When & Why I Start Greening Up My Space
เมื่อเราเริ่มสร้างพื้นที่สีเขียวในบ้าน
ก่อนหน้านี้เราไม่เคยปลูกต้นไม้อย่างจริงจังเลย นอกจากต้นกระบองเพชรที่ขึ้นชื่อเรื่องเลี้ยงง่าย-ตายยาก เพราะตอนนั้นเราคิดว่าเราไม่มีเวลาดูแล อีกอย่าง เราเคยมีพลูด่างในห้อง ตอนนั้นเราไม่รู้ว่ามันเป็นพิษต่อสัตว์เลี้ยง แล้วแมวของเราไปแทะเล็มใบจนอาเจียนหลายรอบ นับแต่ตอนนั้นเราก็ล้มเลิกความคิดที่จะเลี้ยงต้นไม้ในบ้าน
จนกระทั่งช่วงขึ้นปีใหม่ที่ผ่านมา เราอยากจัดระเบียงโล่ง ๆ ให้เป็นสวนย่อม ๆ เราก็เริ่มซื้อต้นไม้และกระถางจาก Ikea มาวางที่ระเบียง แล้วเชื่อมั้ย… แค่ต้นไม้เพียงต้นสองต้น มันทำให้พื้นที่ ณ ตรงนั้นเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ทันทีที่วาง และทำให้เราอยากอยู่ติดบ้านมากขึ้น อยู่บ้านแล้วแฮปปี้มากขึ้น ทั้งที่โดยปกติแล้วเราไม่ชอบอยู่บ้านเอาซะเลย
การเปลี่ยนแปลงชั่วพริบตานั้น ทำให้เรารีบกลับไป Ikea เพื่อซื้อต้นไม้มาลงเพิ่มอีก แต่เนื่องจากที่ Ikea มีต้นไม้ให้เลือกไม่มากนัก เราจึงเริ่มไปตลาดต้นไม้ รวมถึงซื้อจากร้านในไอจี ซึ่งมีต้นไม้ให้เลือกเยอะกว่า ต่อมา ในเวลาไม่ถึงเดือน ต้นไม้ก็งอกเต็มระเบียงและกลายเป็นสวนย่อม ๆ อย่างที่เราคิดไว้
แล้วพอ COVID-19 ระบาด ทำให้เราว่างงานมากขึ้น อยู่บ้านมากขึ้น และมีเวลาช้อปปิ้งต้นไม้กับกระถางมากขึ้น จนต้นไม้ค่อย ๆ ลามเข้ามางอกในบ้าน โดยเราพยายามศึกษาและเลือกต้นไม้ที่เหมาะแก่การเลี้ยงในบ้านและอยู่ร่วมกันกับแมว ๆ ของเราได้ จากที่เคยคิดว่าเราไม่มีเวลาดูแลต้นไม้ ตอนนี้เราจัดสรรเวลาเพื่อต้นไม้ได้จนมันกลายเป็น routine ของเราไปโดยปริยาย
เราเองก็ยังไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านการปลูกหรือการเลี้ยงต้นไม้ ยังคงเป็น beginners เช่นเดียวกับหลาย ๆ คน บางต้นที่เราเลี้ยงไว้ก็ยังมีอาการที่ไม่พึงประสงค์ เช่น ใบเหลือง แต่เราก็ keep learning หาข้อมูลเกี่ยวกับการดูแลต้นไม้ต่าง ๆ มาอ่านอยู่เสมอ และทุกครั้งที่ไปซื้อต้นไม้ตามร้านต่าง ๆ ก็จะพูดคุยและสอบถามทริคการดูแลต้นไม้จากคนขายต้นไม้มาด้วย ซึ่งเราตั้งใจว่า เราจะนำความรู้จากหลาย ๆ แหล่ง บวกกับประสบการณ์ส่วนตัวที่ได้จากการลงมือเลี้ยงเอง มาสรุปเป็นบล็อก Plant Mom (หรือ Plant Parent(s) เผื่อคุณผู้ชายจะอยากอ่านด้วย) ตั้งแต่บทความนี้เป็นต้นไป
Where & How to Find Plants
เราซื้อต้นไม้ที่ไหน
1. Ikea
