคเขียนงานหลีกเลี่ยง Plagiarism". เด็กดีดอทคอม. สืบค้นเมื่อ 26 เม.ย. 2556, จาก http://www.dek-d.com/content/studyabroad/28494/.
โจรกรรมทางวรรณกรรม. สืบค้นเมื่อ 26 เม.ย. 2556, จาก http://th.wikipedia.org/wiki.
32 comments