ตามที่เล่าไปข้างต้นเลย เราเริ่มจากซื้อที่ Ikea ซึ่งก็ง่ายดีกับการเริ่มต้น เพราะข้างกระถางดำมีคำแนะนำการเลี้ยง เช่น ปริมาณแสง ปริมาณการรดน้ำ รวมถึงขนาดของกระถาง ของต้นนั้น ๆ แปะไว้ และที่ Ikea เราสามารถเลือกกระถางสวย ๆ ขนาดที่เป๊ะ ๆ กับต้นไม้ที่เราเลือกกลับบ้านมาพร้อมกันได้เลย แต่ข้อจำกัดคือ ที่ Ikea มีต้นไม้ให้เลือกไม่เยอะ และช่วง COVID-19 นี้ เราต้องสั่งซื้อ Ikea แต่ทางออนไลน์ ซึ่งในเว็บไซต์มีให้เลือกกดสั่งซื้อแค่ต้นไม้ปลอมกับพวกกระถางและอุปกรณ์การทำสวนเท่านั้น ดังนั้น หลัก ๆ ณ ตอนนี้ (เม.ย. 2020) เราจึงซื้อต้นไม้จากตลาดต้นไม้ สวน กับร้านในไอจีเท่านั้น
2. ตลาดต้นไม้
เริ่มแรกเลย. เราซื้อต้นไม้จากตลาดต้นไม้ราบ 11 (แถว ๆ วัดพระศรีฯ) เพราะใกล้บ้าน ที่นั่นก็มีร้านต้นไม้ให้เลือกหลายร้านและหลายพันธุ์ แต่ส่วนใหญ่เป็นต้นไม้ทั่วไปหรือไทย ๆ โบราณ ๆ ไม่ค่อยเน้นต้นที่คนรุ่นหลัง ๆ นิยมซื้อไปตกแต่งบ้านสักเท่าไหร่ แต่ก็มีอยู่ 2-3 ร้านในตลาดที่มีต้นไทรใบสัก ต้นยางอินเดีย ต้นมอนสเตอร่า ฯลฯ รวมถึงไม้สะสม จำหน่ายในราคาที่ถูกกว่าร้านในไอจี และเราสามารถไปเลือกต้นสวย ๆ ได้เองอีกด้วย ทั้งนี้เราแนะนำให้ไปวันเสาร์-อาทิตย์ เพราะพ่อค้า-แม่ค้าจะอยู่กันแทบครบร้านและมีต้นไม้ใหม่ ๆ มาลงเยอะกว่าวันธรรมดา แต่อีกไม่นาน ตลาดต้นไม้ราบ 11 จะถูกย้ายออกไปอยู่ที่อื่นแล้ว
อีกแหล่งนึงที่เราเพิ่งค้นพบคือ ตลาดขายส่งต้นไม้แถวบางใหญ่ มีหลายแห่งเลย แต่ที่เราแวะบ่อย ๆ คือ ตลาดต้นไม้ซอยวัดพระเงินกับตลาดบุญยง และล่าสุดก็มีตลาดสมบัติบุรีแถวบางบัวทอง ถึงแม้ว่าบางใหญ่กับบางบัวทองจะค่อนข้างไกลบ้านเรานิดนึง แต่ถือว่าคุ้มค่าแก่การเดินทาง เพราะมีต้นไม้ให้เลือกเยอะพันธุ์ เยอะต้น และราคาดีมาก ใครกำลังหาต้นยางอินเดียหรือไทรใบสัก ที่นี่มีให้เลือกเป็นร้อยต้น ใครกำลังหามอนสเตอร่าต้นใหญ่เบิ้ม ๆ หรือมอนฯ ต้นอ่อนราคาร้อยนิด ๆ ที่นี่มีหมด รวมไปถึงต้นไม้สายสะสม ก็มีเช่นกัน แนะนำให้เอารถคันใหญ่ ๆ ไป หรือหากใครใช้รถแฮชแบ็ก พับเบาะรถก่อนออกเดินทางรอไว้ได้เลย เพราะต้องได้ต้นไม้กลับบ้านแน่นคันแน่ ๆ
ตลาดต้นไม้คลอง 15 มีร้านต้นไม้และต้นไม้เยอะ แต่ไกลอยู่ และเราก็ไม่ค่อยได้อะไรกลับมา. อาจเพราะต้นไม้ไม่ได้อยู่ในความสนใจของเราสักเท่าไหร่ ส่วนต้นที่อยู่ในความสนใจ เราก็มีหมดแล้ว (ซื้อมาจากไอจี ซึ่งราคาสูงกว่าน่ะแหละ แต่ก็เป็นอะไรที่ยังรับได้ เพราะถ้าให้ขับมาที่นี่เอง ก็ใช้เวลาและใช้น้ำมันพอสมควร)
นอกจากนี้ ตลาดต้นไม้เจเจ หรือตลาดต้นไม้จตุจักร ทุกวันอังคาร-พฤหัสฯ ก็เริ่มมีต้นไม้ฮิต ๆ มาขาย แต่ข้อเสียคือร้อนมากทั้งคนทั้งต้นไม้ เท่าที่เราไปมาล่าสุด ราคาต้นไม้ที่ฮิต ๆ หรือต้นไม้สะสม ก็ไม่ต่างจากร้านในไอจีมาก ต้นไม้ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้สวยมาก (อาจจะเพราะร้อนด้วย เครียดจากการเดินทางบ่อยด้วย) เราจึงไม่ค่อยได้ต้นไม้จากที่นี่นัก แต่คิดว่า ก็คงไปอีกเพื่อซื้อพวกกระถางและวัสดุปลูก
3. สวน แหล่งเพาะพันธุ์
การเดินทางไปเลือกซื้อต้นไม้ที่สวนเลยเป็นทางเลือกที่เราชอบมากที่สุด เพราะนอกจากเรื่องราคาที่ดีที่สุดแล้วนั้น ที่สวนยังมีต้นไม้ให้เลือกเยอะแยะตระการตา และได้ความรู้สึกเชื่อมั่น ประมาณว่า เราสัมผัสได้ว่าแต่ละต้นแข็งแรงจริง ๆ และได้พูดคุยกับเจ้าของสวน ซึ่งทำให้เราได้ความรู้และทริคการดูแลต้นไม้กลับมาเยอะตลอด (แล้วแต่ละสวนก็มักมีเทคนิคหลากหลายแตกต่างกันออกไป)
เราเพิ่งไปเยี่ยมชมมา 2 สวน ได้แก่ สวน philogardenbkk แถวหนองจอก กับ สวนไม้ด่างดอนเมือง แถวดอนเมือง (ชมรูปเบื้องต้นบน IG: KWANMANIE ของเราก่อนได้) ซึ่งได้ต้นไม้กลับมาสวนละเป็นสิบต้นเลย ถ้าใครอยากไปล้มละลายแบบเรา ต้องนัดกับทางสวนนั้น ๆ ก่อนไปเข้าชม และควรมี wishlist ในใจ ถามสต๊อกจากทางสวนก่อนไปด้วยจะดีที่สุด
4. Social Media
ถ้าเรากำลังหาต้นไม้ที่ตอนนี้กำลังเป็นที่นิยมหรือไม่สะดวกเดินทางไปตลาดต้นไม้ เราก็แนะนำว่าหาจากร้านในไอจีจะง่ายและสะดวกกว่า แต่ก็มีความเสี่ยงที่ต้นไม้จะเสียหายหรือบอบช้ำระหว่างการขนส่ง และเรามักไม่ได้เลือกต้นไม้เอง บ่อยครั้งที่เราผิดหวังกับต้นไม้หลังจากแกะกล่องพัสดุ หรือบางทีก็ได้ต้นไม้ที่ราคาถูกแต่รากยังไม่แข็งแรงดี (อารมณ์รีบขายหรือเพิ่งหัดขายต้นไม้) แต่ร้านไอจีที่เรายังไม่เคยผิดหวังเลย ทั้งในความงามของต้นไม้และการดูแลจากแม่ค้า นั่นก็คือร้าน @happyindoorplant ซึ่งเน้นขายต้นไม้ที่คนรุ่นเรา ๆ นิยมเลี้ยงไว้ในบ้านในราคาที่สมเหตุสมผล และเราสามารถเดินทางไปเลือกต้นไม้เองได้ (ร้านอยู่แถวสุวินทวงศ์ 44)
นอกจากนี้ เราก็ซื้อต้นไม้จากไอจีหลายเจ้ามาก (เวลาลง IG Stories โชว์ต้นไม้ใหม่ เราจะแท็กชื่อร้านไว้ในนั้นด้วยเสมอ) ประมาณว่า ถ้าเจอร้านไหนโพสต์ต้นที่เราตามหาอยู่หรือต้นที่ถูกใจเรา เราก็พร้อม CF ทันที แต่ทั้งนี้ก็ดูความน่าเชื่อถือของร้านด้วย และถ้าเป็นไปได้ เราก็จะขอนัดรับหรือจัดส่งแบบแมสเซนเจอร์
…
ในการเลือกซื้อต้นไม้ (กรณีไปเลือกซื้อเองได้) เราโชคดีที่ร้านที่เราไปดูมีแต่ต้นไม้สวย ๆ อยู่แล้ว ไม่ต้องดูเยอะในเรื่องใบเหลือง ใบน้ำตาล หรือมีเชื้อรา ฯลฯ หลัก ๆ คือเลือกต้นที่เราชอบ และคิดว่าเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในบ้านของเรา แล้วก็เลือกต้นที่ฟอร์มสวย ๆ ถูกใจเราได้เลย บางครั้งเราลังเลระหว่างต้นไม้ชนิดเดียวกันสองต้น เราก็จะเลือกต้นที่ฟอร์มสวยเป็นหลัก ถึงแม้ต้นนั้นใบอาจจะแหว่งบ้าง แต่ถ้าเราดูแลดี วันนีงเขาก็จะงอกใบใหม่ที่สวย ๆ ขึ้นมาเอง แต่ถ้าฟอร์มไม่สวยมาแต่แรก เราจะเลี้ยงให้มันโตมาฟอร์มสวยถูกใจได้ยากกว่า
What Are the Basic Needs of Plants
พื้นฐานที่เราต้องรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงต้นไม้
ตลอดระยะเวลากว่าครึ่งปีที่เราเริ่มซื้อต้นไม้หลากหลายนานาพรรณมาเลี้ยงไว้ในบ้าน เราได้เริ่มเรียนรู้และเข้าใจเบสิกว่า ไม่ว่าจะเริ่มเลี้ยงต้นไม้ในบ้านเพราะอะไร หรือจะเลี้ยงต้นอะไรบ้าง สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญและเราจำเป็นต้องใส่ใจเพื่อต้นไม้ของเรา ได้แก่ โลเกชั่น กระถาง แสง อุณหภูมิ ความชื้น น้ำ ดินและปุ๋ย ฯลฯ
1. การเลือกกระถาง (Pots)
- ส่วนใหญ่ร้านต้นไม้ขายต้นไม้มาพร้อมกับกระถางพลาสติกสีดำที่เจาะรูมาแล้วอยู่แล้ว แต่เพื่อความสวยงามหรือเพื่อตกแต่งบ้าน เราก็ต้องลงทุนหาซื้อกระถางสวย ๆ เช่น กระถางสาน กระถางเซรามิกสีต่าง ๆ ตามสไตล์ของเราและ/หรือสไตล์ห้องของเรา มาเปลี่ยนหรือมาใช้สำหรับสวมซ้อนกระถางกัน ซึ่งส่วนใหญ่เราซื้อกระถางสวย ๆ จาก Ikea และบางส่วนซื้อจากร้านไอจี
. - กระถางสวย ๆ ส่วนใหญ่เป็นภาชนะที่ไม่มีรูระบายน้ำที่ก้นกระถาง เราจึงมักใช้วิธีสวมกระถางซ้อนกันมากกว่า โดยเลือกกระถางสวมที่ขนาดพอดีกับกระถางพลาสติกสีดำที่ติดมากับต้น หรือถ้ากระถางสวย ๆ ถูกเจาะรูก้นกระถางมาอยู่แล้ว เราต้องมีจานรองกระถางเข้าเซตกันมาด้วย
. - กระถางเซรามิกและกระถางพลาสติก (ทั้งกระถางดำที่มากับต้น กับกระถางสวมสวย ๆ) มักกักเก็บความชื้นได้ดี เหมาะแก่การนำมาปลูกต้นไม้ที่ชอบความชื้นหรือเหมาะสำหรับ Plant Parents ที่ไม่ค่อยมีเวลารดน้ำ
. - กระถางดินเผา ซึ่งพื้นผิวมีรูพรุน ๆ เล็ก ๆ ระบายความชื้นได้ดีกว่ากระถางเซรามิกและกระถางพลาสติกมาก จึงเหมาะกับต้นไม้ที่ไม่ค่อยชอบความชื้น (สังเกตได้ว่า ต้นกระบองเพชรหรือ cacti ส่วนใหญ่ คนนิยมเลี้ยงในกระถางดินเผา)
.
2. แสงและอุณหภูมิ (Light & Temperature)
- Houseplants ส่วนใหญ่ก็ชอบสภาพอากาศเหมือนพวกเรา นั่นคืออบอุ่นในตอนกลางวันและเย็น ๆ หน่อยในช่วงกลางคืน แต่พยายามไม่ไปวางใกล้ ๆ อุปกรณ์ที่มีรังสีหรือเครื่องปรับอากาศจนเกินไป
. - ไม่ว่าร้านไหนจะชูจุดขายต้นไหนว่าเลี้ยงในที่แสงน้อยได้ แต่จำไว้เลยว่า ไม่ว่าอย่างไร ต้นไม้ทุกต้นก็ต้องการแสงเป็นแหล่งพลังงานในการเจริญเติบโตอยู่ดี หมายความว่า ถึงแม้ต้นนั้น ๆ อาจจะเลี้ยงในที่แสงน้อยได้ แต่มันก็อาจจะโตช้าหรือไม่โตเลย หรืออาจจะมีการปรับตัวเปลี่ยนแปลงจากตอนที่เราซื้อมาใหม่ ๆ เช่น หากนำต้นยางอินเดียดำมาเลี้ยงในที่แสงน้อย ถึงแม้จะไม่ตาย แต่ใบที่ปกติมีสีเขียวเข้มจนเกือบดำมันจะค่อย ๆ อ่อนลงจนกลายเป็นสีเขียวธรรมดา และ/หรือใบอาจจะไม่ชูตั้งสวยงามอย่างที่ควรจะเป็น เป็นต้น
. - Houseplants ส่วนใหญ่ชอบแสงแบบ indirect light หรือ filtered light หมายความว่า หากเราเลี้ยงเขาในบริเวณบ้านหรือในบ้าน เราก็ควรวางเขาใต้ร่มชายหลังคา หรือห่างจากหน้าต่างเฉลี่ยประมาณ 1 เมตร หรือน้อยกว่า 1 เมตรก็ได้ในกรณีที่มีผ้าม่านบางสีขาวช่วยกรองแสงแล้วชั้นหนึ่ง (ทั้งนี้ สภาพแสงของแต่ละฤดูกาลและแต่ละบ้านก็มีความแตกต่างกัน เช่น บางบ้านอาจมีสิ่งปลูกสร้างอื่นบังแสงในทิศตะวันตกแทบตลอดปี เราก็ต้องดูตามความเหมาะสมตรงนี้ด้วย)
. - ถ้าต้นไหนชอบแสงน้อยถึงปานกลางก็อาจไว้แถวทิศตะวันออกกับทิศเหนือ ถ้าต้นไหนชอบแดดมากหน่อยก็อาจเอาไว้แถวทิศตะวันตกซึ่งมักแดดแรงหน่อยในช่วงบ่าย และหลีกเลี่ยงหน้าต่างทิศใต้สำหรับต้นไม้ที่ไม่ได้ต้องการแสงมากนักเพราะทิศใต้เป็นจุดที่ต้นไม้จะเจอแสงตลอดวัน
- ทั้งนี้ทั้งนั้น จุดที่เราวางต้นไม้ ก็ต้องมีอากาศที่ flow หรือถ่ายเทด้วย เช่น อาจจะเปิดประตู หน้าต่าง หรือพัดลมเบา ๆ ช่วย
.
3. ความชื้น (Humidity)
- เราสามารถเพิ่มความชื้นให้ต้นไม้ในบ้านได้หลายวิธี เช่น ใช้ฟ็อกกี้สเปรย์ละอองน้ำให้ต้นไม้ในช่วงเช้า (นอกเหนือจากการรดน้ำโดยปกติ) หรือเลี้ยงต้นไม้รวมกันเป็นกรุ๊ป ๆ ที่มุมใดมุมหนึ่งด้วยกันเยอะ ๆ เพื่อให้มันช่วยเพิ่มความชื้นในพื้นที่นั้น ๆ ให้กันและกัน
- นอกจากนี้ เราซื้อเครื่องทำความชื้น และ (สั่งผ่านแอพฯ) ให้เปิดในช่วงกลางวันของวันร้อน ๆ ที่เราไม่อยู่บ้าน
. - หากต้นไม้ขาดความชื้น มักจะมีความผิดปกติเกิดขึ้นที่ใบ เช่น ปลายใบเป็นสีน้ำตาล เป็นต้น (อาการอาจแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับชนิดของต้นไม้)
.
4. การรดน้ำ (Watering)
- สาเหตุการตายของต้นไม้ในบ้านโดยทั่วไปคือ การรดน้ำ ทั้งการรดน้ำมากเกินไป (overwatering) และการรดน้ำน้อยเกินไป (underwatering) แต่ overwatering เป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งเลย เพราะมันทำให้รากเน่า ส่วน underwatering มักแสดงอาการให้เห็นก่อน ไม่ได้เฉาและตายอย่างเฉียบพลันแบบ overwatering อย่างไรก็ตาม อาการของต้นที่ถูก overwatering และ underwatering มักจะคล้าย ๆ กัน และเราก็ควรพยายามให้น้ำต้นไม้อย่างพอดีและเหมาะสม
.- ถ้าต้นไม้เหี่ยวเพราะ underwatering ให้เอาเข้าที่ร่ม และเอาต้นไม้พร้อมกระถางพลาสติกสีดำที่มีรูก้นกระถางวางลงไปในกะละมังหรือถังที่มีน้ำอยู่เกือบถึงขอบด้านบนของกระถาง (แต่ไม่ต้องให้น้ำล้นเข้าไปในกระถางจากด้านบน) ทิ้งไว้ประมาณ 30 นาทีแล้วปล่อยให้แห้ง ต้นไม้จะค่อย ๆ ฟื้นตัว
. - ถ้าต้นไม้เหี่ยวเพราะ overwatering (ซึ่งเป็นปัญหาหนักกว่า underwatering ข้างต้น) ให้รีบเอาต้นไม้ออกจากกระถาง พันราก (root ball) ด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์หรือกระดาษทิชชู่ อาจต้องเปลี่ยนกระดาษจนกว่ารากจะหายชื้น จากนั้นก็เอาไปใส่กระถางใหม่ (repot) พร้อมดินสดใหม่ (ไม่แนะนำให้ใช้ดินและกระถางของเดิมเพราะอาจมีเชื้อราปะปนอยู่) เลี้ยงไว้ในที่ร่มสัก 2-3 อาทิตย์จนกว่าจะฟื้นตัว (ในระยะนี้ ส่วนใหญ่เราไม่รดน้ำเพิ่ม แต่จะยังฉีดสเปรย์ละอองน้ำหรือรักษาความชื้นให้ดินใหม่ของต้นไม้อยู่เรื่อย ๆ)
.
- ถ้าต้นไม้เหี่ยวเพราะ underwatering ให้เอาเข้าที่ร่ม และเอาต้นไม้พร้อมกระถางพลาสติกสีดำที่มีรูก้นกระถางวางลงไปในกะละมังหรือถังที่มีน้ำอยู่เกือบถึงขอบด้านบนของกระถาง (แต่ไม่ต้องให้น้ำล้นเข้าไปในกระถางจากด้านบน) ทิ้งไว้ประมาณ 30 นาทีแล้วปล่อยให้แห้ง ต้นไม้จะค่อย ๆ ฟื้นตัว
- ต้นไม้แต่ละชนิดต้องการน้ำต่างกัน ต้นไม้ชนิดเดียวกันแต่เลี้ยงไว้คนละที่ก็ต้องการน้ำต่างกัน เช่น ต้นเฟิร์นที่เราซื้อมาจาก Ikea มีเขียนข้างกระถางว่ารดน้ำ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ แต่เราเลี้ยงไว้ที่ระเบียงห้อง ซึ่งค่อนข้างร้อนและมีแสงแทบตลอดวัน เราก็รดน้ำทุกวัน มันก็ไม่เป็นอะไร (เขาว่ากันว่า เราอาจจะไม่มีปัญหา overwatering เลย ถ้าเลี้ยงต้นไม้ไว้ในที่ที่มีแสงแดดเพียงพอ) หรือถ้าหน้าฝนก็อาจไม่ต้องรดน้ำบ่อยเท่าหน้าร้อน ดังนั้น พูดง่าย ๆ ก็คือ เราไม่จำเป็นต้องรดน้ำตาม schedule ที่เขาแนะนำแบบเป๊ะ ๆ หรือแทนที่จะตั้ง schedule ว่า ฉันจะรดน้ำทุกวันจันทร์, พุธ, ศุกร์ ก็เปลี่ยนเป็น ฉันจะรดน้ำทันทีที่หน้าดิน (ประมาณ 1-2 cm) มันแห้งแล้วเท่านั้น
. - ล่าสุด เราเพิ่งลองซื้อเซนเซอร์เตือนการรดน้ำมาจาก Ikea (ราคาชิ้นละ 159 บาท) วิธีใช้คือ ตั้งค่าที่ตัวเครื่องว่าต้นไม้ต้องการน้ำแค่ไหน (น้อย / ปานกลาง / มาก) แล้วก็เอาไปปักไว้ในดินของกระถางต้นไม้ ถ้ากระถางไหนดินแห้งหรือถึงเวลารดน้ำ เครื่องจะโชว์ไฟกะพริบ ๆ สีฟ้า เราก็รดน้ำกระถางนั้นจนกว่าไฟจะหยุดกะพริบ
. - การรดน้ำต้องรดแบบไม่งกหรือไม่หวงน้ำ เราต้องรดให้ดินและส่วนผสมของดินในกระถางชุ่มชื้น แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่เยอะไปจนแฉะ วิธีสังเกตคือ ถ้าน้ำที่รดลงดินเริ่มไหลออกนอกรูก้นกระถางแล้วก็เป็นอันใช้ได้ น้ำส่วนเกินที่ไหลออกจากรูก้นกระถางจะไปนองอยู่ที่จานรองกระถางหรือในกระถางสวม (กระถางสวย) เราก็แนะนำให้เอามาเททิ้งเลย เพราะถ้าปล่อยขังไว้นาน ๆ กระถางอาจชื้นเกินไปสำหรับต้นนั้น ๆ
. - ถ้าเป็นไปได้ รองน้ำฝนเอามาใช้รดน้ำ เพราะน้ำฝนมีไนโตรเจนที่พืชชอบอยู่ หรือไม่ก็รองน้ำประปาทิ้งไว้อย่างน้อยสัก 1 คืนก่อนที่จะเอามาใช้รดน้ำต้นไม้ เพราะบางทีคลอรีนหรือสารเคมีที่มากับน้ำประปาก็อาจจะไม่ค่อยเป็นผลดีต่อสุขภาพของต้นไม้ของเราสักเท่าไหร่
.
5. การใส่ปุ๋ยและตกแต่งต้นไม้ (Feeding & Grooming)
- หลังจากซื้อต้นไม้มาเลี้ยงได้สัก 2-3 สัปดาห์ เราก็ควรใส่ปุ๋ยให้ต้นไม้ หลังจากนั้นก็ควรใส่ปุ๋ยเพิ่มเดือนละครั้ง (หน้าร้อนคือช่วงที่เหมาะแก่การซื้อต้นไม้และปุ๋ยที่สุด แต่ประเทศไทยมีหน้าร้อนและแดดแรงแทบทั้งปี ดังนั้น เราอาจไม่ต้องคิดอะไรมาก) โดยใส่ปุ๋ยตอนที่ดินมีความชื้นอยู่
. - ปุ๋ยมีหลายประเภท และต้นไม้แต่ละชนิดก็อาจต้องการปุ๋ยแตกต่างกัน เราเองก็ยังไม่ได้ช่ำชองเรื่องปุ๋ยหรือเลี้ยงต้นไม้เป็นอาชีพ เราเลยเลือกปุ๋ยที่ดูใช้ง่ายและใช้ได้กับ.Houseplants ทุกต้น นั่นก็คือปุ๋ยออสโมโค้ท หรือปุ๋ยสูตรเสมอ 13-13-13 (มีแร่ธาติ N-P-K อย่างละ 13 ส่วนเท่ากัน ในการบำรุงต้นให้สมบูรณ์ ทั้งใบ ราก และดอก (ถ้ามี))
- นอกจากนี้ เราฉีดพ้นปุ๋ยน้ำทางใบ โดยเลือกใช้ Cherba Plant Food เพราะเขาว่ากันว่า เป็นวิธีที่พืชจะดูดซึมสารอาหารไปใช้ได้ไวกว่า ซึ่งก็น่าจะจริง เพราะตั้งแต่ใช้มา ต้นไม้ส่วนใหญ่ของเราก็ดูแข็งแรงดีและแตกใบใหม่เก่ง
. - ทุกสัปดาห์ ตรวจเช็คว่าต้นไม้ยังอยู่ดี เช่น เช็คว่ามีใบเหลืองหรือขอบใบสีน้ำตาลขึ้นมาหรือไม่ ถ้าเจอก็ตัดส่วนที่เสียหายทิ้งไปเลย หรือถ้าใบไหนเสียหายเยอะก็ตัดทิ้งทั้งใบ รอใบใหม่งอกอีกที ถ้ามีอาการหนัก ๆ ก็จะได้แก้ไขได้ทันท่วงทีด้วย เช่น ตัดรากส่วนที่เน่า หรือย้ายไปวางในที่ที่มีแสงมากขึ้น เป็นต้น
. - ทุกเดือน เช็ดใบให้ต้นไม้ในบ้าน โดยเฉพาะต้นไม้ที่มีใบขนาดใหญ่หรือต้นไม้ฟอกอากาศ เพราะฝุ่นที่เกาะอยู่บนใบไม้อาจทำให้ต้นไม้หายใจไม่สะดวกหรือรับแสงได้ไม่เต็มที่ (ระหว่างเช็ดใบก็จะได้สำรวจสุขภาพต้นไม้ไปด้วยในตัว) อาจใช้ผ้าชุบน้ำหมาด ๆ หรือนานทีก็อาจใช้ผ้าทาน้ำมันมะพร้าวบาง ๆ เช็ดที่ใบเพื่อความสวยงาม (หลังจากเช็ดด้วยน้ำมันมะพร้าว อย่าเพิ่งรีบเอาต้นไม้ โดยเฉพาะต้นไทรใบสักที่มีใบใหญ่ ไปโดนแดดทันที ควรเว้นระยะหลาย ๆ วันหรือใช้ผ้าชุบน้ำหมาด ๆ เช็ดซ้ำอีกทีหลังเช็ดด้วยน้ำมันมะพร้าว เพราะมิฉะนั้นใบอาจจะไหม้แดดได้)
6. การเปลี่ยนกระถาง (Repotting)
- ถึงแม้รากจะไม่เน่าหรือไม่ได้ overwatering แต่ไม่ช้าก็เร็ว ต้นไม้ก็จำเป็นต้องเปลี่ยนกระถางใหม่อยู่ดี เพราะต้นไม้อาจจะโตขึ้น ก็ต้องเปลี่ยนเป็นกระถางที่ใหญ่ขึ้น (แต่ก็ไม่ควรอัพไซส์อย่างก้าวกระโดดจนเกินไป ควรให้กระถางใหม่ใหญ่กว่ากระถางเดิมแค่ประมาณ 2 นิ้วเป็นใช้ได้) หรือสารอาหารจากดินในกระถางเก่ามันถูกดูดซึมไปใช้จนหมดแล้ว ซึ่งถ้าเราอยากควบคุมความสูงหรือขนาดของต้นไม้ไม่ให้สูงใหญ่จนเกินไป เราอาจเปลี่ยนแค่ดินใหม่ก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนไซส์กระถาง หรือถ้าหากต้นไม้ต้นนั้นใหญ่มาก ๆ จนเราเปลี่ยนกระถางไม่ไหว เราเปลี่ยนแค่หน้าดิน ประมาณ 2-3 นิ้วด้านบนก็ได้
. - ควรเปลี่ยนกระถางในฤดูร้อน (ซึ่งประเทศไทยก็มีฤดูร้อนทั้งปี) และเปลี่ยนตอนดินชื้น เช่น สมมติพรุ่งนี้เราตั้งใจจะเปลี่ยนกระถาง วันนี้เราก็ต้องรดน้ำต้นไม้รอไว้ก่อนเลย
.
7. แมลง เชื้อรา และโรค (Pests & Diseases)
- ณ ตอนนี้ เรายังไม่มีประสบการณ์และความรู้เรื่องแมลง เชื้อรา และโรคในต้นไม้ จึงขอยังไม่ลงรายละเอียดมาก แต่เชื่อว่า ถ้าเราเลี้ยงต้นไม้ในโลเกชั่นที่เหมาะสม และดูแลปัจจัยพื้นฐาน เช่น เรื่องน้ำและแสงแดด ให้ต้นไม้อย่างดี เราก็มีโอกาสน้อยที่จะมีปัญหาเหล่านี้ (กันไว้ดีกว่าแก้)
- อย่างไรก็ตาม เมื่อเรามีต้นไม้เยอะขึ้นจากหลายแหล่งที่มา และเมื่อหน้าฝนมาถึง ทำให้มีความชื้นมาก ศัตรูพืช เช่น เพลี้ย หรือไรแดง ก็บุกมาจนได้ เราก็พยายามต่อสู้และกำจัดด้วยวิธีชีวภาพ เช่น ฉีดพ่นน้ำส้มควันไม้ หรือน้ำสะเดา เป็นต้น (สารเคมีเป็นทางเลือกสุดท้าย และหวังว่าจะไม่ต้องใช้)
การเริ่มต้นเลี้ยงต้นไม้อาจดูไม่ง่ายเพราะมันเป็นเรื่องใหม่ เช่นเดียวกับการรู้จักคนใหม่ ๆ หรือรับสิ่งใหม่ ๆ เข้ามาในชีวิต เราต่างก็ต้องปรับตัวและเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ทั้งคน-ทั้งต้นไม้ เช่น ต้นไม้ก็ต้องปรับตัวให้อยู่รอดในที่ที่เราเลือกวางเขา เราเองก็ต้องหมั่นสังเกต ใส่ใจ และศึกษาว่าเขาชอบหรือไม่ชอบอะไร เมื่อทุกอย่างลงตัวเข้าที่ เราปรับตัวเข้าหากันได้ คนกับต้นไม้ก็จะอยู่ร่วมใต้ชายคาเดียวกันได้อย่างมีความสุขกันทุกฝ่าย
ลองเริ่มเลี้ยงต้นไม้ดูสักต้นสองต้น แล้วจะพบว่า เขาสามารถเปลี่ยนบ้านของคุณ หรือกระทั่งเปลี่ยนคุณได้อย่างไม่น่าเชื่อ ดีไม่ดี วันนึงบ้านของคุณอาจจะกลายเป็นป่าแอมะซอนย่อม ๆ โดยไม่รู้ตัว